ครูช่างสมศักดิ์ มุตะโสภา ผู้อนุรักษ์ “ลายดอกรังฮอ” แห่งอีสานใต้

“หลังจากผมเรียนจบ ป.4 ก็มาทำงานช่วยพ่อที่เป็นช่างทองและเงิน พ่อให้เริ่มทำลายที่ยากที่สุดก่อน ผมฝึกงานช่างฝีมือจากพ่อที่ฝึกฝนทักษะมาจากปู่ และปู่ก็เป็นช่างทอง ได้รับการถ่ายทอดวิชามาจากทวดของผมอีกที ผมเป็นช่างทองและเงินรุ่นที่ 4 ของตระกูล”​ ครูช่างสมศักดิ์ มุตะโสภา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นช่างฝีมือในดินแดนอีสานใต้ ต่อมาเป็นหนึ่งในครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี พ.ศ. 2561 คัดเลือกโดย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย  นอกจากนี้เมื่อปี ค.ศ. 1994 สถาบันสมิธโซเนียน สหรัฐอเมริกา ได้เชิญเข้าร่วมแสดงงานและสาธิตการทำงานหัตถศิลป์ ในงาน “1994 FESTIVAL  OF  AMERICAN  FOLKLIFE” ครั้งที่ 28 เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรม ประเพณีของชาติไทยไปยังนานาประเทศที่เข้าร่วมในงาน และผู้เข้าชมเทศกาล

“ตอนนั้นผมดีใจ และตื่นเต้น ที่ได้ขึ้นเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต ไปถึงวอชิงตัน ดี.ซี ปีหน้าก็ครบ 30 ปี ที่ผมเคยไปที่ดี.ซี.” ครูช่างสมศักดิ์ วัย 68 ปี เล่าถึงความหลังด้วยสีหน้าภาคภูมิใจ และเกียรติบัตรจากสถาบันสมิธโซเนียนที่ใส่กรอบไว้อย่างดี เป็นแผ่นกระดาษบรรจุความทรงจำมากมาย ในการเดินทางไกลครั้งแรก ที่ต่อให้เล่ากี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็สร้างความอิ่มเอมใจให้กับช่างฝีมือรุ่นที่ 4 ผู้สืบทอดงานช่างหัตถศิลป์จากบรรพบุรุษ

งานช่างฝีมือมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษชาวเขมร

            ครูช่างสมศักดิ์เล่าถึงความชำนาญ ประณีต ของงานช่างทองและเงิน ว่าได้รับการส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่รุ่นทวด รุ่นปู่ รุ่นพ่อ และรุ่นลูกคือคุณลุง บรรพบุรุษเป็นชาวเขมรซึ่งอพยพย้ายถิ่นมาตั้งรกรากที่บ้านโชคจังหวัดสุรินทร์ จึงนำทักษะงานช่างฝีมือติดตัวมาด้วย เมื่อมาถึงรุ่นคุณลุงก็มีการถ่ายทอดวิชาองค์ความรู้ ภูมิปัญญาไปยังผู้ที่สนใจ ในปี พ.ศ.​2520 เป็นต้นมา จึงมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย นำวิชาไปต่อยอดองค์ความรู้ เน้นการทำแบบและลายโบราณดั้งเดิม เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของงานหัตถศิลป์ระหว่างเขมรและคนไทยเชื้อสายเขมร วัฒนธรรมร่วมของสองดินแดน  นอกจากนี้ คุณภาพ ความประณีต ความสวยงาม กระบวนการและเทคนิคในการทำงานแต่ละชิ้นออกมา ไม่ว่าจะเป็น สร้อยคอ ปิ่นปักผม ต่างหู กำไล แหวน ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนิชำนาญที่ฝึกปรือมาเป็นอย่างดี

“ผมเห็นพ่อทำเครื่องเงิน เครื่องทองมาตั้งแต่เด็ก ก็ใช้การสังเกต พอจบ ป.4 ก็มาเป็นลูกมือพ่อ เริ่มจากการทำลายที่ยากที่สุดก่อนเลย ไม่ได้เริ่มทำจากลวดลายที่ง่าย ตอนนั้นผมเริ่มจากการทำชุดตะเกา ลายดอกรังฮอ แล้วก็ฝึกทำปะเกือม ผมเรียนรู้ค่อนข้างไว เพราะคลุกคลีและดูเวลาพ่อ ก็จดจำเทคนิควิธีการต่าง ๆ สืบทอดมา มีช่วงหนึ่งที่การทำเครื่องเงินเครื่องทองในพื้นที่ไม่บูมแบบเมื่อก่อน ผมจึงหันเหไปทำงานก่อสร้างอยู่ 10 ปี กลับมาทำอีกครั้งเมื่อปี 2520 ก็ยังเป็นงานช่างที่อนุรักษ์ลวดลายโบราณดั้งเดิมของบรรพบุรุษเอาไว้ ได้สร้างช่างเงินช่างทอง เพื่อสืบทอดและต่อยอดไปยังลูกหลาน และผู้สนใจ”

