คําผญา (๑๙)
“สุขทุกข์นี้ของกลางเทียมโลก
บ่มีไผหลีกล้มลงหั้นสู่คน”
ความหมาย
ความสุขความทุกข์เป็นสิ่งคู่กัน และก็เป็นสมบัติของโลก ใครเกิดมาในโลกนี้ต่างก็ได้รับความสุขความทุกข์กันทั่วหน้า โดยไม่มีใครหลีกได้พ้น มันเป็นความจริงที่มาก่อนความตาย สุขแล้ว ทุกข์แล้วจึงตาย บางคนอาจตายขณะที่อิ่มเอิบด้วยความสุข บางคนอาจตายขณะที่มีความทุกข์ทรมาน ความสุขความทุกข์เป็นสมบัติของทุกคน นับแต่ขอทาน ยาจกคนมั่งมีมหาเศรษฐี ฯลฯ
ความสุขคืออะไร ความสุขมีกี่ชั้น ความทุกข์คืออะไร ความทุกข์มีกี่ชั้น
เด็ก ๆ ที่อยากได้ของเล่น อยากได้เครื่องแต่งกายสวย ๆ อยากกินอิ่ม อยากนอนหลับ พอได้สมใจ เขาก็มีความสุข เห็นได้จากแววตาได้ยินจากเสียงหัวเราะ ถ้าไม่ได้ตามความต้องการ เขาก็มีความทุกข์ เห็นได้จากแววตาได้ยินจากเสียงร้องไห้ ความสุขความทุกข์ คงมีแค่นั้นกระมัง
หนุ่มสาวเริ่มมีความคิดฝัน วาดหวังอนาคตเรียนจบ มีงานทำมีคนรัก มีครอบครัว ปรารถนาเกียรติยศ ชื่อเสียงและการยอมรับในสังคม ถ้าได้ตามความปรารถนาทุกอย่างก็มีความสุขล้นใจ เป็นแน่แท้ถ้าได้บ้างไม่ได้บ้างก็มีความสุขบ้าง ความทุกข์บ้าง ถ้าไม่ได้เลยก็คงมีความทุกข์ อย่างแสนสาหัส ความสุขความทุกข์ของหนุ่มสาวคงจะเป็นอย่างนี้
คนมีอายุที่เป็นพ่อคนแม่คน เป็นปู่ย่าตายายของคน ก็ต้องวาดหวังให้ลูกหลานเป็นคนดี มีความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานและฐานะความเป็นอยู่ ถ้าได้ตามที่วาดหวังไว้ก็มีความสุขนอนตายตาหลับ ถ้าได้บ้างไม่ได้บ้างก็คงมีสุขมีทุกข์ระคนกันไป แต่ถ้าไม่ได้ตามที่วาดหวังเลยก็คงทุกข์เศร้าในใจ นอนตายตาไม่หลับ ความสุขความทุกข์ของคนมีอายุก็คงเป็นอย่างนี้
นี่คือ ความสุขความทุกข์ทางโลก ความสุขความทุกข์ของปุถุชน ความสุขที่เกิดจากการกระทําของตัวเองหรือคนอื่นกระทําให้ความทุกข์ที่เกิดจากการกระทำของตัวเองหรือคนอื่นกระทำให้
คนในโลกมีความสุขความทุกข์ไม่เหมือนกัน เพราะความสุขความทุกข์ขึ้นอยู่กับความพอใจถ้าพอใจแล้วความสุขก็เกิดขึ้นได้แต่ถ้าไม่พอใจก็มีแต่ความทุกข์ คนขอทานถ้าขอได้วันละ ๑๐๐ บาทตามเป้าหมายที่กําหนด เขาก็มีความสุขเพราะเขาพอใจเพียงเท่านี้ขณะที่เศรษฐีหาเงินได้วันละ ๑๐๐ ล้านบาท แต่มีความทุกข์เพราะความไม่พอใจที่หาเงินไม่ได้ ตามเป้าหมายที่กําหนดไว้
