ฮีตเดือนห้า

การสรงนํ้าพระพุทธรูป อาจจัดเป็นขบวนแห่ หรือเชิญมา ประดิษฐานในที่อันเหมาะสม การสรงนํ้าจะใช้นํ้าอบ นํ้าหอม ประพรมที่องค์พระ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมวันสงกรานต์ หรือฮีตเดือนห้า

คำว่า สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่าผ่าน หรือ เคลื่อนย้ายเข้าไป หมายถึง วันที่พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศีมีนสู่ราศีเมษ ตามหลักโหราศาสตร์เรียกว่า ยกขึ้นสู่ เช่น พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษคือการที่พระอาทิตย์ย้ายจากกลุ่มดาวราศีมีนไปสู่กลุ่มดาวราศีเมษ ซึ่งเป็นราศีถัดไป (ถึงปีต่อ ๆ มาได้คลาดเคลื่อนไปแต่ก็ยังถือวันที่ ๑๓ เป็นวันสงกรานต์)

การกำหนดเอาสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ก็โดยเป็นวันเริ่มต้นของฤดูฝน ประเทศกสิกรรมกำหนดเอาตามกฎเกณฑ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อความเหมาะสมแห่งวิถีชีวิต เป็นเวลาที่ประชาชนว่างเว้นจากการงานในไร่นา จึงจัดให้วันสงกรานต์เป็นวันทำบุญพิเศษและมีการละเล่นสนุกสนานร่วมกัน เรียกว่า เล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์ เป็นประเพณีที่สืบเนื่องมาเป็นเวลานาน และแม้แต่ในประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่าง พม่า ลาวเขมร ก็มีประเพณีสงกรานต์เช่นเดียวกัน เพราะได้แบบอย่างจากประเทศอินเดีย เป็นช่วงผ่านพ้นฤดูหนาวต้นไม้เริ่มผลิดอกออกช่อ ฝูงสัตว์ที่เคยจำศีลออกหากินอีกครั้ง ชาวอินเดียจึงถือเอาช่วงต้นฤดูใหม่นี้เป็นวันขึ้นปีใหม่ เฉลิมฉลองแสดงความความยินดีเล่นนักขัตฤกษ์สงกรานต์กัน

ในนิทานนางสังขานต์มาจากคัมภีร์ของมอญ และยังปรากฏอยู่ในนิทานนางสังขานต์ของจีน ซึ่งมีเรื่องเล่าว่านางสังขานต์นั้นอาศัยอยู่ในมหาสมุทร ถึงวันขึ้นปีใหม่จึงโผล่ขึ้นจากนํ้า และมีผลงานของจิตรกรชาวจีนภาพหนึ่งที่เล่าถึงเรื่องราวนี้ว่า ครั้นถึงวันสงกรานต์ จิตรกรผู้นี้ไดถื้อพูกั่นกับกระดาษไปแอบอยู่ริมทะเลแต่เช้าตรู่ พอตะวันขึ้น นางสังขานต์ก็ผุดขึ้นมาจากทะเล ส่วนประเทศลาวก็เลยวาดรูปตามด้วย จึงได้เห็นรูปนางสังขานต์สืบมา ส่วนคนไทยในภาคอีสานก็รับวัฒนธรรมดังกล่าวมาด้วย และสืบทอดกันมาจนทุกวันนี้

สิลา วีระวงส์, ฮีตสิบสอง, (จัดพิมพ์โดยศูนย์ศิลปวัฒนธรรมวิทยาลัยครูอุบลราชธานี กรมฝึกหัดครู, ๒๕๒๙), หน้า ๖.

วันงานจะเริ่มตั้งแต่วันที่ ๑๓ – ๑๕ เมษายนเป็นประจำทุกปี วันที่ ๑๓ จะเรียกว่า วันสังขารล่อง วันที่ ๑๔ จะเรียกว่า วันเนาว์ ในวันที่ ๑๕ จะเรียกว่า วันสังขารรุ่ง หรือ วันขึ้นปีใหม่ ถือเป็นวันสำคัญที่สุด ผู้คนจะพากันไปทำบุญที่วัดเพื่ออุทิศไปให้ผู้ล่วงลับ และทำบุญขึ้นปีใหม่ด้วย ถวายเจดีย์ทรายเป็นพุทธบูชา นำนํ้าขมิ้นส้มป่อย นํ้าอบนํ้าหอม มาขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่ และสรงนํ้าอัฐิหรือรูปบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

พระครูสุทัศน์ธรรมสุนทร, “รายงานการวิจัย บทบาทพระสงฆ์ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสองฝั่งโขง”, (สถาบันวิจัยญาณสังวรมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๐), หน้า ๖๕.

