“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” : เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง (3) – ธัญญา สังขพันธานนท์

“ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” :

เต้าตามทางอาจารย์ชลธิรา เรียนรู้วิธีวิทยาการศึกษาใน

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง (3)

ธัญญา สังขพันธานนท์
สัญญะรูปสัตว์ ลายนกคู่ ในศิลปะวัตถุสำริด ลวดลายสลักสัญญะ ‘เต้าตี’ สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก

๓. ชุมนุมยอดทฤษฎีและวิธีวิทยา

งานสืบค้นความเป็นมาของชุมชนคนไท/ไต ไม่เพียงแต่นำเสนอให้เห็นวิธีการศึกษาแบบสหวิทยาการและบูรณาการของหลักคิดและองค์ความรู้แบบข้ามศาสตร์ข้ามสาย แต่ยังแสดงให้เห็นถึงการใช้เครื่องมือ (tool) และวิธีวิทยาสำคัญ ๆ ของศาสตร์ที่เกี่ยวข้องซึ่งถูกคัดเลือกและระดมมาใช้ศึกษา วิเคราะห์ ตีความตัวบทประเภทต่าง ๆ  โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการตอบคำถามและสร้างมุมมอง/องค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับรกราก ความเป็นมาของชนชาติไท  เครื่องมือที่ว่านี่คือ การใช้ทฤษฎีเป็นตัวนำทาง ซึ่งแต่ละทฤษฎีก็มีระเบียบวิธีในการศึกษาแตกต่างกันออกไป  แน่นอนว่า ทฤษฎีมีความสำคัญและจำเป็นต่อการศึกษาในระบบขนาดใหญ่ ดังที่อาจารย์ชลพยายามทำอยู่  ทฤษฎีแต่ละทฤษฎีประกอบด้วยหลักการสำคัญที่ใช้วิเคราะห์ระบบ/โครงสร้างภายในของตัวบท หรือเปิดทางให้สามารถนำความรู้ภายนอกตัวบทมาใช้ในสถานการณ์การตีความที่หลากหลาย (Brewton 2006)  เพราะทฤษฎีทางวรรณกรรมและวัฒนธรรมศึกษามักเกี่ยวข้องกับแนวคิดของโลกภายนอกตัวบทเป็นสำคัญ (Culler 1997)   

เมื่อพิจารณาทฤษฎีหลัก ๆ ที่อาจารย์ชลใช้เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ ตีความตัวบทและข้อมูลจำนวนมากใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง  มีทั้งทฤษฎีทางภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมศึกษา ทฤษฎีมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา ทฤษฎีประวัติศาสตร์และโบราณคดี  รวมถึงทฤษฎีจิตวิทยาและปรัชญาสังคมด้วย  ทฤษฎีเหล่านี้ล้วนประกอบด้วยหลักการ ความเชื่อ และแนวคิดพื้นฐานที่ใช้ในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ตัวบทต่าง ๆ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือ  อาจารย์ชลได้ใช้เครื่องมือดังกล่าวเข้าไปส่องตัวบทจากแนวคิดและทัศนียภาพที่แตกต่างกันออกไป  มันมีประสิทธิภาพในการตรวจสอบแง่มุมต่าง ๆ ของตัวบทที่นำมาศึกษา  เมื่อทฤษฎีเหล่านี้ถูกส่งผ่านไปยังผู้อ่าน จะช่วยทำให้ผู้อ่านเปิดมุมมองเกี่ยวกับตัวบทในมิติที่แตกต่างกันออกไป และหลายครั้งก็ได้สร้างข้อค้นพบที่ท้าทายเนื้อหาและองค์ความรู้ที่เคยมีมาก่อน  จึงอาจกล่าวได้ว่า ในการศึกษาแบบสหวิทยาการนั้น เป็นการประยุกต์ใช้  super theory หรือ “ยอดทฤษฎี” (Newell 1998) ซึ่งเป็นระบบทฤษฎีที่ครอบคลุมต่อการศึกษาปัญหาที่หลากหลาย ได้แก่ ทฤษฎีโครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยม จิตวิเคราะห์และทฤษฎีมาร์กซ์  เป็นต้น และอาจารย์ชลก็ได้ทำในลักษณะที่ว่านี้  

หากประมวล “ชุดทฤษฎี” ที่อาจารย์เลือกใช้ในการศึกษาวิเคราะห์ ก็จะประกอบด้วยทฤษฎี ดังต่อไปนี้คือ ทฤษฎีประวัติศาสตร์ช่วงยาว (Annales School)  ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษวิธีและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ (Marxist Theory)  ทฤษฎีมานุษยวิทยาแนวอรรถปริวรรตกรรม (Generative Anthropology)  ทฤษฎีมานุษยวิทยาสัญศาสตร์ (Semiotic Anthropology) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) ของฟรอยด์  ทฤษฎีหลักแบบฉบับ (Archetypes) ของ คาร์ล จุง. ทฤษฎีวัฒนธรรมลูกผสม (Hybrid Culture) ของโฮมิ เค.บาบา ทฤษฎีย่อยของทฤษฎีหลังอาณานิคม ทฤษฎีสัญศาสตร์ หรือสัญวิทยา (Semiology) ทฤษฎีรื้อสร้างของแดร์ริดา (Deconstruction) ทฤษฎีวาทกรรมของฟูโกต์ (Discourse)

