อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๓ (๗)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๓ (ตอนที่ ๗)


ใจสู้หรือเปล่า ไหวไหมบอกมา

จากพระราชวังหลวงฉันมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านซ่างไห จากตัวเมืองใช้เวลาประมาณ ๔๐ นาที  หมู่บ้านแห่งนี้มีชื่อเสียงในด้านการต้มเหล้า ซึ่งมีสัตว์พิเศษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ ดองอยู่ เพื่อสรรพคุณทางยาหรือโด๊ปเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ

แต่ที่หมู่บ้านนี้ยังไม่ใช่จุดหมาย ฉันลงเรือที่ท่าน้ำของหมู่บ้านมุ่งหน้าสู่ถ้ำติ่ง สายน้ำโขงไหลหลากอย่างไม่มีทีท่าเหือดแห้ง จู่ ๆ ฉันก็เกิดความคิดประหลาดขึ้นมาว่าสายน้ำสีน้ำตาลแดงข้นคลั่กนั้นจะต้องอุ่นตามโทนสีของมัน แต่เมื่อลองเอื้อมมือลงไปสัมผัสจึงได้สติว่าโลกยังคงดำเนินไปอย่างซื่อตรงตามวิถีของมันไม่เปลี่ยนแปลง

เรือแล่นทวนกระแสน้ำอยู่ราว ๆ ๔๐ นาที จึงถึงถ้ำติ่ง แม้จะไม่ใช่เป้าหมายหลักแต่ฉันก็อดที่จะตื่นเต้นกับมันไม่ได้ ค่าที่ว่าถ้ำนี้เป็นที่อยู่ของเหล่านางสิบสองและท้าวรถเสนตามตำนานปัญญาสชาดก และยิ่งตื่นเต้นยิ่งขึ้นเมื่อพบว่าที่หน้าผานั้นมีรูปรอยห้านิ้วสีแดงจากฝ่ามือในยุคก่อนประวัติศาสตร์ด้วย

เรือเข้ามาจอดเทียบใกล้ ๆ กับโป๊ะไม้ไผ่โคลงเคลงยวบยาบ นักท่องเที่ยวหญิงสูงอายุหลายคนจึงสมัครใจที่จะรอบนเรือ แต่สำหรับฉันแล้วอุปสรรคเพียงเท่านี้มีหรือจะทำลายความอยากรู้อยากเห็นลงได้ คิดดังนั้นจึงเกาะมือคนขับเรือก้าวขึ้นบนโป๊ะและเดินทรงตัวตามสะพานไม้ไผ่ไป เดินผ่านแล้วจึงรู้ว่าที่จริงก็สนุกดี

เคยได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่าถ้ำติ่งนี้มีพระพุทธรูปไม้มากมายถึง ๔๐,๐๐๐ องค์ แกะสลักด้วยฝีมือแบบพื้นบ้านและอิทธิพลช่างหลวง วัตถุประสงค์เพื่อเป็นพุทธบูชา สะเดาะเคราะห์และแก้บน ก็อยากเห็นมานานแต่ที่ปรากฏตอนนี้กลับบางเบาจนฉันรู้สึกเสียใจระคนเสียดาย ถ้าไม่รีบปลุกจิตสำนึกนักท่องเที่ยวและคนพื้นที่ในเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมท้องถิ่น ถ้ำติ่งคงเหลือเพียงตำนานแน่

บริเวณทางขึ้นถ้ำลุ่มอยู่สูงจากระดับน้ำราว ๖๐ เมตรพระพุทธรูปไม้บริเวณถ้ำลุ่มปากทางเข้าถ้ำเทิงมีการทำประตูไม้แกะสลักลวดลาบโบราณอย่างวิจิตร สังเกตว่าเหนือขึ้นไปบนปากถ้ำด้านซ้ายและขวามีภาพเขียนที่ชาวลาวเรียกว่า “ฮูปแต้ม” ประดับอยู่

