มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (6)

มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (6)
ทองแถม นาถจำนง

บทที่สอง มรรควิธีประสบการณ์ Experience Methods

– วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นบนพื้นฐานแห่งบทเรียน ประสบการณ์ จากปรากฏการณ์และข้อเท็จจริงของธรรมชาติ

ประสบการณ์เหล่านี้ได้รับโดยวิธีการ (มรรควิธี)ประสบการณ์ เช่น การสังเกต Observations การจำลอง Simulation การทดลอง Experiments

Ivan Pavlov เปาลอฟ นักสรีรวิทยา Physiologist ชาวรัสเซีย กล่าวว่า “ข้อเท็จจริงคืออากาศของนักวิทยาศาสตร์ หากปราศจากข้อเท็จจริง พวกคุณไม่มีทางที่จะโบยบินไปได้”

Ivan Povlov
Ivan Povlov
From Wikipedia, the free encyclopedia

การสังเกต Observations

การสังเกตคืออะไร

การสังเกตคือการที่มนุษย์เราใช้อวัยวะรับสัมผัส ไปรับการกระตุ้นชนิดต่าง ๆ จากภายนอก เกิดภาพประทับต่อสิ่งแวดล้อม ค่อย ๆ ทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่าง ๆ

การสังเกตทางวิทยาศาสตร์เป็นการตั้งใจดำเนินการสังเกตอย่างมีจุดมุ่งหมาย มีความคิดชี้นำ การสังเกตทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีพื้นฐานความรู้ที่แน่นอน ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ไปรับรู้ปรากฏการณ์ที่ต้องการอย่างเป็นภาวะวิสัย เช่นการชั่งน้ำหนัก มิใช่เอามือหยิบดูก็จะบอกได้แม่นยำ แต่จะต้องใช้เครื่องชั่ง ต้องมีความรู้ในหลักกลศาสตร์เกี่ยวกับคาน เป็นต้น

การสังเกตเป็นวิธีการที่มนุษย์เราดำเนินการค้นคว้าปรากฏการณ์ธรรมชาติภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ กล่าวคือปล่อยให้มันดำเนินไปตามปกติของมัน เราไม่แทรกแซงปรากฏการณ์ธรรมชาตินั้น

ปรากฏการณ์หรือสิ่งในธรรมชาติมีมากมาย ดังนั้นวิธีสังเกตก็มีมากมายต่าง ๆ กัน

การสังเกตสิ่งและปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ สามารถแบ่งตามจุดมุ่งหมายออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ คือการสังเกตทางคุณภาพ และการสังเกตทางปริมาณ

การสังเกตทางคุณภาพคือสังเกตเพื่อทราบว่า ณ ที่ใด เวลาใด มีสิ่งหรือปรากฏการณ์อะไร สิ่งหรือปรากฏการณ์นั้นมีความสัมพันธ์กับสิ่งหรือปรากฏการณ์อื่นอย่างไร

การสังเกตทางปริมาณไม่เพียงแต่บ่งบอกว่า เป็นอะไรเท่านั้น หากยังสังเกตเพื่อบอกถึงความสัมพันธ์ด้านปริมาณของสิ่งหรือปรากฏการณ์นั้น เช่น จำนวน ความเข้ม ความยาวนาน ระยะเวลาที่สิ่งนั้นดำรงอยู่ เป็นต้น

การสังเกตปริมาณโดยทั่วไปเรียกว่า การวัด Measurement การวัดดำเนินไปบนพื้นฐานของการสังเกตทางคุณภาพ เพื่อที่จะเจาะลึกถึงแก่นแท้ของคุณสมบัติและกฏเกณฑ์ของสิ่งหรือปรากฏการณ์ ก็ต้องไปหาความสัมพันธ์ทางปริมาณของมันด้วย

การสังเกตทางคุณภาพและการสังเกตทางปริมาณไม่อาจแยกกันได้ มันสัมพันธ์และกำหนดซึ่งกันและกัน

14

ลักษณะภาวะวิสัยของการสังเกต

ภาระหน้าที่ของการสังเกตคือ บนพื้นฐานของความรู้ที่มีอยู่ เราใช้อวัยวะรับสัมผัสและอุปกรณ์ไปสังเกตสิ่งหรือปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ ได้ภาพประทับเกิดขึ้น จากนั้นบันทึกข้อเท็จจริงอย่างตรงตามภาวะวิสัย สะสมข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งหรือปรากฎการณ์นั้นอย่างถูกต้อง อย่างรอบด้านเป็นระบบ แล้วทำข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องออกมา เพื่อบรรลุถึงการรับรู้กฏเกณฑ์ของกระบวนการธรรมชาติ

ข้อเรียกร้องพื้นฐานที่สุดของวิธีการสังเกตก็คือ ต้องยืนหยัด “ลักษณะภาวะวิสัยของการสังเกต”

เพิ่อประกันความน่าเชื่อถือของผลการสังเกต เราจึงต้องวิเคราะห์หาสาเหตุของความผิดพลาดในการสังเกตอย่างจริงจัง

สาเหตุความผิดพลาดของการสังเกตในท่งอัตวิสัยมีสองส่วนคือ อวัยวะรับสัมผัสกับสมอง

อวัยวะรับสัมผัสของคนเรามักจะไม่สามารถสนองสภาพความเป็นจริงอย่างถูกต้องสมบูรณ์ หากไม่ขาดตกบกพร่องไป ก็มักจะทำให้เกิดความรู้สึก(ทางอัตวิสัย)ที่ผิดพลาด ก่อให้เกิดภาพประทับที่ผิดพลาดในสมอง เช่นเรื่องที่เรารู้ ๆ กันอยู่ทั่วไปว่า หากเอามือแช่ในน้ำร้อนข้างหนึ่ง แช่ในน้ำเย็นข้างหนึ่ง แล้วเอามือทั้งสองข้างมาแช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิปกติทั่วไปในอ่างเดียวกัน มือทั้งสองข้างจะให้ความรู้สึกร้อนกับเย็นต่างกัน อวัยวะรับสัมผัสของคนเรามีความจำกัดอยู่มาก ความสมบูรณ์,ความไว ของแต่ละคนก็ยิ่งต่างกันมาก

Goethe
Goethe

สมองเองก็มักจะคิด จะจินตนาการไปตามประสบการณ์ ความรู้ ความปรารถนาโดยไร้สำนึก หรือไม่ก็พุ่งความสนใจต่อปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ จนละเลยปรากฏการณ์อื่น ๆ ต่อปรากฏการณ์หนึ่ง ๆ คนเรามักจะสังเกตมันไปตามความชอบส่วนตัวของตน ทำให้เกิดภาพประทับที่ต่างกัน เกอเธ่ (โยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ Johann Wolfgang von Goethe นักปรัชญาชาวเยอรมัน) กล่าวว่า “เราเห็นแต่เพียงสิ่งที่เรารู้จักเท่านั้น” กล่าวคือ คนเรามักจะเอาความทรงจำในสมองของเราใส่เข้าไปในปรากฏการณ์ที่เราสังเกตโดยไม่รู้สึกตัว

อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (1)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (2)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา Methodology (3)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (4)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (5)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (7)
อ่าน: มรรควิธีวิทยา : วิภาษวิธี : Dialectical Methodology (8)

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com