และที่ผมมีข้อสังเกตเป็นพิเศษคือ บ่อยครั้งที่อาจารย์ชลได้สอดแทรกและแสดงให้เห็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานของการวิจารณ์เชิงนิเวศ หรือนิเวศสำนึก (Ecocriticism) มากขึ้นในงานชิ้นนี้

เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก สำหรับนักอ่านงานวิชาการ ที่ยังไม่มีวิทยายุทธ์ทางด้านทฤษฎีที่แก่กล้า ที่จะตั้งข้อพินิจพิเคราะห์วิธีการในการใช้ทฤษฎีในงานศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้  สิ่งที่ผมพอจะทำได้ในประเด็นนี้ก็คือ ในฐานะลูกศิษย์ที่พยายามจะแกะรอยศึกษา “วิธีการใช้ทฤษฎี” ของครู เพื่อเป็นแนวทางได้นำไปใช้  ซึ่งผมพอจะตั้งข้อสังเกตได้ดังนี้

ประการแรก  การหยิบใช้ร่วมกันระหว่างทฤษฎีต่างยุคต่างสมัย

งานของอาจารย์ชลไม่ว่าจะเป็นงานศึกษา มหากาพย์ชนชาติไท ในบรรพแรก “ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท” หรือ ใน มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท”  เราจะเห็นการหยิบใช้ร่วมกันระหว่างทฤษฎีต่างยุคต่างสมัย ซึ่งมีทั้งทฤษฎีในยุคสมัยใหม่นิยม (Modernism) และทฤษฎีในยุคหลังโครงสร้างนิยม (Poststructuralism) /หลังสมัยใหม่นิยม (Postmodernism)  ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว การเกิดขึ้นของทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่งมักจะเป็นการโต้แย้ง รื้อสร้าง หรือล้มล้างทฤษฎีที่มีมาก่อนหน้า  การปรับเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนทัศน์ต่อศิลปะวรรณกรรมเป็นเรื่องปกติของวงวิชาการตะวันตก หรือแม้แต่ในวงวิชาการของไทยซึ่งสมาทานทฤษฎีดังกล่าวมาประยุกต์ใช้  แต่ในการศึกษาความเป็นมาของชนชาติไท อาจารย์ชลได้ชี้ให้เห็นว่า ทฤษฎีก่อนหน้าไม่ได้ “เก่า/ล้าสมัย” หรือหมดประโยชน์ในการศึกษาโดยสิ้นเชิง และทฤษฎีที่เกิดใหม่ก็ไม่ได้มีคุณประโยชน์แบบครอบจักรวาล ที่จะตอบโจทย์ของการศึกษาได้ทุกกรณี 

หากจะอุปลักษณ์ให้เข้าใจง่าย ๆ อาจารย์ชลก็เปรียบเสมือนนายช่างที่เป็นเจ้าของกล่องเครื่องมือกล่องใหญ่ ซึ่งบรรจุบรรดาเครื่องมือเก่าใหม่ไว้จำนวนมาก ให้หยิบฉวยมาใช้ได้เหมาะสมกับวัสดุ ชิ้นงานและเป้าหมายของงาน  งานบางชิ้นอาจขึ้นรูปทรงด้วยเครื่องมือรุ่นเก่า แล้วต่อยอดด้วยเครื่องมือใหม่ ๆ  ประกอบกับฝีมือ ประสบการณ์และภูมิรู้ของนายช่างใหญ่  ผลที่ออกมาคือชิ้นงานที่มีความประณีตและมีคุณภาพ   ในประเด็นเดียวกันนี้ ผมยังพบว่า ในบทวิเคราะห์บางตอน อาจารย์ยังได้สอดแทรกคำอธิบายเกี่ยวกับการนำใช้ทฤษฎีของท่านให้เราเห็นอย่างละเอียด เหมือนจะชี้ตัวอย่างว่า การเอาทฤษฎีหลาย ๆ ทฤษฎีมาวิเคราะห์ตีความตัวบทนั้น ควรทำอย่างไร

ดังข้อวิเคราะห์ใน บทที่ ๔  ท่านได้อธิบายไว้ให้เห็นกระบวนการและขั้นตอนในการศึกษาอย่างละเอียด

    “การสืบสร้าง มหากาพย์ชนชาติไท ในงานเขียนชุดนี้ (บรรพสอง)

ใช้ผลงานวรรณกรรมรูปแบบต่างๆ ที่รังสรรค์โดยชนชาวไท|ไต เป็นตัวตั้ง อ่านและวิเคราะห์ชิ้นงานวรรณกรรม (Literary work) ที่จงใจคัดสรรมาเป็นการเฉพาะ เพื่อนำมาใช้เป็น “ตัวบท” (Text) ในการตีความ และให้ความหมายใหม่ (ถ้าเป็นไปได้) ด้วยการใช้วิธีวิทยา โครงสร้าง-หน้าที่นิยม  ผนวกกับบางวิธีวิทยาของสำนักหลังโครงสร้าง-หลังสมัยใหม่ ด้วยความพยายามที่จะไม่ยึดติด “กรอบ” ใด ๆ 

