บุญข้าวสาก
“แย่งกันเหมือนผีเผดแย่งข้าวสาก”
“เด็กน้อยซากจวบนม ผีเผดพ้อข้าวสาก”
สำหรับคนที่ไม่รู้จักประเพณี “บุญข้าวสาก” คำพังเพยข้างต้นอาจแสลงหู เพราะมีคำว่า เปรต คำว่า ผี แต่ในสมัยก่อน บุญข้าวสากหรือวันสารทไทย เป็นประเพณีสำคัญของชาวไทยทั้งประเทศ
ชื่อ “บุญข้าวสาก” อาจแปลกหูสำหรับคนไทย นอกภาคอีสาน “บุญข้าวสาก” ตรงกับวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ เดือนสิบไทย (เป็นช่วงกลางปีของการนับแบบไทย ที่เริ่มปีใหม่ในเดือนห้า) ภาษาราชการเขาเรียก “บุญสลากภัต” ส่วนคนเชื้อสายจีน (โดยเฉพาะแต้จิ๋ว) จะคุ้นเคยกับ “บุญเทกระจาด”
ประเพณีเดือนสิบของชาวพุทธทั้งในไทยและจีนก็คล้ายกัน เพราะรับคติพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน คือทางจีนมีความเชื่อว่าพญายมจะเปิดนรกให้เปรต ผีต่าง ๆ ขึ้นมาโลกมนุษย์ได้หนึ่งเดือน ชาวพุทธในจีนจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผีที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งญาติพี่น้องและผีไร้ญาติด้วย โดยจะเริ่มเทศกาลทำบุญนี้ตั้งแต่วันสารทจน (七月半 แปลว่า วันสารท กลางเดือนเจ็ด) ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ตามปฏิทินจันทรคติจีน
วันสารทจีนมีอีกชื่อเรียกว่า เทศกาลผี (鬼节) ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Chinese Ghost Festival เป็นเทศกาลรำลึกถึงบรรพชนผู้ล่วงลับ ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ดวงวิญญาณที่ล่วงลับ รวมถึงให้แก่วิญญาณพเนจรที่ไม่มีญาติ จึงมี พิธีเทกระจาด (孟 兰盛会) ในช่วงนี้ด้วย
สำหรับประเพณีสารทไทยนั้นมีทั้งประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร ในส่วนประเพณีหลวงมีการอธิบายโยงใยถึงเทศกาลสารทอันเป็นฤดูเก็บเกี่ยวของอินเดีย ส่วนประเพณีราษฎรดั้งเดิมทุกภาคมความเชื่อตรงกัน คือทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ “ผี” “ผี” นั้นรวมทั้งผีบรรพบุรุษ ผีทั่ว ๆ ไป ผีไร้ญาติ เหตุด้วยตามคติทางพุทธศาสนา นรกจะเปิดให้ผีออกมารับส่วนกุศลจากมนุษย์ได้เป็นเวลาหนึ่งเดือน
ขอกล่าวถึงประเพณีหลวงก่อน
พระยาอนุมานราชธน เล่าไว้ในเรื่อง “ประเพณีเกี่ยวกับเทศกาลตรุษ – สารท” ว่า “สืบเนื่องมาแต่คติความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง ผลแรกได้ อันมีต้นเค้า แบบอย่างจากฝ่ายข้างผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ในอินเดีย กล่าวคือในอินเดียเมื่อถึงฤดูสารท หรือฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งตกอยู่ในราวปลายเดือนสิบ ข้าวสาลีที่เพาะปลูกไว้กำลังออกรวงอ่อนเป็นน้ำนม ผู้คนจะพากันเก็บเกี่ยวผลแรกได้นี้มาปรุงแต่งพิเศษเป็นข้าว ปายาส หรือมธุปายาส และยาคู เลี้ยงดูพราหมณ์ ซึ่งถือกันว่าเป็นบุคคลพิเศษเสมอด้วยเทวดา เพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ข้าวในนา และเมื่อพราหมณ์กินเลี้ยง แล้วก็จะทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเจ้าภาพเป็นผู้หลั่งน้ำเรียกว่า ตรรปณะ ทำนองเดียวกับการกรวดน้ำ ต่อเนื่องกันไปตามประเพณีนิยมการทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีที่ล่วงลับไปแล้ว นี้เรียกว่า ศราทธ์ ซึ่งออกเสียงเหมือนกับคำว่า สารท ที่เป็นชื่อฤดูกาล”