ตำนานวันสงกรานต์มีเรื่องราวเกิดมาก่อน ส่วนปรัชญาอันลํ้าลึกที่แทรกไว้เป็นปริศนาธรรมในวันสงกรานต์ตามคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาปรากฏภายหลัง ดังมีเรื่องความเป็นมาแต่โบราณกาลดังต่อไปนี้

เศียรหัวโขนท้าวกบิลพรหม (ขอบคุณภาพจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กรมศิลปากร)ประติมากรรมรูปการ อัญเชิญเศียรท้าวกบิลพรหม ประทักษิณวรรตเวียนรอบเขาพระสุเมรุในตำนานฮีตเดือนห้า ณ หน้าบันพระวิหารวัดคลองแห อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

ตำนานวันมงคลปีใหม่ไทย

กาลครั้งหนึ่งมีเศรษฐีอยู่คนหนึ่งแต่งงานกับภรรยามานานหลายปี แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุลสักที ตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้บ้านนักเลงสุราที่มีบุตรชายอยู่ ๒ คน มีอยู่วันหนึ่งนักเลงสุราเมามายได้กล่าววาจาหยาบคายเสียดสี เศรษฐีจึงถามว่า “พวกเจ้ามาพูดหยาบคายต่อเราผู้เป็นเศรษฐีเพราะเหตุใด”

ฝ่ายนักเลงสุราก็เยาะเย้ยว่า “ตัวท่านแม้มีทรัพย์มาก แต่ไม่มีบุตรไว้สืบสกุล เมื่อตายไปแล้วทรัพย์สมบัติย่อมสูญหายไม่มีประโยชน์อันใด ตัวเราแม้ยากจนแต่มีบุตรรูปงามถึงสองคน เราจึงถือว่าดีกว่าท่านมาก”

เศรษฐีตริตรองดูเห็นว่าจริงอย่างที่เขาพูด เกิดมีความละอายคิดอยากได้บุตรไว้สืบสกุลบ้าง จึงไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ อธิษฐานขอบุตรถึงสามปีแต่ก็ไม่สมปรารถนา เมื่อถึงฤดูคิมหันต์ จิตรมาส (เดือน ๔) มีงานเทศกาลประจำปี เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรริมนํ้า เอาข้าวสารล้างนํ้าเจ็ดครั้งแล้วหุงบูชารุกขเทวดา ณ ต้นไทรนั้น พร้อมด้วยแกงและกับข้าวอย่างอื่น มีการแสดงด้วยเครื่องดนตรีดุริยางค์ต่าง ๆ อย่างสมเกียรติเพื่อบูชา แล้วต่อมาจึงอธิษฐานจิตขอบุตรต่อรุกขเทวดา

ต่อมาธรรมบาลเทพบุตรได้ลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาของเศรษฐี มีชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร (หนังสือบางเล่มใช้คำว่า “ธรรมปาล”) ท่านเศรษฐีดีใจจึงได้สร้างปราสาทใกล้ต้นไทรริมนํ้าให้เป็นที่อยู่ เมื่อเจริญวัยได้เรียนรู้ศิลปศาสตร์ต่างๆ จนเจนจบ เป็นผู้เฉลียวฉลาดเรียนรู้จบไตรเภท สามารถรู้ภาษาของสัตว์ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ และต่อมาได้เป็นอาจารย์บอกมนต์แก่มนุษย์ชาวชมพูทวีป แล้วตั้งตนเป็นอาจารย์สอนศีลธรรมความรู้แก่คนทั้งหลาย จนมีชื่อเสียงลือชาปรากฏว่าจะหานักปราชญ์คนใดเท่าเทียมได้ในยุคนั้น

ครั้นเมื่อ ท้าวกบิลพรหม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ท้าวมหาสงกรานต์ ทราบว่าธรรมบาลกุมารเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่นับถือของมนุษย์ทั้งหลาย จึงลงมาถ้าพนันถามปัญหา ๓ ข้อ หากธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้จะต้องตัดศีรษะมาบูชาตน ถ้าตอบได้ตนจะตัดศีรษะเป็นเครื่องบูชาธรรมบาลกุมารเช่นกัน โดยให้เวลาคิดหาคำตอบในวันนั้นเลย ปัญหามีอยู่ ๓ ข้อด้วยกันคือ

พระครูปิยธรรมนิวิฐ, “ประเพณีสงกรานต์ อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย”, วิทยานิพนธ์ ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาวิชาไทยศึกษาเพื่อการพัฒนา, (เลย : มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย, ๒๕๔๙), หน้า ๖๕.

“ปัญหาข้อที่ ๑ เวลาตอนเช้า ราศีของคนอยู่ที่ไหน…?

ปัญหาข้อที่ ๒ ในตอนเที่ยง ราศีของคนอยูที่ไหน…?

และปัญหาข้อที่ ๓ ช่วงตอนเย็น ราศีของคนอยู่ที่ไหน….?”