อย่างไรก็ตาม การศึกษาแนวผสมผสานวิธีวิทยาข้างต้นนี้ ไม่ละเลยแนวทางการศึกษาวรรณคดีแนวจารีตนิยม (Conventional Approach of Literary criticism)  คือ ยังคงให้ความสำคัญกับสิ่งที่เป็น ‘ต้นแบบวรรณกรรม’ และให้คุณค่าเป็นอย่างสูง  ด้วยเหตุนี้งานวิจัยชุด มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” จึงไม่ละทิ้งกระบวนการอ่านเอกสารวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ปฐมภูมิและเอกสารหายากบางฉบับที่คัดสรรมาศึกษาวิจัย  ด้วยการอ่าน พินิจ อักขระ|ตัวเขียนของภาษาไท|ไต โดยเฉพาะเอกสารภาษาไตมาวและไตอาหม แล้ว นำมาตีความหมาย  ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของการศึกษาขั้นตอนนี้  ด้วยเห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่ง  ทั้งนี้มิใช่เพียงเพื่อการอนุรักษ์เท่านั้น หากยังเพื่อทำความเข้าใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ผ่านชิ้นงานวรรณกรรม โดยการศึกษาพินิจสิ่งที่จัดว่าเป็น ‘ต้นแบบวรรณกรรม’  ตามด้วยการวิเคราะห์ศัพท์และแปลความหมาย การถอดคำ การอ่านเอาความ รวมทั้งการถอดใจความ ด้วยหลักวิชาทางอักษรศาสตร์และนิรุกติศาสตร์ ขั้นพื้นฐาน  (ยังไม่ก้าวล่วงไปถึงขั้น ‘ภาษาศาสตร์เชิงประวัติ’ ยกเว้นส่วนที่ใช้อ้างอิง) กระบวนการดังกล่าวนี้เป็นแบบแผนดั้งเดิมของการศึกษาวรรณคดีไทย(สยาม) และเอกสารประวัติศาสตร์ที่ถือเป็น ‘ต้นฉบับ’ โบราณ|เก่าแก่|หายาก 

นอกจากให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจ ‘เนื้อหา’ (Content)  ผู้เขียนยังให้ความใส่ใจกับ ‘รูปแบบ’ หรือ ‘แบบแผนทางวรรณกรรม’ (Form) ด้วย โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกกันว่า ‘ฉันทลักษณ์’ อันเป็นข้อกำหนดและข้อบังคับของรูปแบบวรรณกรรมลักษณะต่าง ๆ  ทั้งหมดนี้ คือแนวทางหลักและวิธีวิทยาการศึกษาวรรณกรรมอย่างเป็นระบบที่เรียกกันว่า Formalistic Approach ตามแนวทางสำนักคิดโครงสร้าง-หน้าที่นิยม (Structural Functionalism) 

[มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง : บทที่ ๔.]

ข้ออธิบายตอนนี้ อาจารย์ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการและวิธีการในการศึกษา ที่มีหลายขั้นตอน ประเด็นที่ต้องการศึกษาวิเคราะห์และการใช้ระเบียบวิธีของทฤษฎีต่างยุคต่างสมัย 

สิ่งที่อาจารย์ชลเน้นคือ การพยายามเลือกใช้ทฤษฎีโดยไม่ติดกรอบ ไม่เอาหลักการของทฤษฎีมาใช้อย่างแข็งทื่อ และแยกออกมาเป็น กล่อง ๆ แล้วหยิบข้อมูลโยนใส่เข้าไปในกล่องนั้น ๆ เหมือนที่เราพบได้ในการศึกษาวิจัยที่ผู้ศึกษายังไม่เข้าใจทฤษฎีอย่างแตกฉานเพียงพอ  แต่อาจารย์ชลเลือกใช้วิธีการให้เหมาะสมกับธรรมชาติของตัวบท/ข้อมูล  การเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีหนึ่งไปยังทฤษฎีหนึ่งผสมผสานกันค่อนข้างแนบเนียน ไม่เอาทฤษฎีต่างเวลามาหักล้าง โต้เถียงกัน  แต่เป็นการดึงเอาส่วนที่ใช้ได้ของแต่ละทฤษฎีมาเกื้อกูลหนุนส่งเสริมหน้าที่กันและกัน ซึ่งถือเป็นกระบวนการบูรณาการที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่าง

