“ลูกทุ่งอีสาน” เพลงไทยหรือเพลงลาว

“ลูกทุ่งอีสาน” เพลงไทยหรือเพลงลาว

แวะผ่านไปดูช่องยูทูป “ครูสลา คุณวุฒิ OFFICIAL” ที่มีคนติดตามมากกว่า 2 แสน ได้เห็นคอนเทนต์ใหม่ ๆ คือ “ไทบ้าน The Cover” โดยนำนักร้องประกวดที่ไม่ได้แชมป์ทางหน้าจอทีวีมาร้องเพลงดัง ตามเทรนด์คัฟเวอร์เพลง

อีกโครงการหนึ่ง เพิ่งเริ่มต้น “Cover ข้ามโขง” นำร่องโดยสาวอีสาน เวียง นฤมล คัฟเวอร์เพลงลาว แฟนบ่ชัดเจน ซึ่งต้นฉบับเพลงแฟนบ่ชัดเจน ร้องโดย ฟ้า ทะวีพอน แต่งโดย คม ชะนะ สังกัดบริษัทจำปาสตูดิโอ

สลา คุณวุฒิ ต้องการสานต่อโครงการเดิมที่เคยนำเพลงลาวมาให้นักร้อง ครูสลา คุณวุฒิ OFFICIAL ของไทยร้องจนโด่งดัง อย่างเพลง “เซิ้งหอยจี่แกล้มเหล้า” ร้องโดย กิ ดาวเพ็ด หนูห่วง แต่งโดย อุ่นแก้ว วอละบุด ก็มีการซื้อลิขสิทธิ์มาให้ “พี สะเดิด” ร้องในชื่อเพลง “จี่หอย”

สมัยก่อน สลาอาศัย ดาวเวียง บุดนาโคช่วยประสานงานเรื่องลิขสิทธิ์เพลง เมื่อสิ้นดาวเวียง ก็ได้นักร้องหนุ่มนิสัยดี กิ ดาวเพ็ด หนูห่วง ติดต่อกับ “คม ชะนะ” หรือคม คงชะนะ นักร้อง นักแต่งเพลงลาวรุ่นใหม่ขอนำเพลงแฟนบ่ชัดเจน มาให้เวียง นฤมล ร้องอีกเวอร์ชั่นหนึ่ง

คม ชะนะ นักร้องมากฝีมือ รู้สึกดีใจมาก ที่ครูสลาเลือกเพลงแฟนบ่ชัดเจน ไปให้เวียง นฤมล คัฟเวอร์ และยินดีร่วมงานกับครูสลาในโอกาสต่อ ๆ ไป

โครงการ Cover ข้ามโขง ยังมีบทเพลงดี ๆ จากฝั่งซ้ายมาให้นักร้องฝั่งขวาร้องอีกหลายสิบเพลง ถ้าสนใจติดตามได้ช่องยูทูบ ครูสลา คุณวุฒิ OFFICIAL”

ตอนที่ดาวเวียง บุดนาโค ยังมีชีวิตอยู่ เคยปรับทุกข์เรื่องการแต่งเพลงบ้านนาลาว เพราะเขามักถูกวิจารณ์จาก “การนำ” หรือผู้ใหญ่ในกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมฯ ว่า เลียนแบบลูกทุ่งอีสาน

“มหาชนคนลาว เขาฟังเพลงลูกทุ่งอีสาน ฟังเพลงครูสลา บ่แต่งแนวนี้ ไผสิฟัง สองฝั่งโขง เว้าจาภาษาเดียวกัน มันสิเลียนแบบหม่องได๋” ผ่านมาหลายปีแล้ว ก็ยังจำคำพูดของดาวเวียงได้ดี

มีอยู่วันหนึ่ง ดาวเวียงขี่ลดจักฮ้าง ๆ (มอเตอร์ไซค์เก่า) พาเข้าไปในหมู่บ้านชานนครหลวงเวียงจันทน์ ไปสัมผัสวิถีคนบ้านบ้าน ที่ยังใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในระบอบลาวเก่า ชาวบ้านแถวนั้นเล่าว่า สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบลาวใหม่ ทางการไม่ให้ฟังวิทยุฝั่งขวา แต่พวกเขาก็ลักลอบฟังเพลงลูกทุ่งอีสาน ฟังหมอลำจากสถานีวิทยุท้องถิ่นริมโขง

เมื่อ สปป.ลาว ก้าวสู่ยุคจินตนาการใหม่ชาวลาวจึงคุ้นเคยกับเพลงไทยทุกแนว ฉะนั้นเพลงลูกทุ่งบ้านนาลาว จึงปรับตัวไปตามกระแสความนิยมของมหาชน

หลังสงกรานต์ที่ผ่านมา นักข่าว นสพ.ลาวพัดทะนา เขียนบทความเรื่อง งัดถั่งงัดอยู่วัดจึงบ่มีคนหลายเพื่อจะสื่อข่าวส่งความถึงผู้รักและหวงแหนประเพณีดีงามของชาวลาว