หลังจากที่ธรรมบาลกุมารได้รับทราบแล้วก็รับคำท้าแล้วนำเอาปัญหานี้ไปคิดหาคำตอบคิดอยู่ ๓ วันก็ยังไม่พบคำตอบ จึงหวั่นใจว่าเรานี้เห็นทีจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดคอเป็นแน่

เมื่อธรรมบาลกุมารแก้ไม่ได้ทันทีทันใดภายใน ๓ วันอย่างว่า จึงได้ขอผลัดไว้ก่อนแล้วได้ขอขยายเพิ่มเวลาขึ้นสักเจ็ดวัน ให้เวลานานหน่อยจะไปคิดก่อนอาจจะได้คำตอบ ฝ่ายกบิลพรหมก็ทรงอนุญาตตามนั้น ครั้นถึงครบกำหนด ๖ วันแล้วยังคงเหลืออีกหนึ่งวัน ธรรมบาลคิดอย่างไรก็ยังคิดไม่ออกจึงได้ปลีกตัวออกจากบ้านเพราะความละอายชาวบ้านชาวเมืองมากกับการแก้ปัญหาไม่ได้ ซัดเซพเนจรไปจนเหนื่อยอ่อน เดินทางมาไกลบ้านพอสมควรถึงป่าไม้ตาลแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลาพลบคํ่าพอดีจึงเข้าไปนอนพักอยู่ใต้ต้นตาลใหญ่ต้นหนึ่งเผอิญว่าบนต้นไม้ใหญ่ที่กุมารน้อยอาศัยนั้น มีพญาอินทรีสองตัวมาพักอยู่ ทั้งคู่ได้ทำรังอยู่บนต้นตาลนั้นและในตอนหัวค่ำนั้นนกตัวเมียได้ถามตัวผู้ว่า “เอ…พรุ่งนี้เราจะไปหากินที่ไหนดีน่ะ…?”

ฝ่ายนกอินทรีตัวผู้อีกตัวตอบว่า “จะไปกินเนื้อธรรมบาลกุมารที่ต้นไทร…”

ส่วนธรรมบาลกุมารซึ่งฟังภาษานกรู้เรื่องถึงกับสะดุง้ โหยง…! ตกอกตกใจเป็นการใหญ่ ไม่คาดคิดว่านกอินทรีทั้งสองผัวเมียจะรู้เรื่องนี้ได้

นกอินทรีตัวเมียถามต่อไปว่า “แล้วธรรมปาลกุมารเป็นอะไรจึงต้องตายในพรุ่งนี้ล่ะ…?”

ฝ่ายธรรมบาลกุมารน้อยที่แอบฟังอย่างตั้งใจ หัวใจเต้นตุ๊บ ๆ กับความรอบรู้ของเจ้านกอินทรี

นกอินทรีตัวผู้จึงตอบว่า “ก็ตอบปัญหากบิลพรหมไม่ได้น่ะซี…!”

นกไต่ถามกันเรื่อย ๆ ธรรมบาลกุมารน้อยนิ่งฟัง นกอินทรีตัวเมียจึงถามต่อว่า “งั้นหรือ…เอ ! ปัญหานั้นตอบว่าอย่างไรจึงถูกน่ะ…?”

พญานกอินทรีจึงเฉลยขึ้นว่า “อย่างนี้น๊า… คือว่าตอนเช้า ราศีของคนอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทำความสะอาดทุกวัน ส่วนตอนเที่ยง ราศีของคนอยู่ที่หน้าอก คนจึงเอาแป้งทาอก หรืออาบนํ้าบรรเทาความร้อน พอมาถึงตอนเย็น ราศีของคนอยู่ที่เท้า คนจึงล้างเท้าก่อนเข้านอน ที่ต้องเดินทำภารกิจมาทั้งวัน ดังนั้นจะเห็นมนุษย์ทั่ว ๆ ไป เวลาจะเข้านอนต้องเอานํ้าล้างตีนก่อนจึงจะเป็นมงคลในชีวิต ก็แค่นี้เอง… ไม่น่าจะโง่เลยน่ะธรรมบาล…?

ฝ่ายธรรมบาลกุมารได้ยินเช่นนั้น ก็ดีใจสุดขีดจนอยากตะโกนให้ลั่นไปทั่วโลกมนุษย์นี้เลย เหมือนยกภูเขาออกจากอกที่ตนได้แบกมาตั้ง ๖ วันเต็ม ๆ เขารีบเดินทางกลับบ้านทันที…!

