วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2565 ติดตามคำวินิจศาลปกครอง ร่วมกันปกป้องแม่น้ำโขง

วันอังคารที่ 3 พฤษภาคม 2565

ติดตามคำวินิจศาลปกครอง ร่วมกันปกป้องแม่น้ำโขง

                               # 10 ปี เมื่อความยุติธรรม (?) กำลังมาถึง

     หลังผ่านไป 10 ปี นับจากวันฟ้องคดี การกำหนดวันนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุด กรณีชาวบ้าน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ฟ้อง กฟผ. เรื่องการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นี้จะเป็นวันสำคัญของการชี้ทิศทางคำวินิจฉัยของศาลปกครอง

▪️เขื่อนไม่มีผลกระทบ ??

ประเด็นหนึ่งที่มีการโต้แย้งกัน ทั้งในสำนวนที่ส่งต่อศาลและในพื้นที่สาธารณะคือ รูปแบบของเขื่อนไซยะบุรี เป็นแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-the-River) โดยอ้างว่า ไม่มีการกักน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ (Reservoir) และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยที่ปริมาณน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังนั้นจึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และดูเหมือนคำอ้างนี้จะกลายเป็นคัมภีร์

เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเขื่อนแรกในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ดังนั้นผลกระทบต่าง ๆ จึงต้องอาศัยผลการศึกษาเท่าที่มีนำเสนอต่อศาล ด้วยช่วงเวลาของการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองนั้น เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เขื่อนไซยะบุรีกำลังก่อสร้าง

– โดยการฟ้องครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2555

– และอุธรณ์ต่อศาลปกครองในวันที่ 21 มีนาคม 2556 และ วันที่ 25 มกราคม 2559

– ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จและเปิดใช้งานในวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ดังนั้นจึงยังไม่สามารถนำเสนอข้อเท็จจริงถึงผลกระทบต่าง ๆ เชิงประจักษ์เสนอต่อศาลในขณะนั้นได้

▪️หลักฐานชัด

ข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ที่จะแสดงให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรี ไม่ใช่เขื่อนแบบน้ำไหล ทั้งยังมีอ่างเก็บน้ำ และปริมาณน้ำไหลเข้าไม่เท่ากับปริมาณน้ำไหลออก ดังที่กล่าวอ้างกัน ต้องยกเอกสารของทางราชการไทยเองที่ชี้ในประเด็นนี้ ดังนี้

เอกสารชิ้นแรก

คือ ประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ของ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 9/2565 (21 เมษายน 2565) ได้แจ้งเตือนระดับน้ำโขงเพิ่มขึ้นจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน โดยระบุว่าช่วงท้ายเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่สถานีเชียงคานถึงสถานีโขงเจียมนั้น

“ระดับน้ำโขงจะขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนไซยะบุรี” ซึ่งแตกต่างจากระดับน้ำโขงที่สถานีเชียงแสน ที่จะได้รับผลกระทบจากเขื่อนจีนโดยตรง

ดังนั้นประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติฉบับนี้ (ซึ่งมีหลายฉบับมีข้อความในทำนองเดียวกัน) เท่ากับเป็นการยอมรับว่า เขื่อนไซยะบุรีไม่ใช่เขื่อนแบบน้ำไหล แต่มีอ่างเก็บน้ำ และปริมาณน้ำไหลเข้าไม่เท่ากับปริมาณน้ำไหลออก

เอกสารชิ้นที่สอง คือ รายงานฉบับสมบูรณ์ โครงการศึกษาผลกระทบและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดน จากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงสายประธาน ปีงบประมาณ 2564, สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กุมภาพันธ์ 2565) ได้วิเคราะห์เปรียบเทียบช่วงเวลาการไหลของน้ำโขงในฤดูแล้ง และปริมาณตะกอนแขวนลอย จากสถานีเชียงแสนมายังสถานีเชียงคาน ก่อนและหลังสร้างเขื่อนไซยะบุรี พบข้อเท็จจริงสรุปสาระสำคัญได้ว่า

– น้ำโขงไหลจากสถานีเชียงแสนถึงสถานีเชียงคานช้าลงจาก 3 วันเป็น 5 วัน คือใช้เวลาเดินทางมากขึ้น 2 วัน

