ท้าวปาจิต – นางอรพิม : จากตํานานท้องถิ่น สู่ชาดกนอกนิบาต
“พี่มาเมือง” คําอุทานของนางอรพิม ที่กล่าวขึ้นเมื่อได้พบกับท้าวปาจิต จนเป็นที่มาของ ชื่อ “พิมาย” เรื่องราวจากวรรณกรรมมุขปาฐะ ที่เล่าขานอธิบายภูมินาม ที่ซ่อนทับโบราณสถาน ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินทางพุทธวัชรยาน ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย รวมถึงชื่อบ้านนามเมืองหลายแห่งในลุ่มแม่นํ้ามูล ในทางอีศานฉบับนี้ จึงขอเชื้อเชิญท่านทั้งหลายร่วมเปิดผ้าม่านกั้ง เรื่องราวของ “ท้าวปาจิต – นางอรพิม” ใน ฐานะ “มุขปาฐะที่เป็นแหล่งกําเนิดของวรรณกรรมชาดกนอกนิบาตแห่งอีสานใต้”
ชาดกคืออะไร
หลักธรรมคําสอนทางพระพุทธศาสนามี มากมาย ล้วนแล้วแต่มีบทบาทอย่างยิ่งต่อการ ดําเนินชีวิตของพุทธศาสนิกชน ซึ่งจะได้รับการ สั่งสอนโดยตรงผ่านทางหลักธรรม และทางอ้อมผ่านทางวรรณกรรมทางพุทธศาสนา โดยเฉพาะ วรรณกรรมประเภทชาดก
ชาดก มาจากคําบาลีว่า “ชาต” แปลว่า การเกิด วรรณกรรมชาดกจึงหมายถึงประวัติหรือ เรื่องราวเกี่ยวกับอดีตชาติของพระพุทธเจ้า เมื่อ ครั้งเสวยพระชาติเป็นมนุษย์และสัตว์ เราจึงเรียกพระพุทธเจ้าในอดีตชาติว่า มหาสัตว์ หรือ พระ โพธิสัตว์ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงการบําเพ็ญ บารมีธรรมต่าง ๆ ด้วยปณิธานมุ่งมั่นไม่ย่อท้อ ต่อความยากเข็ญและอุปสรรคต่าง ๆ โดยมีความ ปรารถนาสูงสุดเพื่อให้ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิ ญาณเป็นพระพุทธเจ้า
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคติทางพุทธศาสนา เถรวาทในสมัยพุทธกาลที่กล่าวถึงคําว่า พระโพธิสัตว์ จะหมายถึงช่วงชีวิตหลังจากจุติจาก สวรรค์ชั้นดุสิตลงมาจนถึงตรัสรู้ หรือหลังจาก ออกบวชถึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าของเจ้าชาย สิทธัตถะ เท่านั้น ดังนั้น คติการกล่าวถึงอดีตชาติก่อนลงมา จุติของพระพุทธเจ้าในฐานะพระโพธิสัตว์ น่าจะ เป็นคติที่เกิดในสมัยหลัง
เรื่องราวชาดกมีปรากฏหลักฐานครั้งแรก ใน “คัมภีร์ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก” ต่อ มาพระอรรถกถาจารย์ได้นํามาแต่งขยายเนื้อ ความให้กว้างขวางพิสดาร โดยนําเอานิทานพื้นบ้านต่าง ๆ แทรกเข้าไปในเนื้อเรื่อง ดําเนินเรื่อง ตามแบบนิทานชาวบ้าน มีตัวละครเอกคือพระ โพธิสัตว์ มีตัวละครฝ่ายชั่ว ฝ่ายดี ตัวละคร ทั้งหมดบ้างถือกําเนิดเป็นมนุษย์ หรือเป็น อมนุษย์ แตกต่างกันไป
