สำบายดี ปี เมิงเฮ้า

ปางเมื่อพระสุริเยสเสด็จยัวรยาตรย้ายจากมีนประเทศเข้าสู่เมษราศี ปรากฏในวันศุกร์ที่ ๑๔ เมษายน จุลสังกาศราชาได้ ๑๓๗๘ ตัว ปีฮวายสัน วันพหัส อัฏฐศก ตกมื้อแรม ๓ คํ่า เดือน ๕ ยามกองคัว ได้ ๐๒ นาฬิกา ๔๙ นาที ๑๒ วินาที ปีพุทธศักราชาล่วงมาได้ ๒๕๖๐ ปี สุกใสดีบ่เศร้าคนทั้งหลายก็เข้ามานิยมชมชื่นว่าเป็นมื้อ สังขานต์ล่อง

พอเมื่อนักขัตฤกษ์ ถือหน่วยที่สิบเจ็ด ชื่อว่าอนุราส คือดาวคันเสตตะฉัตร แรม ๕ คํ่า เดือน ๕ วันอาทิตย์ที่ ๑๖ เมษายน ยามตุดตั้งมื้อเช้าโบราณเว้าว่าเป็น มื้อกาเฮ้ายามนั้น พระสุริยาอาทิตย์เจ้าก็เสด็จเข้าสถิตสู่วิมานชัย ปรากฏในเวลา ๐๖ นาฬิกา ๔๖ นาที ๔๘ วินาที สุกใสดีบ่เศร้า พระจุลสังกาศราชาเจ้าจึงแถมตื่มขึ้นได้ ๑๓๗๙ ตัว นพศก ระกาฉนำ กัมโพชพิสัย ไทภาษาว่า ปีเมิงเฮ้าปรากฏเข้าว่าเป็น พญาวันคนทั้งหลายก็พากันเฮียกเอิ้นว่า มื้อสังขานต์ขึ้นปีใหม่อังคารธงชัย พหัสอธิบดี จันทร์อุบาทว์ เสาร์โลกาวินาศน์ ปกติมาส ปกติวาร ปกติสุรทิน

ผิว่าสังขานต์ไปปีเฮ้า พญานาคเจ้าลงมาให้นํ้า ๙ ตัว ข้าวดอ ข้าวกลาง ข้าวงันดีเสมอกันฯ เดือน ๕ เดือน ๖ ฝนตกสะหน่อย ฯ เดือน ๗ ฝนตกมาก ขุนใหญ่จักมีลาภหนบัวระพา ฯ เดือน ๘จักแล้ง ฯ เดือน ๙ เดือน ๑๐ ฝนตกมากหลาย ฯ เดือน ๑๑ แล้ง ท่อแรม ๘ คํ่า ฝนจึงตกสะหน่อยฯ เดือน ๑๒ เดือนเจียง คนทั้งหลายเป็นไข้ออกตุ่มจักแพ้ผู้ใหญ่ ฯ เดือน ยี่ เดือน ๓ ไฟจักไหม้บ้านเฮือนทิศาหนพายัพ ฯ เดือน ๔ จึงอยู่ดีแล ฯ

ปักขทึนอีสาน

“ปักขทึน (ปัก-ขะ-ทึน)” เป็นคำเก่าในวรรณกรรมอีสานโบราณ ตรงกับคำภาษาบาลี ว่าปักขทิน ตรงกับภาษาสันสกฤตว่า ปฺรติทิน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Calendar ปัจจุบันใช้ว่า ปฏิทิน แปลว่า แบบสำหรับดูวันเดือนปี คำว่า ปักขทึน มาจากคำ ๒ คำ คือ

ปักขะ แปลว่า กึ่งของเดือนจันทรคติ

ทินนะ แปลว่า วัน

ดังนั้น ตามรากศัพท์ของคำว่า ปักขทึน จึงแสดงนัยยะว่าหมายถึง การกำหนดนับวันเดือนปีตามจันทรคติและสุริยคติ

การนับวันและปีของอีสานโบราณนั้น เป็นการนับรวมปริวรรต ๖๐ ปี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากระบบกานจือ หรือ ระบบลำต้นฟ้า-กิ่งก้านดินของจีน โดยแบ่งออกเป็น

ลำต้นฟ้า อีสานเรียกว่า แม่มื้อ หรือ แม่ปี มี ๑๐ ลำดับ คือ กาบ ฮับ ฮวาย เมิง เปิก กัด กด ฮวง เต่า กา