การทำบุญเทศกาลสารท ตามประเพณีหลวงยุครัตนโกสินทร์นั้นเรียกว่า พิธีภัทรบท สรุปความจากหนังสือ “ตำรับท้าวศรจุฬาลักษณ์” (เขียนในสมัยรัตนโกสินทร์) ได้ว่ามีการทำข้าวมธุปายาสและยาคู ถวายพระภิกษุสงฆ์ เลี้ยงพราหมณ์ ทำธงผ้าบูชาพระรัตนตรัย บูชาพระสถูปเจดีย์ เสร็จแล้วทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว รัชกาลที่ ๑ ทรงฟื้นฟูพิธีกวนข้าวทิพย์ โดยใช้สาวพรหมจารย์ เป็นผู้กวนข้าวทิพย์ ประเพณีเทศกาลสารทเดือนสิบ ในภาคกลางยังนิยมทำพิธีกวนข้าวทิพย์กันเป็นงานใหญ่ ส่วนชาวบ้านนิยมทำขนม “กระยาสารท” ทั้ง “ข้าวทิพย์” และ “กระยาสารท” มีต้นเค้าจากเรื่อง ข้าวปายาส หรือมธุปายาส และข้าวยาคู นั่นเอง
ขนมประจำวันสารทไทย
กระยาสารท เป็นขนมประจำวันสารทในทุกท้องถิ่นของประเทศไทย ด้วยมีความเชื่อว่า ถ้าไม่ได้ใส่บาตรขนมกระยาสารทในวันสารทไทยแล้ว ญาติผู้ล่วงลับก็จะไม่ได้ส่วนบุญส่วนกุศลที่กระทำในวันนั้น ขนมกระยาสารทมีส่วนประกอบ คือ ข้าวตอก เป็นกิจกรรมที่คนในครอบครัวและชุมชนมีส่วนร่วม เสริมสร้างความสามัคคีในหมู่คณะ
ข้าวยาคู ตำนานฝ่ายพุทธเล่าว่า มีชาวนาพี่น้องสองคน คนโตชื่อว่า มหาการ น้องชื่อ จุลการ มีไร่นากว้างใหญ่ ในฤดูที่ข้าวสาลีออกรวง จุลการเห็นว่าควรจะนำข้าวนั้นมาทำอาหารถวายพระพุทธเจ้า ผู้ทรงนามว่า วิปัสสี แต่พี่ชายไม่เห็นด้วย เพราะจะต้องเสียข้าวในนาจำนวนไม่น้อย น้องชายจึงแบ่งไร่นา และนำเมล็ดข้าวในนาของตนทำอาหารที่เรียกว่า ข้าวยาคู ไปถวายพระวิปัสสี และอธิษฐานขอให้เกิดในบวรพระพุทธศาสนา ซึ่งจุลการก็ได้เกิดเป็น พระอัญญาโกณฑัญญะ
ข้าวยาคู ทำโดยนำข้าวสาลีที่กำลังท้อง ฉีกรวงข้าวอ่อนออกมา แล้วต้มในน้ำนมสด เจือด้วยเนยใส น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด
ข้าวมธุปายาส คือข้าวที่หุงเจือด้วยน้ำนม และน้ำผึ้ง มีตำนานเล่าว่า นางสุชาดา ลูกสาวเศรษฐีปรุงขึ้นเป็นอาหารไปแก้บน ระหว่างทางพบเจ้าชายสิทธัตถะประทับใต้ต้นนิโครธ (ต้นไทร) เข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพยดา จึงนำอาหารนั้นไปถวายเจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยข้าวมธุปายาสเป็นอาหารมื้อสุดท้าย ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า จึงมีความเชื่อกันว่า ข้าวมธุปายาส เป็นอาหารวิเศษ ผู้ใดมีวาสนาได้กินแล้วร่างกายจะแข็งแรง ปราศจากโรคภัย อุดมด้วยสติปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ข้าวทิพย์ หมายถึง อาหารอันโอชะ ที่มีเครื่องปรุงถึง ๑๐๘ ชนิด (หากทำแบบโบราณ) แต่โดยหลัก ๆ มี ๙ อย่าง คือ น้ำนมข้าว เนย น้ำอ้อย น้ำผึ้ง น้ำตาล นม ถั่ว งา และข้าวเม่า ซึ่งการกวนแต่ละครั้งก็ต้องประกอบพิธีกรรมหลายอย่าง เช่น ต้องใช้สาวพรหมจารีย์กวน ฟืนที่ใช้ต้องเป็นไม้ชัยพฤกษ์ หรือไม้พุทราเท่านั้น ส่วนไฟก็ต้องเกิดจากแดดผ่านแว่นขยายที่เรียกว่า “สุริยกานต์” เป็นต้น
ประเพณีสารทไทยในภาคต่าง ๆ
การทำบุญวันสารทมีชื่อเรียกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ภาคกลาง เรียกว่า “สารทไทย”
ภาคเหนือ เรียก “งานทานสลากภัต” หรือ “ตานก๋วยสลาก”
ภาคอีสาน เรียก “ทำบุญข้าวสาก”
ภาคใต้ เรียก “งานบุญเดือนสิบ” หรือ “ประเพณีชิงเปรต” ถึงแม้ว่าการทำบุญเดือนสิบในแต่ละท้องที่มีชื่อเรียกแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือการทำบุญกลางปี เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองที่มีชีวิตผ่านพ้นเวลามาได้ถึงกึ่งปี และเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว
ภาคกลาง
ประเพณีวันสารทไทยถือว่าเป็นประเพณีของภาคกลาง เมื่อใกล้ถึงวันสารท ชาวบ้านทุกบ้านจะกวนกระยาสารท เพื่อนำไปตักบาตร และแจกจ่ายให้เพื่อนบ้าน ในวันสารทชาวบ้านจะจัดแจงข้าวปลาอาหารไปทำบุญกรวดน้ำที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติมิตรผู้ล่วงลับ และถือศีล ฟังธรรมเทศนา