ประการที่สอง การเลือกใช้ทฤษฎีและวิธีวิทยาที่แม่นยำและพุ่งเป้า

ประเด็นนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญในการนำทฤษฎีมาใช้ในการศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์  เพราะทฤษฎีทางมนุษยศาสตร์มักจะแตกต่างกับทฤษฎีและระเบียบวิธีทางด้านวิทยาศาสตร์ ตรงที่ทฤษฎีมนุษยศาสตร์มักจะมีรากฐานมาจากแนวคิดทางปรัชญาเป็นส่วนใหญ่  จึงทำให้ทฤษฎีในกลุ่มนี้มีความคลุมเครือและเป็นนามธรรมมากกว่ารูปธรรม  เราเห็นตัวอย่างนี้ได้อย่างชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบทฤษฎีโครงสร้างนิยมกับหลังโครงสร้าง/หลังสมัยใหม่นิยม  ทฤษฎีโครงสร้างนิยมเกิดขึ้นจากวิธีคิดของนักภาษาศาสตร์ ซึ่งศึกษาระบบของภาษาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ จึงค่อนข้างมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรม  ในขณะที่ทฤษฎีหลังโครงสร้าง/หลังสมัยใหม่นิยมเกิดจากความคิดทางปรัชญา ซึ่งมักตั้งคำถามต่อโลก จักรวาลและมนุษย์อย่างซับซ้อน  เมื่อนำมาใช้วิเคราะห์สถานการณ์ หรือปรากฏการณ์ทางสังคม และตัวบททางวัฒนธรรม จึงยากที่จำกัดวงหรือขอบเขตของการวิเคราะห์ให้อยู่หมัดได้  การเข้าถึงความหมายตัวบททางวรรณกรรมและตัวบททางวัฒนธรรมต้องอาศัยวิธีการตีความเป็นสำคัญ  แต่การตีความก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งตัวของผู้ตีความเอง และทฤษฎีที่นำมาใช้เป็นกรอบความคิด  ดังนั้นสำหรับนักวิจัยที่ยังขาดความแตกฉานในตัวทฤษฎีก็จะประสบปัญหาในการใช้ทฤษฎีอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลือกทฤษฎีมาใช้ให้เหมาะสมแก่ตัวบท การใช้ทฤษฎีอย่างไม่ตรงเป้า  คำตอบที่ได้จึงมีความพร่าเลือน และอาจผิดที่ผิดทางในที่สุด

แต่เมื่ออ่าน “มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง”  ของอาจารย์ชล เราแทบจะไม่สะดุดกับปัญหาเหล่านี้  เพราะการวิเคราะห์ในแต่ละบทแต่ละตอนนั้นค่อนข้างแม่นยำ สัมผัสได้ แม้แต่การศึกษาในเรื่องที่ยากและซับซ้อน ทั้งในแนวดิ่งและแนวระนาบ  ผู้ที่ทำเช่นนี้ได้ก็ต้องรู้กว้างและรู้ลึก สั่งสมความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องอย่างแตกฉาน ทั้งในเรื่องข้อมูลและวิธีวิทยาที่จะนำมาใช้ 

หากพิจารณาเนื้อหาในบทใดบทหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ เราจะเห็นลักษณะเด่นในกระบวนการทำงานของอาจารย์อยู่สองอย่าง คือ

อย่างแรก:  อาจารย์ชลมีฐานข้อมูลจำนวนมาก ทั้งตัวบททางภาษาวรรณกรรมและตัวบททางวัฒนธรรม  เมื่อจะหาคำตอบในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เหมือนกับได้วางแผนไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะใช้ตัวบทอะไรบ้าง ตัวบทเหล่านั้นมีเครือข่ายความเชื่อมโยงกันอย่างไร ตัวบทใดเป็นตัวบทหลัก ตัวบทใดเป็นตัวบทเสริม เอามาเสริมเพื่ออะไร;

อย่างที่สอง:  อาจารย์ชลเหมือนจะมองชัดเจนแล้วว่า การถอดหรือไขปริศนาของตัวบทจะต้องใช้วิธีวิทยาของทฤษฎีใดจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด หรือจะบูรณาการ    วิธีวิทยาจากทฤษฎีใดมาใช้ร่วมกันบ้าง 

ด้วยการทำเช่นนี้ การวิเคราะห์ หาความหมายในแต่ละเรื่องจึงค่อนข้างแม่นยำ ตรงเป้า มีเหตุผลและหลักฐานสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง

การระบุอย่างเจาะจงว่าจะจัดการกับตัวบท เพื่อหาคำตอบในเรื่องใด ด้วยการใช้วิธีวิทยาของทฤษฎีใดอย่างชัดเจนเช่นนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าผู้เขียนมีความชัดเจนและมองทะลุถึงวิธีการในการศึกษาเพื่อให้ได้มาซึ่งคำตอบนั้น ๆ  เปรียบเสมือนนายช่างใหญ่ที่รู้ดีว่า หากตนมีท่อนซุงอยู่ท่อนหนึ่ง เพื่อจะเอากระพี้ออก จะเลือกใช้เครื่องมือประเภทไหนจึงจะเหมาะ ถ้าจะผ่าท่อนซุงออกมาเพื่อทำเสา จะใช้เครื่องมืออะไรในการบากและเซาะร่องนั่นเอง

ประการที่สาม  ดังที่ได้เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ถึงข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศ หรือนิเวศสำนึก ที่อาจารย์ชลนำมาใช้มากขึ้นในการวิเคราะห์ตัวบทใน “มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง” ซึ่งอันที่จริงผมอยากเรียกว่า เป็นการถอดรหัสและตีความตัวบททางภาษา/วรรณกรรม และตัวบททางวัฒนธรรมของชนชาติไทใหญ่ โดยพิจารณาบนฐานคิดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ หรือกระบวนทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติของคนไทใหญ่ 