กิ่งก้านดิน อีสานเรียกว่า ลูกมื้อ หรือ ลูกปี มี ๑๒ ลำดับ คือ ไจ้ เป้า ยี่ เหม้า สี ไส้ ซะง้า มด สัน เฮ้า เส็ด ไค้

การประกอบของลำต้นฟ้าและกิ่งก้านดิน มีหลักการว่าให้ใช้ลำต้นเลขคี่ผสมกับกิ่งก้านเลขคี่และลำต้นเลขคู่ผสมกับกิ่งก้านเลขคู่ จะได้ ๖๐ ชื่อตามลำดับ ดังนี้

๑/กาบไจ้๒/ฮับเป้า๓/ฮวายยี่๔/เมิงเหม้า๕/เปิกสี๖/กัดไส้๗/กดซะง้า๘/ฮวงมด๙/เต่าสัน๑๐/กาเฮ้า
๑๑/กาบเส็ด๑๒/ฮับไค้๑๓/ฮวายไจ้๑๔/เมิงเป้า๑๕/เปิกยี่๑๖/กัดเหม้า๑๗/กดสี๑๘/ฮวงไส้๑๙/เต่าซะง้า๒๐/กามด
๒๑/กาบสัน๒๒/ฮับเฮ้า๒๓/ฮวายเส็ด๒๔/เมิงไค้๒๕/เปิกไจ้๒๖/กัดเป้า๒๗/กดยี่๒๘/ฮวงเหม้า๒๙/เต่าสี๓๐/กาไส้
๓๑/กาบซะง้า๓๒/ฮับมด๓๓/ฮวายสัน๓๔/เมิงเฮ้า๓๕/เปิกเส็ด๓๖/กัดไค้๓๗/กดไจ้๓๘/ฮวงเป้า๓๙/เต่ายี่๔๐/กาเหม้า
๔๑/กาบสี๔๒/ฮับไส้๔๓/ฮวายซะง้า๔๔/เมิงมด๔๕/เปิกสัน๔๖/กัดเฮ้า๔๗/กดเส็ด๔๘/ฮวงไค้๔๙/เต่าไจ้๕๐/กาเป้า
๕๑/กาบยี่๕๒/ฮับเหม้า๕๓/ฮวายสี๕๔/เมิงไส้๕๕/เปิกซะง้า๕๖/กัดมด๕๗/กดสัน๕๘/ฮวงเฮ้า๕๙/เต่าเส็ด๖๐/กาไค้
วันขึ้นปีใหม่ ปีเมิงเฮ้า

หลายท่านยังคงเชื่อว่าจะเปลี่ยน พ.ศ. ใหม่ในวันที่ ๑ มกราคม และเปลี่ยนปีใหม่ไทยในวันสงกรานต์ ที่ ๑๓ เมษายน แต่ในความเป็นจริงแล้วการนับวันขึ้นปีใหม่มีหลายคติ และมีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยเรื่อยมา เช่น การเปลี่ยนปีพุทธศักราชควรจะเริ่มนับปีใหม่ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือในวันเพ็ญเดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชา หรือในสมัยหนึ่งประเทศไทยได้ใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ และใน พ.ศ. ๒๔๘๓ สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่เป็นวันที่ ๑ มกราคม เพื่อให้สอดคล้องกันทั้งการเปลี่ยนปีพุทธศักราชและคริสต์ศักราช ตามปฏิทินสากล

การเปลี่ยนปีใหม่จึงเป็นไปตามคตินิยมที่แตกต่างกัน ที่สำคัญ คำว่า วันปีใหม่ไทย ในปัจจุบันยิ่งผิดพลาดสับสน ดังที่ปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ที่ให้ความหมาย คำว่า มหาสงกรานต์ ว่าหมายถึง วันขึ้นปีใหม่อย่างเก่า เริ่มแต่พระอาทิตย์ย่างขึ้นสู่ราศีเมษ เรียกว่า วันมหาสงกรานต์ซึ่งนิยามนี้สับสนและผิดจากวันขึ้นปีใหม่ตามคติโบราณที่จะถือเอา วันเถลิงศกหรือวันพญาวัน ที่อยู่ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ๒ – ๓ วัน เป็นวันขึ้นปีใหม่ นิยามของวันมหาสงกานต์ จึงควรจะเป็น วันที่พระอาทิตย์ย่างเข้าสู่ราศีเมษ