บางท้องถิ่นจะทำขนมสำหรับบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระโพสพ ผีนา ผีไร่ด้วย เมื่อถวายพระสงฆ์เสร็จแล้วก็นำไปบูชาตามไร่นา โดยวางตามกิ่งไม้ ต้นไม้ หรือที่จัดไว้เพื่อการนั้นโดยเฉพาะ
ภาคเหนือ
พิธีสารทไทยในภาคเหนือ มีชื่อเรียกว่า “ตานก๋วยสลาก” (ตานสลาก, กิ๋นข้าวสลาก, กิ๋นก๋วยสลาก หรือ กินสลาก) คำว่า “ก๋วย” แปลว่า “ตะกร้า” หรือ “ชะลอม” ส่วน “สลากภัตต์” หมายถึง อาหารที่ถวายพระตามสลาก นับเข้าเป็นเครื่องสังฆทาน
ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นประเพณีที่มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล มีตำนานเล่าว่า มีนางยักษิณีตนหนึ่งมักจะเบียดเบียนผู้คนอยู่เสมอ ครั้นได้ฟังธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว นางก็บังเกิดความเลื่อมใสศรัทธา นิสัยใจคอที่โหดร้ายก็กลับเป็นผู้เอื้ออารี จนผู้คนต่างพากันซาบซึ้งนางยักษิณีตนนั้น ถึงกับนำสิ่งของมาแบ่งปันให้ แต่เนื่องจากสิ่งของที่ได้รับมีจำนวนมาก นางยักษิณีจึงนำสิ่งของเหล่านั้นมาทำเป็นสลากภัต แล้วให้พระสงฆ์-สามเณร จับสลากด้วยหลักอุปโลกนกรรม คือสิ่งของที่ถวาย มีทั้งของมีราคามาก และมีราคาน้อย แตกต่างกันไปตามแต่โชคของผู้ได้รับ การถวายแบบจับสลากของนางยักษิณีจึงนับเป็นครั้งแรกของประเพณีทำบุญสลากภัตในพุทธศาสนา
ประเพณี “ตานก๋วยสลาก” หรือ “สลากภัตต์” ของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่เดือน ๑๒ เหนือถึงเดือนยี่เหนือ หรือตั้งแต่เดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เพราะช่วงนี้ชาวนาทำนาเสร็จได้หยุดพัก ขณะที่พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัดไม่ได้ไปไหน ก่อนถึงวันตานก๋วยสลาก ๑ วัน จะเรียกว่า “วันดา” ชาวบ้านจัดเตรียมข้าวของที่จะนำมาจัดดาใส่ก๋วยสลาก เช่น เกลือ ข้าวสาร หอม กะปิ ชิ้นปิ้ง เนื้อเค็ม แคบหมู เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น
วันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้าน จะมาร่วมไฮ่ฮอม (ทำบุญ) และมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก (ตะกร้า) สำหรับทจะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่าง ๆ ก๋วยจะกรุด้วยใบตอง หรือตองจี๋กุ๊ก เมื่อรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก ๆ สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้าง ตามกำลงศรัทธาและฐานะ แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีคนสาน “ก๋วย” เป็น จึงใช้ถุงพลาสติกบรรจุสิ่งของต่าง ๆ แทน
ก๋วยสลากมีอยู่ ๒ ลักษณะ คือ
๑. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท มิตรสหาย หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรัก และมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิต เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย และสุนัข เป็นต้น หรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
๒. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ บรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธา และฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง
สลากที่มักจัดทำเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ “สลากโชค” มักจะเป็นสลากของผู้ที่มีฐานะดีระดับเศรษฐี (บางคน) ที่ต้องการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้กับบิดามารดา หรือญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับอันเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณคน มักทำเป็นต้นสลากสูงใหญ่สำหรับนำวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผูกมัดติดไว้ เช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหารแห้ง และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่าง ๆ ต้นสลากโชคมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดา
ก่อนที่จะนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันที่วัด ต้องเขียนเส้นสลากเสียก่อน โดยเจ้าของก๋วยสลาก ใช้ใบลานมาตัดเป็นเส้นยาว ๆ ความกว้าง ๒ – ๓ นิ้ว แล้วจารึกชื่อเจ้าของบอกว่าอุทิศส่วนกุศลให้ใครบ้าง แต่ปัจจุบันจะเขียนลงบนแผ่นกระดาษ เมื่อนำเอาก๋วยสลากไปรวมกันไว้ที่วัดแล้ว เส้นสลากจะถูกนำไปกองรวมกันไว้ในวิหารหน้าพระประธาน จากนั้นก็จะนำเบอร์มาติดที่สำรับกับข้าวของเจ้าภาพแต่ละราย แล้วเขียนหมายเลข เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว เส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไป โดยการจับสลากในหมู่ของพระสงฆ์ที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ รูปละ ๕ เส้น ๑๐ เส้นบ้างแล้วแต่กรณี ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ
ก่อนถึงเวลาเพล พระสงฆ์ก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน โดยเริ่มจากเจ้าอาวาส พระจับได้เบอร์อะไรของเจ้าภาพคนใด ก็ไปฉันสำรับกับข้าวที่เจ้าภาพนำมา ก่อนเส้นสลาก (จับสลาก) ก็มีการฟังเทศน์อย่างน้อย ๑ กัณฑ์ ต่อจากนั้นจึงยกของประเคนตามสลาก เมื่อพระฉันเสร็จแล้วก่อนโมทนา และให้ศีลให้พร เจ้าภาพก็กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
ภาคใต้
มีประเพณีทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้บุคคลที่ล่วงลับไปแล้วในเดือน ๑๐ เป็นสองวาระคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ครั้งหนึ่ง และวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ อีกครั้งหนึ่ง โดยถือคติว่า พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะผู้ที่ต้องตกนรก หรือเรียกว่าเปรตนั้น จะได้รับอนุญาตให้มาพบกับญาติของตนในเมืองมนุษย์ได้ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และกลับไปสู่นรกดังเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ดังนั้น จึงมีการทำบุญในสองวาระ ดังกล่าวนี้ แต่ส่วนใหญ่ทำวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เพราะมีความสำคัญมากกว่า
การทำบุญของชาวไทยภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีชื่อเรียกเป็น ๔ อย่าง คือ
๑. ประเพณีทำบุญเดือนสิบ โดยกำหนดเอาเดือนทำบุญเป็นหลัก
๒. ประเพณีทำบุญวันสารท โดยถือหลักของการทำบุญที่มีความสัมพันธ์กับอินเดีย เหมือนวันสารทไทยของคนไทยในภาคกลาง ดังกล่าวมาแล้ว บางครั้งก็เรียกว่า ประเพณีทำบุญสารท ซึ่งที่รู้จักกันดีคือประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช
๓. ประเพณีจัดหมรับ (อ่านว่า หมับ แปลว่า สำรับ) การยกหมรับ และการชิงเปรต คำว่า จัดหมรับ ได้แก่ การจัดเสบียงอาหารเป็นสำรับถวายพระภิกษุ โดยให้พระภิกษุจับสลากแล้วให้ศิษย์เก็บไว้ แล้วนำถวายพระภิกษุเป็นมื้อ ๆ การยกหมรับที่จัดเรียบร้อยแล้วไปวัด พร้อมทั้งภัตตาหารไปถวายพระภิกษุในช่วงเวลาเช้าก่อนเพล จะจัดเป็นขบวนแห่ใหญ่โตก็ได้ บางแห่งแต่งตัวเป็นเปรตเข้าร่วมไปในขบวนด้วย
ส่วนชิงเปรต หรือตั้งเปรตนั้น เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำบุญ กล่าวคือ เมื่อจัดหมรับ ยกหมรับไปถวายพระภิกษุแล้วจะเอาอาหารที่จัดไว้ ซึ่งเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากไปจัดตั้งไว้ให้เปรต โดยมากเป็นอาหารทผู้ล่วงลับไปแล้วชอบในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ที่ขาดไม่ได้ก็คือขนม ๕ อย่าง คือ ขนมพอง โดยหมายจะให้เป็นแพฟ่อง ล่องลอยพาบรรพชนล่วงข้ามสังสารวัฏ, ขนมลา ให้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม, ขนมกง หรือบางทีก็ใช้ ขนมไข่ปลา ให้เป็นเครื่องประดับ, ขนมดีซำ ให้เป็นเบี้ยไว้ใช้สอย และ ขนมบ้า ให้บรรพชนใช้เป็นลูกสะบ้าสำหรับเล่นรับสงกรานต์
