ส่องเมือง ทางอีศาน 64

เสรี พงศ์พิศ

โลกเปลี่ยน เรียนรู้ อยู่รอด

            โลกวันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก เร็วจนคนจำนวนมากตามไม่ทัน เมื่อตามไม่ทันก็เกิดปัญหาตามมาและนี่น่าจะเป็นไปตามทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่า “คนที่จะอยู่รอดได้ไม่ใช่คนที่แข็งแรงที่สุด หรือฉลาดที่สุด แต่เป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุดต่างหาก”

            ลองนึกกลับไปเมื่อสัก ๓๐ กว่าปีก่อนว่าการมีโทรศัพท์ที่บ้านสักเครื่องยากลําบากเพียงใด ไม่ต้องพูดถึงราคาค่าหมายเลขที่ต้องเซ้งต้องซื้อต่อจากคนอื่น เพราะหมายเลขใหม่แทบไม่มี นี่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัดนั้นไม่ต้องพูดถึง กว่าจะมีโทรศัพท์ในหมู่บ้านตําบลใหญ่ ๆ สักเครื่องเป็นเรื่องยากมากใครได้มากทำธุรกิจรับเข้าโทร.ออก รับสายลูกหลานที่ไปทํางานกรุงเทพฯ ที่โทร.มาหาพ่อแม่พี่น้องลูกเมีย หรือให้คนที่บ้านโทร.ไปเมืองกรุง สายเดียวคุยได้ทั้งหมู่บ้านทั้งตําบล

            ไม่นานเราก็ได้เห็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เริ่มต้นขนาดใหญ่กว่าฝักข้าวโพด พร้อมอุปกรณ์พะรุงพะรัง หอบย้ายไปไหนมาไหนอวดชาวบ้าน และไม่นานโทรศัพท์ ก็พัฒนาการไปอย่างรวดเร็ว จากมือถือธรรมดาไปเป็นสมาร์ทโฟน หรือโทรศัพท์ อัจฉริยะที่ทำอะไรได้มากกว่าแค่รับเข้าโทร.ออก

            จากที่โทรศัพท์มือถือเป็นของคนมีเงิน มีฐานะ กลายเป็นโทรศัพท์ที่ทุกคนมีได้ซื้อหามาได้จากราคาเป็นแสนเป็นหมื่นมาเป็นไม่กี่ร้อยมาจนถึงได้เบอร์ฟรีบางค่ายให้เครื่องฟรี (แต่ไม่โทร.ฟรี) จากไม่กี่เครื่อง เพียงเวลาไม่กี่ปีในปี ๒๕๖๐ ข้อมูลบอกว่ามีอยู่ประมาณ ๙๐ ล้านเครื่อง มากกว่าจํานวนประชากรไทย

            ก่อนนี้การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเรื่องของคนมีเงิน วันนี้ “ใคร ๆ ก็บินได้” ตามคําโฆษณาของสายการบินราคาถูกที่เกิดขึ้นมามากมาย ทําให้สนามบินดอนเมืองผู้คนแออัดไม่น้อยกว่าหมอชิตหรือหัวลําโพง เพราะราคาตั๋วเครื่องบินบางครั้งถูกกว่ารถทัวร์ แล้วจะเสียเวลาเดินทางนาน ๆ ให้เมื่อยไปทําไม

            แค่สองเรื่องนี้ก็ทําให้มีปัญหาตามมามากมาย หลายคนไม่มีเงินแต่อยากได้มือถือ และไม่เอาธรรมดาอยากได้สมาร์ทโฟน ไม่มีเงินก็ไปกู้หนี้ยืมสิน ไปจ่ายเขาเป็นงวดตามที่เขาโฆษณาว่ามีแต่บัตรประชาชนก็ได้มือถือแล้ว ลืมไปว่าจะต้องจ่ายค่าโทร.อีกเท่าไร แล้วถ้าเกิดลูกหลานเอาไปเล่นเกมอีกจะเสียเงินเดือนหนึ่งอีกเท่าไร

