แสงสว่างส่องทางสังคมไทย
บทบรรณาธิการ “แสงสว่างส่องทางสังคมไทย”
Editorials
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๓๖
ปีที่ ๓ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๘
ท่ามกลางภาวะความไร้ทิศผิดทาง ทุกองค์ประกอบสังคมอ่อนแอ เต็มไปด้วยอวิชชาและไม่มีอนาคตนี้ ทำอย่างไรจึงจะนำแสงสว่างจากอดีตมาทบทวน ศึกษา ประสานใช้ประโยชน์ ทำอย่างไรจึงจะนำ “วัฒนธรรม” มาใช้เป็นอาวุธเพื่อแปงสร้างสังคมที่ดีงาม มีความสุขและสันติขึ้นมาได้
“…ความหมายของคำว่า Culture อย่างเป็นวิชาการนั้น น่าจะเริ่มจาก “บิดาแห่งมนุษยศาสตร์” E.B Tylor ท่านให้คำอธิบายไว้ดังนี้ “วัฒนธรรม เป็นองค์รวมที่สลับซับซ้อน รวมไปถึงวิทยาการ ความเชื่อ ศิลปะคุณธรรม กฎหมาย ขนบประเพณี ความสามารถและความเคยชินทั้งปวงที่มนุษย์ได้รับจากสังคม”
ต่อจาก “ไทเลอร์” แล้ว ก็ยังมีปราชญ์คนอื่น ๆ ให้คำอธิบายคำว่า Culture ไว้อีกนับพันแบบ สรุปแล้วคำว่าวัฒนธรรมมีความหมายคำจำกัดความที่ไม่ชัดเจนเป็นที่สุด…
นักวิชาการของสาธารณรัฐประชาชนจีนเห็นว่าความหมายของคำว่าวัฒนธรรมมันครอบคลุมกว้างขวางมาก จะกำหนดคำจำกัดความให้ชัดคงไม่ได้แต่เนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นพอสรุปรวมได้ ๓ ด้าน ได้แก่
๑. รูปการณ์จิตสำนึก (คำนี้ภาษาจีนว่า “อี้สื้อสิงไท่ 意识形态”) อันรวมถึงโลกทัศน์ของมนุษย์รูปแบบวิธีคิด ความเชื่อทางศาสนา ลักษณะพิเศษทางจิตวิทยา ค่านิยม มาตรฐานทางคุณธรรม ความรู้ความสามารถในการทำความเข้าใจโลก
๒. รูปแบบการดำรงชีวิต รวมถึงรูปแบบและท่าทีต่อเรื่องที่อยู่อาศัย อาหารการกิน เครื่องนุ่งห่ม พิธีกรรมในการเกิด การแต่งงาน การบวช การป่วย การตาย วิถีชีวิตในครอบครัว วิถีชีวิตในสังคม เป็นต้น
๓. ผลิตผลด้านวัตถุของจิตใจ ด้านนี้ก็อธิบายยากอีก เพราะสิ่งที่เป็นวัตถุนั้นคนส่วนใหญ่มักมองว่ามันไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม แต่เมื่อมองให้ทะลุลึกเข้าไปถึงเบื้องหลังของวัตถุนั้น ๆ เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างทางทัศนะของมนุษย์ ตัวอย่างที่จะเข้าใจง่ายหน่อยก็เช่น หนังสือหนังสือเป็นวัตถุ แต่เรื่องของหนังสือเป็นเรื่องของวัฒนธรรม มิใช่เพราะความเป็นวัตถุของมัน หากแต่เพราะเนื้อหาในหนังสือ…
ขอบเขต ๓ ด้านนี้พอจะครอบคลุมเรื่องวัฒนธรรมได้มากพอ แต่วัฒนธรรมก็มิใช่การประกอบส่วน ๓ ด้านนี้เข้าด้วยกันอย่างกลไกเท่านั้นแต่ส่วนประกอบ ๓ ส่วนนี้ยังส่งผลสะเทือนถึงกันและกัน เป็นปัจจัยให้กันและกันอย่างซับซ้อน…”
(จากคอลัมน์ “วันวานกับวันหน้า” โดย “โชติช่วง นาดอน” นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘ เดือนธันวาคม ๒๕๕๕)
ฮีต ๑๒ คอง ๑๔ ขนบธรรมเนียมและธรรมนูญชีวิตแต่โบราณ รวมทั้งแบบวิถีการบริหารจัดการตนเองที่ถูกกดทับ ระงับ ตั้งแต่ครั้งรวมศูนย์อำนาจจากทุกภาคเข้าไปอยู่เมืองหลวง เพื่อขีดเส้นแดนประกาศราชอาณาจักรขึ้นนั้น ถึงวันนี้โลกเปลี่ยนบ้านเมืองขยายตัวซับซ้อน ผู้คนพลเมืองมากล้นสังคมมีปัญหาหมักหมมมากมาย ชาวไทยจึงต้องสร้างองค์ความรู้ของตนขึ้นใหม่
การสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องตั้งอยู่บนเหตุและผล ผู้กุมอำนาจรัฐต้องมีคุณธรรม มีวิสัยทัศน์ มุ่งมั่นเสียสละเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ
การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ใช้กฎเหล็ก ใช้ดาบปืนบริหารปกครอง จะสร้างวัฒนธรรมเผด็จการขึ้นมา การใช้อำนาจที่เป็นธรรม มีเมตตา จะวางรากฐานวัฒนธรรมประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น
น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