เรื่องราวชาดกนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๑. นิบาตชาดก เป็นคาถามีอยู่ในขุททก นิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎก เชื่อกันว่า เป็นพุทธวจนะ มีเรื่องราวรวมทั้งสิ้น ๕๔๗ เรื่อง หรือที่นิยมเรียกกันว่า “พระเจ้าห้าร้อยชาติ” นิบาตชาดกที่รู้จักกันดีคือ “ทศชาติชาดก” หรือ “พระเจ้าสิบชาติ” และเรื่องที่มีความนิยมกัน มากที่สุดคือ “เวสสันดรชาดก” ซึ่งในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดเกล้าฯ ให้แต่ง “มหาชาติคําหลวง” ถือได้ว่าเป็นวรรณกรรม พุทธศาสนาที่เป็นลายลักษณ์เรื่องแรกของกรุง ศรีอยุธยา
๒. ชาดกนอกนิบาต หรือ พาหิรกชาดก เป็นชาดกที่ไม่ใช่พุทธวจนะ แต่มีผู้รู้แต่งขึ้นภาย หลัง จึงไม่ปรากฏในนิบาตชาดก ขุททกนิกาย พระสุตตันตปิฎก พระไตรปิฎก จึงเรียกว่าชาดก นอกนิบาต เรื่องที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย คือ “ปัญญาสชาดก” หมายถึง ชาดก ๕๐ เรื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชาดกนอกนิบาตนี้มี มากกว่า ๕๐ เรื่อง เดิมเชื่อว่าปัญญาสชาดกเป็นชาดกที่พระ ภิกษุชาวเชียงใหม่แต่งขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๒๐๐๐ – ๒๒๐๐ เพราะเป็นยุคที่พระเมืองแก้วกษัตริย์ แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ทรงส่งเสริมกิจการทาง พุทธศาสนา ทําให้มีพระเถระชาวล้านนาแต่งคัมภีร์ปกรณ์บาลีจํานวนมาก และน่าจะมีการนํา เอานิทานพื้นบ้านมาแต่งเป็นชาดกขึ้นใหม่
แต่จากงานวิจัยของ ศ.ดร.นิยะดา เหล่าสุนทร เกี่ยวกับปัญญาสชาดก ประวัติและความ สําคัญที่มีต่อวรรณกรรมร้อยกรองของไทย ได้ตั้งข้อสันนิษฐานใหม่ว่าน่าจะมีการแต่งขึ้นก่อน พ.ศ.๑๘๐๘ โดยผู้แต่งเป็นชาวหริภุญชัย
ด้วยเหตุที่ปัญญาสชาดกเป็นเรื่องที่แต่งขึ้น ใหม่เลียนแบบการแต่งในอรรถกถาชาดก ทําให้ มีผู้ไม่ยอมรับเพราะถือว่าเป็นการปลอมพุทธวจนะ จนเกิดเหตุการณ์กษัตริย์พม่าสั่งเผา ทําลาย ในพม่าจึงไม่มีคัมภีร์ปัญญาสชาดก คงมี แต่ในไทย ลาว และกัมพูชา
แต่ด้วยเหตุที่ปัญญาสชาดกมีเนื้อหาจาก นิทานพื้นบ้าน จึงทําให้มีความแพร่หลายและนิยม กันในท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งที่เป็นมุขปาฐะและที่มีการ จารึกด้วยอักษรและภาษาของแต่ละท้องถิ่น
ส่วนประกอบของชาดก
วรรณกรรมทางพุทธศาสนาเรื่องใดจะเป็น ชาดก จะมีองค์ประกอบสําคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ปัจจุบันวัตถุ อตีตวัตถุ และสโมธาน
๑. ปัจจุบันวัตถุ หมายถึง เหตุการณ์เริ่ม ต้นที่เป็นสาเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกเรื่อง ราวในอดีตหรือที่เรียกว่าชาดกขึ้นมาแสดง โดย จะบอกว่าในขณะนั้นพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน มี เหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น หรือทําไมจึงมีเหตุการณ์ นั้นขึ้นมา มีการเริ่มต้นด้วยคาถาเป็นภาษาบาลี ที่มุ่งจะแสดงธรรมะหรือคําสอนตามหลักทาง พุทธศาสนา แล้วจึงต่อด้วยอรรถกถาเพื่ออธิบาย คาถานั้น ซึ่งการใช้คาถาบาลีในการขึ้นต้นนั้น อาจปรากฏคาถาบาลีเพียงหนึ่งบท หรือหลาย บทก็ได้