            คนทำงานกรุงเทพฯ อยากให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายายได้นั่งเครื่องบินสักครั้งในชีวิต ก็หาเงินไปจ่ายให้ท่าน “บิน” ไปกรุงเทพฯ ราคาตั๋วก็ใช่ว่าจะหาได้ถูก ๆ เสมอไป สุดท้ายก็ต้องจ่ายหลายพันบาทอยู่ดี

            เขาโฆษณาอาหารเสริมสารพัดประเภทกันแล้วไม่เจ็บไม่ไข้ไมแก่ง่ายตายยาก ก็อยากให้พ่อแม่ได้กินของดียอมจ่ายเป็นรายเดือน บางคนหลายพันบาท เพราะการโฆษณาที่ได้เห็นได้ฟังทุกวัน  ๆ ละหลายครั้ง จนเชื่อว่าที่เขาพูดนั้นจริงและต้องดิ้นรนซื้อหามากินให้ได้รวมทั้งพวกขายตรงที่ตื๊อจนต้องซื้อในที่สุด

            นี่เป็นเพียงสองสามเรื่องที่เกี่ยวกับคนชนบท ที่ถ้าปรับตัวรับสถานการณ์ไม่ได้ก็กลายเป็นหนี้เป็นสิน ส่วนหนึ่งเพราะตั้งตัวตั้งหลักไม่ได้เหมือนคนเข้าไปในห้างสรรพสินค้า เห็นอะไรก็อยากได้ถ้าห้ามใจไม่ไหว ไม่คิดถึงสถานะการเงินของตนก็จะเกิดปัญหาตามมา เพราะแยกไม่ออกระหว่าง “ความจําเป็น” กับ “ความต้องการ” ที่คนขายของเขาปลุกเร้าให้เกิด

            ทีนี้ลองไปดูการเปลี่ยนแปลงในโลกบ้างเพราะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนแม้ในหมู่บ้านห่างไกลแบบไม่มีข้อยกเว้น ดังกรณีของโทรศัพท์ การเดินทาง อาหารเสริม ซึ่งเกิดขึ้นทั่วโลก

            ไม่ได้มีแต่ชาวบ้านที่ปรับตัวไม่ทันและมีปัญหา ธุรกิจขนาดใหญ่เองก็ได้รับผลกระทบอย่างกรณีโกดักที่ใคร ๆ ทั่วโลกก็รู้จัก ใช้ฟิล์มโกดักถ่ายรูป เมื่อปี ๒๕๔๓ โกดักมีกําไรหลายหมื่นล้านบาท มีพนักงานทั่วโลกกว่าแสนคน ๑๒ ปีต่อมา คือในปี ๒๕๕๕ บริษัทโกดักล้มละลาย เพราะคนเขาใช้มือถือถ่ายรูปกันหมด โลกเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” ก้าวพ้น “อะนาล็อค” ไปแล้ว

            เมื่อปี ๒๕๒๘ AT&T บริษัทการสื่อสารยักษ์ใหญ่ของอเมริกาจ้างบริษัทวิจัยมืออาชีพให้ไปศึกษาว่า อีก ๑๕ ปีข้างหน้า คือ ปี ๒๕๔๓ อเมริกาจะมีคนใช้โทรศัพท์มือถือกี่เครื่อง วิจัยแล้วก็ให้คําตอบว่าประมาณเก้าแสนเครื่อง พอถึงปี ๒๕๔๓ ปรากฏว่ามีคนใช้โทรศัพท์มือถือในอเมริกา ๑๐๕ ล้านเครื่อง

