# อัลแบร์ต คามูส์ (๑)
# วิญญาณขบถ
อัลแบร์ต คามูส์ (Albert Camus 1913-1960 ) นักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักต่อสู้เพื่อการปลดแอกจากอำนาจเผด็จการ เขาเป็นสัญลักษณ์ของวิญญาณขบถ หนังสือ “คนนอก” (L’Étranger) เป็นคัมภีร์แห่งการลุกขึ้นต่อต้านอำนาจที่กดขี่ ไม่ว่ารูปแบบใด
คามูส์กลับมาโด่งดังอีกครั้งหนึ่งเมื่อปี ๒๐๒๐ เมื่อโควิด-19 ระบาด หนังสือ “กาฬวิบัติ” (La Peste – the Plague) เรื่องโรคระบาดของเขากลับมาเป็นเบสเซลเลอร์อีกครั้ง สำนักพิมพ์ Penguin ของอังกฤษพิมพ์แทบไม่ทัน ไม่รู้กี่หน ภาษาอื่น ๆ อย่างภาษาอิตาเลียนพิมพ์สามครั้งในปีเดียว เป็นนวนิยายเชิงปรัชญาแนวเอ็กซิสท์
คามูส์เกิดในอัลจีเรีย แอฟริกาเหนือ จากพ่อแม่ชาวฝรั่งเศส บรรพบุรุษอพยพไปอยู่ที่ “เมืองขึ้น” ของฝรั่งเศสแห่งนี้เช่นเดียวกับคนอีกจำนวนมาก ครอบครัวเขายากจน ไม่รู้หนังสือ เขาได้ครูประถมดีที่มองเห็นแววในเด็กคนนี้ว่ามีอะไรพิเศษ จึงหาทุนให้ไปเรียนมัธยมและเรียนปรัชญาที่มหาวิทยาลัยอัลจีเรีย
เขาเริ่มเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ในอัลจีเรีย และไปทำงานหนังสือพิมพ์ที่ฝรั่งเศส เป็นบรรณาธิการและทำหนังสือพิมพ์ใต้ดินระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองที่เยอรมันเข้ายึดครองฝรั่งเศส
คามูส์ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อปี ๑๙๕๗ อายุเพียง ๔๔ ปี และถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อปี ๑๙๖๐ อายุ ๔๖ ปี
หนังสือนวนิยาย ๓ เล่มสำคัญของเขา คือ คนนอก (L’Étranger) กาฬวิบัติ (La Peste) และ มนุษย์สองหน้า (La Chute) และข้อเขียนทางปรัชญา ตำนานซิซิฟ (The Myth of Sisyphus) และ ขบถ (The Rebel) เริ่มโด่งดังจากเรื่อง คนนอก ที่เขาเขียนเมื่อปี ๑๙๔๒ อายุ ๒๙ ปี แปลไปหลายภาษาทั่วโลก
คามูส์มีชื่อเสียงด้วยแนวคิดว่าด้วย “ความไร้เหตุผล” (absurdity) ของชีวิต (ที่ผมมักแปลว่า “ชีวิตบัดซบ”) เขาได้รับอิทธิพลจากปรัชญากรีก จากโชเปนฮาวเอร์ และนิทเช่ มีรูปนิทเช่ใส่กรอบตั้งบนโต๊ะทำงาน อ่านงานของคามูส์จะเห็นเงาของ “นิทเช่” อยู่ไม่น้อย เพราะคามูส์ไม่ใช่คนมองโลกแบบคนจนตรอก แต่มีทางออกคล้ายกับที่นิทเช่เรียกว่า “อภิมนุษย์”
คามูส์ได้ศึกษาแนวคิดทางปรัชญาและศาสนาอย่างกว้างขวาง การวิพากษ์วัฒนธรรมประเพณียุโรปไม่ว่าในงานปรัชญาหรือนวนิยาย จึงไม่ใช่ปฏิกิริยาของขบถแบบไร้เหตุผล หากมีคำอธิบายที่ “โดนใจ” ผู้คน โดยเฉพาะยุคเบบี้บูม