๒. อตีตวัตถุ หมายถึง ตัวเนื้อเรื่องซึ่งเป็น เรื่องราวในอดีตของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกมา ประกอบการแสดงธรรม ในอดีตวัตถุจะมีคาถา เต็มรูป และอรรถาธิบาย
๓. สโมธาน หมายถึง การเชื่อมโยงปัจุบัน วัตถุ และอดีตวัตถุเข้าด้วยกัน เป็นการสรุปโดย ระบุว่าบุคคลในอดีตวัตถุ ใครกลับชาติมาเกิด เป็นใครในปัจจุบันวัตถุ สโมธานนี้บางครั้งเรียก ว่า “ประชุมชาดก” หรือ “ประชุมชาติ” ภาคใต้เรียกว่า “ชุมชาติ” ภาคอีสานเรียก “ม้วนชาติ”
ปาจิตตกุมารชาดก
พาหิรชาดกหรือชาดกนอกนิบาต ที่มีชื่อ เสียงคือ “ปัญญาสชาดก” เป็นวรรณกรรมที่ รจนาโดยภิกษุล้านนา แต่เดิมแต่งเป็นร้อยแก้ว ด้วยภาษามคธ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอดีตชาติของ
พระพุทธเจ้า จํานวน ๕๐ เรื่อง จึงนิยมเรียกว่า “พระเจ้าห้าสิบชาติ” ปีจจุบันพบว่ามีถึง ๖๑ เรื่อง ซึ่งน่าจะเกิดจากมีการนําเอานิทานพื้นบ้านในท้องถิ่นต่าง ๆ เพิ่มเข้ามาอีกในภายหลัง แต่ยัง เรียกชื่อว่าพระเจ้าห้าสิบชาติเช่นเดิม
ปัญญาสชาดกที่คนไทยคุ้นเคย เช่น สุธนชาดก (พระสุธน- มโนรา) รถเสนชาดก (พระรถ-เมรี) สุวรรณสังข์ชาดก (สังข์ทอง) และเรื่อง ที่นํามาเปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้ คือ “ปาจิตตกุมาร ชาดก (ท้าวปาจิต – นางอรพิม)” อันเป็น วรรณกรรมชาดกนอกนิบาตที่แพร่หลายเป็น มรดกร่วมในดินแดนอุษาคเนย์กว่า ๕๐๐ ปี ที่มี อิทธิพลหยั่งรากฝั่งแน่นอยู่ในความทรงจําของ ผู้คนที่นับถือพุทธศาสนา กลายเป็นแบบเบ้าของ วิถีชีวิต เป็นกรอบกํากับจริยธรรมและความคิด ของสังคมตามจุดประสงค์ของผู้แต่ง
ด้วยเหตุที่เรื่องราว “พระเจ้าห้าสิบชาติ” มีโครงเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน ซึ่งมักจะผูกโยงอ้างอิงสถานที่ต่าง ๆ ตามสภาพทางภูมิศาสตร์ และโบราณสถานที่ปรากฏอยู่จริง เรื่องราวใน พระเจ้าห้าสิบชาติจึงถูกเล่าขานสืบต่อในฐานะวรรณกรรมอิงสถานที่ในท้องถิ่น จนกลายเป็น วรรณกรรมอธิบายภูมินาม เช่น ดอยนันทะกังฮี ที่เมืองหลวงพระบาง ที่อ้างว่ามีชื่อตามรถเสน ชาดก รวมถึงเมืองพิมาย ที่อ้างว่ามีชื่อตามเรื่อง เล่าท้องถิ่นและแฝงอยู่ในปาจิตตกุมารชาดก
แนวคิดการอ้างอิงสถานที่ทางภูมิศาสตร์ ให้สอดคล้องกับเรื่องราวทางพุทธศาสนา เป็นคติ ที่ต้องการสถาปนาให้ดินแดนแห่งนั้นเป็นพื้นที่ ศักดิ์สิทธิ์ โดยอาจจะมีการอ้างอิงถึงการเสด็จมา พยากรณ์ของพระพุทธเจ้า หรืออธิบายว่าสถาน ที่แห่งนั้นเคยเป็นดินแดนที่เกี่ยวข้องกับอดีตชาติ ของพระพุทธเจ้า การอ้างอิงเช่นนี้เป็นวิธีการช่วง ชิงพื้นที่ความศรัทธาของผู้คนที่นับถือศาสนา พราหมณ์ พุทธ และผี ที่ซ้อนทับกันอยู่ในพื้นที่ เดียวกันอย่างน่าสนใจ ซึ่งจะได้หาโอกาสเปิดผ้าม่านกั้งต่อไป