– ระดับน้ำโขงขึ้นลง เปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้ง

– ปริมาณตะกอนแขวนลอยที่สถานีเชียงคาน ลดลงอย่างมากถึงร้อยละ 82 เทียบกับช่วงเวลาก่อนมีเขื่อนไซยะบุรี

สาระสำคัญทั้งในเรื่องระยะเวลาการไหลที่เพิ่มขึ้น, ความผันผวนของระดับน้ำโขง และปริมาณตะกอนที่ลดลงมากนั้น สะท้อนให้เห็นว่า เขื่อนไซยะบุรีมีอ่างเก็บน้ำ จึงสามารถควบคุมปริมาณน้ำไหลและทำให้เกิดการตกตะกอนได้ ไม่ได้เป็นเขื่อนน้ำไหลผ่านแบบน้ำไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำไหลออกดังที่กล่าวอ้างกัน

น่าเสียดายที่เอกสารที่เป็นสาระสำคัญของผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์นี้ของเขื่อนไซยะบุรี ไม่มีทางที่จะยื่นได้ในปี 2555 และไม่รู้ว่ากลไกของศาลปกครองสูงสุดจะมีความเปิดกว้างมากน้อยเพียงใด ต่อการพิจารณาหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เป็นข้อเท็จจริงใหม่ ภายหลังที่เขื่อนสร้างเสร็จและเปิดดำเนินงาน

ในวันที่ศาลปกครองนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกนี้ เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับการเริ่มต้นใหม่อีกรอบของกระบวนการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักในประเทศลาว ได้แก่ เขื่อนปากลาย, เขื่อนปากแบ่ง และเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งเพิ่งจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจรับซื้อไฟฟ้า (Tariff MOU) เมื่อวันที่ 24 มกราคม, 25 เมษายน และ 27 เมษายน ตามลำดับ (ดูภาพประกอบ) นำโดยกลุ่มทุนจากไทย ซึ่งจะเห็นว่าเขื่อนดังกล่าวยังคงอ้างถึง เขื่อนแบบไหลผ่าน ที่จะไม่สร้างผลกระทบต่อการไหลของแม่น้ำโขง แบบแผ่นเสียงตกร่อง ในจดหมายที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งที่ข้อเท็จจริงของการมีอยู่ของเขื่อนกั้นแม่น้ำนั้นตรงกันข้ามกับการไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยสิ้นเชิง  เรียกว่า รอรับส้มหล่นจากผลการพิจารณาคดีของศาลปกครองนี้ก็ว่าได้ ที่จะได้รับอานิสงส์จากการไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนใด ๆ

นอกจากนี้ การเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว ด้วยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Take or Pay ในจำนวนมหาศาลถึง 3,528.78 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับกำลังการผลิตติดตั้งของระบบไฟฟ้าในปัจจุบันที่มีสูงถึง 46,719.37 เมกะวัตต์ ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา มีเพียง 33,177.3 เมกะวัตต์เท่านั้น จะเป็นเรื่องที่จะผูกพันชีวิตของประชาชนทั้งประเทศไปอีกครึ่งชั่วคน เพราะสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแบบ Take or Pay ของเขื่อนหลวงพระบางจะมีระยะเวลานานมากถึง 35 ปี และส่งผลให้เราต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากลาวประเทศเดียวมากกว่า 12% 

สุดท้ายเราคงได้แต่หวังว่า ศาลปกครองสูงสุด จะเปิดรับข้อเท็จจริงใหม่แห่งคดี และพิจารณาได้ว่าผลกระทบจากโครงการเขื่อน และความรับผิดชอบของผู้เกี่ยวข้องนั้นได้ข้ามพรมแดนอธิปไตยมาแล้ว อย่างน้อยก็เพื่อปกป้องสิทธิของชุมชนน้ำโขงของไทยที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ตามศักดิ์และสิทธิ์ของประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซึ่งไม่ควรต้องกลายเป็นผู้แบกรับผลกระทบต่อไปตราบจนชั่วลูกชั่วหลาน

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com