ครั้นรุ่งเช้าก็ไปพบท้าวกบิลพรหมตามนัดหมายและได้ตอบปัญหาดังนกอินทรีที่พูดกันนั้น ปรากฏว่าตอบถูกตามที่ท้าวกบิลพรหมต้องการ ฝ่ายท้าวกบิลพรหมเป็นผู้แพ้ จึงต้องถูกตัดคอตามสัญญา แต่ก่อนตัดศีรษะท้าวกบิลพรหมได้กล่าวว่า “ศีรษะของตนมีอิทธิฤทธิ์ร้ายแรงมาก ถ้าตัดคอแล้วต้องมีพานทองมารองรับ แล้วให้เอาไปเก็บไว้ที่ถํ้าบนเขาพระสุเมรุ เมื่อครบ ๓๖๕ วัน คือ ๑ ปี ก็ให้นำเอาศีรษะซึ่งมีสี่หน้านั้นออกมาแห่วนรอบเขาพระสุเมรุครั้งหนึ่ง ถ้าศีรษะของตนพลัดตกถูกพื้นโลกเมื่อไหร่เมื่อนั้นโลกจะแตกเป็นเสี่ยง ๆ และเกิดไฟไหม้โลกทันที ถ้าตกลงมหาสมุทรนํ้าจะแห้งหมดมหาสมุทรโดยทันทีเช่นกัน”

จากนั้นท้าวกบิลพรหมจึงยอมตัดคอตัวเอง แล้วนำเอามาบูชาธรรมบาลกุมาร ก่อนจะตัดได้ร้องขอลูกสาวทั้งเจ็ดนางมาสั่งเสียไว้ว่า “พ่อจะได้ตัดคอเอาหัวไปบูชาธรรมบาลกุมาร แต่ว่าหัวของพ่อนี้ถ้าตกใส่แผ่นดินก็จะเกิดไฟไหม้โลกทั้งหมด ถ้าจะโยนขึ้นบนอากาศ ก็จะทำให้ฝนฟ้าแห้งแล้ง ถ้าจะโยนลงในมหาสมุทรนํ้าก็จะเหือดแห้งหมด ดังนั้นจึงขอให้ลูกเอาพานมารองหัวพ่อไว้ แล้วเอาไปตั้งไว้ในมณฑป (หอน้อย ๆ หรือหอผี) นำไปประดิษฐานไว้ในถํ้าคันธุมาลี ที่บริเวณภูเขาไกรลาสให้พ่อหน่อย…!”

ครั้นสั่งความต่อลูกสาวทั้งหลายแล้วฝ่ายลูกสาวก็รับปาก แล้วจัดการตามที่สัญญาไว้กับพ่อ โดยเอาพานมารับหัวไว้แล้วเอาไปบรรจุในถํ้าที่ภูเขาไกรลาส ครั้นถึงขวบวันเลี้ยงปี (วันสังขานต์) ลูกสาวทั้ง ๗ คนนั้น ก็ผลัดเปลี่ยนกันไปถํ้าคันธุมาลีที่ภูเขาไกรลาส แล้วเอาพานศีรษะของพ่อมาสรงนํ้าหรืออาบล้างด้วยนํ้าสะอาด และแห่ไปรอบ ๆ เขาพระสุเมรุ (เขาพระสุเมรุราช) ปีละคนโดยจัดวางวาระกันเป็นลำดับไปตามปีเป็นอย่างนี้ทุก ๆ ปี หลังเสร็จกิจกรรมแล้วก็ให้เชิญไปตั้งไว้ในถํ้าคันธุมาลีที่ภูเขาไกรลาสอย่างเดิม

การจัดวาระให้ลูกสาวทั้งเจ็ดคนของท้าวกบิลพรหม มีสัตว์เป็นพาหนะพาไปรับและไปส่ง มีชื่อตามวันและชื่อนั้นก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดคือ

http://www.banfun.com

ถ้าปีไหนตรงวันอาทิตย์ เป็นหน้าที่ของ นางทุงษะเทวี ทัดดอกทับทิมประดับด้วยพลอยสีแดง มือขวาถือจักร มือซ้ายถือสังข์ ให้ขี่ครุฑเป็นพาหนะ

ถ้าปีไหนตรงวันจันทร์ เป็นหน้าที่ของ นางโคราคะ ทัดดอกปีปประดับด้วยมุกดา มือขวาถือพระขรรค์มือซ้ายถือไม้เท้า ให้ขี่เสือเป็นพาหนะ

ถ้าปีไหนตรงวันอังคาร เป็นหน้าที่ของ นางราษะ(ผีเสื้อนํ้า) ทัดดอกบัวหลวงประดับด้วยโมรา มือขวาถือตรีศูล มือซ้ายถือธนู ให้ขี่สุกรเป็นพาหนะ

ถ้าปีไหนตรงวันพุธ เป็นหน้าที่ของ นางมณฑา (นางดอกไม้) ทัดดอกจำปาประดับด้วยไพฑูรย์ มือขวาถือเหล็กแหลม มือซ้ายถือไม้เท้า ให้ขี่ลาเป็นพาหนะ