ในประเด็นนี้ดูเหมือนว่า ตัวบทของวรรณกรรมไทใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สุภาษิต คำพังเพย บทขับขาน (ความล่องคง) การผูกถ้อยร้อยคำ ความอ่อนอ้อน ความต่อเล่น ความปั่นตง บทกล่อมเด็ก (อิ๊นเจ๊) ลีกลาย หรือตัวบททางวัฒนธรรมอันประกอบด้วย ความเชื่อ ค่านิยมและอุดมการณ์ที่แฝงอยู่ในจารีต ประเพณีและวิถีชีวิต ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างคนไทใหญ่กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างกลมกลืนและลึกซึ้ง  ดังที่อาจารย์กล่าวถึงในตอนหนึ่งว่า

“ชนชาวไต|ไทใหญ่ เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของผู้ชื่นชอบธรรมชาติ มีแนวคิดแบบธรรมชาตินิยม  ไม่เพียงแต่นบนอบธรรมชาติ ถือว่า ‘น้ำ ดิน ฟ้า’ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  หากยังยึดคัลลอง ‘วิถีธรรมชาติ’ เป็นหลักในการดำเนินวิถีชีวิต  แม้แต่ใน ‘วิถีแห่งรัก’ ของคนหนุ่มสาว”

[มหากาพย์ชนชาติไท บทที่ ๓๐ : “โศกนาฏกรรมนางโอ้เปี่ยมกับสามลอ.”] 

ในมุมมองของอาจารย์ชล  “วิถีธรรมชาติ” คือระบบที่อยู่ใน “โครงสร้างส่วนลึก” ซึ่งฝังแฝงเป็นเนื้อเดียวกับโลกทัศน์ของคนไทใหญ่ ที่นำมาสู่วิถีปฏิบัติและปฏิสัมพันธ์ต่อโลกทั้งในมิติกายภาพและระดับจิตวิญญาณ เป็นสำนึกเชิงนิเวศแบบดั้งเดิมเช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไต/ไทเผ่าอื่น ๆ ที่ปรากฎร่องรอยหลักฐานในวัฒนธรรมของแต่ละกลุ่มชน

การพิจารณาตัวบทโดยไม่ละเลยมิติความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติซึ่งอาจารย์ชลสอดแทรกไว้ในบทวิเคราะห์หลาย ๆ ตอน ช่วยเสริมให้การถอดรหัสและตีความมีมิติที่ซับซ้อนมากขึ้น วิธีการตีความ ถอดรหัสของอาจารย์ชลมีหลายระดับ นับตั้งแต่การพินิจถ้อยคำ ชุดคำของโวหาร และความเปรียบเชิงอุปมาอุปลักษณ์ ว่ามีนัยแสดงความหมายเชิงนิเวศอย่างไรบ้าง  เพราะการวิเคราะห์ทางภาษาจะเกี่ยวข้องกับคำถามที่ว่า ถ้อยคำได้นำเสนอภาพแทนของมนุษย์กับธรรมชาติอย่างไร  เราจะเห็นได้ว่าในการวิเคราะห์ชุดคำที่เกี่ยวกับ “เสือ” ซึ่งเป็นคำกุญแจสำคัญที่อาจารย์ชลใช้ถอดรหัสรากเหง้าของคนไทใหญ่ในอดีต  อาจารย์ชลได้ชี้ให้เห็นความหมายของ “เสือ” ในหลากหลายมิติ แต่ก็ไม่ลืมชี้ให้เห็นว่า ในการประกอบสร้างอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของไทใหญ่นั้น มาจากวิถีชีวิตที่แนบแน่นอยู่กับธรรมชาติ ซึ่งเกิดจากสำนึกเชิงนิเวศที่ฝังแฝงอยู่ในโครงสร้างระดับลึก

การวิจารณ์วรรณกรรมเชิงนิเวศ เมื่อนำไปใช้วิเคราะห์ตัวบทวรรณกรรม โดยตัวมันเองแต่ลำพังนั้น ไม่อาจแสดงให้เห็นความหมายในมิติเชิงซ้อนได้มากนัก  ดังนั้นนักวิจารณ์เชิงนิเวศจึงย้ำเสมอว่า ทฤษฎีการวิจารณ์เชิงนิเวศเป็นทฤษฎีที่มีความเป็นสหวิทยาการ การนำไปใช้จึงต้องบูรณาการร่วมกับศาสตร์ต่าง ๆ จึงจะช่วยให้เห็นนัยความลึกซึ้งของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ  อาจารย์ชลได้ทำให้เราประจักษ์ในเรื่องนี้ เพราะจะว่าไป นี่คือ “ทาง” ของท่านอยู่แล้ว