            การเปลี่ยนแปลงในโลกวันนี้รวดเร็วมากจะคิดคำนวณแบบเส้นตรงไม่ได้ นักอนาคตวิทยาที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลกในร้อยปีที่ผ่านมาบอกว่า การเปลี่ยนแปลงจะมีลักษณะโค้งขึ้นเป็นตัว S คือเริ่มต้นอาจช้านิดหนึ่ง แต่จากนั้นจะพุ่งขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว เพราะมีปัจจัยหลายอย่างมาประกอบกัน

            อย่างกรณีรถยนต์ที่กําลังเกิดขึ้นก็จะเป็นอะไรที่อาจเร็วอย่างคาดไม่ถึงตามไม่ทัน ที่ผ่านมาเราคุ้นเคยกับรถยนต์ที่ใช้นํ้ามันเป็นพลังงานขณะนี้กำลังเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้า แม้ว่าได้เริ่มต้นใช้ผสมกันระหว่างไฟฟ้ากับนํ้ามันมาระยะหนึ่งขณะนี้มีรถไฟฟ้าเต็มตัวเกิดขึ้นแล้ว แม้ยังไม่แพร่หลาย แต่นักอนาคตวิทยาบอกว่า อีกไม่เกิน ๘ ปีข้างหน้า หรือภายในปี ๒๕๖๘ รถยนต์ใหม่ทุกคันที่ออกมาจะเป็นรถไฟฟ้าหมด

            ถ้าคิดแบบเส้นตรงก็คงหัวเราะเยาะกับการทำนายนี้หลายคนยังคิดว่าบริษัทน้ำมันทั้งหลายยังอยู่ได้อีกอย่างน้อย ๕๐ ปีขณะที่รถยนต์ และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้นํ้ามันรวมกันถึงสามในสี่แล้ว และที่เขาทํานายนั้นได้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมดอย่างรอบด้าน

            เหตุผลสําคัญ คือ เรื่องทางเศรษฐกิจ การใช้รถไฟฟ้าจะถูกกว่ารถใช้นํ้ามันถึง ๑๐ เท่า เพราะราคาค่าไฟฟ้าจะถูกลงมาก และสามารถชาร์จไฟได้ที่บ้านเอง เวลาชาร์จก็สั้นลงมากสถานที่ชาร์จทั่วไปก็มีและใช้พลังงานแสงอาทิตย์กันทั้งนั้น แบตเตอรี่ก็ราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพมาก สามารถนํามาใช้กับรถยนต์กับบ้าน สำนักงานกับเครื่องไฟฟ้าต่าง ๆ ได้หมดเพราะมีอภิมหาโรงงานแบตเตอรี่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมทั้งกําลังมาที่ไทยแข่งขันกันวิจัยและพัฒนาเพราะรู้ว่านี่จะเป็นปัจจัยสําคัญที่สุดในอนาคตอย่างแน่นอน

            รถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัท Tesla ได้นําหน้าผลิตรถที่วิ่งได้เร็วที่สุดและมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อ  ๔-๕ ปีก่อน วันนี้กําลังผลิตรถยนต์ที่ราคาธรรมดาคันละประมาณ ๑ ล้านบาท ที่อเมริกามีคนจองตั้งแต่ยังไม่มีรถเมื่อปีกลายวันแรกจองถึง ๑๘๐,๐๐๐ คัน และภายใน ๒ เดือนจองถึง ๔๐๐,๐๐๐  คัน แม้ว่าต้องรอปีกว่าถึงจะได้รถ

            รถยนต์ไฟฟ้าที่บริษัทต่าง ๆ กําลังแข่งขันกันผลิตมีชิ้นส่วนขับเคลื่อนเพียง ๑๘ ชิ้นเท่านั้น ขณะที่รถยนต์ธรรมดามีอยู่ถึง ๒,๐๐๐ ชิ้น รถยนต์ไฟฟ้ารับประกันตลอดชีวิตการใช้งานไม่ใช่ ๓ ปี ๕ ปีอย่างวันนี้

            นอกจากรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนรถยนต์น้ำมัน วันนี้มีการพัฒนารถยนต์ไร้คนขับจนมีการทดลองที่สิงคโปร์วิ่งรับส่งผู้โดยสารในระยะไม่ไกลเป็นแห่งแรกของโลกไปแล้ว

            การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างรวดเร็วมาก เพราะรถยนต์ไร้คนขับไม่ใช่เรื่องของอุตสาหกรรมรถยนต์แบบเดิมอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่ “ใครๆ ก็ทําได้” หมายความว่า คนนอกวงการรถยนต์ก็เข้ามาทําได้อย่างบริษัทคอมพิวเตอร์โทรศัพท์มือถือ แอปเปิ้ล กูเกิ้ล และอื่น ๆ ๔๔ บริษัท ยังเข้ามาร่วมวงพัฒนาด้วย (ข้อมูล ๑๗ พฤษภาคม ๒๐๑๗ www.cbinsights.com/blog/autonomous-driverlessvehicles-corporations-list/)

            การที่บริษัทที่ทำเรื่องไอทีและคอมพิวเตอร์ เข้ามาร่วมวงพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าอัตโนมัติหรือไร้คนขับ เพราะเขาถือว่า รถยนต์ต่อไปจะเป็นเพียง “คอมพิวเตอร์อยู่บนสี่ล้อ” คือสามารถสั่งการควบคุมได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าคนขับมากนัก

            นี่คือการนําเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาผสานหรือผนึกพลังกัน ทั้งการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบตเตอรี่ แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ เซนเซอร์ที่พัฒนามาไกลมาก ติดในรถยนต์สามารถจับสัญญาณทุกสิ่งทุกอย่างได้รอบทิศในรัศมีหลายร้อยเมตรได้อุบัติเหตุจะลดลงเกือบเป็นศูนย์บวกกัน IOT – Internet of Things ที่เรียกว่าอินเทอร์เน็ตสิ่งของ ที่ทําให้สิ่งต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อหรือ “สื่อสาร” กันได้ควบคุมสั่งการกันได้

            คนส่วนใหญ่คิดว่า เรื่องพวกนี้ไกลตัวมากและเป็นเรื่องของสังคมอเมริกัน ยุโรป หรือประเทศพัฒนาแล้วก็ขอให้คิดถึงโกดักคิดถึงมือถือ สมาร์ทโฟน (ซึ่งวันนี้คนไทยกว่าครึ่งหนึ่งใช้สมาร์ทโฟนแล้ว) การแข่งขันทำให้เกิดนวัตกรรม และทําให้ผู้บริโภคได้ใช้ของราคาถูกลง ไม่นานรถไฟฟ้าก็อาจจะราคาถูกกว่ารถปิ๊กอัพวันนี้เป็นรถที่ “ใคร ๆ ก็ซื้อได้”

            เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๐ (ขณะที่เขียนบทความนี้) บริษัทวอลโวประกาศว่า ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒  เป็นต้นไป บริษัทจะผลิตแต่รถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น คอยดูว่าอีกไม่นาน บริษัทผลิตรถยนต์อื่น ๆ ต้องรับประกาศทำนองเดียวกัน ไม่ยอมให้วอลโวชิงตลาดคนเดียวอย่างแน่นอน นั่นคือผลกระทบเป็นโดมิโน ที่สำคัญวอลโววันนี้ มีเจ้าของเป็นคนจีน และเจาะตลาดจีนเป็นหลักอีกด้วยเขาตั้งใจผลิตรถยนต์ระดับที่ “ใคร ๆ ก็ซื้อได้”

            (เหตุการณ์นี้เหมือนสองสามปีก่อน มีบริษัทผลิตเสื้อผ้ายักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งประกาศว่า  ภายในปี ๒๕๖๓ จะเลิกใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตเสื้อผ้า เพราะมีงานวิจัยพบว่า เสื้อผ้าผลิตแบบเดิมมีส่วนทําให้เกิดโรคมะเร็ง จากนั้นไม่นาน อีก ๓๐ กว่าบริษัทระดับโลกก็ประกาศเช่นเดียวกัน วันนี้มากกว่า ๕๐ บริษัท)