ถ้าปีไหนตรงวันพฤหัสบดี เป็นหน้าที่ของ นางกิรินี (นางพัง นางช้าง) ทัดดอกมณฑาประดับด้วยมรกตมือขวาถือขอ มือซ้ายถือปืน ให้ขี่ช้างเป็นพาหนะมารับและกลับมาส่งด้วย

ถ้าปีไหนตรงวันศุกร์ เป็นหน้าที่ของ นางกิมิทา (นางหนอน) ทัดดอกจงกลนีประดับด้วยบุษราคัมมือขวาถือพระขรรค์ มือซ้ายถือพิณ ให้ขี่กระบือเป็นพาหนะ

ถ้าปีไหนตรงวันเสาร์ เป็นหน้าที่ของ นางมโหทร (นางท้องใหญ่) ทัดดอกสามหาวประดับด้วยนิลรัตน์มือขวาถือจักร มือซ้ายถือตรีศูล ให้ขี่นกยูงเป็นพาหนะ

ส่วนอาวุธเครื่องประดับตลอดจนอาหารที่นางเหล่านั้นเสวย และท่วงท่าหรือบุคลิกภาพในการขี่พาหนะเหล่านั้น ก็มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดของตนเอง ส่วนลักษณะท่าทางของลูกสาวของท้าวกบิลพรหมทั้ง ๗ สาวนั้น ก็มีถนัดตามอิริยาบถที่ตนเองชอบและมีกำหนดไว้ว่า

ถ้าเวลาสังขานต์ไปแต่เช้าถึงเที่ยงจะเป็นท่ายืน

ถ้าเวลาสังขานต์ไปแต่เที่ยงถึงคํ่าจะเป็นท่านั่ง

ถ้าเวลาสังขานต์ไปแต่คํ่าถึงเที่ยงคืนจะเป็นท่านอนลืมตา

ถ้าเวลาสังขานต์ไปแต่เที่ยงคืนถึงแจ้งจะเป็นท่านอนหลับตา

ฝ่ายธรรมบาลกุมารจึงให้นางสงกรานต์ ซึ่งเป็นนางฟ้าลูกสาวของท้าวกบิลพรหม นำพานทองมารับศีรษะท้าวกบิลพรหมแล้วนำไปเก็บไว้ในถํ้าบนภูเขาพระสุเมรุ จวบถึงหนึ่งรอบปีก็เอาออกมาแห่ประทักษิณรอบหนึ่ง คนในโลกต่างหวั่นว่า “ศีรษะกบิลพรหมจะพลัดตกลงมาทำให้โลกลุกเป็นไฟจึงเอานํ้าสาดรดกัน”

ส่วนในเรื่องสาดนํ้ารดนํ้าวันสังขานต์นั้น แต่ก่อนนั้นคงจะเนื่องมาจากได้ยินว่า ลูกสาวของท้าวกบิลพรหมเอาเศียรของพ่อมารดสรงล้างความไม่เป็นมงคลออกไปนั่นเอง จึงได้ล้างรดสรงกันสืบมาตามคติความเชื่อในเรื่องนี้ ครั้นต่อมานักปราชญ์ทางพุทธศาสนาได้คิดเปลี่ยนแปลงเอาพระพุทธรูปมารดสรงแทน

การสรงนํ้าพระพุทธรูป ชาวบ้านจะนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาแล้วเอานํ้าอบไปประพรมที่องค์พระ เพื่อความเป็นสิริมงคล บางแห่งมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแห่แหนไปรอบ ๆ หมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสสรงนํ้ากันอย่างทั่วถึง หรือจะอัญเชิญพระพุทธรูปจากหิ้งบูชาในบ้าน มาทำพิธีสรงน้ำกันในหมู่ญาติพี่น้องก็ได้ตามแต่ความสะดวกในแต่ละท้องที่

นอกจากนี้ยังมีการแห่พระเถระผู้ใหญ่แทนเศียรท้าวกบิลพรหม เพราะว่าเศียรท้าวกบิลพรหมไม่มีแล้วจึงได้เอาพระสงฆ์แทนไปเลย โดยชาวบ้านไปรวมกันที่วัด นิมนต์พระในวัดมายังสถานที่ประกอบพิธี การรดนํ้าควรรดที่มือของท่าน ไม่ควรตักราดเหมือนกับเป็นการอาบนํ้าจริง ๆ เพราะพระสงฆ์ถือเป็นเพศที่สูงกว่าคนธรรมดาทั่วไป นํ้าที่ใช้ต้องเป็นนํ้าฝนหรือนํ้าสะอาดผสมน้ำอบไทย เมื่อสรงน้ำแล้วพระท่านก็จะให้ศีลให้พรเพื่อความเป็นสิริมงคล