ประเด็นที่จะชี้ชวนให้สนใจคือ จุดกําเนิด ของวรรณกรรมเรื่อง “ปาจิตตกุมารชาดก” เกิด ที่ดินแดนล้านนา แล้วแพร่หลายอยู่ทั้งในล้านนา ล้านช้าง ลุ่มนํ้าเจ้าพระยา รวมถึงลุ่มนํ้าอิรวดี แต่สําหรับปัจจุบัน ด้วยพลังทางสังคมในการผลิตซํ้า วาทกรรม ทําให้เรื่องราวของปาจิตตกุมารชาดก ฝั่งแน่นในความทรงจําของคนปัจจุบันในฐานะ ประวัติศาสตร์บอกเล่าชื่อบ้านนามเมือง ในดิน แดนลุ่มนํ้ามูล ทั้งที่เรื่องราวของท้าวปาจิต – นาง อรพิม มีทั่วไปในอุษาคนย์
ท้าวปาจิต – นางอรพิม ในอีสาน-ล้านช้าง
เรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม สํานวนอีสาน-ล้านช้าง น่าจะถูกปรับจากสํานวนล้านนาแล้วเผยแพร่ออกไปตั้งแต่สมัยพญาวิชุล ราช (พ.ศ.๒๐๔๔ – ๒๐๖๓) ซึ่งเป็นยุคทองของวรรณคดีล้านช้าง แม้ไม่มีหลักฐานโดยตรงยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว แต่หลักฐานสําคัญที่ทําให้ สันนิษฐานได้ว่าเรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม แพร่หลายในช่วงนั้นคือ ปรากฏว่ามีเรื่องของท้าวปาจิต – นางอรพิม แพร่กระจายไปยัง อาณาจักรต่าง ๆ นอกจากล้านนา เช่น ปรากฏในโคลงทวาทศมาส ที่แต่งในสมัยสมเด็จ พระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พ.ศ.๒๐๓๑ – ๒๐๓๔) แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความนิยม และการรับรู้ของชาวอุษาคเนย์
เรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิมที่แพร่หลายในกลุ่มชนลุ่มแม่นํ้าโขง รวมถึงลุ่มแม่นํ้ามูล มีหลายสํานวน แม้จะมีโครงเรื่องราวหลักเหมือนกัน แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะที่เป็นมุขปาฐะ ผู้เล่าได้ถ่ายทอดโดยมีการอธิบายภูมินาม ชื่อบ้านนามเมืองสอดแทรกเข้าไปด้วย จึงปรากฏเรื่องราวที่มาของชื่อสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เมืองพิมายในเขตดินแดนไทยไปถึงเมืองพระนครในเขตดินแดนกัมพูชา นับว่าเป็นเสน่ห์ของเรื่องราวท้าวปาจิต – นางอรพิมในอีสานล้านช้าง โดยเฉพาะในลุ่มแม่นํ้ามูล เช่น ที่มาของชื่อ “นางรอง” ที่มาจากตอนที่นางอรพิมหนีท้าวพรหมทัตเจ้าเมืองพิมายมากับท้าวปาจิตราชบุตร แห่งนครธม ระหว่างทางท้าวปาจิตถูกงูกัดตาย นางอรพิมจึงร้องไห้ เป็นที่มาของชื่อ “นางร้อง” และเพี้ยนมาเป็น “นางรอง” เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม ใช่จะเป็นเพียงวรรณกรรมมุขปาฐะที่เล่าปากต่อปากสืบต่อกันมาเท่านั้น แต่ปรากฏ เป็นลายลักษณ์ในคัมภีร์ใบลานกระจายอยู่ทั่วไปตามวัดต่าง ๆ ในภาคอีสาน เช่น ฉบับวัดบ้านแดงหม้อ ตําบลแดงหม้อ อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี จารด้วยอักษรตัวธรรมอีสาน จํานวน ๓ ผูก ฉบับวัดบ้านยาง อําเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม และฉบับอื่น ๆ อีกหลายจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิ อุดรธานี
