บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๑)
สาส์นจากทางอีศาน
บทวิจารณ์แนวอรรถสาระ~สัจจนิยม~ชาติพันธุ์วรรณนา “ทาง”…หมาเก้าหาง ดั้นเมฆฟ้า (๑)
ผู้เขียน อ่าน “ทาง” ผลงานรวมบทกวีของ “ปรีดา ข้าวบ่อ” จบเล่มรวดเดียวเมื่อราวสามสี่ปีก่อน เพื่อใช้พูดสดในงานประชุมเสวนาทางวรรณกรรมครั้งหนึ่งของนิตยสารทางอีศาน ที่ไร่จิมทอมป์สัน ซึ่งคุณปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการทางอีศาน ได้ใช้โอกาสนั้นเปิดตัวหนังสือรวมผลงานกวีของตนเอง ชื่อว่า “ทาง”
เวลาผ่านไป เมื่อเริ่มมีเวลาว่างจากงานวิจัยมหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง ปิดต้นฉบับของตัวเองและส่งเข้าสู่กระบวนการจัดหน้าของสำนักพิมพ์แล้ว ใจรักที่อยากจะทำงานด้านวรรณกรรมวิจารณ์ที่ได้เลิกรามานานก็หวนคืนมา ก็หยิบเอางานกวีนิพนธ์ของใครต่อใครที่ตัวเองสนใจมาตั้งเรียงไว้ ผลงานวรรณกรรมรวมเล่ม ชื่อว่า “ทาง” ของ ปรีดา ข้าวบ่อ คือหนึ่งในจำนวนนั้น ที่ควรค่าแก่การนำมาอ่านทบทวนอย่างละเอียด เพื่อพินิจย้อนทวน ย้อนคิด อีกหลายตลบ เพื่อการนำเสนองานวิจารณ์วรรณกรรมร่วมสมัย
เนื่องจาก ปรีดา ข้าวบ่อ ใช้คำเรียบง่าย สั้น กระชับ ในการนำเสนอ ‘บทกวี’ ของเขา
แวบแรกที่คิดคือ หนังสือรวมบทกวี “ทาง” มีรูปแบบและเนื้อหา จัดให้เข้าข่าย ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ได้สบาย ๆ โดยเป็น ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ ที่มีกลิ่นอายของ ‘ความเป็นอีศาน’ ร่วมยุคสมัยปัจจุบันในช่วงทศวรรษ ๒๕๖๐ อันเป็นช่วงเวลาหลังจากที่กวีนักเขียนศิลปินและนักอ่าน ‘วรรณกรรมเพื่อชีวิต’ นับจากทศวรรษ ๒๕๑๐ ได้ผ่านความร้อนหนาวรุนแรงจากผลสะเทือนของ รัฐประหารนองเลือด ‘๖ ตุลาคม ๒๕๑๙’ มาแล้วอย่างโชกโชน โดยจำนวนไม่น้อยได้ ‘เข้าป่า’ ไป แล้วก็กลับ คืน ‘สู่เมือง’ ซึ่งปรีดา ข้าวบ่อ ก็จัดว่าเป็น ‘กวีคืนเมือง’ ด้วย
เมื่ออ่านพินิจพิเคราะห์ “ทาง” อีกคำรบหนึ่ง แบบไม่เร่งรีบเร่งรัดแล้ว ก็ได้ข้อสรุปในใจที่ชัดเจนขึ้นบางประการ ดังนี้
ถ้าจะจับ ‘ทางกวี’ ของ ปรีดา ข้าวบ่อ ชัดเจนว่าผลงานในภาพรวมของเขา
ให้ภาพปรีดาเป็น “อรรถกวี แนวสังคมสัจจนิยม”
หมายถึง กวีที่นำเสนอผลงานด้านอรรถสาระ ด้วยวิจารณญาณที่เป็นแบบสังคมสัจจนิยม (Social Realism)
ภาพลักษณ์ที่ฉายความเป็น ‘อรรถกวีสัจจนิยม’ ในผลงานรวมเล่มชื่อว่า “ทาง” ชิ้นนี้ มีค่อนข้างสูงทีเดียว เหตุเพราะ…