ในกาลต่อมาปราชญ์ชาวพุทธจึงได้เพิ่มการรดนํ้าญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่เคารพนับถือเข้ามา ตามหลักคำสอนในหลักธรรมพรหมวิหาร ๔ การรดน้ำผู้ใหญ่ หากกระทำกันเองในบ้าน ลูกหลานจะเชิญพ่อแม่ปู่ย่าตายาย หรือญาติผู้ใหญ่มานั่งในที่จัดไว้ แล้วนำน้ำอบ น้ำหอมผสมน้ำมารดให้ท่าน นิยมรดที่มือหรือรดทั้งตัวไปเลยก็มี ในระหว่างที่รดนํ้าท่านก็ให้ศีลให้พรแก่ลูกหลาน เสร็จพิธีแล้วจึงผลัดนุ่งผ้าใหม่ที่ลูกหลานจัดเตรียมไว้ให้ เป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีภายในครอบครัว การรดนํ้าผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ ส่วนใหญ่จะนิยมมีผ้าไหว้ด้วย อาทิเช่นเสื้อผ้าและผ้าขาวม้าไปมอบให้ เป็นการแสดงความเคารพผู้อาวุโส และผู้มีพระคุณตามธรรมเนียมอันดีงาม บางหมู่บ้านอาจเชิญคนแก่คนเฒ่ามารวมกันแล้วให้ลูก ๆ หลาน ๆ ทำพิธีรดนํ้าขอพรร่วมกันหลังจากทำพิธีสรงนํ้าพระพุทธรูปสรงนํ้าพระสงฆ์และรดนํ้าขอพรจากญาติผู้ใหญ่แล้ว พวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็จะเล่นสาดนํ้ากันอย่างสนุกสนาน ซึ่งนํ้าที่นำมาสาดกันต้องเป็นนํ้าสะอาดผสมนํ้าอบมีกลิ่นหอม บางคนไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรม หรือจุดประสงค์ของการเล่นสาดนํ้าในวันสงกรานต์ เอาน้ำแข็ง น้ำผสมสี น้ำไม่สะอาดหรือผสมเมล็ดแมงลัก แล้วนำไปสาดผู้อื่นซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง

สถานที่เล่นส่วนใหญ่เป็นลานวัดหรือลานกว้างของหมู่บ้าน พอเหนื่อยก็จะมีขนมมีอาหารมาเลี้ยงกัน ซึ่งชาวบ้านจะช่วยกันเรี่ยไรออกเงินและช่วยกันทำไว้ จนถึงตอนเย็นจึงแยกย้ายกันกลับไปบ้านเพื่ออาบนํ้าเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ แล้วมารวมกันที่ลานวัดอีกครั้งเพื่อร่วมการละเล่นพื้นเมืองตามท้องถิ่นนั้น ๆ

นอกจากนี้ ในวันสังขานต์ขึ้นจะพากันก่อพระเจดีย์ทราย แต่ก่อนจะนิยมก่อเป็นรูปภูเขา สมมติว่าเป็นภูเขาไกรลาส ที่ประดิษฐานเศียรท้าวกบิลพรหม ภายหลังนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาเห็นว่าทำอย่างนั้นไม่ได้ประโยชน์ จึงหาอุบายแต่งนิทานขึ้นมารองรับเรื่องการก่อเจดีย์ทราย ว่าได้บุญมีอานิสงส์มากหลาย แต่ต้องเข้ามาก่อภายในวัดเท่านั้น ความจริงแล้วท่านอยากได้ดินทรายมาใส่ลานวัด รวมทั้งเป็นการทดแทนดินที่ได้ติดเท้าออกจากวัดไปในโอกาสต่าง ๆ ที่เข้ามาวัดในรอบปี และเพื่อกันไม่ให้หญ้าเกิดหรือสามารถจะถอนได้ง่ายขึ้น และบางปีก็ต้องการทรายเพื่อก่อสร้างธาตุและกุฏิวิหารต่าง ๆ ด้วย นับว่าเป็นอุบายที่ดีและมีประโยชน์มากกว่าและเข้าตามคติความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาในเรื่องการทำบุญอีกด้วย จึงเป็นเรื่องที่สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพราะว่าเรื่องสงกรานต์หรือวันสังขานต์ทั้งหมดนั้น เป็นคติความเชื่อมาจากศาสนาพราหมณ์ (ฮินดู) แต่เมื่อได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว จึงได้ประยุกต์ดัดแปลงหันเข้ามาใส่พระพุทธศาสนา

พิธีอัญเชิญและบวงสรวงเศียรท้าวกบิลพรหมองค์มหาสงกรานต์

ปริศนาปรัชญาธรรมในวันสงกรานต์

ปริศนาธรรมในวันสงกรานต์ สามารถแบ่งออกเป็นสองกรณี มีทั้งธรรมระดับโลกียะและโลกุตตระ

