ปัญญา จารีต ศีลธรรม

ทางอีศาน ฉบับที่ ๙ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: ฮีต-คอง
Column: Heet-Kong
ภาพ: ไทสกล
ที่มา: จากจุลสาร “รอยธรรม…ไทอีสาน”,
โดย หอจดหมายเหตุพุทธทาสอินทปัญโญ
กรุงเทพมหานคร, ตุลาคม ๒๕๕๕

ข่วงผญา กับ ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ อารยะประเพณีพระพุทธศาสนาแสนงามของคนอีสาน

ศีลกับธรรมพาเฮาดีได้
ควรตัดสินใจน้อมเข้าเพิ่ง
รัตนะพะไตรหน่วยแก้ว
แนวพายั้งอยู่จั่งเย็น
ไผบ่ถือศีลธรรมพะพุทธเจ้า
เป็นคนเสียชาติเปล่า
ไผบ่เชื่อธรรมพะพุทธเจ้า
ตายทิ่มค่าอยู่ไส

นี้คือหนึ่งใน “คำผญา” ที่ประมวลปวงปัญญาญาณอันปราดเปรื่องของบรรพชนคนอีสาน ที่สืบมาเป็นฮีต-จารีตประเพณี ๑๒ เดือนอันหลากหลายงดงาม และสานเป็นศีลเป็นครรลองคลองธรรมทั้ง ๑๔ ของผู้คนทั่วหัวระแหงแห่งภาคอีสานที่เชิญชวนสัมผัสเรียนรู้ ดื่มด่ำ แล้วน้อมนำมาเป็นหลักคิดและแนวปฏิบัติของชีวิต ชุมชน ท้องถิ่นเพื่อความมั่นยืนสืบไป

• ฮีต ๑๒ – ประเพณี ๑๒ เดือนของคนอีสาน ประกอบด้วย

เดือนอ้าย งานบุญเข้ากรรม
บุญเก็บเกี่ยวข้าวและผลผลิต นวดข้าว ทำปลาแดกสะสมเสบียง แล้วทำบุญเลี้ยงผีแถนอุทิศแด่บรรพบุรุษ นิมนต์พระเข้าปริวาสกรรม

เดือนยี่ งานบุญคูนลาน
บุญปลงข้าวในลอม ฟาดข้าวในลานแล้วขนขึ้นยุ้ง นิมนต์พระเทศน์ธรรมเรื่องแม่โพสพบำรุงขวัญข้าวทั้งที่วัดและลานนวด

เดือนสาม บุญข้าวจี่
บุญเซ่นสรวงพระภูมิเจ้าที่นา “ตาแฮก” เอิ้น-กู่ขวัญข้าวแผ่ส่วนกุศลให้ผีปู่ย่าตายายหลังขนข้าวขึ้นยุ้ง ทำข้าวจี่ถวายพระแล้วทำมาฆบูชา เข็นฝ้ายหาหลัวฟืน

เดือนสี่ บุญพระเวส (อ่านออกเสียงพะเหวด)
แห่พระอุปคุต ตั้งศาลเพียงตาแจกข้าวอุทิศเป็นเปตพลี ขอให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล แล้วเข้าวัดทำบุญพระเวสสันดรฟังเทศน์มหาชาติ

เดือนห้า บุญสรงน้ำ หรือเทศกาลสงกรานต์ สังขานต์ของชาวอีสาน
ทำต่อเนื่อง ๓ วัน ๗ วัน ถวายภัตตาหารพระด้วยจังหันคาวหวานตลอดเทศกาล แล้วสรงน้ำพระ รดน้ำขอพรผู้อาวุโสแล้วร่วมก่อเจดีย์ทรายใส่วัด

เดือนหก บุญบั้งไฟขอฝน บางแห่งเรียกบุญวิสาขบูชา
บุญบูชาแถนขอฝนตกต้องตามฤดูกาลมีความอุดมสมบูรณ์ของข้าวปลาอาหารในวันที่กำหนดครั้นวันเพ็ญเดือน ๖ เข้าวัดทำบุญ ฟังเทศน์และเวียนเทียน

