วรรณคดีและชีวิตสามัญ คือคลังแห่งภาษา
[1]
ภาษาคืออาวุธสำหรับการดำรงชีวิต
การเลี้ยงชีพให้มีความสุข การดำรงชีวิตให้อยู่รอด (ในโลกที่แสนจะโหดร้าย) ต้องพึ่งพาภาษาอย่างมาก ขั้นต้นคือภาษาพูด ลองนึกดูสิว่า ผู้ป่วยอาภัพที่เป็นใบ้พูดไม่ได้นั้น ทำให้การดำรงชีวิต การเลี้ยงชีวิตของเขาลำบากขึ้นกว่าคนอื่นเพียงใด
ขั้นต่อมาคือภาษาเขียน อ่านออกเขียนได้ ย่อมช่วยในการดำรงชีพได้มากกว่าผู้ที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
รู้ภาษาหลายภาษาเท่าใดก็ยิ่งดี สมองคนเราคิดจากภาพออกมาเป็น “คำศัพท์” คนเรารู้คำศัพท์มากเท่าใด ก็ยิ่งคิดได้มากคิดได้กว้างได้ลึกกว่าคนที่รู้คำศัพท์น้อย
อย่านึกว่า การเรียนวิชาภาษาไทย ให้อ่านวรรณกรรม วรรณคดี มาก ๆ มันไม่มีความหมายไร้ประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต เปล่าเลย มันมีความหมายมากจริง ๆ เพราะมันจะทำให้คนเราคิดได้มากคิดได้ลึกได้กว้างขึ้น
[2]
แหล่งที่มาของคำศัพท์ และความรู้ทางภาษาไทย นอกจากหนังสือทุกประเภทแล้ว วรรณคดีจะมีส่วนช่วยมาก เพราะนำเราย้อนยุคไปรับความรู้จากอดีต คนที่รับรู้เรื่องราวของอดีต ย่อมได้เปรียบคนที่ละเลยความรู้เหล่านั้น ไม่สนใจว่าบรรพชนเรามีชีวิตในสภาพใด พูดภาษาใช้คำศัพท์กันอย่างไร
แหล่งที่มาของคำศัพท์และความรู้ทางภาษาไทยอีกแหล่งหนึ่งคือชาวบ้าน สามัญชนคนชนบททั่วประเทศ
ศรีอินทรายุทธ (นายผี) เขียนไว้ตอนหนึ่งใน “ศิลปาการแห่งกาพย์กลอน” ว่า
“ผู้ปรารถนาจะค้นหาภาษาไทยที่ถูกต้องนั้น ย่อมจะค้นหาได้แต่ในที่เดียว นั่นคือ ในประชุมประชาสามัญชนคนไทยทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะภาษาไทยย่อมเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และขยายตัวไปก็แต่ในหมู่ชนเช่นว่านั้นเท่านั้น หาใช่ในหมู่นักปราชญ์ราชบัณฑิตไม่
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เขียนกาพย์กลอนซึงจะต้องรู้วิชาภาษาและหนังสือดี ก็จะต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางประชาสามัญชนคนไทยทั่วไป ในท่ามกลางประชาสามัญชนคนไทยทั่วไปนั้น มีบ่อฤาขุมแห่งสรรพวิชาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นวิชาแห่งการดำเนินชีวิตทั่วไป ฤาจะเป็นวิชาเฉพาะด้านใดด้านหนึ่ง
กวีและนักกลอนผู้ใด มัวหมกมุ่นอยู่แต่ในวงการนักปราชญ์ราชบัณฑิตชั้นสูง และเหินห่างจากมวลประชาสามัญชน กวีและนักกลอนผู้นั้น ไม่เพียงแต่จะสูญเสียสรรพวิชาในขุมอันอุดมสมบูรณ์โดยธรรมชาติแหล่งนี้ไป หากยังจะสูญเสียวิชาภาษาและหนังสือที่แท้จริงไปด้วย ข้อนี้ย่อมจะเป็นอุปสรรคในการเขียนกาพย์กลอนของเขา”
[3]
เขียนกวีเทียบคุณค่าวรรณศิลป์กับกวีโบราณ นี่เรียกร้องในทาง รูปแบบ ลีลา บทกวีเป็นเรื่องของปัจเจกชน “เนื้อหา” นั้นเรียกร้องกันมิได้หรอก มันแล้วแต่ “บารมี” กับ “วิบาก” ที่แต่ละคนสะสมมา แต่ลีลาของแต่ละคนก็ควรเป็นอัตลักษณ์ของเราเอง