ดังที่เราเห็นได้ใน บทที่ ๒๒ : “ดินเมืองแต่ชั่วด้ำ ดินน้ำแต่ชั่วลาง” ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีพอที่จะนำมาสนับสนุนความเห็นนี้  อาจารย์ชลหยิบยก คำศัพท์ “ดิน/น้ำ” ในคำพังเพยของชาวไทดำ เมืองแถน มาถอดรหัสความหมายในหลายมิติ ทั้งในระดับวาทกรรม ปรัชญาความคิด มโนทัศน์แบบปรัมปราคตินิยม /ทวินิยม และนัยเชิงนิเวศ:

“ชุดคำคู่ ‘ดิน|น้ำ’ ได้สะท้อนให้เห็นชัดว่า ในยามเมื่อเกิดมีความรับรู้ต่อธรรมชาติแวดล้อมนั้น วิธีคิดแบบ ทวินิยม|ทวิภพ ได้เกิดขึ้นแล้วในห้วงสำนึกทางปรัมปราคติแบบธรรมชาตินิยมของบรรพชนไท

ชุดคำบอกเวลาที่ตามติดมาใน “คำกล่าว” นี้ คือ ‘แต่ชั่วลาง’ กรอบมโนทัศน์ “ดินน้ำแต่ชั่วลาง” (Conceptualization) จึงให้ภาพของการบอกกล่าวแบบสำทับรับรู้ต่อ ‘ห้วงเวลา’ ที่มิใช่เพียงชั่วระยะเวลาอันสั้น หากเป็น ‘ห้วงเวลา’ ที่ค่อนข้างยาว 

“คำกล่าว” แสดงความเชื่อในเชิง ‘ปรัมปราคติ|ทวินิยม’ นี้ บ่งชี้ว่า ในระบบคิดของบรรพชนชาวไทแต่ปางบรรพ์นั้น (โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรพชนชาวไทดำ เจ้าของวาทกรรม)  ซึมซับรับรู้ค่าของ ดิน|น้ำ

‘สองธาตุ~พื้นฐาน’ ที่ก่อตัวเป็น ‘ทวิภพ’ อันยิ่งใหญ่เป็นนิจนิรันดร์นี้”

[มหากาพย์ชนชาติไท บทที่ ๒๒ : “ดินเมืองแต่ชั่วด้ำ ดินน้ำแต่ชั่วลาง”]

นัยเชิงนิเวศในการวิเคราะห์นี้ ถือว่าเป็นความคิดรากฐานของผู้คนในสังคมบรรพกาล ที่ตระหนักรู้ถึงสภาวะของธรรมชาติ (รู้ฟ้า รู้ดิน) ในระดับจักรวาลทัศน์

การใช้แนวการวิจารณ์เชิงนิเวศในมหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ยังไปไกลกว่านั้น คือการเชื่อมโยงผู้หญิงกับธรรมชาติ ตามแนวทางของสตรีนิยมเชิงนิเวศ (Ecofeminism) ซึ่งเพ่งเล็งไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเพศสภาวะของผู้หญิงกับธรรมชาติ  ในทัศนะของนักสตรีนิยมเชิงนิเวศ การเชื่อมโยงผู้หญิงกับธรรมชาติสามารถแสดงให้เห็นร่องรอยของการต่อสู้ ขัดแย้ง และโต้ตอบ ของคู่อำนาจระหว่างหญิงกับชายมาโดยตลอด  อาจารย์ชลใช้หลักฐานจากตัวบททางภาษา วรรณกรรมและตัวบททางวัฒนธรรมของชุมชนไทใหญ่ เปิดเผยให้เห็นการเกิดขึ้น ดำรงอยู่และความขัดแย้ง ระหว่าง พลังของระบบมาตาธิปไตยและปิตาธิปไตย ที่ช่วงชิง เบียดขับและโต้ต้านอย่างเป็นพลวัต ภายใต้โครงสร้างการผลิตในยุคสมัยทางประวัติศาสตร์

ดังเห็นได้จากการวิเคราะห์ถอดรหัสใน บทที่  ๑๑ : ร่องรอยปางด้ำนาย ความลึกล้ำของ ‘สบแม่เก๋ว’  เพื่อถอดรหัสวาทกรรม “ปางด้ำนาย” ที่อาจารย์ชลเรียกว่า “ทฤษฎีปางด้ำนาย’ ที่ผู้หญิง~เพศแม่ เป็นใหญ่ มีสถานภาพทางสังคมสูง” ผ่านคำว่า “สบแม่เก๋ว” อันเป็นคำกุญแจสำคัญในการเริ่มต้นถอดรหัสและแตกบทตามวิธีการที่อาจารย์ใช้โดยตลอด