การที่ต้องประคองศีรษะท้าวกบิลพรหมไว้ให้ดีอย่าให้พลัดตก เพราะว่าตกแล้วไฟจะไหม้โลก หมายความว่า ชี้ให้ทุกคนต้องประคอง เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขาเอาไว้ เพราะเป็นคุณธรรมประจำใจ อย่าให้เผลอตก เพราะถ้าตกหรือขาดไปจากใจแล้ว อาทิไฟเอารัดเอาเปรียบ ไฟทารุณโหดร้าย ไฟริษยา และไฟเศร้าโศก จะเกิดขึ้นไหม้จิตใจลามมาไหม้โลกให้เกิดความวุ่นวายทันที

ให้เอานํ้าสาดกัน หมายถึง นํ้าใจ กล่าวคือทุกคนต้องอยู่ด้วยกันอย่างเสียสละ เผื่อแผ่ความสุขเฉลี่ยให้กันและกันโลกจึงจะอยู่เย็นเป็นสุข

นํ้ามหาสมุทรจะแห้ง หมายถึง ไม่มีนํ้าใจ ความหมายของการแล้งนํ้าใจเพราะว่าสิ้นเมตตา กรุณา มุทิตาและอุเบกขา เป็นธรรมระดับโลกิยะชาวโลกจะขาดไม่ได้ขาดเมื่อไหร่แผ่นดินจะลุกเป็นไฟคือความเดือดร้อนในสังคม

ท้าวกบิลพรหม หมายถึง เจ้าความรู้สึกว่า เป็นอัตตา คือรู้สึกว่ามีตัวตนของตน ความหมายผู้ถามปัญหานี้ได้แก่ สติ หมายถึง ธรรมบาลกุมาร ครั้งแรกเมื่อเก็บเอาไปคิดอย่างไรก็ไม่ได้ เสมือนดังการคิดให้รู้ว่า รูปเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ไม่ใช่ตน คิดไม่ได้ไม่ออกนิยมเรียกว่าวิปัสสนึกไม่ใช่วิปัสสนา วิปัสสนาแปลว่า เห็นแจ่มแจ้ง ต้องเห็นแบบธรรมบาลกุมาร คือได้ยินนกอินทรีคุยกันสามารถฟังภาษานกรู้เรื่อง คือฟังภาษาสภาวะธรรม จากอินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คอยสังเกตดูการกระทบกันระหว่างอายตนะก็จะได้คำตอบที่ถูกต้อง หมายถึง การที่จะเจริญวิปัสสนาให้ใช้สติสังเกต ผัสสะกระทบจนเห็นความจริงทั้ง ๓ ระดับ

ราศี นั้นคือความงดงาม หรือความสง่างามที่แท้จริงของคนตอนเช้าหมายถึง รุ่งอรุณหรือขั้นแรกของการบรรลุมรรคผล ความงดงามอยูที่หน้าก็เพราะหน้ามีหน้า ที่เห็นคือขั้นแรกต้องเอานํ้าธรรมล้างความเห็น (ทิฐิ) เรียกกว่าทัศนานุตตริยะ แปลว่า มีความเห็นอันยอดเยี่ยม ได้แก่ละสังโยชน์ ๓ ข้อคือ

ที.ปา. ๑๑/๓๐๕/๒๗๓-๔๓๘.

๑. สักกายทิฏฐิ เห็นว่ากายนี้เป็นของตน

๒. วิจิกิจฉา สงสัย ลังเลในเรื่องทุกข์และการดับทุกข์

๓. สีลัพพตปรามาส งมงายในไสยศาสตร์ ศีลพรตต่าง ๆ ว่าเป็นไปเพื่อความขลัง คือความเชื่อยังไม่พัฒนามาเป็นพระพุทธศาสนา

การชะล้างสังโยชน์ ๓ ข้อนี้เรียกว่า ทัศนานุตตริยะเป็นสง่าราศีของมนุษย์โดยแท้ เป็นรุ่งอรุณของการเข้าสู่ดินแดนโลกุตตรภูมิในมรรคมีองค์แปด เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

ตอนเที่ยง เป็นการล้างขั้นที่สองได้แก่ ปฏิปทานุตตริยะ แปลว่า การปฏิบัติอันยอดเยี่ยม คือ สัมมาสังกัปปะ ดำริออกจากการไม่เบียดเบียน ใช้ศีล สมาธิและปัญญา ตัดกิเลสอีก ๒ ข้อคือ

. กามราคะ ความกำหนัดในกาม

. ปฏิฆะ ความขัดเคืองในใจ

สังโยชน์ ๒ ข้อนี้ต้องใช้ตบะเหมือนแดดยามเที่ยงชำระล้าง ถ้าชำระล้างกิเลส ๒ ตัวนี้ได้ นั้นแหละคือสง่าราศีอันแท้จริงของคน เพราะประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉานอยู่ที่อกเพราะเวลากิเลสเกิดจะร้อนในอกคือในใจ

ตอนเย็น เป็นการล้างขั้นสุดท้าย มีการล้างกิเลสอีก ๕ ข้อคือ

พระมหา ดร.สุขพัฒน์ อนนท์จารย์. ปริศนาปรัชญาธรรม. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ธรรมภักดี, ๒๕๔๖), หน้า ๔๒๓-๔๒๔.