งานเขียนของเขาตอบโจทย์ชีวิตที่คนยุคใหม่กำลังเผชิญ นวนิยายของเขาจึงมีเค้าโครงที่นอกกรอบ แต่ไม่ใช่เหนือจริง ตามอิทธิพลที่เขาได้รับจากดอสโตเยฟสกีและคาฟก้า
# คนนอก
คนนอก เป็นเรื่องของชายที่ชื่อมอร์โซ ที่ไม่เห็นคุณค่าความหมายของชีวิต ของมิตรภาพ วันหนึ่งฆ่าชายอาหรับคนหนึ่งโดยไม่รู้สาเหตุ ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนหนึ่งเพราะเขาไม่ได้แสดงความเสียใจในการกระทำนั้น ไม่แคร์ต่อชะตากรรม นักสังคมวิทยาบอกว่าเป็นปรากฏการณ์ anomie คือไม่รู้สึกอะไรเลย แปลกแยก เหมือนถูกตัดขาดจากคนอื่น ๆ จึงไม่รู้สึกรู้สาหรือยึดถือในคุณค่าอะไร
มอร์โซไม่ยอมรับมาตรฐานสังคม เขามองเห็นความหน้าซื่อใจคด หน้าไหว้หลังหลอก (hypocrisy) ของผู้คน อยู่กันด้วยอารมณ์ความรู้สึก ไม่เห็นเหตุผลในปรากฏการณ์และพฤติกรรมของผู้คนในสังคม เขาไม่รับคำอธิบายจากระบบการศึกษา ที่ทำงาน กลไกรัฐบาล เขาวิพากษ์ชีวิตของคนมีฐานะและระบบศีลธรรมของคนเหล่านั้น ที่คับแคบในวิธีคิด ห่วงใยแต่เรื่องครอบครัวและข้าวของเงินทอง
คามูส์เขียนในคำนำในฉบับที่แปลเป็นอังกฤษพิมพ์ที่สหรัฐว่า มอร์โซไม่ได้เล่นเกม เขาปฏิเสธที่จะโกหก เขาพูดสิ่งที่เขาเป็น เขาปฏิเสธที่จะซ่อนความรู้สึก
สังคมเหมือนถูกคุกคามจากความคิดแบบนี้ เขาถูกตัดสินประหารชีวิตจากการฆ่าคนที่เขาไม่รู้สึกเสียใจ เขาไม่ต้องการการปลอบประโลมใด ๆ
ไม่แคร์ความรู้สึกใดในโลกนี้ ความปรารถนาสุดท้าย คือ อยากให้คนมาชมการประหารเขาให้มาก และให้ร้องสาปแช่งเขาด้วยความเกลียดชัง
# ตำนานซิซิฟุสคนถูกสาป
ในปีเดียวกัน คามูส์เขียนงานปรัชญา “ตำนานซิซิฟ” (Myth of Sisyphus) มาจากตำนานกรีกที่ซิซิฟุสท้าทายเทพเจ้าจนถูกสาปให้เข็นหินขึ้นเขา ขึ้นไปเกือบถึงก็ไหลกลับลงไป ต้องเข็นขึ้นไปใหม่ เช่นนี้เรื่อยไปชั่วนิจนิรันดร์ มันดูเป็นชีวิตที่ไร้เหตุผล (absurd)
แล้วต่างอย่างไรจาก “ตื่นเช้าขึ้นมา ล้างหน้าแปรงฟัน ดื่มกาแฟ นั่งรถ ทำงาน กินข้าวเที่ยง ทำงาน กลับบ้าน กินข้าว ดูทีวี นอน จันทร์ อังคาร พุธ พฤหัส ศุกร์ เสาร์ เช่นนี่เรื่อยไปไม่มีสิ้นสุด…คือความไร้เหตุผล”
เขาเริ่มต้นหนังสือเล่มนี้แบบกระแทกความรู้สึกของคนอ่านว่า มีปัญหาปรัชญาที่จริงจังเพียงเรื่องเดียว คือ การฆ่าตัวตาย การตัดสินว่า ชีวิตคืออะไร สมควรจะอยู่ไหม นั่นคือปัญหาพื้นฐานของปรัชญา
การตั้งคำถามของคามูส์ ก็เหมือนกับนักคิดนักปรัชญาอื่น ๆ อย่างเคียกเคอการ์ด นิทเช่ ไฮเดกเกอร์ ซาร์ตร์ ซึ่งพูดเหมือนกันทุกคนว่า ไม่มีความหมายของชีวิตที่ถูกกำหนดไว้หมดแล้ว เราไม่ได้มาอยู่ที่นี่ด้วยพระเมตตาของพระเจ้า และต้องดิ้นรนเพื่อให้ไปถึงซึ่งความรอด (salvation) เพราะได้ทำบาป กำหนดบัญญัติ ๑๐ ประการ กำหนดแผนที่ชีวิตให้เราเดิน