วันขึ้นปีใหม่ หรือ วันเถลิงศก นั้น โบราณเรียกว่า “พญาวัน” เป็นวันที่เปลี่ยนปีจุลศักราชตามระบบปฏิทินโบราณ เช่น อยากรู้ว่าในปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ จะเปลี่ยนจากจุลศักราช ๑๓๗๘ เป็นจุลศักราช ๑๓๗๙ ในวันใด ต้องมีการคำนวณตามคัมภีร์สุริยยาตร์ โดยมีวิธีการคำนวณเริ่มจากการหาหรคุณวันพญาวัน ซึ่งเป็นวันตั้งแต่แรกตั้งจุลศักราชถึงวันพญาวันในปีนั้น มีวิธีการดังนี้

หาหรคุณวันพญาวัน โดยตั้งเกณฑ์ ๒๙๒,๒๐๗ ลง เอาจุลศักราชคูณ เอา ๓๗๓ บวกเอา ๘๐๐ หาร ตัดเศษทิ้ง เอา ๑ บวก เป็นหรคุณวันพญาวัน ใน จ.ศ.๑๓๗๙ จะได้หรคุณวันพญาวันดังนี้

{[(๒๙๒๒๐๗ x ๑๓๗๙) + ๓๗๓] ÷ ๘๐๐} +

๑ = ๕๐๓๖๙๓ เป็นหรคุณวันพญาวัน

จากหรคุณวันพญาวัน จะใช้เป็นจุดเริ่มในการคำนวณหาวัน วันมหาสงกรานต์ วันสังขานต์เนาว์การหาแม่มื้อลูกมื้อ การหาดิถี วาร เพื่อจัดทำเป็นปฏิทินที่ถูกต้องแม่นยำสำหรับแต่ละปี

การหาปีหนไท แม่ปีลูกปี          

หาแม่ปีให้ดูที่ปลายจุลศักราช ๑ เป็น กัด ๒ เป็น กด ตามลำดับ

หาลูกปี เอาจุลศักราชตั้ง หารด้วย ๑๒ เศษ ๑ เป็น ไค้ เศษ ๒ เป็น ไจ้ ไปตามลำดับ

ปลาย จ.ศ./เศษแม่ปีลูกปี
กัดไค้
กดไจ้
ฮวงเป้า
เต่ายี่
กาเหม้า
กาบสี
ฮับไส้
ฮวายซะง้า
เมิงมด
๑๐เปิกสัน
๑๑เฮ้า
๑๒เส็ด

แม่ปี : จ.ศ. ๑๓๗๙ ปลายจุลศักราชเป็น ๙ แม่ปีเป็น เมิง

ลูกปี : (๑๓๗๙ ÷ ๑๒) = ๑๑๔ เศษ ๑๐ ลูกปีเป็น เฮ้า

ดังนั้น จ.ศ. ๑๓๗๙ ปีหนไทว่า ปีเมิงเฮ้า หามื้อหนไทวันพญาวัน

หาแม่มื้อ ดูที่ปลายหรคุณวันพญาวัน ๑ เป็นฮวง ๒ เป็น เต่า ตามลำดับ

หาลูกมื้อ เอาหรคุณวันพญาวันตั้ง เอา ๑๒ หาร เศษ ๑ เป็น ไส้ เศษ ๒ เป็น ซะง้า ตามลำดับ

ปลายหรคุณ/เศษแม่มื้อลูกมื้อ
ฮวงไส้
เต่าซะง้า
กามด
กาบสัน
ฮับเฮ้า
ฮวายเส็ด
เมิงไค้
เปิกไจ้
กัดเป้า
๑๐กดยี่
๑๑เหม้า
๑๒สี

แม่มื้อ : ปลายหรคุณวันพญาวันเป็น ๓ แม่มื้อเป็น กา

ลูกมื้อ : (๕๐๓๖๙๓ ÷ ๑๒) = ๔๑๙๔๔ เศษ ๕ ลูกมื้อเป็น เฮ้า

ดังนั้น จ.ศ. ๑๓๗๙ วันพญาวัน มื้อกาเฮ้า

หาวาระวันพญาวัน เอา ๗ หารหรคุณวันพญาวัน เศษเป็นวาร เศษ ๑ เป็นอาทิตย์ ๒ เป็นจันทร์…เศษ ๐ เป็นเสาร์

หาวาระวันพญาวัน จ.ศ. ๑๓๗๙ จะได้ (๕๐๓๖๙๓ ÷ ๗) = ๗๑๙๐๔ เศษ ๑จ.ศ. ๑๓๗๙ วาระ ๑ วัน อาทิตย์

เถลิงศก จ.ศ. ๑๓๗๙

ปี เมิงเฮ้าวันพญาวัน

ตรงกับวันอาทิตย์ที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๐ เป็น

“มื้อกาเฮ้า”