อย่างไรก็ตาม การเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเองมันยากมาก ก่อนที่จะมีอัตลักษณ์ลงตัว จำเป็นต้องศึกษาลีลาขอคนโบราณเสียก่อนด้วย
ส่วนในด้านเนื้อหา มันต้องเป็นไปตามยุคสมัย
แต่ก็อย่างลืมว่า “สุนทรียรส” นั้นมันมีความเป็นสากลและเป็น อกาลิโก อยู่ ลีลากวีของเราก็เป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียรส ลีลาจึงมีความสำคัญพอ ๆ กับเนื้อหาของเรา
เขียนเรียกร้องให้อ่านหนังสือวรรณคดีโบราณ
แต่หนังสือวรรณคดีโบราณก็หาอ่านยาก ผมจึงขอยกตัวอย่างกวีโบราณที่ยอดเยี่ยมมาเผยแพร่ ณ เวทีนี้ ขอเริ่มจากกวีประเภทกลอนก่อนเป็นอันดับแรก
[4]
“กลอน” คือร้อยกรองที่มีสัมผัสเสียงร้อย โยงเชื่อมระหว่างวรรค
“โคลง-กลอน” เป็นรูปแบบฉันทลักษณ์ที่มีลักษณะร่วมกัน ในกลุ่มตระกูลภาษาไท กะได คือมีส่งสัมผัสสระไปที่กลางวรรคต่อไป นี่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของบทกวีในตระกูลภาษาไท กะได
โคลงกับกลอน มีบังคับเสียงวรรณยุกต์ แต่ตัดเรื่องนี้ไปก่อน เมื่อดูสัมผัสสระ ก็จะเห็นว่า ส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไปทำนองเดียวกัน
ฉันทลักษณ์โบราณของชาวจ้วงในกวางสี เรียกว่า เฟิน (อักษรภาษาจ้วงเขียนว่า fwen , guh fwen – กู่เฟิน แปลว่า ร้องเพลงพื้นบ้าน) มีส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไป
ส่วนฉันทลักษณ์ของจีนและอังกฤษ ข้าพเจ้าเคยเห็นแต่การส่งสัมผัสสระไปท้ายวรรค
[5]
ฉันทลักษณ์ “กลอน” พัฒนาขึ้นมาจาก “คำขับ” (เพลง) โบราณ ซึ่งมีส่งสัมผัสสระไปกลางวรรคถัดไป หรือสัมผัสสระเดียวท้ายวรรค (กลอนหัวเดียว) คำกลอนโบราณหาดูได้จากเนื้อเพลง “ขับมโหรี” ครั้งกรุงเก่า, บท “ดอกสร้อยสวรรค์” (คือเนื้อเพลงขับมโหรีนั่นเอง) ครั้งกรุงเก่า, เนื้อเพลงพื้นบ้าน รุ่นโบราณ, เนื้อเพลงโคราช รุ่นโบราณ
เนื้อเพลงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ นายนิโคลาส แชร์แวส บันทึกเป็นภาษาฝรั่งเศส ชื่อเพลง Sout Chai ซึ่งมักถอดออกมาเป็นคำไทยว่า “สุดใจ”
สุดใจเอย สายเจ้าจะจำพระไปสู่อัน
นะนูอันเจ้ามาชิดตักพี่บ้าน
(ถอดคำโดยสมเด็จฯ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์)
ดูแล้วก็นึกถึง “บทดอกสร้อยสวรรค์” ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ดอกสร้อยสวรรค์ ครั้งกรุงเก่า
บทชาย ร้องลำล่องเรือ ทับนางไห้ (ทำนองมโหรี)
๐ มาเอยมาพบ ดอกสร้อยสวรรค์มาลัย
เรียมรักจำนงใจ จะใคร่ได้ดอกสุมณฑา
ภุมรีภิรมย์ชมรส กลิ่นฟุ้งปรากฏเป็นหนักหนา
แม้นได้มิให้เจ้าโรยรา บุษบาแย้มบานตระการใจ
อันดวงดอกสร้อยเกษี ในท้องธรณีไม่หาได้
มิให้เสียพุ่มพวงดวงดอกไม้ จะให้รุ่งฟ้าทั้งธาตรี ๐ ฯ ๖ คำ ฯ