นิทเช่นักปรัชญาโลกสะเทือน (๑)
บทเรียนชีวิตนิทเช่
# นิทเช่นักปรัชญาโลกสะเทือน (๑)
# บทเรียนชีวิตนิทเช่
“บางครั้งคนไม่ต้องการได้ยินความจริง เพราะมันทำลายความเพ้อฝันของเขา” (นิทเช่)
ฟรีดรีช นิทเช่ (Friedrich Nietzsche 1844-1900) นักปรัชญาชาวเยอรมัน ที่คนสงสัยว่าถ้าไม่บ้าก็อัจฉริยะ เพราะแนวคิดของเขาประหลาดโลก แต่สั่นสะเทือนวัฒนธรรมตะวันตก ช็อคศาสนิกและศาสนจักรเพราะเขาบอกว่า “พระเจ้าตายแล้ว เราได้ฆ่าพระองค์”
เขามีชีวิตที่ยากลำบาก สุขภาพย่ำแย่ สติแตกเมื่ออายุ ๔๔ จนต้องเข้าโรงพยาบาลบ้า และอยู่ในความดูแลของแม่และน้องสาวจนถึงแก่กรรมเมื่ออายุ ๕๕ ปี ทิ้งผลงานที่วันนี้ใคร ๆ ก็รู้จัก
แต่วันนั้นที่เขายังมีชีวิตอยู่ไม่ค่อยมีใครรู้ พิมพ์ออกมาก็ขายไม่ออก ซ้ำน้องสาวยังบิดเบือนเอาบางส่วนไปสนับสนุนนาซีและต่อต้านยิว ซึ่งต่อมาก็มีการแก้ไขว่า ไม่มีอะไรในข้อเขียนของนิทเช่ที่ต่อต้านยิวและยอมรับเผด็จการ
ปรัชญาของนิทเช่ แม้ไม่เป็นระบบ งานใหญ่เขียนเป็นนวนิยาย มีอิทธิพลต่อแนวคิดและวิถีชีวิตของคนในศตวรรษที่ ๒๐ โดยเฉพาะระยะ ๕๐ ปีที่ผ่านมานี้เป็นอย่างมาก เป็นฐานที่มาปรัชญาเอ็กซิสท์ และโพสโมเดิร์น
นิทเช่เป็น “ประกาศก” (prophet) เขารู้ดีว่า แนวคิดของเขาปฏิว้ติและสร้างความสั่นสะเทือนจนยากที่ผู้คนจะรับได้ เขาบอกว่า ในอนาคต คนรุ่นต่อ ๆ ไปในร้อยสองร้อยปีจะสนใจสิ่งที่เขาพูดว่า “พระเจ้าตายแล้ว”
และสิ่งที่เขา “ทำนาย” ไว้น่าจะจริงไม่น้อย เพราะยุคสมัยนี้ดูเหมือน “สุญนิยม” (nihilism) และ “อเทวนิยม” กลายเป็นวิถีของสังคมไปแล้ว เพราะวันนี้ในยุโรปคนส่วนใหญ่ไม่เชื่อในพระเจ้า ไม่เป็นสมาชิกของศาสนาอีก คนไปวัดไปโบสถ์น้อยมาก อาจฉลองตามประเพณีคริสตมาส ปาสกา เท่านั้น
นิทเช่เป็นลูกศาสนาจารย์ แต่พ่อเสียชีวิตตอนที่เขายังเด็กรวมทั้งน้องชายคนหนึ่ง จึงเหลือแม่และน้องสาวที่เขาอยู่ด้วยและช่วยเหลือดูแลเมื่อเขาป่วย นิทเช่เรียนมหาวิทยาลัยด้านภาษาศาสตร์ และเป็นอาจารย์ภาษากรีกหนุ่มที่สุดในมหาวิทยาลัยบาเซล ในสวิส แต่เพียง ๑๐ ปีก็ลาออกเพราะปัญหาสุขภาพ
เขาเดินทางไปในที่ต่าง ๆ ในอิตาลีและสวิส หลบไปอยู่คนเดียวบนเขาในสวิสหลายปี เขียนหนังสือหลายเล่มด้วยภาษาและแนวคิดที่ลุ่มลึกอย่าง Also Sprach Zarathustra และเทวาสายัณห์ (The Twilight of Idols)