สถานที่ตั้งอาหารเป็นร้านสูงพอสมควร เรียกว่า ร้านเปรต หรือหลา (ศาลา) เปรต มีสายสิญจน์วงรอบ โดยให้ปลายสายสิญจน์อีกข้างหนึ่งโยงมาสำหรับพระภิกษุชักบังสุกุล ซึ่งชาวบ้านจะกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับ พอเก็บสายสิญจน์แล้วก็จะมีการแย่งอาหารและขนมที่ตั้งเปรตไว้นั้นอย่างสนุกสนาน เรียกว่า ชิงเปรต แล้วนำมากิน ถือว่าได้กุศลแรงและเป็นสิริมงคล การทำบุญด้วยวิธีตั้งเปรต และชักบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลนี้ บางครั้งเรียกว่า การฉลองหมรับและบังสุกุล ถือว่าสำคัญ เพราะถือว่าเป็นวันส่งญาติผู้ล่วงลับไปแล้วด้วย ซึ่งต่อมาได้จัดเป็นแถวรอรับเพื่อความเรียบร้อย และไม่ก่อให้เกิดทะเลาะวิวาทเนื่องจากการแย่งชิงกัน
๔. ประเพณีทำบุญตายาย หรือประเพณีรับส่งตายาย โดยถือคติว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วกลับมาเยี่ยมลูกหลานในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และกลับนรกตามเดิมในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ แต่มีบางแห่งถือว่าญาติที่ล่วงลับไปแล้วเหล่านี้เป็นตายาย เมื่อท่านมาก็ทำบุญรับ เมื่อท่านกลับก็ส่งกลับ จึงเรียกประเพณีดังกล่าวนี้ว่า ทำบุญตายาย
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หนึ่งในประเพณีฮีตของอีสานในเดือนสิบคือ “บุญข้าวสาก” หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่า “สลากภัตต์” นั่นเอง คนอีสานเชื่อว่าในช่วงเดือนสิบต้นเดือน นับเป็นอีกช่วงหนึ่งที่เปรตได้พากันขนมายังเมืองมนุษย์อีกครั้งหนึ่งระยะเวลาก็คือช่วงวันแรม ๑-๑๕ ค่ำ เพราะเป็นช่วงเดือนมืด ในเวลาดังกล่าวนี้ชาวอีสานทุกครัวเรือนจะทำบุญข้าวสากเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติพี่น้องที่ตายไปแล้ว
การทำบุญข้าวสากนี้คล้ายกับการทำบุญข้าวประดับดินในเดือน ๙ ต่างกันแต่ในเดือน ๑๐ นี้จะมีการห่อข้าวใหญ่เพิ่มขึ้น และเศษของห่อข้าวใหญ่หรือเศษของห่อข้าวน้อยก็จะกลายเป็นข้าวสากไปในที่สุด ชาวบ้านนิยมทำข้าวสากนี้ไปให้ผีตาแฮกกัน เพราะเชื่อว่าผีตาแฮกจะดูแลข้าวกล้าในนาให้อุดมสมบูรณ์ จึงมีการแย่งชิงข้าวสากกันเพื่อไปให้ผีตาแฮกดังคำพังเพย เช่น
“แย่งกันเหมือนผีเผดแย่งขาวสาก”
“เด็กน้อยซากจวบนม ผีเผดพ้อข้าวสาก”
งานบุญข้าวสากห่างจากบุญข้าวประดับดิน ๑๕ วัน และเน้นการบูชาผีบรรพบุรุษเช่นเดียวกัน จึงขอเล่าเรื่องบุญข้าวประดับดินก่อน
บุญข้าวประดับดิน บุญเดือนเก้า
ประเพณีนี้จัดขึ้นในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนเก้าของทุก ๆ ปี ในการทำบุญข้าวประดับดินนั้น ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหารคาวหวาน ผลไม้ หมาก พลู บุหรี่ มาห่อด้วยใบตอง และทำเป็นห่อเล็ก ๆ ก่อนจะนำไปวางตามโคนต้นไม้ใหญ่ หรือตามพื้นดินบริเวณรอบ ๆ เจดีย์ หรือโบสถ์ การทำบุญข้าวประดับดินนี้ ชาวบ้านเชื่อว่า เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ รวมถึงอุทิศส่วนกุศลให้กับสัตว์นรก หรือเปรต นอกจากนี้ บุญข้าวประดับดิน ยังถือว่าเป็นการให้ทานแก่ผู้ยากไร้รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของ ที่ต้องหิวอดมื้อกินมื้อมาตลอดทั้งปีอีกด้วย เพราะการที่ตั้งอาหารไว้ที่พื้นทำให้สัตว์เหล่านั้นสามารถเข้ามากินอาหารได้อย่างเต็มที่