เหล่านี้คือคำถามและแนวทางของปรัชญาเอ็กซิสเทนเชียลิสท์ ที่พูดเรื่องเสรีภาพ การปลดปล่อยจากการจองจำของประเพณี การกำหนดชีวิตของตนเอง อย่างที่ซาร์ตร์บอกว่า “คนถูกสาปให้มีเสรีภาพ” “เขาถูกผลักขึ้นเวทีเพื่อกำหนดบทบาทการแสดงของตนเอง”
ชีวิตเราไร้เหตุผล หรือ “บัดซบ” (absurd) ในภาพใหญ่ แต่เขาก็แตกต่างจากนักปรัชญาหลายคนที่ไม่ได้จบลงด้วย “ไม่มีอะไรเลย” “ว่างเปล่า” เขาบอกว่า เราต้องมีชีวิตอยู่ด้วยรู้ว่า ความรู้จะเปล่าประโยชน์ ชีวิตจะถูกลืม และเต็มไปด้วยความรุนแรง
แต่ก็เหมือนซิซิฟุสที่เทพเจ้าสั่งให้เข็นหินก้อนใหญ่ขึ้นเขา ขึ้นไปแล้วก็กลิ้งลงมา ไม่ถึงสักที แต่คามูส์ก็บอกว่า เราก็ต้องมุ่งมั่นทำสิ่งที่เราต้องทำ หลังจากที่เราเห็นความบัดซบของชีวิต ความสิ้นหวัง ลองจินตนาการว่าซิซิฟุสมีความสุข
คามูส์พยายามจะบอกว่า ชีวิตคู่ควรแก่การอดทน ไม่ใช่ยอมแพ้และต้องฆ่าตัวตาย เขาพูดถึงความสุข และด้านดีของชีวิต ความสัมพันธ์ ธรรมชาติ แสงแดด ฤดูร้อน กีฬา มหรสพ มิตรภาพ อาหาร เหล่านี้ล้วนเป็นไกด์เพื่อการมีชีวิตและในความเป็นจริง
ชีวิตของคามูส์ ก็เหมือนที่ภาษาฝรั่งเศสว่า joie de vivre ความยินดีในการมีชีวิต (ภาษาอิตาเลียนว่า dolce vita ชีวิตที่หวานชื่น) เราต้องปลดปล่อยจากภาระหรือโซ่ตรวนของวัฒนธรรมที่กำหนดชีวิตของเรา จากแอกอันหนักที่ทำให้เราทุกข์ รู้สึกผิด สิ้นหวัง บังคับให้เดินบนทางสายเดียว
โลกจักรวาลที่ไม่มีความหมายเป็นโอกาสให้เราปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากความสิ้นหวัง การฆ่าตัวตายทางปรัชญา (philosophical suicide) ศาสนาอ้างหลักธรรมคำสอนเพื่อเป็นคำตอบว่าชีวิตมีความหมายอะไร เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน แต่เขาไม่เชื่อว่ามีคุณค่าสากล มีแผนการของพระเจ้า (divine plan)
การมีชีวิตที่น่าเบื่อเหมือนกันทุกวัน วันหนึ่งก็ถามตัวเองว่า ทำไม ทำไมเราจึงมาอยู่ตรงนี้ คำถามนี้ดูจะไม่มีเหตุผล แต่เราไม่อาจจะปฏิเสธความไร้เหตุผลนี้ เราตอบสนองเรื่องนี้ ๒ ทาง รับมัน หรือหนีไปให้พ้น
คามูส์บอกว่า มีคนที่ใช้โอกาสการแสวงหาคำตอบนี้สร้างคำตอบสำเร็จรูป เพื่อตอบสนองคำถามทางปรัชญาและคำถามเพื่อการมีชีวิตอยู่ ใช้มันเพื่อการควบคุม อาจมาในรูปแบบศาสนา หรือแบบอุดมการณ์ทางโลกที่ทดแทนคุณค่าทางศาสนา อย่างอุดมการณ์ทางการเมือง นาซี คอมมิวนิสต์ เผด็จการเบ็ดเสร็จต่าง ๆ
เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายไม่มีข้อพิสูจน์ ไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผล หรือแย้งกับเหตุผลของเราเอง เขาจึงเรียกเรื่องเหล่านี้ว่า การฆ่าตัวตายทางปรัชญา ประเพณีสร้างความเชื่อต่าง ๆ ขึ้นมาก็เพื่อทดแทนความไม่แน่ใจในเหตุผลต่าง ๆ
วิธีที่ตรงไปตรงมาเพื่อหนีจากความไร้เหตุผล คือ การฆ่าตัวตาย อันเป็นปัญหาทางปรัชญาที่แท้จริง ประเด็น คือ การยอมต่อความบัดซบ ยอมสยบต่อความไร้เหตุผล ยอมต่อความสิ้นหวัง ยอมอยู่ในกับดักชีวิตหรือ
เราควรถามตัวเองว่า ชีวิตและจักรวาลนี้มันผิดตรงไหน ไม่ผิด โลกที่ไม่มีความหมายเป็นโอกาสให้เราปล่อยภาพลวงตาเหล่านั้นไปเสีย เราเลือกที่จะมองแสงทองของชีวิตที่ไม่มีการพิพากษาสุดท้าย (last judgement) สวรรค์ นรก ชีวิตหลังความตาย โดยมุ่งทั้งหมดในชีวิตนี้ ไม่มีคุณค่าสากลเหนือโลก เราสร้างมันเองได้ เวลาอันสั้นในโลก เราใช้ให้ดีที่สุด
เขาพูดถึง “ฮีโร่แห่งความไร้เหตุผล” (absurd hero) บอกว่า เราไม่ควรยอมรับความบัดซบ เราต้องลุกขึ้นสู้ แม้ว่าในภาพใหญ่เราจะไม่รู้ และไม่มีพลัง เราสามารถควบคุมปัจจัยในตัวเราเองได้ เพื่อจะเป็นอิสระเสรี เราต้องขบถ ใช้พลังทั้งหมดที่เรามี เพื่อจะมีชีวิตที่สมบูรณ์ มีชีวิตอยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มเปี่ยม ไม่ได้หวังอะไรกับอนาคตที่เป็นแค่ความคิด
ปรัชญาของแนวคิดแบบ “ไร้เหตุผลนิยม” (absurdism) คือ ชีวิตที่ไม่มีอุทธรณ์ (To live life without appeal) คือ ชีวิตที่ต้องคิดเหตุผลและคุณค่าของตนเอง ไม่ได้เรียกร้องจากใครที่ไหน สถาบันใด ยกตัวอย่างซิซิฟุสที่ถูกสาปให้เข็นหินขึ้นเขา เกือบถึงยอดก็กลิ้งกลับ ต้องเข็นขึ้นไปใหม่ชั่วนิจนิรันดร์ เป็นอะไรที่ไร้ความหมายสิ้นดี ไร้สาระที่จะให้ความหมายแก่การกระทำของเขา
ชีวิตที่ดูเหมือนไม่มีจุดหมาย ไม่มีอนาคต ความหมายอยู่ในตัวกิจกรรมนั่นเอง ซึ่งน่าจะเพียงพอในชีวิตที่สิ้นหวัง โหดร้าย แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันอย่างไร
ลองคิดถึงซิซิฟุสมีความสุข มีความยินดีในความสิ้นหวัง ไม่ยอมก้มหัวให้ความทุกข์ทรมาน จะมีอะไรที่ให้ความยินดีเท่ากับการขบถต่อสิ่งที่ดูเหมือนเป็นการลงโทษ
# คามูส์ตัวจริง
คามูส์แตกต่างจากนักปรัชญาแนวนี้ที่ดูทุกข์และมีปัญหาชีวิตทางกายทางใจ เช่น ชอปเปนฮาวเออร์ นิทเช่ และหลายคน คามูส์เป็นคนหล่อเหลาแบบเจมส์ ดีน และฮัมฟรี โบการ์ต ดาราโด่งดังขวัญใจวัยรุ่นและประชาชนในยุคนั้น คามูส์มีความสัมพันธ์กับหญิงมากหน้าหลายตา เป็นนักฟุตบอลตอนยังหนุ่ม แต่ต้องเลิกเพราะพบว่าเป็นวัณโรค แต่เขาก็บอกเสมอว่า เขาได้เรียนรู้จักชีวิตผ่านกีฬาอย่างฟุตบอลนี่เอง