รายละเอียดการคำนวณมีมากกว่านี้ แต่ขอยกตัวอย่างมาเป็นสังเขป เพื่อเสริมกับที่ได้เคยเขียนไปแล้วในทางอีศาน ซึ่งท่านที่สนใจในคัมภีร์สุริยยาตราคงคำนวณหาตัวเลขเกี่ยวกับวันปีใหม่นี้ได้ไม่ยาก

ในปีนี้วันที่ ๑๔ เมษายน เป็นวันสังขานต์ล่อง หรือ วันมหาสงกรานต์ พระอาทิตย์เริ่มเข้าสู่ราศีเมษ เวลา ๐๒ นาฬิกา ๔๙ นาที ๑๒ วินาที ปีนี้เป็นปีปกติมาส วันสังขานต์เนาว์ คือวันที่ ๑๕ เมษายน ส่วนวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๙ เวลา ๐๖ นาฬิกา ๔๖ นาที ๔๘ วินาที เป็นวันสังขานต์ขึ้นหรือพญาวัน หรือวันเถลิงศก จุลศักราชเปลี่ยนเป็น ๑๓๗๙

ปีนักษัตร

อีกเรื่องหนึ่งที่มักสับสนกันคือ การเปลี่ยนปีนักษัตร ซึ่งน่าจะเป็นคตินิยมที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล การจะหาว่าใน พ.ศ.๒๕๖๐ นี้จะเริ่มปีนักษัตรใหม่ คือ ปีวอก เมื่อใดนั้น ตามหลักโหราศาสตร์ กำหนดให้การเปลี่ยนปีนักษัตรใหม่ไว้ ๒ แบบ คือ

๑. การเปลี่ยนปีนักษัตรตามหลักโหราศาสตร์ให้เริ่มตั้งแต่วันใหม่ของเดือนจิตตมาสเป็นต้นไปกล่าวคือ เริ่มในวันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๕ ในปีปกติมาสหรือ วันขึ้น ๑ คํ่า เดือน ๖ ในปีอธิกมาส ซึ่งจะเป็นช่วงที่จันทร์เพ็ญตรงกับ ดาวจิตตะ หรือ ดาวงวงช้าง นักษัตรที่ ๑๔

๒. การเปลี่ยนปีนักษัตรตามปฏิทินหลวง จะเปลี่ยนในเดือนอ้าย ขึ้น ๑ คํ่า โดยถือตามคติว่าเดือนอ้ายเป็นเดือนแรกของปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโดยทั่วไปจะใช้ปีนักษัตรเพื่อการคำนวณทางโหราศาสตร์ จึงนิยมใช้แบบที่ ๑ ดังนั้น ปีวอกนักษัตร จะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เวลา ๐๖ นาฬิกา ๔๖ นาที ๔๗ วินาที เป็นต้นไป

เปิดผ้าม่านกั้งครั้งนี้ ได้นำเสนอการคำนวณหาวันเดือนปีตามคติปักขทึนของคนอีสานโบราณมาเป็นบรรณาการแก่ท่านผู้อ่านในวันสงกรานต์ พร้อมตัวอย่างการคำนวณวันพญาวัน เพื่อให้ท่านที่สนใจได้ร่วมจุดไฟแห่งการเรียนรู้ เผื่อว่าวันหน้าจะได้ร่วมกันรื้อฟื้น ปักขทึน อีสาน สำหรับแจกจ่ายไว้ใช้สอยคู่กับปฏิทินสากล ก่อนที่ภูมิปัญญาหลายพันปีนี้จะสูญหายไป..


ประวัตินางสงกรานต์
ประวัตินางสงกรานต์ ทั้ง ๗

หลายคนคงจะเคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับนางสงกรานต์ทั้ง ๗ มาบ้างแล้ว ส่วนใครที่ยังไม่ทราบหรือว่าจำไม่ได้ วันนี้เราก็มีเรื่องราวของนางสงกรานต์ทั้ง ๗ มาเล่าให้ฟัง

นางสงกรานต์นั้นเป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ และเป็นนางฟ้าอยู่บนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช (สวรรค์ชั้นที่ ๑ ในทั้งหมด ๖ ชั้น) ซึ่งมีหน้าที่ในการรับศีรษะของท้าวกบิลพรหมแห่รอบเขาพระสุเมรุในแต่ละรอบปี หรือในวันสงกรานต์นั่นเอง โดยมีเกณฑ์กำหนดที่ว่าวันสงกรานต์ คือวันที่ ๑๓ เมษายนตรงกับวันใดก็ให้นางสงกรานต์ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่นางสงกรานต์มีทั้งหมด ๗ องค์ ได้แก่

