Time And Tide : The Undercurrents of Contemporary Lao Art ศิลปะสมัยใหม่ของลาว


Open House Bookshop by Hardcover

ศิลปะของบ้านใกล้เรือนเคียงหรือบ้านพี่เมืองน้องในแถบลุ่มแม่น้ำโขง เช่นในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความน่าสนใจในตัวเนื้อหาของเรื่องเล่าชีวิต สังคมการเมืองของผู้คนในประเทศผ่านงานศิลปะร่วมสมัยกับศิลปะสมัยใหม่ ทำให้ผู้ศึกษาและชมงานศิลปะของลาวได้เรียนรู้ผ่านผลงานของศิลปินลาวที่นำเสนอไปยังสาธารณะ

เมื่อวันที่ 3 – 25 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา ภัณฑารักษ์ไทย ดร.ชัยรัตน์ พลมุข ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภัณฑารักษ์ของลาว ได้คัดสรรผลงานของศิลปินลาวมาจัดแสดงนิทรรศการชุด เบิ่งรูปแต้ม แนมเงา เล่าสังคม ศิลปะกับประวัติศาสตร์สังคมลาว ตั้งแต่ทศวรรษ 1960 – ปัจจุบัน ณ พิพิธภัณฑ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนำเสนอเรื่องราวของศิลปะกับประวัติศาสตร์สังคมลาวตั้งแต่ทศวรรษ 1960 ถึงปัจจุบัน ผ่านงานศิลปะประเภทจิตรกรรม ภาพถ่าย และวิดีโอเกี่ยวกับชีวิตชุมชน จากศิลปินชาวลาวห้าคนได้แก่ กงพัด หลวงลาด, ไซสงคาม อินดวงจันที, บุนโปน โพทิสาน, มาย จันดาวง และ อานูโลม สุวันดวน ซึ่งผลงานของศิลปินลาวทั้งห้าคนได้เชิญชวนให้ผู้ชมพิจารณาถึงบริบทของประวัติศาสตร์การต่อสู้ความเป็นสมัยใหม่ของลาว หรือคำในภาษาลาวเรียกว่า “ทันสมัย” คือการตามให้ทันห้วงเวลาของปัจจุบันขณะ

ต่อมา Maekong Cultural Hub ร่วมกับ Open House Bookshop by Hardcover จัดพูดคุยเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยของลาวภายใต้หัวข้อ Time And Tide : The Undercurrents of Contemporary Lao Art ผู้ร่วมเสวนาคือ Misouda Heaung Soukkhoun ผู้อำนวยการ Lao Gallery และผู้แทนภูมิภาคของ Maekong Cultural Hub และ ดร.ชัยรัตน์ พลมุข

ดร.ชัยรัตน์ นำเสนองานศิลปะร่วมสมัย/สมัยใหม่ของลาวที่เกิดขึ้นท่ามกลางบริบทสังคมการเมืองตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ช่วงก่อนและหลังสังคมนิยม ช่วงปฏิวัติ ก่อนและหลังรับเอกราชสะท้อนช่วงตกเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสมาจนถึงการตกอยู่ใต้การครอบครองของจักรวรรดินิยมอเมริกา ลำดับมาจนถึงบริบทชีวิต สังคมการเมืองในปัจจุบัน ผลงานศิลปะเหล่านี้เคยจัดแสดงในนิทรรศการชุด “เบิ่งรูปแต้ม แนมเงาเล่าสังคม”

ผลงานภาพการ์ตูนลายเส้นของ อานูโลม สุวันดวน สะท้อนสังคมลาวภายใต้เงาของจักรวรรดินิยมอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 1970 ภาพที่เขียนถ่ายทอดด้วยน้ำเสียงเสียดสี ยั่วล้อในลาวเกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นทุนนิยมมากขึ้น เกิดความเหลื่อมล้ำ คนตกงานภาวะอดอยาก ผลงานของเขาปรากฏในรูปแบบภาพวาดบนธนบัตรและตราไปรษณียากรของลาว

Power Point การนำเสนอของ Misouda Heaung Soukkhoun ในงาน Time And Tide : The Undercurrents
of Contemporary Lao Art

การเล่าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ “ประเทศลาวใหม่” ของ กงพัด หลวงลาด ย้อนกลับไปเล่าฉากชีวิตในเขตปลดปล่อยตลอดจนผลพวงสงครามและการปฏิวัติ ชัยชนะของลาวในช่วงสงครามเย็นสะท้อนในภาพวาดชื่อ Victory, The Partisans, Under the Under ผลงานในปี 2006 นอกจากนี้ยังมีผลงานศิลปะสะท้อนสังคมหลังสงครามเย็น การสิ้นสุดของระบอบคอมมิวนิสต์ในยุโรปหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลายโดยวาดลงบนกระดาษหนังสือพิมพ์