ถ้ามีความพอดี มนุษย์มีความพอใจในความพอดี มนุษย์จะพบความสุขมากกว่าความทุกข์ แต่ก็เป็นเรื่องที่พูดยากอีกนั่นแหละ
บรรทัดฐานของความพอดีอยู่ที่ไหน ความพอดีนี้มันเป็นมาตรฐานทางสากลหรือเป็นความพอใจของส่วนบุคคล
คนหาเช้ากินคํ่าบอกว่า ตัวเองเป็นคนจน ขณะเดียวกันคนที่มีเงินร้อยล้านก็บอกว่าตัวเองเป็นคนจนเหมือนกัน คนหาเช้ากินค่ำต้องมีอะไรขนาดไหนจึงจะบอกตัวเองว่า ไม่จน และคนที่มีเงินร้อยล้านจะต้องมีอีกเท่าไรจึงจะบอกตัวเองว่า ไม่จน
การดํารงชีวิตอยู่ในสังคมและต้องการมี ชีวิตอย่างมีความสุข การเอาชีวิตของตนไปเปรียบเทียบกับชีวิตคนอื่นที่ด้อยกว่าก็จะทําให้รู้สึกพอใจในความเป็นอยู่และมีความสุขอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น เราจนขนาดนี้ก็มียังมีคนอื่นอีกมากที่จนกว่าเรา เราลําบากขนาดนี้ก็ยังมีคนอื่นอีกมากที่ลําบากกว่าเรา ถ้าคิดอย่างนี้เราจะรู้สึกว่า มีความสุข แต่ถ้าเราเอาชีวิตของเราไปเปรียบเทียบกับคนที่เด่นกว่าเรา เราจะไม่พอใจ เราจะพบแต่ความทุกข์ เช่น เราจะทำอย่างไรจึงจะรวยเท่าคนนั้นคนโน้น เราจะทําอย่างไรจึงจะเก่งเหมือนคนนี้คนนั้น เราเอาตัวเองไปแข่งเขาระหว่างที่ลงมือแข่งก็ทุกข์มากแล้ว ยิ่งถ้าแข่งแล้วไม่ประสบผลสำเร็จไม่รวยเท่าเขา ไม่เก่งเท่าเขา เราก็จะทุกข์อย่างสาหัส
ปัจจุบันนี้เราแข่งกันแทบทุกเรื่อง แข่งกันอย่างเอาเป็นเอาตาย วัยเรียนก็แข่งกัน วัยทำงานก็แข่งกัน องค์กร บริษัทต่าง ๆ ก็แข่งกัน โดยเฉพาะในโลกของธุรกิจ
การแข่งขันกันเป็นสิ่งดี เพราะจะทำให้เกิดการพัฒนา เกิดความเจริญก้าวหน้า แต่ผลเสียก็มีมากมายมหาศาลทุกแห่งที่มีการแข่งขันย่อมมีการใช้ความคิด กลยุทธ์ วิธีการ และการใช้เครื่องมือทุกอย่างเพื่อให้ได้ชัยชนะ ความอยากชนะทำให้ละเลยต่อศีลธรรมอันดีงาม ละเลยความรับผิดชอบต่อสังคม ผู้ชนะอาจมีความสุข แต่อาจไม่รู้ตัวว่าได้ทําลายคู่แข่ง ทําลายคุณธรรมจริยธรรมไปแล้ว
การแข่งขันที่ดีที่สุดก็คือการแข่งขันกับตัวเอง เพราะไม่ได้ทําลายคู่ต่อสู้ไม่ได้ทําลายศีลธรรม เมื่อถึงจุดที่พอใจเราก็มีความสุข
พูดเรื่องนี้ไปยาวเท่าไรก็ไม่รู้จักจบ สรุปว่า สุขทุกข์นี้ของกลางเทียมโลก บ่มีไผหลีกล้ม ลงหั้นสู่คน…
***
คอลัมน์ ปรัชญาอีสาน นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๔| สิงหาคม ๒๕๖๐
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220