กราบอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

กราบอาจารย์มานิต วัลลิโภดม และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม

นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๑๙
ปีที่๒ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: บทบรรณาธิการ


ในการนำเรื่องราวแอ่งอารยธรรมสกลนครขึ้นปกนี้ ถือเป็นปฐมแห่งการเรียนรู้ผลงานทรงคุณค่าของอาจารย์ทั้งสองท่าน ผู้ร่วมรุ่นบุกเบิกและได้หักร้างถางพงงานด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ มนุษยวิทยา ฯลฯ มาด้วยชีวิต

“อาจารย์มานิต ท่านเป็นข้าราชการกองโบราณคดี กรมศิลปากร ในระดับปราชญ์ทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีรุ่นแรก ๆ ของประเทศไทย ที่ไม่เคยไปศึกษาต่างประเทศ แต่เรียนรู้โดยตรงในลักษณะตัวต่อตัว จากสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ หลังจากศึกษาด้วยตนเองโดยทุ่มเทให้กับตำนานหรือนิทานท้องถิ่นพงศาวดาร และเอกสารทุกชนิด แล้วเดินทางไปทุกท้องถิ่นเพื่อสำรวจตรวจสอบกับหลักฐาน และสภาพแวดล้อมด้านต่าง ๆ ทั่วประเทศ…

“เกี่ยวกับแอ่งอารยธรรมอีสานนั้น อาจารย์มานิตบุกเบิกค้นคว้ามาก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ แล้วเขียนหนังสือ นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา …ต่อมากรมศิลปากรได้รวบรวมรายงานตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในชื่อ การสำรวจและขุดแต่งโบราณวัตถุสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. ๒๕๐๒”

สำหรับ ศ.ดร. ศรีศักร วัลลิโภดม ท่านจบชั้นอุดมศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อปริญญาโททางมนุษยวิทยาที่ประเทศออสเตรเลีย แล้วตั้งภาควิชามนุษยวิทยาขึ้นที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

“นอกจากจะเป็นลูกชายคนโตของอาจารย์มานิตแล้ว อาจารย์ศรีศักดิ์ยังนับเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดที่สุดและดีที่สุด เนื่องจากติดสอยห้อยตาม ‘พ่อ’ ไปท้องถิ่นต่าง ๆ เกือบทุกแห่งหนตั้งแต่แรกรุ่นดรุณวัย…

“แน่นอนที่สุด อาจารย์ศรีศักรค่อย ๆ เก็บออมความรู้เรื่องตำนาน พงศาวดาร และสำนึกเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และภูมิประเทศของท้องถิ่นต่าง ๆ ที่อาจารย์มานิตถ่ายทอดไว้ทั้งหมด อาจารย์ศรีศักรจึงทะนุถนอมกล่อมกรองประสบการณ์เหล่านั้น ให้ประสานเข้ากับความรู้ใหม่จากต่างประเทศ เช่น มานุษยวิทยา และวิชาอื่น ๆ จนเป็นเนื้อเดียวกันกระทั่งกลายเป็นความก้าวหน้าทางวิชาการ

“อาจารย์ศรีศักรเป็นนักเดินทางไปทั่วทุกหัวระแหงของแผ่นดินสยาม แต่ไม่ใช่นักเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว หากเดินทางเพื่อบันทึกเรื่องรางของมนุษย์ทั้งอดีตและปัจจุบัน แล้วถ่ายทอดสิ่งเหล่านั้นสู่สาธารณะ โดยไม่คิดแหนงหน่ายและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย…

“เกี่ยวกับดินแดนอีสานนั้น หากไม่นับบรรดาผู้คนหมู่เหล่าชาวอีสานเจ้าของท้องถิ่นแล้ว ก็ดูเหมือนวา่ อาจารย์ศรีศักรจะเป็น อีกผู้หนึ่งที่เดินทางไปทั่วทุกหัวระแหงของอีสาน เพื่อสำรวจตรวจสอบและศึกษาสรรพวิทยาการ ที่แม้จะไม่ถึงขนาดรู้จักก้อนหินทุกก้อนและทรายทุกเม็ด แต่ภูเขาทุกลูกและลำน้ำทุกสาย ตลอดจนหุบเขาและทุ่งราบเกือบทุกตารางกิโลเมตร รวมทั้งร่องรอยและหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ประเภทคูนํ้า กำแพงเมืองโบราณ แหล่งเกลือเก่าแก่ พระธาตุเจดีย์ พระพุทธรูป เสมาหิน ปราสาทขอม เศษกระเบื้อง เครื่องเคลือบและอิฐหักกากปูนที่ถูกทำลายทิ้งร้างอยู่กลางป่ากลางดง ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ ดังกล่าวมานั้นล้วนถูกบันทึกเอาไว้ในดวงตาและดวงใจของอาจารย์ศรีศักร อย่างมีระบบระเบียบเรียบร้อยนานหลายปีมาแล้ว”

ในแนวทางอีศานที่จะย่างก้าวไปสู่อนาคตที่เจริญงดงามนั้น พวกเราต้องได้นำเอกสาร – หนังสือของอาจารย์มานิต วัลลิโภดม ผู้พ่อ และอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ผู้ลูก มาศึกษาอ้างอิง เอาหัวใจของท่านทั้งสองมาเป็นแบบอย่าง มาเป็นพลัง เพื่อต่อยอดร่วมกับองค์ความรู้ด้านต่าง ๆ ไปปรับใช้อีกมาก จึงขอใช้ข้อเขียนนี้แทนหญ้าแพรกดอกมะเขือกราบอาจารย์ทั้งสองท่าน ณ ที่นี้

 

น้อมจิตคารวะ
บรรณาธิการอำนวยการ

 

* ข้อความในเครื่องหมายคำพูด จากคำนำของ สุจิตต์ วงษ์เทศ หนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน โดย ศรีศักร วัลลิโภดม พ.ศ.๒๕๓๓, สำนักพิมพ์มติชน.


นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๑๙

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำเนิดจักรวาล
จาก “นายผี” ถึง “ทางอีศาน”

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com