การทำบุญข้าวประดับดินนี้ เกิดจากความเชื่อตามนิทานธรรมบทว่า ญาติของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ยักยอกเงินวัดไปเป็นของตนเอง ครั้นตายแล้วไปเกิดเป็นเปรตในนรก และเมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้วมิได้อุทิศให้ญาติ กลางคืนพวกญาติที่ตายมาแสดงตัวเปล่งเสียงน่ากลัวใกล้พระราชนิเวศน์ รุ่งเช้าได้เสด็จไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์บอกเหตุให้ทราบ พระเจ้าพิมพิสารจึงถวายทานอีกแล้วอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ตายไปจึงได้รับส่วนกุศล ดังนั้น การทำบุญข้าวประดับดิน คือ การทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ตายแล้ว ถือเป็นประเพณีที่ต้องทำเป็นประจำทุกปี
พิธีกรรมบุญข้าวประดับดิน มีดังนี้
๑. วันแรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวต้ม ขนม อาหารคาวหวาน หมาก พลู และบุหรี่ ไว้ ๔ ส่วน ส่วนหนึ่งเลี้ยงดูกันภายในครอบครัว ส่วนที่สองแจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่สามอุทิศให้ญาติที่ตายไปแล้ว และส่วนที่สี่นำไปถวายพระสงฆ์ ในส่วนที่สาม ญาติโยมจะห่อข้าวน้อยด้วยใบตองห่อขนาดเท่าฝ่ามือ ส่วนความยาวนั้นให้ยาวสุดซีกของใบตอง
๒. วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๙ ชาวบ้านจะไปวัด ตั้งแต่เวลาตีสี่ เพื่อนำสิ่งของที่เตรียมไว้จัดใส่กระทง หรือเย็บเป็นห่อเหมือนข้าวสากไปวางอุทิศส่วนกุศล ตามที่ต่าง ๆ ซึ่งการวางแบบนี้เรียกว่า การวางห่อข้าวน้อย แต่หากเป็นการนำไปวางในวัด จะเรียกว่า การยาย (วางเป็นระยะ ๆ) ห่อข้าวน้อย ซึ่งเวลานำไปวางจะพากันไปทำอย่างเงียบ ๆ ไม่มีการตีฆ้อง ตีกลอง แต่อย่างใด
๓. หลังจากวางเสร็จแล้ว ชาวบ้านจะกลับบ้าน เพื่อเตรียมอาหารทำบุญที่วัดอีกทีหนึ่งในตอนเช้า เมื่อพระสงฆ์ฉันเช้าเสร็จก็จะเทศน์ฉลองบุญข้าวประดับดิน ต่อจากนั้นชาวบ้านจะนำปัจจัยไทยทาน ถวายแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ให้พรเสร็จชาวบ้านที่มาทำบุญก็จะกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้วทุก ๆ คน
บุญข้าวสาก บุญเดือนสิบ
สำหรับตำนานความเป็นมาของบุญข้าวสากนี้ มีเล่ากันสองตำนาน
ตำนานแรกเกี่ยวกับการทำบุญสลากภัตต์ ดังนี้
ในสมัยหนึ่งพุทธองค์ได้เสด็จไปกรุงพาราณสี ในคราวนั้นบุรุษเข็ญใจ พาภรรยาประกอบอาชีพตัดฟืนขายเป็นนิตย์เสมอมา เขาเป็นคนเลื่อมใสพระพุทธศาสนายิ่งนัก วันหนึ่งเขาได้ปรึกษากับภรรยาว่า “เรายากจนในปัจจุบันนี้เพราะไม่เคยทำบุญให้ทาน รักษาศีลแต่ละบรรพกาลเลย ดังนั้นจึงควรที่เราจักได้ทำบุญกุศล อันจักเป็นที่พึ่งของตนในสัมปรายภพชาติหน้า” ภรรยาได้ฟังดังนี้แล้วก็พลอยเห็นดีด้วย วันหนึ่งเขาทั้งสองได้พากันเข้าป่าเก็บผักหักฟืนมาขาย ได้ทรัพย์แล้วนำไปจ่ายเป็นค่าหม้อข้าว ๑ ใบ หม้อแกง ๑ ใบ อ้อย ๔ ลำ กล้วย ๔ ลูก นำมาจัดแจงลงในสำรับเรียบร้อยแล้วนำออกไปยังวัด เพื่อถวายเป็นสลากภัตตทาน พร้อมอุบาสกอุบาสิกาเหล่าอื่น สามีภรรยาจับสลากถูกพระภิกษุรูปหนึ่งแล้วมีใจยินดี จึงน้อมภัตตาหารของตนเข้าไปถวายเสร็จแล้ว ได้หลั่งน้ำทักษิโณทกให้ตกลงเหนือแผ่นปฐพีแล้วตั้งความปรารถนา
“ด้วยผลทานทั้งนี้ข้าพเจ้าเกิดในปรภพใด ๆ ขึ้นชื่อว่าความยากจนเข็ญใจไร้ทรัพย์เหมือนดังในชาตินี้ โปรดอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้าทั้งสองเลย ขอให้ข้าพเจ้าทั้งสองเป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์เพียบพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติและมีฤทธิ์เดชมาก ในปรภพภายภาคหน้าโน้นเถิด” ดังนี้ ครั้นสองสามีภรรยานั้นอยู่พอสมควรแก่อายุขัยแล้วก็ดับชีพวายชนม์ไปตามสภาพของสังขาร ด้วยอานิสงส์แห่งสลากภัตตทาน จึงได้ไปเกิดเป็นเทพบุตร เทพธิดาในดาวดึงส์สวรรค์ เสวยสมบัติทิพย์อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภาตระการยิ่งนัก พร้อมพรั่งไปด้วยแสนสุรางค์นางเทพอัปสรห้อมล้อมเป็นบริวาร มีนามบรรหารว่า “สลากภัตตเทพบุตร เทพธิดา”