            การเปลี่ยนแปลงมีอีกมากนัก ที่ไม่ขอพูดถึงในรายละเอียด อย่าง AI (Artificial  Intelligence) หรือปัญญาประดิษฐ์การใช้หุ่นใช้เครื่องจักรกลทํางานแทนคน ที่ทําให้คนจํานวนมากเริ่มตกงาน การใช้แอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ที่ไม่ต้องใช้คนทํางานอีกต่อไป แรงงานในโรงงานก็ดีหรือพนักงานในธนาคารจํานวนมากจะไม่มีความจําเป็นอีกต่อไป วิถีดิจิทัลและเทคโนโลยียุคใหม่ถูกกว่า มีประสิทธิภาพมากกว่า การเงินก็มี Fintec ที่พัฒนาไปเร็วมากจนวันนี้มีบัตรประชาชน มีมือถือ ก็ทําธุรกรรม

มีเรื่องเครื่องพิมพ์ ๓ มิติที่อยากได้รองเท้าสักคู่ ก็พิมพ์ออกมาตามขนาดเท่าของเราได้ อยากได้จานสักใบ เสื้อผ้าสักชุด อะไรสักอย่างก็สั่งพิมพ์ได้หมด พัฒนากันไปไกลขนาดสร้างบ้านสร้างอะไรก็ใช้ “เครื่องพิมพ์” ที่ว่านี้ได้ซึ่งก็การเงินได้มากมายแล้วคงไม่ได้ง่ายอย่างที่พูด แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ทําได้หมด

            แม้แต่การผลิตเนื้อจากเนื้อเยื่อ จากเซลล์ต้นกำเนิดหรือส่วนอื่น ๆ ของวัว ของไก่ ของแกะหรือสัตว์ใด ๆ มาผลิตในห้องแล็ป ก็ทำกันได้แล้วและกําลังขยายผลต่อไปคนจะได้ไม่ต้องฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เลี้ยงไว้เพียงเพื่อเอาเนื้อเยื่อไปพัฒนาเป็นเนื้อสัตว์เท่านั้น

            มีการพัฒนาทําสวนในโกดัง ในตู้คอนเทนเนอร์คนไทยก็ทําได้สร้างโปรแกรมให้คนที่ไม่รู้เรื่องการทําสวนสามารถปลูกผัก ปลูกผลไม้ในตู้คอนเทนเนอร์ได้โดยการใช้แสงไฟ ใช้อาหารให้พืชโดยไม่ใช้สารเคมีไม่มีศัตรูพืช ไม่ต้องกลัวลมฝนพายุเลย ปลูกผักหอมผักชีได้ทั้งปีสตรอเบอรี่และอื่น ๆ แม้วันนี้จะลงทุนแพง แต่พวกโรงแรม ร้านอาหารใหญ่ ๆ หลายแห่งก็เริ่มทําแล้ว เพราะปลอดภัย มั่นคง คุ้มค่ากว่า

            ผลกระทบต่อสังคมไทยในไม่นานนี้มีแน่นอน อย่างวันนี้ที่มีการต่อสู้กันเรื่องพลังงาน การดิ้นรนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หมดยุคไปแล้ว และกําลังหมดอนาคต การดิ้นรนเรื่องนโยบายพลังงานที่หาทางคงบทบาทให้กับบริษัทพลังงานรายใหญ่ แต่ไม่นานคงต้านกระแสการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้ไม่ได้