ถ้ำติ่งแบ่งเป็น ๒ ส่วน เมื่อกราบพระที่ถ้ำลุ่ม (ล่าง) แล้ว อย่าลืมขึ้นไปนมัสการพระธาตุจุฬามณียังถ้ำเทิง (บน) ด้วย โชคดีที่อากาศในปลายเดือนธันวาคมนั้นเย็นสบาย การเดินขึ้นบันไดนับร้อยขั้นจึงไม่เป็นการทรมานร่างกายมากนัก ที่หน้าถ้ำเทิงจะต้องเสียค่าเข้าชมคิดเป็นเงินไทยก็ ๒๐ บาท จะได้ดอกไม้บูชา และไฟฉาย ๑ กระบอกสำหรับขับไล่ความมืดมิด ภายในถ้ำเทิงนั้นมีหินธรรมชาติขนาดใหญ่ดูคล้ายคน ว่ากันว่าหินนั้นคือพระฤาษีที่นอนหลับไปนานจนกลายเป็นหิน

ขากลับเรือแล่นตามกระแสน้ำจึงใช้เวลาเพียงไม่นานก็เข้าสู่ตัวเมือง    ขึ้นจากท่าเรือได้ก็มุ่งสู่สถานที่ที่หัวใจของฉันจดจ่อ… ตรงจุดที่แม่น้ำโขงจากทิศตะวันตกไหลมาบรรจบกับแม่น้ำคานที่ไหลจากทิศตะวันออกเกิดเป็นแม่น้ำสองสี ทางขึ้นไปกราบรอยเหยียบโลกของมหาบุรุษอยู่บนพูสี ฝั่งทางแม่น้ำคานนี้เอง

“ขั้นไดตั้งสามฮ้อยปาย ทั้งสูงทั้งชั้น หากบ่ฮักบ่แพงคงบ่ขึ้นมานำน้องดอก” เสียงคู่รักที่เดินนำอยู่จีบกันอย่างซึ่ง ๆ หน้า ทำให้ฉันอดเขินแทนไม่ได้

ทางขึ้นฝั่งนี้อยู่ทางด้านหลัง ผู้คนบางตา แตกต่างจากทางด้านตรงพระราชวังมากนัก ฉันหยุดหอบหายใจเป็นพัก ๆ กลืนเอาอากาศเย็น ๆ เข้าไปลดความร้อนจากการออกแรง

ว่าแต่งงกันหรือไม่ว่าตอนแรกก็เรียกดอยนันทกังฮี ประเดี๋ยวก็เรียกหลวงพระบาง สักหน่อยก็พูดถึงพูสีขึ้นมาเสียอย่างนั้น เขยิบเข้ามาจะเล่าให้ฟัง ในตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงเพียงสั้น ๆ ว่า ดอยแห่งนี้ตั้งชื่อตามผู้อยู่อาศัยดั้งเดิม คือ นันทะยักษ์ แต่เนื่องจากว่ายังระบุตำแหน่งที่แน่ชัดไม่ได้ จึงใช้การอ้างอิงจากตำนานอื่น ๆ เช่น ขุนบูลม อย่างที่พระอาจารย์ไพวันท่านอธิบาย ซึ่งก็คือพื้นที่หลวงพระบางในปัจจุบัน

ส่วนพูสีที่เป็นภูเขาขนาดย่อม ๆ กลางเมืองหลวงพระบางนั้น สันนิษฐานว่าที่มาของชื่อน่าจะมาจากเรื่องเล่าเมื่อครั้งอดีตว่า หลวงพระบางมีฤาษีองค์หนึ่งได้มาบำเพ็ญเพียรอยู่ที่ภูเขาซึ่งเป็นเขตป่าศักดิ์สิทธิ์ ชาวเมืองจึงเรียกภูลูกนี้ว่า “พูลือสี” หรือ “พูสี” ที่จริงพูสียังมีอีกชื่อว่า “พูซวง” (ที่หมายถึงใหญ่ด้วย) บริเวณตีนภูมีวัดอยู่ ๖ แห่ง  ล้วนสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ รอยพระพุทธบาทแห่งมหาบุรุษอยู่ในบริเวณ “วัดพระบาทเหนือ” ใกล้ทางขึ้นด้านหลังนี่เอง