อีกตำนานหนึ่งเล่าเรื่องการตามจองเวรจองกรรมกัน แล้วสุดท้ายดูจะโยงใยเกี่ยวข้องกับการบูชา “ผีตาแฮก” ซึ่งก็มีนัยถึงความอุดมสมบูรณ์ของนาข้าวด้วย (ดูรายละเอียดในเรื่อง “บุญข้าวสาก” – เทศนาของหลวงปู่ชา)
เรื่องโดยย่อดังนี้ บุตรกฎุมพีผู้หนึ่งเมื่อพ่อสิ้นชีวิตแล้ว แม่ก็หาภรรยาให้ แต่ไม่มีบุตรด้วยกัน แม่จึงหาหญิงอื่นให้เป็นภรรยาอีก ต่อมาเมียน้อยมีลูก เมียหลวงอิจฉาจึงคิดฆ่าเมียน้อยและลูก ก่อนตายเมียน้อยคิดอาฆาตเมียหลวง ชาติต่อมาทั้งสองเกิดเป็นสัตว์ชนิดต่าง ๆ และอาฆาตเข่นฆ่ากันเรื่อยมา จนชาติสุดท้ายฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นคน อีกฝ่ายหนึ่งเกิดเป็นยักษิณี ยักษิณีจองเวรได้มากินลูกของผู้เกิดเป็นคนถึงสองครั้ง พอเกิดลูกคนที่สามยักษิณีจะตามมากินอีก หญิงคนนั้นพร้อมลูกและสามีจึงหันไปพึ่งพระพุทธเจ้า ณ เชตวันมหาวิหาร พระพุทธเจ้าได้เทศนาให้ทั้งสองเลิกจองเวรกัน และโปรดให้ทางยักษิณีไปอยู่ตามหัวไร่ปลายนา นางยักษิณีมีความรู้เกณฑ์เกี่ยวกับฝนและน้ำดี ชาวเมืองนับถือมาก จึงได้นำอาหารไปส่งอย่างบริบูรณ์ นางยักษิณีจึงนำอาหารเหล่านั้นไปถวายเป็นสลากภัตแด่พระสงฆ์วันละแปดที่เป็นประจำ
ชาวอีสานจึงถือเป็นประเพณีถวายสลากภัต หรือบุญข้าวสากสืบต่อมา และเมื่อถึงวันทำบุญข้าวสาก นอกจากนำข้าวสากไปถวายพระภิกษุและวางไว้บริเวณวัดเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ชาวนาจะเอาอาหารไปเลี้ยงนางยักษ์หรือผี้เสื้อนาในบริเวณนาของตน เปลี่ยนเรียกนางยักษ์ว่า “ตาแฮก”
ประเพณีบุญข้าวสากมีระยะเวลาของประเพณีการทำบุญ ๒ ระยะ ดังนี้
ระยะแรก ก่อนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ชาวบ้านจะเตรียมข้าวเม่า ข้าวพอง และข้าวตอก (บางแห่งเรียกดอกแตก, ตอกแตก) ขนมและอาหารหวานคาวอื่น ๆ เพื่อจะทำบุญในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ สำหรับข้าวเม่า ข้าวพองและข้าวตอกนั้น จะคลุกเข้ากันและใส่น้ำอ้อย น้ำตาล ถั่วงา มะพร้าวให้เป็นข้าวสาก (ภาคกลางเรียกว่าข้าวกระยาสารท) แต่บางแห่งมิได้คลุกเข้าด้วยกัน คงแยกทำบุญเป็นอย่าง ๆ เมื่อเตรียมของทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะเอาข้าวปลาอาหารที่มีอยู่ไปส่งญาติพี่น้องและผู้รักใคร่นับถือ อาจส่งก่อนวันทำบุญหรือส่งในวันทำบุญเลยก็ได้ เรียกว่าส่งข้าวสาก การเอาข้าวปลาอาหารไปส่งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ถ้าหากบุคคลเหล่านั้นอยู่ห่างไกลก็จะไปค้างคืน นอกจากมอบของแล้วจะถือโอกาสเยี่ยมเยียนไปด้วย เรียกว่า ส่งเขาส่งเรา ผลัดกันไปผลัดกันมา เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ส่วนข้าวสากหรือกระยาสารทนั้น จะส่งก่อนวันทำบุญหรือในวันทำบุญก็ได้ เรียกว่า ส่งข้าวสาก
ระยะที่สอง คือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ เวลาเช้า ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรที่วัดอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่อาจมีบางคนอยู่วัด รักษาศีล ฟังเทศน์ เมื่อถึงเวลาใกล้เพลก็เตรียมภัตตาหารไปวัดอีกครั้งหนึ่ง มีห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ข้าวสาก และอาหารอื่น ๆ บางแห่งอาจจัดของที่จะถวายเป็นกัณฑ์เทศน์ไปด้วย เมื่อถึงวัดแล้วก็จะจัดภัตตาหารและของที่จะถวายพระภิกษุถวายเสียก่อน บางแห่งนิยมทำเป็นสลาก ชาวบ้านคนไหนจับสลากถูกชื่อพระภิกษุรูปใดก็ถวายรูปนั้น ทำนองเดียวกับการทำบุญสลากภัตต์ จึงเป็นเหตุให้เกิดความเข้าใจว่า การทำบุญข้าวสาก ก็คือทำบุญด้วยวิธีถวายตามสลาก
