พระอุปคุตปราบมาร

พระอุปคุต สร้างโดยวัดอุดมมหาวัน (วัดป่าหลวง) จังหวัดหนองคาย

พระอุปคุต เป็นนามพระเถระที่มีบทบาทสำคัญ ในคติความเชื่อของคนในลุ่มแม่น้ำโขงพบว่า ในพิธีกรรมสำคัญทางพระพุทธศาสนาของชาวอีสาน เช่น งานบุญผะเหวด งานบวช งานกฐิน นิยมสร้างหอพระอุปคุตและทำพิธีนิมนต์ท่านมาร่วมในงานพิธี ด้วยคติความเชื่อที่ว่าท่านมีฤทธิ์มาก สามารถปราบมารไม่ให้มาก่อกวนในงานพิธีได้

เมื่อได้สืบค้นเรื่องราวของพระอุปคุตในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ในพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ฉบับหลวง เถรคาถา เล่มที่ ๒๖ ซึ่งกล่าวถึงพระเถระจำนวน ๒๖๔ รูป และ อปทาน เล่มที่ ๓๒ – ๓๓ ซึ่งกล่าวถึงพระเถระจำนวน ๕๔๐ รูป ไม่พบนาม “พระอุปคุต” นอกจากนี้ ในพจนานุกรมชื่อเฉพาะในบาลี (Dictionary of Pali Proper Names) ทั้งในเล่มที่ ๑ และเล่มที่ ๒ ต่างไม่ปรากฏชื่อของพระอุปคุตเช่นกัน (อภิชาติ ยอดสุวรรณ, ๒๕๓๔ : ๒๓) จึงเป็นที่น่าสนใจยิ่งว่า พระอุปคุต มีความเป็นมาอย่างไร อันจะนำท่านผู้อ่านร่วมเปิดผ้าม่านกั้งในฉบับนี้

พระอุปคุตในคัมภีร์อโศกาวทาน

เรื่องราวที่เก่าแก่ที่สุดเกี่ยวกับพระอุปคุตปรากฏใน “คัมภีร์อโศกาวทาน” ซึ่งเป็นคัมภีร์ภาษาสันสกฤต แต่งขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๕

คัมภีร์อโศกาวทานเรียกนามพระอุปคุตว่า “อุปคุปต์” เป็นบุตรของนายคุปตะพ่อค้าน้ำหอมในเมืองมธุรา พ่อค้าน้ำหอมผู้เป็นบิดาเคยให้สัญญากับพระศาณกวาสิณว่าถ้าหากตนมีบุตรชายจะให้บวช แต่เมื่อพ่อค้าน้ำหอมมีบุตรชาย ๒ คน อัศวคุปต์ ธนคุปต์ กลับเพิกเฉย จนมีบุตรชายคนที่สามชื่อว่า อุปคุปต์ หมายความว่า ผู้มีความคุ้มครองมั่นคงหรือเข้าไปคุ้มครอง พระศาณกวาสิณจึงไปทวงสัญญา

พ่อค้าน้ำหอมได้กำหนดเงื่อนไขว่าหากอุปคุปต์ไม่ทำให้ตนมีกำไรหรือขาดทุนจะให้บวช ครั้งนั้นพญามารได้ใช้ฤทธิ์บันดาลให้เกิดกลิ่นเหม็นในเมืองมธุรา อุปคุปต์จึงสามารถขายน้ำหอมได้กำไรมาก จึงยังไม่ได้บวช

วันหนึ่งอุปคุปต์แสดงธรรมแก่นางโสเภณีชื่อ วาสวทัตตา จนนางบรรลุโสดาบัน ส่วนอุปคุปต์ได้บรรลุเป็นพระอนาคามีจากข้อธรรมของตนเอง ต่อมาพระศาณกสิณบันดาลให้อุปคุปต์ค้าขายไม่ได้กำไรและไม่ขาดทุน พ่อค้าน้ำหอมจึงยอมให้อุปคุปต์บวช