ฉันสูดหายใจเข้าลึก ๆ แล้วเริ่มเดินต่อ เห็นป้ายเล็กๆ ข้างทางเขียนด้วยอักษรไทน้อยชี้ว่า

“ລ້ຽວຊວາໄປນະມັດສະການຣອຍພະພຸດທະບາດ”

ค่อยมีกำลังใจว่ามาถูกทางแล้ว ทางเดินปูกระเบื้องสีดินแดงนำฉันไปยังอูบมุงเล็ก ๆ หลังหนึ่งที่ริมผา ป้ายเล็ก ๆ เขียนว่า  

“ຣອຍພະພຸດທະບາດ” 

อยู่ในอูบมุง[] นี้ ทำให้ฉันไม่รอช้ามุดเข้าไปทันที

[๑] อุโมงค์

อูบมุงริมขอบสนานที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ซึ่งพญาสีสัตตนาคอธิษฐานให้หงอนของตนเป็นดอยนันทกังฮีให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเพื่อเป็นพระพุทธบูชารอยพระพุทธบาทก้ำซ้ายภายในอูบมุงอีกหนึ่งรอยต้องสงสัย

รอยพระพุทธบาทที่นี่แม้เป็นรอยที่เกิดโดยธรรมชาติ แต่แตกต่างจากที่เคยเห็นมาเป็นอันมาก คือ เป็นรอยเท้าขนาดใหญ่ แต่ปลายนิ้วทั้ง ๕ ดูคล้ายกับลื่นไถลนิดหน่อยก่อนจะฝากรอยจมลึกลงในโคลน ทาด้วยสีทอง น่าเสียดายที่รอยพระบาทนี้อยู่ใต้ชะง่อนหินที่เรายื่นหน้าเข้าไปชม ทำให้ถ่ายรูปแบบเต็มฝ่าพระบาทมาไม่ได้

เมื่อฉันเช็คภาพที่ถ่ายมา พลันก็ขมวดคิ้วมุ่นในความเบลอทุกภาพที่ลั่นชัตเตอร์มา ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่ามัวแต่ตื่นเต้นจนลืมแสดงความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ หวังว่าขันธ์ ๕ และขันหมากเบ็งที่ทางวัดแต่งไว้บริการนักท่องเที่ยวจะช่วยบรรเทาความผิดพลาดครั้งนี้ได้

“หากเฮ็ดหยังบกพร่อง ขอพระพุทธองค์ เจ้าป่าเจ้าเขา พระยาศรีสัตตนาคที่พิทักษ์ฮอยพระพุทธบาทโปรดอภัย ลูกหลานบ่ฮู้ควม ขอให้การงานราบรื่นแด่เทอะ”

หลังจากสำรวมจิต ภาพที่ได้ก็ถูกใจอย่างน่าอัศจรรย์ บางเรื่องที่่เป็นความเชื่อส่วนบุคคล หลายครั้งวิทยาศาสตร์ก็ยากจะอธิบาย คำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่จึงมีไว้เตือนสติกันอยู่เสมอ เดินเลยมาสักหน่อยที่ข้างทางมีรอยหวำเป็นรูปฝ่าเท้าในก้อนหินอีกรอย เพียงแต่มีขนาดเทียบเท่าคนปรกติ และไม่มีอ้างอิงกล่าวถึงว่าเป็นรอยพระพุทธบาทของพระโคตมพุทธเจ้าหรือไม่ ทางวัดจึงเพียงทาสีทองทับไว้ และก่ออิฐฉาบปูนเป็นอูบมุงขนาดจิ๋วคุ้มแดดคุ้มฝนให้กับรอยนั้น