จากคำกุญแจคำเดียว เราได้เห็น “ลีลา” ในการวิเคราะห์ที่นำเอากรอบแนวคิดทฤษฎีหลาย ๆ ทฤษฎีเข้ามา “สแกน” หรือตรวจสอบ ตั้งแต่ปรัชญาวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ของลัทธิมาร์กซ์ เพื่อดูวิวัฒนาการทางสังคมจากยุคบุพกาลมาถึงสังคมศักดินา ตามด้วยทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ เพื่อค้นหานัยทางเพศของคำๆ นี้ จากนั้นก็สวมแว่นตาของทฤษฎีสุนทรียศาสตร์ มองแง่งามความหมายอันลึกซึ้งของคำในฐานะที่เป็นภาพพจน์ในหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็น ภาพจน์แบบบุคลาธิษฐาน ไปจนถึงระดับนามนัย  เมื่อความหมายของคำถูกเปิดเผยให้เห็นนัยและความเชื่อมโยงในหลากมิติ อาจารย์ก็สำทับด้วยแนวการวิเคราะห์แบบสตรีนิยมเชิงนิเวศ ที่เน้นความเชื่อมโยงของผู้หญิงกับธรรมชาติ แสดงนัยเชิงนิเวศที่มีความซ้อนทับ ทั้งในมิติของธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ชนชั้น สถานที่ และเพศสภาวะ ที่เคลื่อนผ่านการเปลี่ยนผ่านของสังคม จนก่อให้เกิด ตัวตน อัตลักษณ์ และโลกทัศน์ จนนำมาสู่ข้อสรุปสำคัญว่า

“ตลอดกระบวนการวิถีวิวัฒน์ของสังคมไทนั้น มีความเป็นไปได้ว่า บรรพสตรีชาวไทได้ผ่านการหล่อหลอมอย่างเคร่งครัด เข้มงวด  พัฒนาและปรับเปลี่ยน  ‘ตัวตนแห่งความเป็นหญิง’ (Womanhood)  แปลง ‘สัญชาตญาณดั้งเดิม’ ของตน โดยผ่านการควบคุมและคาดหวังจากสังคม (Social norm) ของชุมชน ‘ปางด้ำนาย’ ที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ มีสถานภาพทางสังคมสูง ให้เกิดเป็น ‘โลกทัศน์’ (Worldview) ชุดใหม่  โลกทัศน์นั้นคือวิธีคิด มุมมอง และทัศนคติในองค์รวม ที่หลอมรวมเป็นระบบความคิดทั้งชุดที่งดงามของผู้เป็นแม่ ซึ่งได้ใช้เป็นวัตรปฏิบัติจนเป็นวิถีชีวิตประจำวันในห้วงระยะเวลาอันยาวนานของวิถีวิวัฒน์สังคม ‘ปางด้ำนาย’ 

จนในที่สุด กระบวนทัศน์ ‘ความเป็นแม่’ ตามแบบแผนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมา ก็ได้มีการปรับปรนอย่างเป็นพลวัตให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ”

[มหากาพย์ชนชาติไท บทที่ ๑๑ : “ร่องรอยปางด้ำนาย ความลึกล้ำของ ‘สบแม่เก๋ว.”]

ที่นำเรื่องนี้มาเน้นย้ำเป็นพิเศษนั้น ไม่ได้ต้องการผลิตซ้ำให้เห็นวิธีการ ลีลาและชั้นเชิงในการวิเคราะห์ของอาจารย์ชลแต่อย่างใด  แต่อยากชี้ชวนให้เห็นว่า การนำวิธีวิเคราะห์ตามแนวทางการวิจารณ์เชิงนิเวศและสตรีนิยมเชิงนิเวศมาใช้ศึกษาตัวบทนั้น อาจารย์ชลทำได้อย่างล้ำหน้า ข้อแนะนำของเจ้าของทฤษฎีด้วยซ้ำไป 

ก็ดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นว่า การวิจารณ์เชิงนิเวศและสตรีนิยมเชิงนิเวศนั้น เป็นทฤษฎีที่จะไม่มีพลังเพียงพอในการวิเคราะห์ตีความตัวบทหากปราศจากการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ เข้ามาใช้ให้ถูกที่ถูกทาง และอาจารย์ชลก็ได้ทำให้เราดูเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ข้อสรุปของผมในประเด็นนี้ น่าจะกล่าวในเชิงอุปมาได้ว่า วิธีการถอดรหัสค้นความหมายเชิงนิเวศผ่านชุดคำ และตัวบทต่าง ๆ ของอาจารย์ชลเปรียบเสมือนการปอกหัวหอมนั่นเอง ต้องแกะกลีบหอมของระดับชั้นความหมาย (layer) ไปทีละชั้น ๆ ก่อนที่จะนำไปสู่การค้นพบความหมายในระดับลึกในที่สุด

แต่ก็นั่นแหละ การแกะกลีบหอมไม่ใช่เรื่องง่าย  เพราะถ้าไม่จัดเจนพอ ก็จะเจออาการ แกะไปน้ำตาไหลไปเสียจนได้

ศิลปะวัตถุสำริด เพื่อประโยชน์ใช้สอย
เตา-หม้อสามขา (อวบ), ลายเต้าตี ระยะต้น สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก

บทสรุป

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” โดยศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนา ควรจะเรียกได้ว่าเป็น “อภิมหางานวิจัย” อีกเล่มหนึ่งของวงวิชาการด้านมานุษยวิทยาและประวัติศาสตร์ชนชาติไท/ไต ด้วยต้นฉบับที่มีความยาวร่วมพันหน้ากระดาษ เอ 4 บรรจุแน่นด้วยเนื้อหาเกือบ ๕๐ บท และกลุ่มข้อมูลที่นำมาใช้ศึกษาทั้งตัวบททางภาษา/วรรณกรรมและตัวบททางวัฒนธรรม รวมถึงเอกสารวิชาการจำนวนมหาศาล โดยมีกระบวนการและวิธีวิทยาในการศึกษาอย่างซับซ้อน ทั้งในแนวระนาบและแนวดิ่ง ด้วยการบูรณาการศาสตร์ ระเบียบวิธีของยอดทฤษฎีทั้งหลาย มาใช้ในการสืบสาวต้นเค้าของชนชาติไทผ่านประวัติศาสตร์ โบราณคดี วรรณกรรม วัฒนธรรม นิเวศวิทยาและภูมิศาสตร์  ด้วยความพิเศษในแทบทุกมิติของงานชิ้นนี้ ไม่ง่ายเลยที่ทำความเข้าใจได้ลึกซึ้งทุกแง่มุม  ยิ่งเป็นการอ่านเชิงวิพากษ์เพื่อสร้างข้อถกเถียงในประเด็นทางวิชาการ ดูจะเป็นกิจกรรมที่ท้าทายสติปัญญาของผู้วิพากษ์อยู่ไม่น้อย 

นอกเหนือจากได้รับความรู้และข้อคิดใหม่ ๆ จากการอ่าน สิ่งที่ผู้เขียนบทความนี้พอจะทำได้ก็คือ พยายาม “เต้า”ตามทางการศึกษาค้นคว้าของอาจารย์ชล เพื่อตั้งข้อสังเกต แกะรอยกระบวนการ และวิธีวิทยาการศึกษา ด้วยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจงานวิชาการในลักษณะนี้ในบางแง่มุมเท่านั้น  ผลของการ”เต้า”ตามทางในครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า การศึกษาค้นคว้าในแบบที่อาจารย์ชลเรียกว่า “ข้ามภพ ข้ามชาติ ข้ามศาสตร์ ข้ามตัวบท” นั้นเป็นอย่างไร  และแน่นอนว่า มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ชลธิรา สัตยาวัฒนานั้น  เป็นงานศึกษาค้นคว้าที่ลึกซึ้ง ทันสมัย และท้าทายต่อจารีตทางวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ และสติปัญญาของผู้อ่าน อย่างที่นักวิชาการรุ่นใหม่ไม่ควรมองข้ามเป็นอย่างยิ่ง.

คำบรรยายภาพประกอบ

ภาพที่ 1

สัญญะรูปสัตว์ ลายนกคู่ ในศิลปะวัตถุสำริด ลวดลายสลักสัญญะ ‘เต้าตี’ สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก อาจเป็นต้นเค้าของลายในผ้าทอมือในกลุ่มชนที่พูดภาษาตระกูลไท~ลาวในระยะเวลาต่อมา เช่น ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น ในผ้าจกของชาวไทหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวไตโยน หรือ ไทยวน ในสมัยต่อมาของราชวงศ์ไท

Bronze Container with ‘twin-bird’ motif in ‘taotie’ design; Western Zhou Dynasty.
The ‘twin-bird’ motif might have probably been re-invented to be one among the major motifs (mae laay~แม่ลาย), the discontinuous supplementary weft and warp weaving technique among the Tai speaking groups of Southwestern Tai, and Northern Tai, i.e.the Tai Yuan: sin tiin jok~ซิ่นตีนจก; laay nok khuu ruam ton~ลายนกคู่ร่วมต้น, in later years of the Tai Dynasties. 

ภาพที่ 2

ศิลปะวัตถุสำริด เพื่อประโยชน์ใช้สอย
เตา-หม้อสามขา (อวบ), ลายเต้าตี ระยะต้น สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก
Bronze tripod cooking container, tao mau saam khaa (uap), for daily life purpose, in early ‘taotie’ design, invented by ‘taotie’ craftsmanship of Western Zhou period.

****

เอกสารอ้างอิง

ชลธิรา สัตยาวัฒนา (2565).  มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

“เต้าตามไต เต้าทางไท”. (เอกสารไฟล์ต้นฉบับ)

ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร (2545).  แนะนำสกุลความคิดหลังโครงสร้างนิยม.  กรุงเทพฯ :  สำนักพิมพ์สมมุติ.

Brewton, V. (2006).  Literary Theory. 

Retrieved from http://www/iep.utm.edu/literary/, December 8th, 2014.

Cavallaro, Dani (2001).  Critical and Cultural Theory. London.

Culler, J. (1997).  Literary theory : A very short introduction.

Oxford: Oxford University Press.

Miller, L. Matthew (2005). Integrative Concepts and Interdisciplinary Work : A Study of Faculty Thinking in Four College and University Programs.

Cambridge : Harvard Project Zero, Interdisciplinary Studies Project.

Newell, H.William (2001). “A Theory of Interdisciplinary Studies”,

ISSUES IN INTEGRATIVE STUDIES, No. 19, pp. 1-25.  Retrieved from     https://web.mit.edu/…/interdiscipl…/interdisc_Newell.pdf.

Newell, H.William (2013).  “The State of The field : Interdisciplinary Theory”.  ISSUES IN INTERDISCIPLINARY STUDIES,  No. 31, pp. 22-43. Retrieved from https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1101054.pdf

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com