ประการที่หนึ่ง มีหลายบทใน “ทาง” ปรีดาได้อุทิศเวลาและพื้นที่ให้กับ ‘ปูชนียบุคคล’ ที่ล่วงลับไปแล้ว งานกวีแนวนี้อาจจะเรียกว่า “บทคารวาลัย” คือ
การเขียนบทไว้อาลัยให้กับ กวี นักเขียน นักคิด นักแปล หรือ นักต่อสู้เพื่อประชาชนทั้งหลาย ที่ล้วนมีอุดมการณ์ทางการเมือง แนว ‘สังคมสัจจนิยม’ (Social Realism) ร่วมกัน ส่วนใหญ่เป็นผู้ล่วงลับไปแล้ว
ที่จัดว่าเป็น ‘รุ่นพ่อรุ่นแม่’ ก็มีจำนวนไม่น้อย อาทิเช่น คุณเตียง ศิริขันธ์, คุณสุภา ศิริมานนท์, “ศรีบูรพา” หรือ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์, อาจารย์กรุณาและอาจารย์เรืองอุไร กุศลาสัย ฯลฯ
ในจำนวนนี้ ยังรวมถึง อาจารย์ฉลบชลัยย์ พลางกูร ท่านหลังสุดเพิ่งมีประวัติชีวิตเป็นที่เปิดเผยไม่นานมานี้ว่า มีความลึกล้ำและลึกซึ้งเพียงใดในบริบทประวัติศาสตร์ฝ่ายประชาชน ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่ง ‘เป็นความย้อนแย้ง’ แห่งการต่อสู้ช่วงชิงพื้นที่ทางประวัติศาสตร์การเมืองไทย สืบเนื่องมาจนถึงเหตุการณ์ร่วมสมัย ในกรณีของการ ‘ถอนหมุด’ ของ ‘คณะราษฎร์ ๒๔๗๕’
หลายสิ่งหลายอย่างที่ปรีดาเขียนเชิงคารวาลัย ถึงท่านนักเขียน นักต่อสู้ที่มีอุดมการณ์รุ่นพ่อรุ่นแม่ นับว่าเป็น ‘คุณูปการ’ ต่อสังคม ควรได้รับการคารวะและชื่นชม หากว่ามีการจัดพิมพ์รวมเล่มงานลักษณะนี้ต่อ ๆ ไป เนื้อหาและเรื่องราวใน “บทคารวาลัย” เหล่านี้ คือ บทบันทึกชีวประวัติบุคคล ที่เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติของขบวนการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ “บทบันทึกประวัติศาสตร์ภาคประชาชน” ผ่านการบันทึกเกียรติประวัติ ด้วยความคารวะและอาลัยรัก งานกวีลักษณะนี้ ในทางมานุษยวิทยาวัฒนธรรม ถือว่ามีลักษณะเป็น ‘พิธีกรรม’ ฝ่ายประชาชน ควรจะมีบรรณาธิการฝีมือชั้นครู และ|หรือ ทีมงาน ค้นคว้าและเขียนรวบรวมประวัติของท่านผู้ล่วงลับให้ละเอียดลึกซึ้งและรอบด้าน ก็จะช่วยให้ฝ่ายประชาชนได้มี ‘งานนิพนธ์ชีวประวัติบุคคล’ ที่อุดมสมบูรณ์ของกวี นักเขียน ศิลปิน และนักต่อสู้เพื่อประชาชน ทั้งที่เรืองนามและนิรนาม ‘บทคารวาลัย’ พร้อมกับ ‘อรรถกถา’ ที่เคารพความเป็นจริง พิสูจน์ได้ด้วยเกียรติประวัติที่สั่งสมมาชั่วชีวิตของแต่ละท่าน ถือได้ว่าเป็นงานพิธีกรรมที่ควรสืบสานเพื่อยกย่องและเชิดชูเกียรติ ‘คนดีที่น่านับถือของฝ่ายประชาชน’