. รูปราคะ ความกำหนัดในรูปนิมิตขณะเข้าฌาน

. อรูปราคะ ความกำหนัดในอรูป คือความไม่มีอะไร

. อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน

. มานะ ความถือตน

. อวิชชา ความไม่รู้แจ้งสภาวธรรมที่แท้จริง

เปรียบกับการล้างเท้าก่อนนอน คือตัดสังโยชน์ก่อนปรินิพพาน คือดับอาสวะกิเลสไม่เหลือ คือความมีสง่าราศีแท้ ๆ ของคนเรา เพราะประเสริฐกว่าสัตว์เดรัจฉานส่วนการประดับตกแต่งภายนอก มีการตบแต่งด้วยเครื่องประดับที่ทรงคุณค่าต่าง ๆ ยังไม่นับว่าเป็นสง่าราศีของคน เพราะยัง กิน นอน สืบพันธุ ์ และหนีภัย มีสถานะเท่ากับสัตว์เดรัจฉานหรืออาจตะกละกว่าสัตว์

การตอบปัญหาที่ถูกคือการละสังโยชน์ได้หมด ก็คือตัดความรู้สึกว่าขันธ์ห้าเป็นอัตตาได้ คือธรรมบาลกุมารตัดเศียรท้าวกบิลพรหม เรียกว่า วิมุตตานุตตริยะ แปลว่า ความหลุดพ้นอันยอดเยี่ยม นี่คือ ส.ค.ส. ที่แท้จริงของมนุษย์ ใครล้างหน้า ล้างอกและล้างเท้าได้ก็จะไม่มีทุกข์เลย

ความหมายของวันสงกรานต์ไม่ใช่เพียงร้องรำทำเพลง และสาดนํ้ากันอย่างที่เราทำกันพอเป็นพิธี ๆ เพียงเท่านั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงอยู่ที่การละกิเลส นี้เป็นแนวคิดในการปรับเปลี่ยนจากวิถีทางจากคติพราหมณ์มาเป็นคติทางพระพุทธศาสนา

นับตั้งแต่เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นให้สาธารณชนทราบ ปวงประชาเห็นด้วยคล้อยตามจนกลายเป็นความศรัทธา มีคติความเชื่อตามหลักปรัชญาและเหตุผลทางตรรกะ ปราชญ์ชาวอุษาคเนย์จึงนำเหตุการณ์ดังกล่าวมาเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับชาวพุทธ จึงได้คิดริเริ่มงานบุญสงกรานต์ร่วมกันขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเลือกเอาเหตุการณ์ที่มีการรดนํ้าเศียรท้าวกบิลพรหม มาเป็นสาดนํ้ากัน แล้วพัฒนาการเป็นสรงนํ้าพระแทน ซึ่งเหมาะกับช่วงเวลาเก็บเกี่ยวข้าวแล้วมีความสมดุลยภาพต่อวิถีชีวิตในช่วงเดือนนี้ จึงเรียกว่า บุญเดือนห้า

ฮีตเดือนห้า หรือวันสงกรานต์ ถือเป็นประเพณีวันขึ้นปีใหม่ของไทยมาแต่โบราณ เป็นประเพณีที่งดงาม อ่อนโยน เอื้ออาทร และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความกตัญญู ความสนุกสนาน ความอบอุ่น และการให้เกียรติเคารพซึ่งกันและกัน สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะของความเป็นไทยได้อย่างเด่นชัด โดยใช้นํ้าเป็นสื่อในการเชื่อมสัมพันธไมตรี (ภาพโดย ไพบูลย์ ธรรมเรืองฤทธิ์)

ฮางฮด หรือฮดสรง เป็นรางรดนํ้าทำด้วยไม้เป็นรูปพญานาค เพื่อให้นํ้าที่ฮดสรงไหลและรดลงมายังพระภิกษุผู้รับได้รับถวาย การฮดสรงในช่วงเดือนห้าของทุกปี และที่สำคัญ พระเถระบางรูปเป็นผู้ทรงพุทธวิทยาคมขั้นสูง นํ้าที่สรงจะมีชาวบ้านนํ้าไป พรมที่ศีรษะล้างหน้าล้างตาเพื่อความเป็นสิริมงคล (ขอบคุณภาพจากพิพิธภัณฑ์วัดศรีอุบลรัตนาราม จ.อุบลราชธานี และ โฮงมูนมังเมืองขอนแก่น)

Related Posts

รักลูก
ลูกเดือยกับซุปไก่ฟ้าในตำนาน
สงกรานต์ ผ่าน เคลื่อน ย้าย : อะไรผ่าน อะไรเคลื่อน อะไรย้าย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com