ที่สุดก็ถึงยอดพูสี หลังจากเข้าไปกราบนมัสการพระธาตุจอมสีและพระพุทธรูปในห้องเล็กใต้ฐานของพระธาตุก็ต้องเสี่ยงทายเซียมซีตามธรรมเนียม ฉันได้ใบที่ ๒๕ พิจารณาแล้วก็นับว่ามีความแม่นยำไม่น้อยทีเดียว เสียงเจี๊ยวจ๊าวของนักท่องเที่ยวที่ด้านนอกบอกให้รู้ว่าดวงตะวันใกล้ลาลับแล้ว ฉันออกไปจับจองพื้นที่ด้านนอกชมแสงทองกับเขาบ้าง สายน้ำโขงสีปูนและน้ำคานสีครามบรรจบกันกลายเป็นแม่น้ำ ๒ สีอันตระการตา

พระอาทิตย์สีส้มแดงดูโตขึ้นเมื่อใกล้จมหายไปทางโค้งครอบฟ้า กลายเป็นบรรยากาศอันน่าหลงใหลโดยธรรมชาติ นักท่องเที่ยวบ้างก็เลือกเก็บภาพนั้นในหัวใจ บ้างก็ถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก ที่มีฝีมือก็ใช้วิธีวาดเอา เมื่อชมทัศนียภาพจนอิ่มใจแล้วฉันจึงเดินกลับลงมาโดยใช้บันไดทางขึ้นด้านหน้า ซึ่งเดินได้สบายกว่าขาขึ้นมาก สองข้างทางมีต้นจำปาลาวเรียงราย เสียดายไม่ใช่ฤดูที่มันออกดอกไม่เช่นนั้นคงส่งกลิ่นหอมหวานตลอดทางเดินทีเดียว

นักท่องเที่ยวขึ้นมาจับจองสถานที่ชมพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเขาจนแทบไม่มีที่ยืน บนพูสียังมีนิทานพื้นเมืองที่เชื่อมโยงกับเรื่องพะลักพะลามว่า พูสีนี้เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาจากศรีลังกาที่หนุมานยกมาด้วย(วัดป่าฮวกเป็นวัดที่สร้างโดยสยามในยุคที่เข้ามามีอิทธิพลในลาว ด้านในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องชมพูบดีสูตร)

เมื่อลงมาถึงด้านหน้าของพูสีความมืดก็เริ่มโรยตัว ฉันฝากท้องกับเมนูง่าย ๆ แต่อร่อยได้เรื่องอย่างแจ่วบองกับข้าวเหนียวร้อน ๆ แจ่วบองที่นี่ต่างจากแจ่วบองที่อีสานบ้านเกิดตรงที่ไม่ได้ใส่ปลาร้า แต่เป็นลักษณะเหมือนน้ำพริกเผาเสียมาก มีทั้งสูตรออริจินัลและสูตรผสมหนังควาย ฉันซื้อกลับมาฝากคนทางบ้านอีกหลายกระปุกเชียว คืนนั้นพิษข้าวเหนียวออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ฉันตกอยู่ในภาวะง่วงงุนแต่หัวค่ำ กระนั้นก็ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าในยามเช้าที่เตรียมเดินทางกลับ

ตอนขามาฉันบ่นกระปอดกระแปดถึงความลำบากจากการเดินทาง แต่เมื่อถึงเวลาคืนรังฉันกลับรู้สึกอาลัยอาวรณ์อย่างประหลาด ไม่อยากให้ถึงจุดหมายเร็วเกินไปนัก ถึงเวลารถประจำทางเคลื่อนออกจากท่า แว่วเสียงเพลงจำปาเมืองลาวที่ใครสักคนเปิดขึ้น ฉันเหลียวกลับไปมองอดีตเมืองหลวงเก่าอีกครั้งอย่างให้คำมั่น เป็นคำสัญญาว่าต้องได้มีโอกาสกล่าวคำ “สบายดีหลวงพระบาง” ที่นี่อีกครั้งอย่างแน่นอน

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๑
ปีที่ ๗ ประจำเดือนมกราคม ๒๕๖๒
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต

ติดตามตอนต่อไป

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)

อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๒ (๖)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๓ (๗)

อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ

Related Posts

“เมรุนกหัสดีลิงค์” อริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com