ดอกรังฮอ: ลวดลายแบบโบราณ

            คุณลุงสมศักดิ์ ซึ่งมาร่วมงาน อัตลักษณ์แห่งสยาม (Identity of Siam) ครั้งที่ 14 เมื่อวันที่ 22-24 พฤษภาคม 2566 เล่าถึงความเป็นมาของลายดอกรังฮอ ว่าเป็นลวดลายโบราณของเขมร ต้องอาศัยความประณีตบรรจง ทักษะ ประสบการณ์ ในการฝึกฝน เรียนรู้ กรรมวิธีและขั้นตอนมีความละเอียด ตั้งแต่การนำทองมาหลอมละลาย การควบคุมอุณหภูมิของไฟ การใช้เท้าเหยียบเครื่องเป่าไฟ การใช้นำมันเบนซินในการหลอมละลาย การตีทอง การขึ้นลวดลาย

ลายดอกรังฮอ เอกลักษณ์ของศิลปะอีสานใต้ เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายมานับร้อยปี ครูช่างสมศักดิ์แห่งอำเภอเขวาสินรินทร์ เล่าถึงการทำ ‘ไข่ปลา’ ตามแบบโบราณดั้งเดิม

“ผมยังคงการทำแบบโบราณไว้ครบถ้วนทุกขั้นตอน การทำลวดลายดอกรังฮอ ต้องทำจุดไข่ปลาซ้อน ๆ กัน 3 ชั้น อย่างต่างหูใช้ไข่ปลาประมาณ 300 เม็ด เม็ดเล็ก ๆ อย่างที่เห็นนี่แหละครับ ผมต้องใช้เวลาในการทำนานมาก และเพราะอยากรักษา การทำแบบดั้งเดิมเอาไว้ จึงทำให้เครื่องประดับแต่ละชิ้นใช้เวลานาน เพื่อให้งานของตัวเองมีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำใคร ลายดอกรังฮอ จะมีไข่ปลาเป็นส่วนประกอบสำคัญของลาย ต้องใช้ความระวังตอนเชื่อมทอง ถ้ามือไม่ถึง เชื่อมทองไม่ดี ทองจะลายติดกัน อย่างที่เห็น ไข่ปลาเม็ดเล็กจิ๋วมาก ต้องอาศัยความชำนาญในการทำอย่างมาก ลายดอกรังฮอใช้ทำ ‘จาร’ หรือสร้อยโบราณ ‘ระย้า’ หรือพวงลำยูสะไดย์ ก็จะมีลักษณะเป็นพวงระย้า และ ‘กะจอน’ หรือต่างหู”  

ก้านต่างหูโบราณ

            อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของครูช่างสมศักดิ์ คือ ก้านต่างหูแบบโบราณ หนึ่งผลงานชิ้นโบว์แดงนำมาจัดแสดงในงาน อัตลักษณ์แห่งสยาม

            “เห็นไหมครับต่างหู จะมีก้านต่างหู 2 แบบ ทำคู่กันไว้ ตรงนี้จะเป็น ก้านใหญ่ และอีกอันเป็น ก้านห้อย ก้านต่างหูแบบโบราณจะหนา โค้ง งอ มีความแข็งแรง งานช่างแบบนี้ทำกันมาร้อยกว่าปี ก้านที่ใหญ่แบบนี้ทำให้เรานึกไปถึงว่าสมัยก่อน คนในยุคนั้น นิยมก้านต่างหูแบบนี้ และเป็นการออกแบบเพื่อให้เข้ากับใบหูของคนเมื่อร้อยกว่าปี”

            ครูช่างสมศักดิ์ เล่าถึงขั้นตอนและกรรมวิธีการทำ ก้านต่างหูแบบโบราณ ว่าต้องใช้ค้อนในการตีตั้งแต่ปลายลวดไปจนสุดโคน จากนั้นนำมาดัดด้วยเขาควาย แล้วจึงขัดด้วยกระดาษทรายอีกทีเพื่อให้เรียบเนียน ในการทำก้านต่างหูแบบโบราณ แต่ละข้างใช้เวลาทำประมาณ 3 ชั่วโมง

ศิลปะนิยมแบบอีสานใต้ ลวดลายแบบโบราณตกทอดจากบรรพบุรุษชาวเขมร ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการอพยพย้ายถิ่นเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดสุรินทร์ ของสกุลช่างตระกูล “มุตะโสภา” จากการส่งต่อภายในครอบครัวสู่ชุมชน เผยแพร่ไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นประวัติศาสตร์มรดกศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาของผู้คนแห่งอำเภอเขวาสินรินทร์ ที่มีเอกลักษณ์งานหัตถศิลป์เป็นของตัวเอง ครูช่างสมศักดิ์ มุตะโสภา เป็นปูชนียบุคคล ที่มีส่วนในการอนุรักษ์ สืบทอด และส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป

หมายเหตุ สามารถดาวน์โหลดอ่านกรรมวิธีและขั้นตอนการทำลวดลายทองและเงิน ของครูช่างสมศักดิ์ มุตะโสภา ในหนังสือ “ครูช่าง ศิลปหัตถกรรม 2561” จากลิงก์ https://www.sacit.or.th/th/detail/2021-01-07-15-54-30

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com