สักวันหนึ่งข้างหน้า แม้นผู้เขียนอาจจะไม่ทันได้เห็น แต่ก็อยากให้มีสิ่งนี้เกิดขึ้น ‘พิพิธภัณฑ์’ หรือ ‘หอเกียรติยศ’ (Hall of fame) เพื่อกวีของประชาชน เพื่อนักต่อสู้ของประชาชน เพื่อสหายนักปฏิวัติ ควรจะต้องมีขึ้น อย่างเช่นที่จีนและเวียดนามมี และอีกหลายประเทศในยุโรปและอเมริกามี
การเขียนรวบรวม ‘บทคารวาลัย’ และ ‘ชีวประวัติ’ แนวนี้ จะเป็นเนื้อหาที่อุดมสมบูรณ์เพื่อเตรียมการและประกอบส่วนสำหรับ “พิพิธภัณฑ์ประชาชน” ในโอกาสต่อไปข้างหน้า แล้วก็ยังเผยแพร่ออกไปผ่านสื่อและแพล็ตฟอร์มต่าง ๆ ได้ด้วย เรื่องราวที่น่าสนใจเช่นนี้ก็จะสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วโลก ด้วยพลังของสื่อดิจิตอลที่รวดเร็วฉับไวและบันทึกข้อมูลได้มากมายมหาศาล (Big data)
ประการที่สอง คนที่จะเขียน “บทคารวาลัย” ที่ลึกซึ้งให้กับกวีนักคิดนักเขียนนักต่อสู้เพื่อประชาชนได้นั้น คงจะกลั่นความรู้สึกที่ลึกล้ำออกมาเป็นบทกวีไม่ได้ ถ้าไม่มีอารมณ์รักทางชนชั้น ถ้าไม่มีจุดยืน ทัศนะ และอารมณ์ร่วมทางอุดมการณ์ แล้วก็ไม่มีอารมณ์รักฉันสหายต่อรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่ล่วงลับไป รวมถึงรุ่นพี่รุ่นน้องและเพื่อนที่อำลาจากไป ก็คงจะไม่เสียเวลาครุ่นคิดคำนึงและลงแรงลงใจเขียนถึง ตรงจุดนี้ “ปรีดา ข้าวบ่อ” ก็ควรจะได้รับความชื่นชมในด้านการแสดงออกซึ่ง ‘อารมณ์รักทางชนชั้น’ อย่างต่อเนื่อง คงเส้นคงวา จึงอาจกล่าวได้ว่า “บทคารวาลัย” คือ ‘ทางกวี’ ของปรีดา ข้าวบ่อ เพราะเขาถือสิ่งนี้เป็น ‘พิธีกรรม’ ประจำใจ
การแต่งบทกวีด้วยอารมณ์รักและเทิดทูนต่อ “คนของประชาชน” จะไพเราะแค่ไหนนั้น เป็นเรื่องของการประเมิน ‘ทางกวี’ ในเชิงศิลปะการประพันธ์ แต่ในเรื่องของ ‘จิตวิญญาณ’ ของความเป็น ‘กวีของประชาชน’ ก็มีค่าควรแก่การประเมินด้วย
นักวรรณคดีวิจารณ์ให้ความสำคัญไม่แต่เฉพาะ ‘อรรถสาระ’ และ ‘อารมณ์’ ที่แสดงออกผ่านบทกวี หากยังพิจารณาถึงความลึกซึ้งทางจิตวิญญาณของกวีด้วย ในแง่มุมเชิงลึกเช่นนี้ (Depth Psychology) “ปรีดา ข้าวบ่อ” มีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม สาระสำคัญที่สะท้อนออกใน ‘บทคารวาลัย’ ชี้ชัดว่าเขาเป็น ‘อรรถกวี’ ที่ไม่เคยปิดงำอำพรางอุดมการณ์ฝ่ายประชาชน ที่ชัดแจ้ง จริงจัง และเน้นย้ำอย่างไม่คลอนแคลน ดังนั้นงานกวีที่เขาเขียนถึง ‘คนที่เขารักและศรัทธา’ ก็กลับเป็นสิ่งที่สะท้อน ‘ความเป็นตัวตน’ ของ “ปรีดา ข้าวบ่อ” ไปในตัวด้วย ในทางสากลคือสิ่งที่เรียกกันว่า “The Interplay of texts and poet’s identification”