รวมทั้งเล่มอื่น ๆ ที่มีแนวคิดสำคัญ ๆ ของเขา โดยที่ไม่ได้เป็นระบบแบบนักปรัชญาทั่วไป แต่มีพลังดั่งอานุภาพนิวเคลียร์ แรงระเบิดที่ “ทำลายล้าง” ก็ว่าได้ เพราะ “พระเจ้าตายแล้ว” เราจะคุมชะตากรรมของเราได้อย่างไร แล้วเขาก็บอกว่า ก็ต้องสร้าง “อภิมนุษย์” (Uebermench หรือ Super human)
นิทเช่บอกว่า ไม่มีกฎระเบียบสูงสุดสำหรับชีวิตมนุษย์ ไม่มีคุณค่าสูงสุด ไม่มีความแท้จริงอะไรที่เชื่อถือได้ เราต้องมีชีวิตเหมือนไม่มีอะไรนอกเหนือชีวิต ให้ยอมรับชีวิต ให้คิดทบทวนแบบถึงรากถึงโคนเรื่องการมีชีวิต ความรู้ และศีลธรรม
อภิมนุษย์ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย แต่หมายถึงความสูงส่งทางจิตใจ เป็นจิตวิญญาณเสรีของผู้ที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก และมีความยินดีในการมีชีวิต สามารถปกป้องตนเองจาก “มังกร” สัญลักษณ์ที่นิทเช่ใช้แทนระบบคุณค่าที่สังคมสร้างและครอบงำเรา อภิมนุษย์สร้างคุณค่าเอง แก้พันธนาการของสังคมที่มัดเขาไว้
ใน “ซาราธุสตราพูด” เขาพูดถึงขั้นตอนเพื่อไปถึงอภิมนุษย์โดยใช้ 3 สัญลักษณ์ คือ อูฐ สิงโต และเด็ก
อูฐ หมายถึง จิตวิญญาณที่เข้มแข็ง อดทน บึกบึน เดินทางไกลในทะเลทรายได้ สู้ทนชีวิตที่ลำบาก ไม่ใช่ใครก็ทำได้ คนส่วนใหญ่ชอบชีวิตที่สะดวกสบาย งานไม่หนัก เดินตามกฎระเบียบสังคมและศีลธรรม ละเมิดบ้างบางโอกาส ไม่ได้ต้องการเป็นคนดีเด่นอะไรนัก
คนแบบอูฐยึดถือระเบียบสังคม เป็นแบบอย่างคนดีมีศีลธรรม มีเกียรติ ตัวแทนของกฎระเบียบ คือ “มังกร” อาจเป็นศาสนา หรือคุณค่ามนุษยนิยมอย่าง ทุกคนเกิดมาเท่ากัน ความเมตตา ประณามความรุนแรง หรือค่านิยมอื่น ๆ เช่น ให้เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เรียนมหาวิทยาลัย ได้งานดี มีครอบครัว มีลูก วันนี้คือการเป็นพลเมืองดี
การเป็นคนดี เป็นอูฐดีต้องรู้จักมังกร ระบบคุณค่าทางสังคม สาเหตุที่คนต้องตามคุณค่าเหล่านี้ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ผู้ได้รับอิทธิพลจากนิทเช่อธิบายว่า คือ ซุเปอร์อีโก้ ที่ทำให้เราทำตามสังคม เป็นคนดีตามที่พ่อแม่สอน สังคมสอน ถ้าไม่ทำจะรู้สึกผิด อับอาย อูฐเชื่อฟังมังกรมากที่สุด
แต่ในความเป็นจริง คนส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นถึงขั้นอุฐ ไม่ได้ทำตามอุดมคติ แต่ทำตามกระแสสังคม สนุกสนานกับสิ่งที่ไร้สาระไม่มีคุณค่า เขาบอกว่า คุณต้องตามหาคุณค่าแท้ในชีวิต ติดตามมังกรของคุณ ค้นให้พบ แล้วเขาก็แนะนำวิธีการในรายละเอียดอีกด้วย
