(6) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (25/3/20) โควิด19 กับการเมือง

โควิด19 กับการเมือง
(6) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (25/3/20)

“หนทางพิสูจน์ม้า โคโรน่าพิสูจน์ผู้นำ”

@ วันนี้นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาออกมาบอกว่า “เราเห็นแสงสว่างอยู่ปลายอุโมงค์” แล้ว แต่ด้วยน้ำเสียงและลักษณะท่าทางแตกต่างจากเวลาแถลงเรื่องอื่น วันนี้ดูเซื่องซึมเหมือนไก่ป่วย CNN สื่อ “คู่แค้น” ถามแบบไม่ต้องการคำตอบว่า “อุโมงค์ไหน”

เพราะวันนี้มีผู้ติดเชื้อไวรัสนี้ที่อเมริกา 55,000 ติดใหม่ 11,000 ตายรวม 775 ตายวันเดียว 222 กระนั้นนายทรัมป์ยังให้ข่าวกับ Fox สื่อ “คู่รัก” ว่า เขาอยากเห็นอเมริกากลับมาสู่สภาพปกติในวันอิสเตอร์ (วันปาสกา 15 เมษายน) ถ้าคนไปเต็มโบสถ์ จะเป็นภาพที่สวยงามมาก เพื่อบอกว่า เราผ่านวิกฤติ เอาชนะไวรัสนี้ได้แล้ว จะได้ฉลองกัน

ความเห็นนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เพราะน่าจะเป็นความปรารถนาดีประสงค์ร้ายมากกว่า ขณะที่สถานการณ์กำลังระบาดหนัก และยังไม่ถึงจุดสูงสุดด้วยซ้ำ นายทรัมป์ยังออกมา “หาเสียง” ทั้งๆ ที่ควรบอกประชาชนให้อยู่บ้าน ทิ้งระยะห่างทางสังคม มาตรการที่ทั่วโลกใช้และเห็นว่าเป็นวิธีดีที่สุด หลายประเทศยังห้ามชุมนุมกันเกิน 2 คน นี่จะให้ไปโบสถ์วันปาสกา

นักระบาดวิทยาเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาอาจมีผู้ติดเชื้อมากกว่าจีนในไม่อีกไม่นาน และสถานการณ์จะเหมือนอิตาลีในอีกไม่ช้า เพราะที่นิวยอร์คมีผู้ติดเชื้อนี้ครึ่งหนึ่งของอเมริกา จำนวนเพิ่มขึ้นเหมือน “รถไฟความเร็วสูง” ขาดแคลนบุคลากรและอุปกรณ์การแพทย์ที่สำคัญ

@ ที่สหราชอาณาจักร นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีมีมาตรการเข้มงวดขึ้น ประกาศให้คน “อยู่บ้าน” ห้ามชุมนุมกันเกิน 2 คน ปิดสถานที่คนชุมนุมกันทั้งหมด รวมทั้งการประกอบการต่างๆ ที่ไม่จำเป็นจริงๆ มีผู้ติดเชื้อไวรัส 8,000 คน เพิ่มขึ้นวันเดียว 1,427 คน ตายรวม 422 คน คนอังกฤษ “โล่งอก” บอกว่า มาตรการนี้น่าจะออกมานานแล้ว นี่ก็อาจช้าไป ก็คอยดูว่าจะระบาดหนักต่อไปแค่ไหน

@ ที่เนเธอร์แลนด์ติด 5,500 เพิ่ม 800 ตาย 276 ที่บราซิลล่าสุดติดเชื้อ 2,300 ตาย 46

ที่พูดถึง 4 ประเทศนี้เพราะมีข่าวว่า ผู้นำประเทศมีลักษณะที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ทั้งหมดตอนแรกไม่ค่อยเชื่อและปรามาสโรคระบาดนี้ด้วยซ้ำ แต่ก็ต้องรีบมีมาตรการแก้ปัญหา เพราะเห็นแล้วว่า โควิด19 เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่เหมือนอะไรๆ ที่เคยระบาดมาก่อน แพร่กระจายเร็ว คุมยาก ไม่มียาไม่มีวัคซีน รอให้ไวรัสหายไปเองไม่ไหว เพราะไม่รู้จะติดเท่าไร ตายเท่าไร แค่นี้เศรษฐกิจก็ย่อยยับไปนับไม่ถ้วนแล้ว ความเครียด โรคประสาทกำลังตามมา เพราะ “ถูกขัง” อยู่ในบ้านนาน (โดยเฉพาะบ้านที่ไม่เคยมีความสุข)