คามูส์เขียนเรื่องหนัก ๆ แต่ลงท้ายด้วยอะไรดี ๆ การเต้นรำ ความรัก การเล่นกีฬา ทะเล ภูเขา รวมทั้งชีวิตจริงของเขาเองที่ฟังดูเหมือนแปลกแต่จริง ความจริงที่แย้งตัวเอง (paradox) เขาพูดเรื่องชีวิตที่ไร้สาระและบัดซบ แต่ในความเป็นจริง เขาบอกว่าควรค้นหาความหมายและความสุขอย่างไร
เขาจึงปฏิสธการถูกตีตราว่าเป็นนักปรัชญาสายเอ็กซิสเทนเชียลิสท์ และไปรับรางวัลโนเบลที่ชาร์ตร์เองปฏิเสธ อ้างว่านักเขียนไม่ควรเป็นสถาบัน
ซาตร์และคามูส์รู้จักและสนิทสนมกันช่วงหนึ่ง รับประทานอาหารด้วยกันทุกสัปดาห์ เป็นสมาชิกชมรมของซีโมน เดอ โบวัวร์ แต่ต่อมาก็ขัดใจกันเรื่องแนวคิดทางการเมือง อุดมการณ์ แลกเปลี่ยนวิวาทะทางสื่อไปมา และสิ้นสุดมิตรภาพที่คนทั่วไปชื่นชมบุคคลทั้งสองว่าเป็นสัญลักษณ์คู่แห่งเสรีภาพหลังสงคราม
ในการสัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง เขาถูกถามว่า คนสับสนว่าเขาเป็นใคร นักคิด นักเขียน นักปรัชญาและอีกหลายนัก เขาตอบว่า ผมเป็นศิลปิน ที่นำเอาความรู้สึกนึกคิดของตนเองออกมา ผมไม่ใช่คนนั่งคิดคำนึงบนโซฟาเรื่องนามธรรม ผมตีความประสบการณ์ของตนเอง
เขายกตัวอย่างเรื่อง “ความไร้เหตุผล” และ “ขบถ” เป็นประสบการณ์ของคนทุกคนไม่ว่าอาชีพอะไร สิ่งที่เขาทำก็คือการวิพากษ์ประสบการณ์นี้เชิงลึก เมื่อเขาเขียนเรื่องนี้คนจึงสนใจ เพราะพวกเขาก็มีประสบการณ์นี้
คนถามต่อไปว่า ทำไมคนสมัยก่อนไม่เห็นพูดเรื่อง “ไร้เหตุผล” และ “ขบถ” เหมือนวันนี้ คามูส์ตอบว่า เพราะคนวันนี้สูญเสียรากเหง้า ความเชื่อทางสังคม รากเหง้าศีลธรรม ศาสนาก็ถูกละทิ้ง ไม่ตอบคำถามของคนวันนี้ ไม่มีอะไรมาทดแทนความว่างเปล่า
คนรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น คนยุโรปฆ่ากันตาย 60 ล้านคนระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง มันสะท้อน “ความเป็นทาส” (servitude) และ “ความบ้าคลั่ง” (folie) ของคน นี่ไง “ชีวิตบัดซบ” (absurdity)
อัลแบร์ต คามูส์ เป็นนักปรัชญาที่ผลงานได้รับการแปลเป็นภาษาไทยมากที่สุดผู้หนึ่ง อย่าง คนนอก กาฬวิบัติ เทพตำนานซีซีฟุส มนุษย์สองหน้า ปรัชญาแห่งความไร้เหตุผล ความตายที่เป็นสุข บทละครก็มี ความเข้าใจผิด และผู้เที่ยงธรรม ส่วนใหญ่เป็นงานไม่หนามาก หาข้อมูลและสั่งซื้อได้ทางออนไลน์
เสรี พพ ๑๒ เมษายน ๒๐๒๑