แต่กระนั้น อูฐก็อยู่ในกรอบในกรง เหมือนคนที่ดูเหมือนประสบความสำเสร็จโดยอยู่ในกรอบในกรงทั้งชีวิต แต่ก็มีอูฐบางตัวที่ตื่นขึ้นมาแล้วตั้งคำถามหาความหมายของชีวิตว่า ทำไมจะต้องตามคนอื่น นั้นคือการเป็นสิงโตที่หลุดจากกรงออกมาแล้ว
ขณะที่อูฐเดินตามอุดมคติ สิงโตพยายามทำลายอุดมคติ ต่อต้านประเพณีและระบบคุณค่าต่าง ๆ ต้องหาคุณค่าเอง หาพันธกิจในชีวิต เป็นอิสระจากสภาพแวดบ้อม ต้องขบถ สิงโตเผชิญหน้ากับมังกรในที่เปลี่ยว สุดท้ายต้องสู้กับมังกร ตัวแทนคุณค่าเดิมทั้งหลาย สิงโต คือ จิตสำนึกในตัวเอง (self-consciousness) สำนึกในพลังอิสระ
ชีวิตของนิทเช่ก็เหมือนสิงโต เขาต้องต่อสู้เพื่อเสรีภาพแม้ต้องแตกหักกับศาสนา ประเพณี สังคม รวมทั้งคนหลายคน เพราะการเป็นตัวของตัวเองนั้น “ราคาแพงมาก”
อย่างไรก็ดี แม้สิงโตจะแข็งแกร่ง ต่อต้านคุณค่า แต่ยังสร้างอะไรใหม่ไม่ได้ ต้องเป็น “เด็ก” สัญลักษณ์ที่ ๓ ของเขาที่บอกถึงการเป็นผู้สร้างคุณค่าใหม่ เริ่มต้นใหม่และมีชีวิตใหม่ตามนั้น
นิทเช่ชื่นชมเฮราคลีตุส นักปรัชญากรีกผู้บอกว่า ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (คุณไม่สามารถลงไปในแม่น้ำสายเดียวสองครั้งได้) เด็กเป็นสัญลักษณ์ของการสร้างสรรค์ที่บริสุทธิ์ ไหลลื่น ไม่ยึดติด ทุกอย่างเป็นไปได้สำหรับเด็ก
เพื่อบรรลุขั้นเด็ก คุณต้องไม่รอคำตอบหรือการรับรองจากภายนอก คุณต้องพบความยินดีจากภายใน ไม่ต้องห่วงประเพณีสังคมหรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรม คุณต้องเชื่อมั่น มั่นคง สร้างสรรค์ โดยไม่ยึดติดกับอัตลักษณ์ ไม่ต้องเป็นหรือแต่งตัวตามแบบคนอื่น คุณต้องเลือกเอง (รากฐานาการคิดแบบปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสม์)
# จงเป็นตัวของตัวเอง
นิทเช่พูดถึงการเป็นตัวของตัวเอง เพื่อพบคุณค่าและความหมายของชีวิตด้วย 4 แนวทางดังนี้
๑. อย่ามีวิธีคิดแบบฝูงสัตว์ (herd mentality) ทำอะไรตามคนอื่น ตามประเพณี สังคม ศาสนา ตามที่มีคนสอนไว้ให้กลายเป็นคุณค่าสากล ทำให้มีรูปแบบเดียว ทำอะไรเหมือนกันหมด เพื่อให้ควบคุมได้ อนุรักษ์สังคม ศาสนา ควบคุมพฤติกรรมคน ส่วนหนึ่งก็ดีที่ปกป้องเรา แต่อีกด้านหนึ่งมันจำกัดเสรีภาพ ความเป็นตัวเรา ความคิดสร้างสรรค์ แต่ยิ่งบังคับมาก ปฏิกิริยาหรือแรงตอบก็มากตาม จึงเห็นปัญหาการประท้วง การปฏิเสธอำนาจการบังคับในสังคมมากมาย