เดือนเจ็ด บุญชำฮะ
พิธีเลี้ยงตาแฮก เซ่นสรวงเจ้าที่นาหลังหว่านข้าวกล้าดำนาบุกเบิกบ้านเบิกเมือง เลี้ยงปู่ตาหลักเมือง และเข้านาคของผู้จะบวชเรียนเข้าพรรษา

เดือนแปด บุญเข้าพรรษา
หล่อเทียนพรรษา ตกแต่งแห่แหนถวายวัดเป็นพุทธบูชา พร้อมเลี้ยงพระ ถวายเครื่องไทยทาน ผ้าอาบน้ำฝนพระภิกษุสงฆ์ใช้ในกาลพรรษา

เดือนเก้า บุญข้าวประดับดิน
บุญอุทิศส่วนกุศลเป็นเปตพลีแก่ผู้ตกทุกข์ไร้ญาติในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ตั้งแต่เช้ามืด ด้วยการจัดอาหารคาวหวานหมากพลูบุหรี่ใส่กระทงเล็ก วางตามลานบ้าน วัด ข้างพระอุโบสถ และโคนไม้ ตกสายเข้าวัดทำบุญฟังเทศน์

เดือนสิบ บุญข้าวสาก
กวนกระยาสารทแล้วจัดสำรับคาวหวานและกระยาสารทเข้าวัดทำบุญ ติดสลากแล้วถวายเครื่องไทยทานเพื่อพระภิกษุสงฆ์ทำสลากภัต ตกบ่ายฟังธรรม

เดือนสิบเอ็ด บุญออกพรรษา
พิธีกวนข้าวทิพย์ ตักบาตรเทโว ไหลเรือไฟแห่ปราสาทผึ้ง ถวายผ้าห่ม ตั้งข่วงแข่งเรือ พร้อมงานบุญกุศลอื่น ๆ อย่างสนุกสนานรื่นเริง

เดือนสิบสอง บุญกฐิน
ทำข้าวเม่าถวายพระพร้อมสำรับคาวหวานแล้วฟังเทศน์ก่อนยกกองกฐินถวายวัดตามที่จองไว้

• คอง ๑๔ – หลักการครองตน ครองบ้าน ครองเรือน ให้อยู่ในครรลองคลองธรรม ๑๔ ประการ

๑. หูเมือง เป็นผู้พูดจาความจริง ไพเราะอ่อนหวาน
๒. ตาเมือง เป็นผู้มีความรอบรู้ในวิชาการบ้านเมือง รู้หลักธรรม
๓. แก่นเมือง เป็นผู้ทรงคุณธรรม ยุติธรรม
๔. ประตูเมือง เป็นผู้มีความสามารถในการใช้ศัสตราวุธยุทโธปกรณ์
๕. รากเมือง เป็นผู้รอบรู้ในด้านโหราศาสตร์ดาราศาสตร์
๖. เหง้าเมือง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ ปฏิบัติงานด้วยความซื่อสัตย์
๗. ขางเมือง เป็นผู้ชำนาญในการออกแบบชำนาญในการศึก
๘. ขื่อเมือง เป็นผู้มีตระกูล เป็นนักปราชญ์ผู้กล้าหาญ
๙. แปเมือง เป็นผู้มีศีลธรรมอันดี ตัดสินคดีความเที่ยงธรรม
๑๐. เขตเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่พิทักษ์เขตเมืองรักษาเขตแดนบ้านเมือง
๑๑. ใจเมือง เป็นผู้ทำหน้าที่ปกครองบ้านเมืองที่ดี
๑๒. ค่าเมือง เป็นผู้พิทักษ์รักษาให้เมืองมีค่ามีเงินทองติดต่อค้าขาย
๑๓. สติเมือง เป็นผู้รู้จักการรักษาพยาบาล
๑๔. เมฆหมอกเมือง เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ประดุจเทพอารักษ์พิทักษ์เมืองเป็นหลักเมือง.

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com