เนื่องจากบุญปีใหม่ลาว ในหลายตัวเมืองของนครหลวงเวียงจันทน์ มีเข้าวัด สรงน้ำพระก่อกองทราย และทำบุญตักบาตรน้อยลง หลายวัดเงียบเหงา มีแต่ผู้สูงอายุไม่กี่สิบคน และเด็ก ๆ มาเล่นสาดน้ำกัน

ผู้เขียนบทความชิ้นนั้น ระบุสาเหตุที่คนเข้าวัดน้อยลง เพราะข้างวัดมีเวทีดนตรี มีซุ้มเล่นน้ำและซุ้มขายเบียร์ ขายเหล้า

“ท่ามกลางการม่วนซื่นผ่านการดื่ม การเต้นนั้น เสียงเพลงจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีอิทธิพลต่อประชาชนเฮาหลายที่สุด บรรดาเพลงที่กำลังได้รับความนิยมในขณะนี้ อาทิเช่น งัดถั่งงัด, หมากแตงโม…เพลงเหล่านี้ปลุกเร้าจิตใจให้อยากเต้น อยากดื่ม จนลืมว่าจะไปวัด ไปสรงน้ำพระ และอื่น ๆ กำลังเป็นความตกต่ำที่น่าเศร้า”

นักข่าว นสพ.ลาวพัดทะนา ยังแสดงความเป็นห่วงวัฒนธรรมลาว โดยเฉพาะ อิทธิพลของเพลงประเทศเพื่อนบ้าน คนลาวจำนวนมากที่อ่านข่าวนี้ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำว่า อิทธิพลของเพลงประเทศเพื่อนบ้าน และตั้งคำถามว่า “เพลงงัดถั่งงัด บักแตงโม เจ้าว่าเพลงลาวหรือเพลงไทย…”

เหมือนกรณีงานบุญนมัสการพระธาตุโผ่นเมืองไชพูทอง แขวงสะหวันนะเขต ตำรวจเมืองไชพูทอง ได้บุกขึ้นไปบนเวทีวงดนตรีวิไช เสียงสะหวัน สั่งให้หยุดการแสดงทันที โดยแจ้งว่า มีการเล่นเพลงไทยมากกว่าเพลงลาว

ข่าวที่แพร่ไปในสื่อออนไลน์ กลายเป็นเรื่องตำรวจลาวห้ามร้องเพลงไทย ต่อมาแผนกวัฒนธรรมเมืองไชพูทองชี้แจงว่า ก่อนการแสดงดนตรีสด ทีมงานวิไช จัดให้มีช่วงดีเจเปิดเพลงคือดีเจกิโต่ย กับดีเจหำแหล้ โดยดีเจเปิดเพลงไทยที่ออกแนวเซ็กซี่ จึงถูกเจ้าหน้าที่สั่งหยุดการแสดง

กรณีห้ามร้องเพลงไทยข้างต้น ได้เกิดปรากฏการณ์ตะลุมบอนกันในโลกออนไลน์ลาวเกี่ยวกับระเบียบของกรมศิลปะการแสดงกระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรมฯ ได้วางกรอบให้การเล่นดนตรีสด ไม่ว่าในผับ ร้านอาหาร หรือการแสดงกลางแจ้ง ต้องมีอัตราส่วนร้อยละ 70 ร้องเพลงลาวร้อยละ 30 ร้องเพลงต่างประเทศหรือเพลงไทย

คนลาวที่แสดงความเห็นผ่านสื่อโซเชียลพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “บ่มีไผ เฮ็ดนำกฎล้าหลังนี้แล้ว” หรือบางคนก็ว่า “โลกเปลี่ยนไปแล้ว มันบ่มีเส้นแบ่งเพลงไทย เพลงลาว”

สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ ตามร้านอาหารคลับเลานจ์ ผับคาราโอเกะ ในนครหลวงเวียงจันทน์ และหัวเมืองใหญ่ๆ ไม่มีสถานบันเทิงไหนยึดกุมกฎ เพลงลาว 70 เพลงไทย 30มีแต่เพลงไทย 100 เปอร์เซ็นต์เสียเป็นส่วนใหญ่

ดังที่ทราบกัน 10 ปีแรกของการสร้างสรรค์สังคมนิยมลาว มีการปิดพรมแดนไทย-ลาว แต่ชาวบ้านฝั่งซ้ายก็ยังแอบฟังรายการเพลงจากสถานีวิทยุฝั่งขวา

ทุกวันนี้ โลกเข้าสู่ยุค ดนตรีไม่มีขอบเพลงไม่มีพรมแดนประกอบกับคนสองฝั่งโขงพูดจาภาษาเดียวกัน จะต่างแค่ตรง สำเนียงเสียงปากเท่านั้น จึงไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากางกั้น

 

ขอบคุณภาพประกอบ

https://www.youtube.com/watch?v=3aElvUjjzgQ

https://music.mthai.com/news/newsmusic/302983.html


ครูสลา คุณวุฒิ เลือกเวียง นฤมล ให้มาร้องคัฟเวอร์เพลง

Related Posts

หนี้กรรม เพลงหักปากกาเซียน
“คนตง” มังกรไห่หนาน : จากตงซิคิวถึงประสาท ตงศิริ ตอนที่ ๑ ย้อนรอยบรรพชนแต๊ต๋ง
ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com