ประการที่สาม ในแง่ของ ‘ทางกวี’ อันเป็นลักษณะเฉพาะตนนั้น “ปรีดา ข้าวบ่อ” มีอะไรบางอย่างที่ค่อนข้างพิเศษในแนวพินิจของผู้เขียน ดังสังเกตได้ว่า เมื่อเขาเขียนถึงใครบางคนหรือกวีบางท่านที่เขานิยมชมชอบมาก ๆ เขาจะทำได้ดีเป็นพิเศษในการ ‘จับจุดเด่นที่สุด’ ของผู้นั้น มานำเสนอเป็นบทกวี
บทกวีแนว ‘คารวาลัย’ ที่จัดว่าเด่นที่สุดบทหนึ่งในทัศนะของผู้เขียน คือบทที่ปรีดาเขียนถึงกวี ‘ชั้นครู’ คือ ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ความสามารถพิเศษของปรีดาแสดงออกด้วยการถอดบุคลิกลักษณะที่มีความพิเศษ แหวกแนว ส่วนที่เป็น ‘อัตลักษณ์’ ของท่านอังคารออกมาได้อย่างคมชัด ทั้งนี้เขาไม่เพียงแต่ ‘ถอดบุคลิก’ ได้ทางวิธีคิดและมุมมอง หากยังสามารถถ่ายทอดออกมาเป็น ‘บทกวี’ ที่โดดเด่นได้ด้วย ดังเช่นใน ‘บทคารวาลัย’ ที่มีชื่อว่า :
“พลันที่ อังคาร กัลยาณพงศ์ เดินทางไปถึงสวรรค์”
‘บท’ ข้างต้น เป็นชื่อบทกวีที่โดดเด่นด้าน ‘การถอดบุคลิก’ อันเป็น ‘อัตลักษณ์บุคคล’ แบบท่านอังคารออกมา ด้วยวิธีการนำเสนอที่แยบยล
‘บทคารวาลัย’ นี้ แสดงให้เห็นว่า ปรีดา ข้าวบ่อ มีสายตาพิเศษ ในการเพ่งพินิจคน จากรูปธรรมสู่นามธรรม ด้วยการสอดใส่ ‘จินตนาการ’ ที่ลึกซึ้ง ทำให้ ‘คนที่เขาเขียนถึง’ ไม่แปลกแยกกับ ‘บทของตนเอง’ ที่ถูกนำเสนอต่อสาธารณะ ซึ่งต่างจากนานาบทร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติ ที่ผู้อ่านที่มีจิตละเอียด อาจจะรู้สึกได้ว่า ‘ตัวบท’ กับความเป็นจริง และ ‘ตัวตนจริง’ กับบทเยินยอ มีความแปลกแยกต่อกัน ในทางทฤษฎีวรรณคดีวิจารณ์ถือว่า งานประเภทหลังเข้าข่ายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Fancy’ มิใช่ ‘Imagination’ จึงอาจกล่าวได้ว่า ปรีดา ข้าวบ่อ มีศักดิ์ศรีของความเป็นกวีแนว ‘Imagination’ แม้ด้านหลักและในภาพรวม เขาเป็นอรรถกวี แต่เขาเขียนบทกวีด้วยจิตวิญญาณที่ซื่อสัตย์ต่อ ‘จินตนาการ’ มิได้ทำเพียงการประกอบคำเข้าโครงสร้างฉันทลักษณ์ และสร้างวาทกรรม ‘ฝันเฟื่อง’ อันเป็นเพียง ‘ภาพมายา’ ดังจะเห็นได้ว่า
ถ้าเปรียบ ‘บทคารวาลัย’ ที่ปรีดาบรรจงแต่งให้เป็น ‘บทละคร’ (ภาคสวรรค์)
ท่านอังคาร แม้ล่วงลับสู่ปรโลกแล้ว ก็ยังคง ‘เล่นบท’ นี้ได้โดยไม่เคอะเขิน…
“ท่านอังคารเดินทางถึงพรหมโลก ผ่านแม่น้ำตาดโตรกภูผาถ้ำ
ชุดฝ้ายขาวสะพายย่ามไพลินประคำ เงยหน้าดุ่มด่ำเข้าหาเทวราชันย์