๑. นางสงกรานต์ทุงษะเทวี

ทุงษะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์ ทัดดอกทับทิม มีปัทมราค (แก้วทับทิม) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ อุทุมพร (มะเดื่อ) อาวุธคู่กายพระหัตถ์ ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือสังข์ เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์ครุฑ

๒. นางสงกรานต์โคราคะเทวี

โคราคะเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันจันทร์ ทัดดอกปีบ มีมุกดาหาร (ไข่มุก) เป็นเครื่องประดับภักษาหาร คือ เตละ (นํ้ามัน) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จประทับเหนือพยัคฆ์ (เสือ)

โดยปกตินั้น การเรียกวันจะเรียกเฉพาะแม่มื้อทั้ง ๑๐ เช่น มื้อกาบ มื้อเปิก หรืออาจจะเรียกเต็มว่ามื้อกาบซะง้า มื้อเปิกสี เป็นต้น ส่วนการเรียกปีจะเรียกตามลูกปีซึ่งเทียบกับปีนักษัตรทั้ง ๑๒ อยู่แล้วเช่น ปีสัน ปีมด เป็นต้น

๓. นางสงกรานต์รากษสเทวี

รากษสเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันอังคาร ทัดดอกบัวหลวง มีโมรา (หิน) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือ โลหิต (เลือด) อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือตรีศูลพระหัตถ์ซ้ายถือธนู เสด็จประทับเหนือวราหะ (หมู)

๔. นางสงกรานต์มณฑาเทวี

มณฑาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพุธ ทัดดอกจำปา มีไพฑูรย์ (พลอยสีเหลืองแกมเขียว) เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ นมและเนย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือเหล็กแหลม พระหัตถ์ซ้ายถือไม้เท้า เสด็จไสยาสน์เหนือปฤษฎางค์คัสพะ (ลา)

๕. นางสงกรานต์กิริณีเทวี

กิริณีเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี ทัดดอกมณฑา (ยี่หุบ) มีมรกตเป็นเครื่องประดับ ภักษาหารคือ ถั่วและงา อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์พระหัตถ์ซ้ายถือปืน เสด็จไสยาสน์เหนือปฏษฎางค์ชสาร (ช้าง)

๖. นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

กิมิทาเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันศุกร์ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือกล้วยและนํ้า อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา(ควาย)

๗. นางสงกรานต์มโหธรเทวี

มโหธรเทวีเป็นนางสงกรานต์ประจำวันเสาร์ ทัดดอกสามหาว (ผักตบชวา) มีนิลรัตน์เป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือ เนื้อทราย อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือจักร พระหัตถ์ซ้ายถือตรีศูล เสด็จประทับเหนือมยุราปักษา (นกยูง)

และนี่ก็คือเรื่องราวของนางสงกรานต์ทั้ง ๗ องค์

นางสงกรานต์ ๒๕๖๐

นางสงกรานต์ปี ๒๕๖๐ มีนามว่า “กาฬกิณีเทวี” ทรงพาหุรัด ทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา หัตถ์ขวาทรงขอช้าง หัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จไสยาสน์หลับเนตร (นอนหลับตา) มาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ เกณฑ์พิรุณศาสตร์ ปีนี้ อังคาร เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก ๓๐๐ ห่า ตกในเขาจักรวาล ๑๒๐ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๙๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๖๐ ห่า ตกในโลกมนุษย์ ๓๐ ห่า

เกณฑ์ธาราธิคุณ ชื่อ อาโป (ธาตุนํ้า) นํ้ามาก นํ้าท่วม

เกณฑ์นาคราชให้นํ้า ปีระกา นาคราชให้นํ้า ๔ ตัวทำนายว่า ฝนต้นปีน้อย กลางปีงาม แต่ปลายปีมากแล ฯ

เกณฑ์ธัญญาหารชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในไร่นาจะเกิดกิมิชาติ คือ มีด้วงแมลงรบกวน ข้าวกล้าจะได้ผล ๑ ส่วนเสีย ๕ ส่วน บ้านเมืองจะเกิดยุทธสงคราม จะฆ่าฟันกันจะนิราชจากกัน จะฉิบหายเป็นอันมากแล ฯ.

(ที่มา : http://campus.sanook.com/912340/)


Related Posts

กินสาหร่าย กินพลังงาน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com