มาย จันดาวง สะท้อนอารมณ์โหยหาอดีตในโลกยุคใหม่ การดำรงชีวิตของชาวลาวหลังจากสงคราม ปรากฏให้เห็นผ่านงานภาพถ่าย ใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการทำงาน โดยเฉพาะภาพวาดผู้หญิงกำลังอาบน้ำ ภาพทิวทัศน์สวยงามชื่อ “ยามแลงที่แคมโขง (ยามเย็นที่ริมโขง)” ถ่ายทอดอุดมคติ ความหวัง ภูมิทัศน์ชนบท เป็นศิลปะสกุลอิมเพรสชั่นนิสม์

สำหรับงานภาพถ่ายของ บุนโปน โพทิสาน สะท้อนให้เห็นเศษซากจากสงครามผ่านระเบิด ชาวลาวนำมาดัดแปลงทำเป็นเรือเพื่อใช้หาปลา ศิลปินมองว่านี่คือการใช้ชีวิตเพื่ออยู่ให้ได้ภายหลังสงคราม เป็นการบันทึกซากปรักหักพังของสงครามและการทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1964-1973

ไซสงคาม อินดวงจันที นำเสนอความทรงจำทางโสตสัมผัสของการขับลำในราชสำนักหลวงพระบาง ผ่านงานวิดีโอเกี่ยวกับชีวิตนักขับทุ้มหลวงพระบาง ชื่อผลงาน  Music Saves My Soul ทำขึ้นในปี 2019

Misouda Heaung Soukkhoun ผู้อำนวยการ Lao Gallery ในเวียงจันทน์ นำเสนอศิลปะสมัยใหม่ของลาวผ่านข้อมูลและประสบการณ์ จากครอบครัวของเธอที่เปิดแกลเลอรี่เป็นแห่งแรกในลาวเมื่อปี 1985 นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Lao Gallery งานศิลปะสมัยใหม่/ร่วมสมัยในลาวเดินทางผ่านความแตกต่างของเหตุการณ์ เวลาในประวัติศาสตร์ การได้รับอิทธิพลจากภายนอกและภายใน เธอยกตัวอย่างภาพชื่อ Gift For Young Generation ของกงพัด หลวงลาด ว่ามาจากชุดความคิดเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและสร้างความสั่นสะเทือนทางความคิดให้กับนักเรียน นักศึกษา คนอีกรุ่นของลาวในการตั้งคำถามถึงการพัฒนาศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์

Open House Bookshop by Hardcover

ในช่วงแรกของการเปิดแกลเลอรี่ ครอบครัวของเธอเน้นขายภาพวาดสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ อาจจะร้อยละ 99 เลยทีเดียว แต่การได้เห็นการทำงานศิลปะของมายกับกงพัดและศิลปินคนอื่น ๆ ของลาว ทำให้เห็นว่าศิลปะของลาวมีทิศทางและการเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรบ้าง โดยบุคคลที่มีอิทธิพลต่อศิลปะสมัยใหม่ของลาวคือ Marc Lequage ซึ่งนำศิลปะสมัยใหม่เข้ามาเผยแพร่ในลาวเมื่อปี 1959 ปรากฏให้เห็นในงานศิลปะประเภทจิตรกรรม เช่น ภาพทิวทัศน์ ผู้หญิง วัด ประเพณี วัฒนธรรมชีวิตความเป็นอยู่ที่บ่งบอกหรือเป็นสัญลักษณ์ของลาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานของ มาย จันดาวง ได้รับอิทธิพลจาก Marc อย่างชัดเจน

ศิลปินที่ Misouda นำเสนอให้เห็นการเปลี่ยนผ่านและเห็นความแตกต่างออกไปของศิลปะสมัยใหม่ในลาว ได้แก่ ผลงานของ Mick Saylom, Bounpaul Photizan, Marisa Darasavath, Ole Viravong Scovill และ Souliya Phoumivong โดยเธอขยายความหมายเนื้อหาในงานศิลปะที่ศิลปินแต่ละคนสะท้อนออกมาดังนี้

Mick Saylom ชอบทำงานศิลปะสะท้อนประเด็นสังคม ผลงานที่นำมาเสนอเป็นภาพที่เป็นเส้นลวด เขาใช้ String หรือ เส้น ในความหมายของการทุจริต เช่น ถ้ามีเส้นก็จะได้ทำงานเป็นต้น สำหรับงานศิลปะของ  Bounpaul

Photizan พูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ทรัพยากรต่าง ๆ ในลาว และการต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องน้ำท่วม ใช้เทคนิคสมัยใหม่ในการนำเสนอ ในส่วนของศิลปินหญิง Marisa Darasavath สะท้อนความเป็นผู้หญิงผ่านงานภาพวาดด้วยรูปแบบดั้งเดิมและสมัยใหม่ แม้ผลงานชุดนี้เมื่อนำไปจัดแสดงในงาน Singapore Biennale 2013 จะถูกมองว่าเป็นรูปแบบของงานพาณิชย์ศิลป์ แต่สิ่งที่ศิลปินสะท้อนในผลงานคือเพศสภาวะของผู้หญิงที่ต้องเป็นแม่บ้าน อยู่บ้านเพื่อทำงานบ้าน มีโอกาสออกจากบ้านน้อยและผลงานของศิลปินหญิงอีกคนที่ตื่นตาตื่นใจแก่ผู้พบเห็นคือ Ole Viravong Scovill ที่สะท้อนเรื่องเพศสภาวะในลาวอย่างตรงไปตรงมา ท้าทายและตั้งคำถามต่อความเท่าเทียมทางเพศ การต่อรองทางอำนาจของเพศสภาพโดยเฉพาะผู้หญิงกับผู้ชาย อำนาจนิยมภายในบ้าน Misouda แสดงความเห็นในการนำเสนอว่า ผลงานของศิลปินหญิง Marisa กับ Ole แม้จะนำเสนอประเด็นเรื่องผู้หญิงแต่ศิลปินหญิงสองคนมีความแตกต่างกัน Marisa เป็นศิลปินลาวที่พำนักและทำงานในลาว มาจากครอบครัวลาวส่วน Ole มีโอกาสไปพำนักและใช้ชีวิตอยู่ที่อื่นนอกเหนือจากลาว ดังนั้น ผลงานของสองคนจึงแตกต่างกันในรายละเอียดแต่ก็ร่วมมุ่งเล่าเรื่องของผู้หญิงลาวในมิติที่แตกต่างออกไป ทั้งเรื่องของการให้ค่าสี เทคนิค และรูปทรงของภาพ

Souliya Phoumivong เริ่มต้นจากการทำงานแบบจารีตแต่หลังจากเดินทางไปเป็นศิลปินพำนักที่ญี่ปุ่น กลับบ้านเกิดมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์มากมาย และกิมมิกสำคัญคือ “ควาย” ช่วงอยู่ญี่ปุ่นเขาสนใจการถ่ายภาพและการทำแอนิเมชั่นจนกลายเป็นศิลปินที่ทำงานมีเดียสมัยใหม่อันดับต้น ๆ ของลาว เล่าการเปลี่ยนผ่านของลาวผ่านสื่อที่ตนเองถนัด ใช้ความหลากหลายสีเดินเรื่องทั้งในเชิงสัญลักษณ์รูปแบบ และการเปลี่ยนผ่านจากระบบเกษตรกรรมไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ของประเทศ

หลังจบการนำเสนอ ผู้เข้าร่วมฟังต่างเห็นและรับรู้การเคลื่อนผ่านของศิลปะร่วมสมัย/สมัยใหม่ในลาว ผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของประเทศได้รับการสะท้อนออกมาในรูปแบบงานศิลปะของศิลปินหลากหลายรุ่น ผู้ร่วมเสวนาทั้งสองต่างยกตัวอย่างงานศิลปะของ กงพัด หลวงลาด ว่าเป็นของขวัญสำหรับคนรุ่นใหม่ที่ผลิบานในลาว ซึ่งศิลปินบอกเล่าไว้ในเชิงสัญลักษณ์ผ่านงานศิลปะชื่อ Gift For Young Generation คนอีกรุ่นที่ผลิบานมาจากเศษซากปรักหักพังทางประวัติศาสตร์ ชาวลาวและมนุษยชาติ ณ แห่งอื่น ต่างเป็นนาฬิกาทรายของยุคสมัยและได้รับการบอกเล่า บันทึกผ่านงานศิลปะของศิลปิน

Souliya Phoumivong Courtesy : www.elevationslaos.net/souliyaphoumivong/Marisa Darasavath Courtesy : https://www.seaproject.asia/en/research/ laos_01/
Ole Viravong Scovill Courtesy : https://asiatopia.online/participants_ 2016/article_4140

Related Posts

การค้นพบสมุนไพรวิเศษ
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com