วันหนึ่งพระอุปคุปต์ได้แสดงธรรมในเมืองมธุรา พญามารได้เข้ามาขัดขวางโดยบันดาลให้มีฝนตกเป็นมุกในวันที่ ๑ ตกเป็นทองในวันที่ ๒ และบันดาลให้มีการละเล่นมโหรีรำฟ้อนของเหล่านางเทพอัปสรในวันที่ ๓ จากนั้นพญามารได้นำพวงมาลัยดอกไม้ไปสวมที่คอพระอุปคุปต์ พระอุปคุปต์จึงได้เอา “ซากงู” สวมหัวพญามาร “ซากสุนัข” คล้องคอ และ “ซากศพ” เหน็บหู พญามารแก้ไม่ออกจึงยอมแพ้พระอุปคุปต์

ในการเทศนาธรรมของพระอุปคุปต์ในครั้งนั้น ทำให้มีผู้ขอบวชในพระพุทธศาสนาจำนวนมาก และพระภิกษุเหล่านี้ได้สำเร็จธรรมเป็นพระอรหันต์ถึง ๑๘,๐๐๐ รูป

พระอุปคุปต์เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงแห่ง “นฏภัติกอาราม” ณ “เขาอุรุมณฑ์” พระเจ้าอโศกมหาราชได้ยินกิตติศัพท์จึงปรารถนาที่จะสักการะ พระอุปคุปต์พร้อมพระอรหันตสาวกได้เดินทางมาหาพระเจ้าอโศกที่เมืองปาฏลีบุตร และได้นำเสด็จพระเจ้าอโศกมหาราชจาริกไปสักการะสถานที่สำคัญในพระพุทธประวัติ

ในอโศกาวทานกล่าวยกย่องพระอุปคุปต์เถระว่าเป็น “เอตทัคคะในด้านธรรมกถึก” คำสอนของพระอุปคุปต์เหนือกว่าพระอินทร์ พระพรหม พระอีศาน พระยม พระวรุณ พระกุเวร พระเวสสุวรรณ พระโสมะ พระอทิติ และเทพเจ้าต่าง ๆ พระอุปคุปต์เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์มากที่สามารถเอาชนะได้แม้แต่พระกามเทพ (ส. ศิวรักษ์, ๒๕๕๒ : ๖๐)

พระอุปคุตในคัมภีร์ของอุษาคเนย์

เรื่องราวของพระอุปคุตที่แพร่หลายมากในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง กลับเน้นที่ความมีฤทธิ์ปราบมารและการบันดาลโชคลาภ โดยคตินี้น่าจะได้รับอิทธิพลจาก “คัมภีร์โลกบัญญัติ” ซึ่งเป็นคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายบาลีที่เก่าที่สุดที่กล่าวถึงพระอุปคุต คัมภีร์โลกบัญญัติมีเนื้อหาเกี่ยวกับการกำเนิดการเปลี่ยนแปลงของจักรวาล โลก และสรรพสิ่งต่างๆ ตามคติพุทธศาสนา ได้กล่าวถึงพระอุปคุตในตอนที่ชื่อ “มารวิภาค” ที่ได้กล่าวถึงเรื่องมารต่าง ๆ และเรื่องพระเจ้าอโศกมหาราชอาราธนาพระอุปคุตให้มาคุ้มครองพิธีฉลองพระสถูป การทดลองฤทธิ์พระอุปคุต และเหตุการณ์พระอุปคุตปราบพญามาร

ในคัมภีร์โลกบัญญัติกล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าอโศกมหาราชจะจัดงานสมโภชพระมหาสถูปเมืองปาตลีบุตรและพระสถูป ๘๔,๐๐๐ แห่งที่พระองค์สร้างทั่วชมพูทวีป โดยกำหนดว่าจะจัดงานเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน พระเจ้าอโศกมหาราชได้ขอให้พระอริยสงฆ์ทั้งหลายคุ้มครองงานบุญของพระองค์มิให้มีภยันตราย แต่สามเณรผู้หนึ่งได้ปรารภถึง “พระกีสนาคอุปคุต” ที่เข้าฌานสมาบัติอยู่ในปราสาทแก้วในมหาสมุทร คณะสงฆ์จึงให้พระภิกษุ ๒ รูปไปอัญเชิญพระอุปคุต พระทั้งสองได้ดำดินไปที่ปราสาทแก้วในมหาสมุทร เมื่อพระอุปคุตรับนิมนต์แล้วจึงให้พระภิกษุทั้งสองเดินทางล่วงหน้ากลับไปก่อน แต่ปรากฏว่าพระอุปคุตไปถึงที่ประชุมสงฆ์ก่อนพระทั้งสองรูปอย่างน่าอัศจรรย์

แต่พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นพระอุปคุตมีรูปร่างผอม จึงกังขาในอิทธิฤทธิ์ พระองค์จึงให้ปล่อยช้างตกมันแล่นไปทำร้ายพระอุปคุต พระอุปคุตเนรมิตให้ช้างหยุดนิ่งดุจก้อนหิน พระเจ้าอโศกมหาราชจึงกราบขอขมาพระอุปคุต พระอุปคุตจึงบันดาลให้ช้างกลับมามีชีวิตดังเดิม

ในระหว่างพิธีสมโภช พญามารได้มาบันดาลให้เกิดพายุฝนเพื่อทำลายงาน พระอุปคุตใช้ฤทธิ์หอบพายุนั้นไปทิ้งที่อื่น พญามารจึงบันดาลให้เกิดฝนทราย ฝนกรวด ฝนก้อนหิน ฝนถ่านเพลิง แต่พระอุปคุตเนรมิตปราสาทกว้างรับไว้ และหอบไปทิ้งนอกจักรวาล

พญามารเนรมิตตนเป็นโคอุสุภราชมาทำลายพิธี ส่วนพระอุปคุตได้เนรมิตกายเป็นพญาเสือโคร่งเข้าต่อสู้ พญามารกลายร่างเป็นพญานาคเจ็ดเศียร พระอุปคุตแปลงเป็นพญาครุฑ พญามารแปลงเป็นยักษ์ถือตะบองเหล็กใหญ่ขนาดเท่าลำตาล พระอุปคุตได้เนรมิตกายเป็นยักษ์ที่ใหญ่กว่าสองเท่าถือตระบองเหล็กสองอัน

พญามารจึงเนรมิตกายให้งามประดับด้วยเครื่องหอมทั้งมวลเข้ามาหาพระอุปคุต พระอุปคุตเนรมิตสุนัขเน่าคล้องคอพญามาร พญามารแก้ไม่ได้จึงไปขอความช่วยเหลือจากท้าวจตุโลกบาล ท้าวสักกะ ท้าวสยามเทวราช ท้าวสันดุสิต ท้าวปรนิมมิตวสวัตตี และท้าวมหาพรหม แต่ไม่มีใครสามารถแก้ซากสุนัขเน่าออกได้ ท้าวมหาพรหมจึงแนะนำให้พญามารกลับไปหาพระอุปคุต พญามารจึงกลับไปยอมแพ้

พระอุปคุตได้เนรมิตรัดประคตให้ยาวเพื่อมัดพญามารไว้ที่ภูเขาในระหว่างพิธีสมโภช ตลอด ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้งนั้น พญามารรำพึงถึงพระกรุณาของพระพุทธองค์ว่าไม่เคยทำร้ายตน พร้อมตั้งความปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้า พระอุปคุตจึงได้ปล่อยพญามาร

นอกจากคัมภีร์โลกบัญญัติแล้ว ในอุษา-คเนย์ยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับพระอุปคุตปรากฏใน “คัมภีร์ปฐมสมโพธิ” เนื้อเรื่องใกล้เคียงกับเนื้อเรื่องในคัมภีร์โลกบัญญัติ ซึ่งคัมภีร์ปฐมสมโพธินี้มีหลายสำนวน เช่น ฉบับล้านช้าง ฉบับล้านนา รวมถึงฉบับไทยซึ่งเป็นพระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส (๒๕๓๐ : ๒๖๘ – ๒๗๔) ปรากฏเรื่องราวของพระอุปคุตในปริจเฉทที่ ๒๘ ชื่อตอนว่า “มารพันธปริวัตต์” มีเนื้อหาสังเขปดังนี้

พระเจ้าอโศกมหาราชมีพระราชประสงค์ที่จะจัดงานฉลองพระธาตุสถูปบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน ๘๔,๐๐๐ แห่ง กำหนดจัดงานเป็นเวลา ๗ ปี ๗ เดือน และ ๗ วัน จึงต้องการมอบหมายให้พระภิกษุที่มีอิทธิฤทธิ์มาป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นในระหว่างงาน

พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทราบว่า “พระกีสนาคอุปคุตเถระ” ที่พำนักอยู่ใต้มหาสมุทรมีฤทธิ์มาก สามารถป้องกันพญามารได้ จึงนิมนต์พระอุปคุตให้มาเป็นผู้ป้องกันภยันตราย ครั้งนั้น พญาวัสสวัตตีมารพยายามที่จะทำลายงานฉลอง ด้วยการบันดาลให้เกิดพายุฝน และอุปสรรคต่าง ๆ แต่แพ้ฤทธิ์ของพระอุปคุตทุกครั้งไป ในที่สุดพระอุปคุตจึงเนรมิตซากสุนัขเน่าผูกคอพญามารทำให้พญามารยอมแพ้พระอุปคุต

พระอุปคุตใช้ประคตผูกพญามารไว้กับภูเขาจนเสร็จสิ้นงานฉลองพระสถูป พญามารได้ละพยศและตั้งความปรารถนาจะบรรลุพุทธภูมิ พระอุปคุตจึงปล่อยพญามารให้เป็นอิสระ จะเห็นได้ว่า พระอุปคุปต์ในคัมภีร์อโศกาวทานและพระอุปคุตในคัมภีร์โลกบัญญัตินั้น โบ-ราณจารย์หมายถึงองค์เดียวกัน คือพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์มากสามารถปราบพญามารได้ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่มีรายละเอียดที่แตกต่างกัน กล่าวคือ

คัมภีร์ฝ่ายสันสกฤตกล่าวว่า พระอุปคุปต์เป็นเอกด้านการแสดงธรรม มีฤทธิ์สามารถปราบมารที่มารบกวนขณะแสดงธรรม พำนักประจำอยู่นฏภัติกอารามบนภูเขาอุรุมณฑ์ และเป็นผู้นำพระเจ้าอโศกมหาราชแสวงบุญในสถานที่สำคัญตามพุทธประวัติ

ส่วนคัมภีร์ฝ่ายบาลีกล่าวว่า พระอุปคุตเป็นเอกด้านอิทธิฤทธิ์ สามารถปราบมารที่มารบกวนพิธีสมโภชพระสถูป พำนักประจำอยู่ปราสาทแก้วใต้มหาสมุทร

พิธีแห่พระอุปคุต งานนมัสการพระธาตุพนม

พระอุปคุตปราบมารในจารีตลุ่มแม่น้ำโขง

ในดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง มีคติอัญเชิญพระอุปคุตมาปกป้องพิธีงานบุญใหญ่เสมอ เช่น งานบุญผะเหวด บุญกฐิน บุญบวช หรือแม้กระทั่งบุญแจกข้าวอุทิศส่วนกุศลให้คนตาย โดยจะจัดศาลเพียงตาไม้ไผ่ไว้ด้านตะวันออกของบริเวณงาน ทำเสาสูงประมาณ ๑๘๐ เซนติเมตร ๔ ต้น สานไม้ไผ่เป็นฝาขัดแตะเป็นผนังสามด้าน ปูพื้นด้วยฝาขัดแตะ ข้างในมีเครื่องอัฐบริขาร รองเท้า หมอน ร่ม และขันหมากเบ็งบูชา ด้านล่างมีโอ่งน้ำลอยจอกแหน มีหอยปูปลาและบัว เรียกว่า “หออุปคุต”

การตั้งหออุปคุตสะท้อนให้เห็นถึงคติการเชิญพระอุปคุตมาปราบมารตามที่ปรากฏในคัมภีร์โลกบัญญัติหรือปฐมสมโพธิ ไม่ใช่คติจากคัมภีร์อโศกาวทาน นอกจากนี้ ในจารีตอีสานจะมีคำเชิญพระอุปคุตที่เน้นย้ำถึงสถานที่พำนักของพระอุปคุตว่าเป็นปราสาทแก้วในมหาสมุทร ตามคำอาราธนาอุปคุต ที่ว่า

“โอกาสะ โอกาสะ ฝูงข้าทั้งหลาย ภายในมีพระสงฆ์เป็นเค้า ภายนอกมีออกเจ้าเป็นประธาน พากันจัดเครื่องสักการมาขาบไหว้ แด่พระยอดไท้อุปคุตเถร ตนมีฤทธีองอาจ นีรมิตผาสาทแก้วกุฎี อยู่กลางนทีแม่น้ำใหญ่ ใจมักใคร่พรหมจารีย์ อยู่สุขีบ่โศกเศร้า

บัดนี้ฝูงข้าพเจ้าทั้งหลาย ขออภิวันท์ไหว้ ยังพระมหาอุปคุตผู้ประเสริฐ มีศักดาเลิศปรากฏ ทรงเกียรติยศขีณา กว่าพระอรหันตาทั้งหลาย

ขออัญเชิญเจ้ากูตนทรงคุณคามมาก เถิงขนาดเป็นอาชญ์แพ้แก่ผีในจักรวาล ข้าขออาราธนาอาชญาท่านพระมหาเถระผู้มีอาคมแก่กล้า จงเสด็จแต่แม่น้ำคุงคา มาผจญมารร้ายด้วยบาทพระคาถาว่า อุปคุตโต มะหาเถโร คิชฌะกูโต สามุทธะโย เอกะมาโร เตชะมาโร ปะลายันตุ

ฝูงข้าทั้งหลาย ขออาราธนามหาเถระเจ้า จงมาผจญมวลมารทั้งห้า อันจักมาเบียดเบียนฝูงข้าทั้งหลาย ขอให้หายโพยภัยอันตรายทุกเช้าค่ำ พร้อมพร่ำทุกประการ ในสถานใต้ลุ่มฟ้าและเวหน ทั้งภายบนแต่อกนิฏฐาเป็นเค้า ตลอดเท่าถึงนาคครุฑ มนุสสา กุมภัณฑ์ คันธรรพยักษ์ อารักขา เทพบุตรเทพดา ผู้มีใจสาโหด โกรธาโกรธอธรรม ฝูงมีใจดำบ่ฮุ่ง หน้ามืดมุ่งมานมัว ก้ำฝายเหนือและขอกใต้ ทั้งที่ใกล้และที่ไกล ตะวันตกและตะวันออก ขอบเขตภูมิสถาน อันฝูงข้าทั้งหลายจักกระทำการในสถานที่นี้ ขอโอกาสอาราธนาไปผาบมารทั้งห้าเทอญ

ขออัญเชิญ พระอาทิตย์ผู้วิเศษใสแสง พระจันทร์แยงเยืองโลก อังคารโผดผายผัน พุธพฤหัสพลันแวนเที่ยว ศุกร์เสาร์เกี่ยวคอยระวัง กำจัดบังแวดไว้ เทพไท้ตนลือฤทธิ์ พระพายแมนมิตรไตรสถาน พระอิศวรผันผายแผ่ รัศมีแก่เตโช ผาบศัตรูมารฮ้าย ในคุ้มข่วงเขตสถาน อันฝูงข้าทั้งหลายจักยอทาน และฟังเทศน์ องค์เทเวศจงฮักษา กำจัดประดามารโหดร้าย ให้พลัดพ่ายกลับหนี อย่าฮาวีข่วงเขตที่นี้ ก็ข้าเทอญ

โย โย อุปคุตโต มะหาเถโร ยัง ยัง อุปคุตตัง มะหาเถรัง กายัง พันธะมะรัสสะดีวัง สัพเพยักขา ปะลายันตุ สัพเพ ภะยา ปะลายันตุ สัพเพ ปิสาจา ปะลายันตุ ฝูงผียักษ์และผีเสื้อ ฝูงเป็นใจเฮื้อพญามาร สูท่านทั้งหลายมีใจ อันมักบาปผาบแพ้ตนประเสริฐสัพพัญญู ปะลายันตุ จงผันผายออกหนี จากขอบเขตประเทศที่นี้ ก็ข้าเทอญ”

ในการจัดงานบุญประเพณีในลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งเป็นเขตร้อนชื้น มักมีอุปสรรคสำคัญของการจัดงานคือพายุฝน แต่เรื่องในปฐมสมโพธิได้กล่าวถึงพญามารบันดาลฝน ๑๐ ชนิด ให้เกิดขึ้นในระหว่างการฉลองพระสถูป ได้แก่ พายุใหญ่ ห่าฝนทรายกรด ห่าฝนกรวดกรด ห่าฝนศิลา ห่าฝนถ่านเพลิง ห่าฝนลมกรด ห่าฝนอาวุธ ห่าฝนเถ้ารึง ห่าฝนเปือกตม และมหันต์อันธการกอปรด้วยองค์ ๔ คือความมืด แต่พระอุปคุตได้ใช้อิทธิฤทธิ์ขจัดฝนทั้งหลายนั้นได้หมดสิ้น การเชิญพระอุปคุตมาปกปักรักษาในพิธีจึงเป็นคติที่สอดคล้องกับสภาพภูมิศาสตร์ได้อีกด้วย

พระอุปคุตปางจกบาตรพระสุภูติในพิธีขอฝน

ความสับสนระหว่าง พระอุปคุต พระสุภูติ และพระควัมปติ

นอกจากพระอุปคุตจะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ในการควบคุมฝน จนเป็นที่นิยมอาราธนามาปกป้องในงานบุญแล้ว ในพระไตรปิฎกยังปรากฏพระที่มีฤทธิ์เกี่ยวกับการควบคุมน้ำและฝนอีก ๒ รูป ได้แก่ พระสุภูติ และพระควัมปติ

พระสุภูติ ท่านเป็นพระเถระในยุคพุทธกาล ที่เคยบันดาลให้เกิดฝนตก มีเรื่องในพระไตรปิฎกว่า พระเจ้าพิมพิสารได้นิมนต์พระสุภูติไปที่เมืองราชคฤห์ แต่ลืมจัดเสนาสนะให้ ทำให้พระสุภูติต้องพำนักอยู่กลางแจ้ง เป็นเหตุให้ฝนไม่ตก สร้างความเดือดร้อนให้ชาวเมืองราชคฤห์ ต่อมาพระองค์พิจารณาถึงเหตุที่ฝนไม่ตก จึงทรงจัดกุฏิใบไม้ถวายพระสุภูติ เมื่อพระสุภูติเข้าไปพักในกุฏิแล้ว ฝนจึงตกลงมา แต่ตกน้อยไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก พระสุภูติจึงปรารภขอให้ฝนตก ว่า “…ฝนเอ๋ย กุฎีของเราสบาย มุงบังมิดชิดดี จงตกตามสบายเถิด จิตเราหลุดพ้น ตั้งมั่นดีแล้ว เราปรารภความเพียรอยู่ จงตกลงมาเถิดฝน…” ฝนจึงตกลงมา (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙ : ๓๑๕) จึงเป็นที่มาของการตั้งรูปพระสุภูติเถระและสวด “สุภูติสูตร” เพื่อขอฝน ซึ่งรูปพระสุภูติจะทำเป็นพระเงยหน้าขึ้นฟ้า จึงคล้ายกับพระอุปคุตปางจกบาตร จนทำให้หลายคนเกิดความสับสน

ส่วน พระควัมปติ ท่านเป็นพระเถระในยุคพุทธกาลเช่นกัน ครั้งหนึ่งท่านเคยแสดงฤทธิ์ควบคุมสายน้ำได้ มีเรื่องเล่าไว้ในพระไตรปิฎกว่า พระพุทธเจ้าได้มอบหมายให้พระควัมปติไปช่วยเหลือภิกษุและสามเณรทั้งหลายไม่ให้ได้รับอันตรายจากกระแสน้ำหลากหลังฝนตก ครั้งนั้น พระควัมปติได้ใช้ฤทธิ์ห้ามแม่น้ำสรภูไม่ให้ไหลหลากมาทำอันตรายแก่ภิกษุสามเณรทั้งหลายที่จำวัดอยู่ริมหาดทราย เทวดาทั้งหลายจึงยกย่องว่าพระควัมปติเป็นผู้บรรลุนิพพานแล้ว (พระไตรปิฎกภาษาไทยฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙ : ๓๑๕) ด้วยการแสดงฤทธิ์ที่เกี่ยวกับน้ำ จึงทำให้มีผู้สับสนระหว่างพระอุปคุตซึ่งเป็นพระอรหันต์ยุคหลังพุทธกาล กับพระควัมปติซึ่งเป็นพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่คัมภีร์อโศกาวทานฝ่ายสันสกฤตและคัมภีร์โลกบัญญัติฝ่ายบาลี ต่างไม่ได้กล่าวถึงการนิพพานของพระอุปคุปต์ หรือพระกีสนาคอุปคุต ทำให้คนในลุ่มแม่น้ำโขงยังเชื่อมั่นว่า แม้เวลาจะล่วงเลยมายาวนานแล้วก็ตาม แต่พระอุปคุตท่านยังคงดำรงธาตุขันธ์อยู่ใต้มหาสมุทร รอรับการอาราธนาขึ้นมาปราบมารในงานบุญของชาวพุทธ เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาไปอีกยาวนาน ต่างจากพระอรหันตสาวกในพระไตรปิฎกที่ได้ดับขันธ์นิพพานไปสิ้นแล้ว

อ้างอิง

พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย วิมานวัตถุเปตวัตถุ เถรคาถา เถรีคาถา. (๒๕๓๙). กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
ส.ศิวรักษ์, แปลและเรียบเรียง, (๒๕๕๒). ความเข้าใจในเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน. (พิมพ์ครั้งที่ ๔). กรุงเทพมหานคร: ศูนย์ไทย-ธิเบต.
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. (๒๕๓๐). ปฐมสมโพธิกถา. กรุงเทพมหานคร : กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร.
อภิชาติ ยอดสุวรรณ. (๒๕๓๔). บทบาทของพระอุปคุตในเรื่องมหาอุปคุตฉบับล้านนา. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, บัณฑิตวิทยาลัย, สาขาวิชาภาษาและวรรณกรรมล้านนา.

Related Posts

ไสว แกล้วกล้า : ผู้กล้าสร้างสีสันทุ่งกุลาร้องไห้
ยุทธศักดิ์ ลุมไธสงค์ “ศิลปินลูกอีสานผู้เรียบง่าย และรักธรรมชาติ”
พ่อครูทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินเกียรติยศ โหวดเสียงทองเทวดา
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com