            อีกไม่นาน เถียงนาหรือบ้านน้อยในป่าเขาของชาวบ้านก็อาจมุงหลังคาด้วยวัสดุที่รับแสงอาทิตย์ราคาถูก ไม่ต้องมุงกระเบื้องหรือสังกะสีแล้วปกด้วยแผงโซล่าเซลล์แบบวันนี้อีก มีแบตเตอรี่ที่เก็บไฟกลางวันไว้ใช้กลางคืน และอาจไม่ใช่เพียงให้แสงสว่างหรือดูทีวีเสียบพัดลม แต่อาจใช้กับแอร์ก็เป็นได้ราคาแอร์ก็จะถูกลงเพราะ “ใคร ๆ ก็ติดแอร์ได้” และค่าไฟก็ “ฟรี”

            สิ่งที่พี่น้องชาวบ้านและชุมชนน่าจะทําได้ในวันนี้คือ ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ติดตามข้อมูลข่าวสารให้รู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง และไม่เพียงแต่ตั้งรับ แต่พร้อมที่จะรุกแบบมียุทธศาสตร์ยุทธวิธีเรียนให้รู้ว่าโลกวันนี้ต้องการหลายอย่างที่เทคโนโลยีสมัยใหม่ทําไม่ได้หรือทําได้ไม่ดีเท่าชาวบ้านและชุมชน

            ในเวลาเดียวกันก็เรียนรู้ว่า จะใช้เทคโนโลยีทันสมัยมาปรับใช้โดยยังคงรักษาคุณค่าและอัตลักษณ์ของภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นได้อย่างไร โดยเฉพาะปัจจัย ๔ อาหารเสื้อผ้า ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจําวัน

            การผลิตข้าวของแบบ “ทํามือ” หลาย ๆ อย่าง ยังเป็นอะไรที่โรงงานและเครื่องจักรทําไม่ได้ดีเท่า จะเอาอะไรมาช่วยในการผลิต จะเอาอะไรมาช่วยในการทําการตลาด การขายผ่านไอทีอีคอมเมอร์ซ ที่ “ใคร ๆ ก็ทําได้” ใคร ๆ ก็ขายตรงผ่านมือถือได้

            ไม่ใช่ซื้อสมาร์ทโฟนมาใช้และจ่ายเงินเขาอย่างเดียว แต่ไม่ได้ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือหาเงินด้วย ซึ่งเป็นอะไรที่ทําได้ไม่ยากแล้ว

            ที่สําคัญ การผลิตเพื่อกินเองใช้เองเป็นอันดับแรก น่าจะเป็นวิธีการสําคัญเพื่อให้เราพึ่งพาตนเองให้ได้ มากที่สุดลดรายจ่ายที่จ่ายกันมากขึ้น ๆ ทุกวัน เพราะมีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาให้ใช้เงินถ้าทำกันทำใช้ได้ก็ทำขายได้ ถ้าหากมีการจัดการร่วมกันในชุมชน ทําเป็นวิสาหกิจชุมชนอย่างที่ทํากันทั่วไปแล้ววันนี้        

            ทําอย่างไรให้พี่น้องชาวบ้านในชุมชนที่ยังพอมีที่ดิน แม้เล็กน้อยข้างบ้านหลังบ้าน ได้ทำกินทำใช้เองบ้าง เพราะนั่นจะเป็นภูมิคุ้มกันที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงโลกอันรวดเร็ววันนี้เพราะไม่ว่าจะเปลี่ยนไปเร็วขนาดไหน ก็ยังต้องกันต้องใช้ ซึ่งเราทําเองได้ พึ่งตนเองได้

**

คอลัมน์ ส่องเมือง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๔ | สิงหาคม ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

คําผญา (๑๙) “สุขทุกข์นี้ของกลางเทียมโลก บ่มีไผหลีกล้มลงหั้นสู่คน”
แหล่งตัดหินบ้านกรวด เปิดปมปริศนาเทวาลัย
กลิ่นข้าว กลิ่นดอกไม้ กลิ่นธูป และกลิ่นปิศาจ
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com