คนส่วนใหญ่ไม่อยากออกจากฝูง ไม่อยากแปลกแยก กลัวเขาว่า กลัวความแตกต่าง คนออกจากฝูงกลายเป็นคนนอกคอก น่ากลัว อันตราย ไม่มีใครอยากคบหา คนในฝูงถูกตัดพลังสร้างสรรค์ ความฝันและเป้าหมายของตนเอง
คนพวกนี้กลัวการเปลี่ยนแปลง มีศักยภาพแต่ไม่พัฒนา คุณต้องกล้าตัดสินใจเป็นตัวของตัวเอง ออกจากฝูงไป คนอื่นอยากจำกัดอัตลักษณ์ของคุณ ไม่อยากเห็นคุณพัฒนา อยากดึงกลับเข้าฝูง คุณต้องกล้าออกจากเขตแดนที่สบาย (comfort zone)
๒. ต้องอดทนลำบากเพื่อค้นให้พบตัวเอง “ไม่มีอะไรแพงเกินไปเพื่อเป็นตัวคุณเอง” ต้องเอาชนะความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมานให้ได้ เพราะนั่นคือส่วนสำคัญของชีวิต ที่เราต้องพร้อมรับความท้าทายของชีวิตเพื่อการเจริญเติบโตทางจิตวิญญาณ
นิทเช่พูดจากประสบการณ์ว่า เพื่อจะเป็นใครสักคนคุณต้องเลือกทางที่ลำบาก การอยู่โดดเดี่ยวในบางครั้ง (Einsamkeit – loneliness) เพื่อไม่ให้ถูกครอบจากฝูง คุณต้องอยู่ห่างจากฝูง เป็นอิสระจากฝูง จากความต้องการทางกายทางใจ ไม่ให้สิ่งของควบคุมคุณ แต่คุณควบคุมสิ่งของ โดยค้นหา อัจฉริยะภายใน (inner genius) ตัวคุณให้พบ นั่นคืออัตลักษณ์ของคุณ
๓. ตอบรับสิ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิตคุณ “ใครที่รู้ว่าทำไม ก็จะทนได้เกือบทุกอย่าง” (He who has a why, can bear almost any how) ถ้าระบบคุณค่าเดิมไม่ให้ความหมายแก่ชีวิต ไม่ว่าศาสนา สังคม คุณก็หาใหม่ เขาแนะนำว่าทำอย่างไร
หนึ่ง ทดแทนศาสนาด้วยปรัชญา ดนตรี ศิลปะ มหรสพ โดยไม่ใช่เพียงเพื่อสนุกรื่นเริง แต่หาคุณค่าเพื่อชีวิตในสิ่งเหล่านั้น
สอง เป็นอภิมนุษย์ ที่สร้างคุณค่าและความหมายโดยไม่อ้างอิงอิทธิพลภายนอก นิทเช่ยกตัวอย่างคนที่เขามองว่า น่าจะเป็นอภิมนุษย์หรือเกือบเป็น เช่น ซีซาร์ นโปเลียน พระพุทธเจ้า เกอเต้
สาม รักชีวิตของตนเอง ไม่ว่าเป็นเช่นไร เขาเรียกว่า Amore Fati รักในชะตากรรม ลองมองตัวเองในกระจก
๔. ค้นให้พบคุณค่าที่แท้จริง ต้องสร้างคุณค่าเอง อย่าทำตามมาตรฐานสังคม อย่าขังตัวเองในที่คุมขังที่สังคมสร้างให้ อย่ายอมอยู่สบาย ๆ ในกรง คุณจะเป็นอิสระถ้าพร้อมที่จะทลายกรอบกรงประเพณี ศาสนา สังคม ไปจากบางคนในชีวิต
เสรี พพ ๘ เมษายน ๒๐๒๑