ไม่รู้ข่าวจริงข่าวปลอมที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษกับเนเธอร์แลนด์มีแนวคิดว่า ปล่อยให้ติดเชื้อไปก็ดี จะได้เพิ่มภูมิต้านทาน ไม่ป่วยหนักไม่ต้องไปโรงพยาบาล เพราะจะไม่มีเตียงเพียงพอ ยังไม่มีใครยืนยันข่าวนี้ แต่แนวทางนี้มีอยู่จริง เพราะตามหลักระบาดวิทยาบอกว่า ถ้าหากประชากรติดเชื้อไวรัส 60-70% ไม่ตาย ก็จะมีภูมิคุ้มกันตน การระบาดก็จะหยุดไปเอง และไม่ระบาดอีก อย่างกรณีไข้หวัดใหญ่ที่เป็นกันมากทุกปี ส่วนใหญ่ติดคนที่ยังไม่เคยรับเชื้อพันธุ์นั้น หรือเป็นสายพันธุ์ใหม่

@ ได้พูดถึงอิตาลีและเยอรมนีไปแล้ว ได้เห็นภาวะผู้นำของสองประเทศนั้น หากนำมาเปรียบกับ 4 ประเทศที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ อยากบอกว่า ทั้ 4 คนดูจะมีลักษณะอ่อนกว่าในส่วน “หัวใจความเป็นมนุษย์” ดูแข็งกร้าว ออกคำสั่ง ใช้อำนาจ จนถูกวิจารณ์ว่า ท่ามกลางปัญหาโรคระบาดหนักขนาดนี้ยังแข้งกร้าวและ “เล่นการเมือง” อยู่อีก

ต่างจากท่าทีของนางอังเกลา แมร์เกิล ของเยอรมันที่นิ่มนวล ระมัดระวังในการสื่อสาร แสดงความเห็นอกเห็นใจประชาชน ไม่ใช้คำว่า “สงคราม” “การรบ” ไม่ใช้คำว่า “กฎหมาย” “ตำรวจ” “การลงโทษ” ตรงๆ แต่ใช้คำที่อ่อนกว่าเพื่อสื่อความหมายเดียวกัน เธอพยายามให้ความสำคัญกับ “อารมณ์-ความรู้สึก” ของผู้คนมากกว่าการใช้ “เหตุผล” เธอเน้นที่ “หัวใจ” (heart) มากกว่า “สมอง” (head)

ภาษานักเลงบ้านเราเขาบอกว่า พูดดีๆ ขอบุหรี่จากเพื่อน อาจไม่ได้มวนเดียวแต่ได้ทั้งซอง แต่ถ้าพูดไม่ดี นอกจากจะไม่ได้บุหรี่ อาจจะโดนเตะอีกต่างหาก

ขณะที่นายกรัฐมนตรีคอนเต แห่งอิตาลี ต้องเผชิญกับวิบากกรรมหนักหนาสาหัสจนร่ำไห้ เพราะเหมือนหมดหนทาง รับไม่ไหวแล้ว ที่สำคัญ ไม่ได้รับความร่วมมือจากประชาชนอย่างที่ควร การระบาดจึงไม่หยุด แม้ไม่กี่วันนี้จะมีสัญญาณการเพิ่มในแต่ละวันลดลงกว่าวันก่อนนั้น แต่ก็ยังคงบอกไม่ได้ว่า สถานการณ์กำลังดีขึ้นจริง หรืออาจเป็นเพราะมาตรการที่เข้มงวดแบบ “ปิดหมด” พร้อมกับที่ตำรวจจับปรับวันละเป็นหมื่นคนที่ละเมิดกฎเหล็ก อะไรๆ จึงดูจะดีขึ้นบ้าง

นายกฯ จูเซปเป คอนเต ไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ เป็นอาจารย์กฎหมายที่พรรคต่างๆ ร่วมกันขอร้องให้มาเป็นนายกฯ ได้เกือบ 2 ปี จึงไม่ค่อยมี “ฐานการเมือง” อยู่ได้เพราะพรรคการเมืองหาทางออกจากทางตันทางการเมืองไม่ได้ นายกรัฐมนตรีบางครั้งจึงเป็นได้แค่ “หุ่นไล่กา” ไล่พวกเพลี้ยกระโดดหรือเชื้อโรคเชื้อราต่างๆ ไม่ได้

ล่าสุดอิตาลีติด 70,000 เพิ่ม 5,200 ตายรวม 6,800 เพิ่ม 743 คน

ที่สเปนติด 42,000 เพิ่ม 7,000 ตาย 3,000 เพิ่ม 680

ที่เยอรมันติด 33,000 เพิ่ม 4,000 ตาย 159 เพิ่ม 36

อยากตั้งข้อสังเกตว่า สถานการณ์การเมืองในประเทศอิตาลีและสเปนน่าจะมีส่วนใน “ตัวเลข” ของโรคระบาดนี้ ความวุ่นวาย ไม่สามัคคี ไม่ร่วมมือ แตกแยก ทั้งทางการเมืองและสังคม พรรคการเมืองและภาคประชาชน ที่สองประเทศนี้กำลังเผชิญ ความไม่เสถียรทางการเมืองทำให้ไม่มีมาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมให้ประชาชนที่ตกงาน ขาดรายได้

ขณะที่รัฐบาลเยอรมันเสนอขออนุมัติงบประมาณจากสภาอาทิตย์นี้ถึง 25 ล้านล้านบาท และยังบอกว่า “ไม่มีลิมิต” ถ้าจำเป็นก็จะเสนอช่วยเหลือประชาชนอีกเพื่อเยียวยาชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะต้องกู้เงินที่เคยสัญญาว่าจะไม่ทำ ได้ฟังแค่นี้ ผู้คนก็ใจชื้น มีกำลังใจ ภูมิต้านทานทางสังคมมีผลอย่างสำคัญต่อภูมิต้านทานของบุคคล ก็คนไม่มีจะกินไม่มีจะใช้จะเอาแรงที่ไหนไปป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บ

@ ไม่ขอวิจารณ์ภาวะผู้นำไทยในขณะนี้ เห็นด้วยกับมาตรการของรัฐบาลที่มีมาตรการมากมายออกมาเยียวยาประชาชนที่รับผลกระทบจากโรคระบาดนี้ เห็นด้วยกับคุณกรณ์ จาติกวณิช ที่เสนอให้ตัดงบประมาณจากกระทรวงต่างๆ ร้อยละ 10 มาใช้เพื่อแก้ปัญหา เพราะยังไงก็ใช้ไม่หมดในภาวการณ์เช่นนี้ โรงพยาบาลจะได้ไม่ต้องไปตั้งตู้ขอบริจาค เพราะขาดงบหรืองบมาไม่ทัน

แต่ก็ยังคิดว่า ยังมีอีกหลายมาตรการที่เตรียมออกมา โดยเฉพาะอยากเห็น “ทุกกระทรวง” มีมาตรการรับมือกับปัญหาแบบบูรณาการ (คำใหญ่ที่ชอบใช้กัน) เพราะโควิด19 สร้างผลกระทบรอบด้านให้ผู้คน จะเยียวยาแบบไหนอย่างไร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และเมื่อโรดระบาดนี้ผ่านไป จะได้ไม่ต้องถอยกลับไปถึง 10-20 ปีเพื่อให้ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะ “ปกติ”

ขอบคุณภาพปกจาก http://www.thaihealthconsumer.org/news/question-covid-19/

Related Posts

องค์การ​อนามัย​โลก (WHO) ได้จับมือกับ ขายหัวเราะ สำนักการ์ตูนชื่อดังบ้านเรา ปล่อยการ์ตูน รู้ทันโควิด ฉบับพิเศษ
บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ปีที่ไวรัสเปลี่ยนโลก โควิดผู้สยบอหังการมนุษย์ สู่นิวนอร์มอลไทย
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com