พิธีกรรม
เมื่อถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๐ ญาติโยมจะเตรียมอาหารคาวหวาน และหมากพลู บุหรี่ พอเข้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ญาติโยมจะพากันทำบุญใส่บาตร พอถึงเวลาประมาณ ๙ – ๑๐ โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจะนำอาหารที่เตรียมถวายพระสงฆ์ และห่อข้าวน้อย ซึ่งมีอาหารคาวหวานอยางละเล็กอย่างละน้อย แต่ละห่อ ประกอบด้วย ๑. ข้าวเหนียว เนื้อปลา เนื้อไก่ หมู และใส่ลงไปอย่างละเล็กอย่างละน้อยถือเป็นอาหารคาว ๒. กล้วย น้อยหน่า ฝรั่ง แตงโม สับปะรด ฟักทอง (แล้วแต่จะเลือกใส่) เป็นอาหารหวาน หลังจากนั้นนำอาหารที่ห่อเป็นคู่ ๆ มาผูกกันเป็นพวง แล้วแต่จะใส่กี่ห่อก็ได้ ส่วนใหญ่จะใช้ ๑๐ คู่ เพื่อนำไปเลี้ยง “ผีตาแฮก” ที่นาของตนเองด้วย โดยมีความเชื่อว่าจะทำให้ผีตาแฮกพอใจ และช่วยดูแลข้าวกล้าในนาให้งอกงามสมบูรณ์ ตลอดจนช่วยขับไล่ศัตรูข้าวได้แก่ นก หนู ปูนา ไม่ให้มาทำลายต้นข้าวในนา อีกส่วนหนึ่ง เมื่อนำอาหารมาถึงศาลาวัด เขียนชื่อของตนลงในกระดาษแล้วม้วนลงใส่ในบาตร เมื่อทุกคนมาพร้อมกัน ผู้ที่จะเป็นหัวหน้ากล่าวนำคำถวายสลากภัต ญาติโยมว่าตามจบแล้วให้พระเณรจับสลากที่อยู่ในบาตร พระเณรจับได้สลากของใคร ผู้เป็นเจ้าของพาข้าว (สำรับกับข้าว) และเครื่องปัจจัยไทยทานก็นำไปประเคนให้พระรูปนั้น ๆ จากนั้น พระเณรจะฉันเพลให้พรญาติโยมจะพากันรับพร แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว
ส่วนห่อข้าวน้อย ห่อข้าวใหญ่ ชาวบ้านแจกกันเอง ห่อข้าวน้อยนั้น เมื่อแจกแล้วก็แก้ห่อออกกินกันในวัดเลย ถือกันว่าเป็นการกินในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
ส่วนห่อข้าวใหญ่เอากลับไปบ้าน เก็บไว้ในเวลาต่อไป เพราะอาหารในห่อนั้นเป็นพวกของแห้ง เช่น ปลาแห้ง เนื้อแห้ง ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ ถือคติว่าเอาไปกินในปรโลก ประเพณีแจกห่อข้าวน้อยและห่อข้าวใหญ่นี้ปัจจุบันเกือบไม่มีแล้ว จะจัดเพียงภัตตาหารไปถวายพระภิกษุพร้อมด้วยข้าวสาก หรือ ถวายกระยาสารท เท่านั้น
สำหรับข้าวสากที่จะนำไปแจกกันเหมือนกระยาสารทของคนไทยภาคกลางนั้น วิธีห่อผิดกับทางภาคกลาง เพราะห่อด้วยใบตอง กลัดด้วยไม้กลัดหัวท้ายมีรูปลักษณะคล้ายข้าวต้มมัด แต่ตรงปลายทั้งสองข้างที่เรียกว่าสันตองไม่ต้องพับเข้ามา ของที่ใส่ในห่อมีข้าวต้ม ข้าวสาก แกงเนื้อ แกงปลา หมาก พลู บุหรี่ ห่อแล้วเย็บติดกันเป็นคู่ ๆ เอาไปห้อยไว้ ตามต้นไม รั้วบ้าน เมื่อห้อยไว้แล้วก็ตีกลองหรือโปง เป็นสัญญาณให้เปรตมาเอาไป และปล่อยทิ้งไว้ชั่วพักหนึ่ง กะเวลาที่เปรตได้มารับเอาอาหารที่ห้อยไว้นั้นไปแล้ว ชาวบ้านก็แย่งกันชุลมุน ใครแย่งเก่งก็ได้มากกว่าคนอื่น เรียกว่า แย่งเปรต
ของที่แย่งเปรตไปได้นี้ ชาวบ้านจะเอาไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงตาแฮก (ยักษิณี หรือเทพารักษ์ รักษาไร่นา ซึ่งเคยเลี้ยงเมื่อตอนเริ่มทำนาในเดือน ๖ มาครั้งหนึ่งแล้ว) นอกจากเลี้ยงตาแฮกแล้วก็เอาไปให้เด็กรับประทาน เพราะถือว่าเด็กที่รับประทานแล้วจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย
***
คอลัมน์ เรื่องจากปก นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๒๙| กันยายน ๒๕๕๗
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220