ดิ่งเข้าจับเนื้อต้องตัวเทพองค์อินทร์ มุ่งบริภาษสิ้นถ้อยคำสุดแสบสันต์
ผู้เฝ้าแหนเต็มท้องพระโรงตะลึงงัน ดุจนรกแตกพลันต่อหน้าต่อตา
คำท่านอังคารหลั่งจากใจ “กี่กัปกัลป์อสงไขยละเหวยหวา
เฝ้านั่งนอนบริกรรมสอนเทวา แต่ปวงข้าฯมนุษย์โลกยิ่งพ่ายพัง
หยุดพูดเลิกประทับแท่นวิมานเมฆ หยุดเสกคาถามนตราขลัง
ลงมาได้แล้วจากแก้วบัลลังก์ จงมานั่งนิ่งฟังความเป็นจริง”
บทกวีที่คัดมา ‘สี่บท แปดคำกลอน สิบหกวรรค’ ข้างต้น เป็นตัวอย่างคำกวีเชิง ‘จินตนาการ’ ที่แสดงว่า ปรีดามีความสามารถพิเศษในการสร้าง ‘จินตภาพ’ ด้วยการ ‘ถอดบุคลิกลักษณะ’ อันเป็น ‘ตัวตน’ แท้จริง (Identity) ของท่านกวีอังคาร พร้อมกันไปกับการ ‘ถอดความคิด’ ซึ่งก็คือ ‘ถอดรหัสตัวตน’ (De-code) ความเป็น ‘ท่านอังคาร’ ได้อย่างเหมาะเจาะ ตรงความเป็นจริงได้อย่างน่าพิศวง ด้วยถ้อยทีลีลาของปรีดาเช่นว่านี้เอง ที่ทำให้เนื้อหางานกวีของเขามีลักษณะพิเศษ แบบ ‘บทซ้อนบท’
ในส่วนนี้ ถือว่าเป็น “ทางกวี” ที่น่าชื่นชมมากเป็นพิเศษในงาน “ทาง” ของ ปรีดา ข้าวบ่อ เพราะบ่งบอกความสามารถเฉพาะของเขา ในการ ‘ถอดรหัสอัตลักษณ์บุคคล’ ที่เขาเขียนถึง ให้เป็นทั้ง ‘บทกวี~คารวาลัย’ (‘ตัวตน’ ท่านอังคาร) และ ‘บทกวี~สื่อความในใจกวี’ (‘ตัวตน’ ปรีดา) ได้ด้วย ตรงนี้มีความสำคัญมาก เพราะไม่ใช่ว่าใครจะทำเช่นนี้กันได้ทุกคนก็หาไม่
เมื่อวิเคราะห์มาถึงจุดนี้ จะเห็นได้ว่า ผู้เขียนเริ่มใช้ศัพท์สำนวนภาษาแบบ ‘โพสต์โมเดิร์น’ (หลังสมัยใหม่) เพื่อสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดกับท่านผู้อ่าน ในส่วนที่คิดว่าเป็นประเด็นสำคัญ เพราะการที่กวีปรีดาทำเช่นว่าข้างต้นได้นั้น คือ ‘การถอดรหัสอัตลักษณ์บุคคล’ ซ้อนทับ โดยมีกระบวนการของการใช้ “บทเล่นกับบท” (The Interplay of the Texts) อย่างชัดแจ้ง
‘การเข้ารหัส’ (En-code) คือ มุมมองสำคัญที่นักคิดหลังสมัยใหม่จะต้องสามารถมองทะลุทะลวง ‘ภาษา’ (ในบริบทนี้ คือ ภาษากวี) แล้วแลเห็นรหัสสัญญะใน ‘วาทกรรม’ ที่ซุกซ่อนไว้อย่างล้ำลึกในระดับ ‘โครงสร้าง’ มิใช่พื้นผิว
‘การถอดรหัส’ (De-code) คือ วิธีวิทยาการวิจัย และกระบวนการพินิจพิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ นักอ่านนักคิดนักเขียนควรฝึกปรือให้เยี่ยมยุทธ์ เพื่อภารกิจการสร้างสรรค์วรรณกรรมและผลิตสร้างวาทกรรมเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม