ขับ ลำ เพลงลาว

ตั้งแต่ช่วงเข้าพรรษา คูนหน้าบ้านยังบานเต็มต้น และบางกิ่งเริ่มแทงช่อใหม่ เพื่อนข้างบ้านบอกว่าปีนี้คงได้เด็ดดอกคูนถวายร่วมในงานกฐิน ชาวขอนแก่นคงดีใจถ้ามีโอกาสทัดดอกคูณเป่าแคนฉลองปีใหม่

ฟ้า ดิน ภาวะอากาศเปลี่ยนไป ต้นไม้ ก็ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อขยายพันธุ์ “ทางอีศาน” นิตยสารรายเดือน ขยับออกพ็อกเก๊ตบุ๊คเล่มแรก ถกกันพอควรเห็นว่าเชื้อมูนรากเหง้าศิลปวัฒนธรรมอีสาน คือศิลปวัฒนธรรมลาว จึงคัดสรร  “ขับ ลำ เพลงลาว มาจากไหน?” ไม้จัน เขียน / ทองแถม นาถจำนง ถ่ายคำ สำนักพิมพ์ ทางอีศาน พิมพ์เผยแพร่  หนา ๑๘๔ หน้า ราคา ๑๘๕ บาท มานำเสนอ

ผมชอบคำว่า “ถ่ายคำ” แทนคำว่า แปล เพราะภาษาไทย ภาษาลาว ทั้งสำนวนและตัวอักษรใกล้เคียงกัน ผมอ่านหลายรอบ  แรก ๆ อ่านในใจคิดตาม เป็นสำเนียงสำนวนไทย ต่อมาอ่านเป็นสำนวนสำเนียงอีสาน อรรถรสที่ได้แซบและลึกต่างกัน แต่ความหมายไม่เปลี่ยน

อ่านเป็นวิชาการ หรืออ่านเพลิน ๆ ก็สนุก ขอปรบมือให้ทีมงาน “ทางอีศาน” ที่เลือกเป็นพ็อกเก๊ตบุ๊คเล่มแรกแฮกหมาน

หลายบทหลายตอนผมเคยเข้าใจเป็นอย่างอื่น มีหลายเรื่องคาดไม่ถึง แต่หลักฐานที่อ้างอิงทำให้ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เช่น สยามไม่เคยถือว่าแคนเป็นเครื่องดนตรีของตนเลย สยามถือว่าแคนเป็นของลาวและเป็นของเข็ดขวาง ที่ใดมีการเป่าแคน ที่นั้นฟ้าแล้งฝนไม่ตก

ทั้ง ๆ ที่ในช่วงหนึ่งเสียงแคนลาวโด่งดังมากในอาณาจักรสยาม แม้แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ ทรงโปรดการเล่นแอ่วลาว และทรงได้เอง ทั้งเป่าแคนและขับแอ่ว แต่ในสมัยพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ มีพระราชโองการ “ห้ามเล่นแอ่วแคน” และประกาศว่าที่ใดมีการเป่าแคน ที่นั้นฟ้าแล้งฝนไม่ตก จึงเก็บภาษีแพง ใครลักเล่นจะต้องจับปรับไหม

ผมยังเข้าใจว่าแคน เป็นเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน ผมเคยจ้างครูแคนมาสอน จนแล้วจนรอด ทุบแคนแตกไปหลายอัน เสียค่ายกครูไปหลายร้อย จนป่านนี้ผมยังเป่าแคนไม่มีเสียง

นอกจากแคนแล้ว ผมชอบเครื่องดนตรีชนิดหนึ่ง คือ ซะนู (ออกเสียงว่า สะนู) คันทำด้วยไม้ไผ่ ใช้ใบตาล หรือแผ่นเงิน หรือทองแดง มัดใบติดกับคันทั้งสองข้าง เสร็จแล้วรูปร่างจะคล้ายพระจันทร์ข้างแรม ใช้ติดหัวว่าว ดึก ๆ หน้าหนาว ฟังเสียงซะนูแล้ววิเวกวังเวง และยามเกี่ยวข้าว ฟาดข้าวในตอนกลางวันม่วนหูจนลืมความเหนื่อยยาก

เครื่องดนตรีพื้นเมืองลาว จะว่าไปก็คล้าย ๆ ของอีสานของไทย เช่น กลองยาว และ กลองสั้น กลองตุ้ม หรือกลองตะโพน แคน ปี่แทด ปี่แถ ปี่หลู่ ระนาด ฆ้องวง ซะนู โปงลาง ฯลฯ

“ไม้จัน” หรือ หงเหิน ขุนพิทัก ผู้เขียนเรื่องนี้เป็นนักข่าว นักเขียน นักกวีและบรรณาธิการ วารสารเที่ยวเมืองลาว มีผลงานอีก ๒ เล่มคือ “ลาว : วัฒนธรรมข้าวเหนียว”, “ไม้จัน-เวียงจัน-บุรีจัน” ก็หวังว่า ท่านทองแถม นาถจำนง จะนำมาถ่ายคำให้อ่านอีก

***

คอลัมน์ เรื่อย ๆ มาเรียงๆ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๐ | ตุลาคม ๒๕๕๗

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๓)
คุยเรื่องพริกกับคนช่างสงสัย
ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com