ท้าวปาจิต – นางอรพิม ในล้านนา
“นามานุกรมวรรณกรรมล้านนา” ซึ่งเป็นงานวิจัยของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์ และคณะอธิบายเรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม ที่ปรากฏในดินแดนล้านนา มีชื่อว่า “อรพิมพ์” เป็นวรรณกรรมประเภทธรรมค่าว และเป็นชาดกนอกนิบาต ลักษณะการ แต่งเป็นแบบร่าย ฉบับที่นํามาวิจัย เรียบเรียงโดย นายทวี เขื่อนแก้ว ป.ธ. ๗ จัดพิมพ์โดยร้านลําปาง สังฆภัณฑ์ ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ ต้นฉบับลานเทียม พิมพ์ด้วยอักษรไทย คําอ่านเป็นภาษาล้านนา มี ๑๗ ผูก
เนื้อเรื่องย่อในฉบับล้านนา ปัจจุบันวัตถุกล่าวถึงพระพุทธเจ้าเมื่อประทับที่เมืองไพศาลี ได้ทรงปรารภเรื่องพระนางพิมพา แล้วอตีตวัตถุได้ดําเนินเรื่องไปตามปาจิตตกุมารชาดกคล้ายกับฉบับอีสาน-ล้านช้าง ในส่วนสโมธานหรือประชุมชาดก ได้แสดงไว้ว่า สามเณรได้แก่พระเจ้าอชาตศัตรู นายพรานได้แก่พระเทวทัต พระมหาธรรมราชได้แก่พระสุทโธทนะ นางสุวรรณเทวีได้แก่พระนางสิริมหามายา นางอรพิมได้แก่พระนางยโสธราพิมพา และท้าวปาจิตตกุมารได้แก่พระพุทธเจ้า
ท้าวปาจิต – นางอรพิม ในลุ่มนํ้าเจ้าพระยา
ในโครงทวาทศมาส ซึ่งแต่งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๓ (พ.ศ.๒๐๓๑ – ๒๐๓๔) แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระยอด เชียงราย (พ.ศ.๒๐๓๐ – ๒๐๓๘) แห่งล้านนา และพญาหล้าแสนไท (พ.ศ.๒๐๒๙ – ๒๐๓๙) แห่งล้านช้าง ได้กล่าวถึงเรื่องราวของท้าวปาจิต กับนางอรพิมไว้ว่า
ประจิตเจียนเหน้าหน่อ อรพินท์ พระพิลาไลยปลง ชีพแล้ว
คืนสมสุดาจินต์ รสร่วม กันนา กรรมแบ่งกรรมแก้วแก้ว ช่วยกรรม
จะเห็นได้ว่า เรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม ได้ผ่านการรับรู้ของผู้คนในอุษาคเนย์ มากว่า ๕๐๐ ปีแล้ว ชาดกเรื่องนี้จึงนับได้ว่าเป็นวรรณกรรมชิ้นสําคัญแห่งอุษาคเนย์อีกชิ้นหนึ่ง
จินตนาการแห่งสายสัมพันธ์เขมรสูง – เขมรตํ่า
ปาจิตตกุมารชาดก กล่าวถึงท้าวปาจิต โอรสแห่งเมืองพันธุนคร แย่งชิงนางอรพิมกับพระเจ้าพรหมทัตแห่งเมืองพาราณสี สําหรับผู้คนในลุ่มแม่นํ้ามูล ได้มีการบอกเล่าโดยอ้างถึงเมืองทั้งสองที่มีบทบาทมาแต้โบราณและอยู้ในการรับรู้ของผู้คน โดยอ้างอิงให้เมืองพาราณสี ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าคือเมืองพิมายในเขตดินแดนไทย กับเมืองพรหมพันธุ์นครคือเมืองพระนครในเขตดินแดนกัมพูชา
ปราสาทหินพิมายนี้ต่อมาได้มีการปรับแปลงให้เป็นพุทธสถาน ตามคติ “วัชรยาน” ใน พุทธศตวรรษที่ ๑๗ ยุคของราชวงศ์มหิธรปุระ เป็นแหล่งศูนย์กลางวัฒนธรรมพุทธแห่งลุ่มนํ้ามูล
เรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม แม้จะเป็นชาดกนอกนิบาตจากล้านนา แต่ได้ถูกปรับเนื้อหาให้สอดรับกับพื้นที่โดยกลายมาเป็นเรื่องราวอธิบายชื่อบ้านนามเมือง รวมถึงพืชพรรณ แหล่งธรรมชาติ จนกลิ่นอายของความความเป็นชาดกล้านนาจางหายจากการรับรู้ของคนในท้องถิ่น
ในการบอกเล่าของผู้คนที่เป็นมุขปาฐะจากรุ่นสู่รุ่น เมืองพรหมพันธุ์นคร ถูกแทนด้วยเมืองนครธม หรืออินทปัตถ์ ซากเจดีย์อิฐ ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าอาจจะเป็นศาสนาสถานยุคทวารวดีถูกสวมทับด้วยตํานานว่าเป็นที่ตั้งพระเมรุของพระเจ้าพรหมทัตเจ้าเมืองพิมายผู้ต้องตายเพราะความรัก รวมถึงรูปเคารพของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ถูกบอกเล่าว่าคือรูปเหมือนพระเจ้าพรหมทัต สิ่งเหล่านี้เป็นการตอกยํ้าเรื่องราวอธิบายสถานที่ตามตํานานได้อย่างลุ่มลึก
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ จินตนาการใน วรรณกรรมดังกล่าว ได้ตอกยํ้าสายสัมพันธ์ของผู้คนในเมืองพิมายปุระและเมืองพระนครที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าราชวงศ์ มหิธรปุระได้เข้าไปมีอิทธิพลในเมืองพระนคร การกลับมาประกอบพิธีกรรม ณ ปราสาทหินพิมายอันเป็นดินแดนมาตุภูมิของเจ้าราชวงศ์ มหิธรปุระ ทําให้สถานที่ต่าง ๆ ถูกเชื่อมโยงเข้าหากันโดยมีวรรณกรรมเป็นเชือกร้อย นําไปสู่การรับรู้ของผู้คนที่พบเห็นระหว่างการเดินทางติดต่อค้าขายไปมาหาสู่กันระหว่างชุมชนโบราณในยุคอดีต
แม้จะพบว่าสถานที่ต่าง ๆ ที่อ้างถึงในเรื่องราวของท้าวปาจิต – นางอรพิม จะเกิดขึ้นต่างยุคสมัยกัน แต่ได้ถูกเรียงร้อยเข้าเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยเนื้อหาในปาจิตตกุมารชาดกอย่างแยบยล เกิดเป็นการรับรู้ร่วมกันของผู้คนในดินแดนไทยกัมพูชา เราไม่พูดเขมรสูง ตํ่า เพราะมันเป็น discrimination แต่ที่ตํ่าสูงเกิดจากภูมิประเทศ ที่เรียกว่า Horst Graben ที่มีความสัมพันธ์ทางเครือญาติ และการค้าโดยไม่มีพรมแดนของรัฐชาติเข้ามาแบ่งกั้น
เรื่องราวของ ท้าวปาจิต – นางอรพิม ที่ถูกผูกขาดให้เป็นตํานานเมืองพิมาย ได้กลายมาเป็นตํานานบ้านเมือง และโบราณสถานลุ่ม แม่นํ้ามูลที่จะถูกเล่าขานไปอีกตราบนานเท่านาน…
อ้างอิง
นิยะดา เหล่าสุนทร. (๒๕๓๘). ปัญญาส ชาดก ประวัติและความสําคัญที่มีต่อวรรณกรรม ร้อยกรองของไทย. กรุงเทพฯ : แม่คําผาง.
ประคอง นิมมานเหมินท์ และคณะ. (๒๕๕๔). นามานุกรรมวรรณกรรมล้านนา. กรุงเทพฯ : สํานักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว).
ศรีศักร วัลลิโภดม. (๒๕๓๓). แอ่งอารยธรรมอีสาน. กรุงเทพฯ : มติชน.
สุรศักดิ์ ศรีสําอาง. (๒๕๔๕). ลําดับกษัตริย์ลาว. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร.