บทเรียนวิธีสู้โควิดดีที่สุด
ขณะที่วัคซีนมาแล้ว แต่ตัวเลขผู้ติดโควิดภาพรวมทั่วโลกไม่ได้ลดลง วันละ ๗-๘ แสน รวม ๑๔๒ ล้าน ตาย ๓ ล้าน แต่ประเทศที่ฉีดวัคซีนวงกว้างอย่างอิสราแอล อังกฤษ อเมริกา สถานการณ์ดูดีขึ้น ผู้ติดโควิดน้อยลง อิสราแอลมีภาพฉลอง “ชัยชนะ” และให้ไปไหนมาไหนโดยไม่ใส่แมสก์ได้ ประเทศอื่น ๆ ก็เริ่มมองข้ามช็อตไปว่า หลังโควิดจะปรับชีวิตและสังคมอย่างไร
ขณะที่เมืองไทยยังอยู่ในสถานการณ์ “ตระหนก” เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นจนอาจตามไม่ได้ไล่ไม่ทัน ตอนนั้นก็แปลว่า จะเป็นเหมือนประเทศอื่น ๆ ที่เพิ่มไปเรื่อย ๆ จนเป็นแสนเป็นล้าน จนกว่าจะได้วัคซีน
ขณะที่ “ทางเลือก” การป้องกันรักษาโควิดมีมานานแล้ว แต่ดูเหมือนคน “จ้อง” แต่วัคซีนเท่านั้น รอเหมือนให้เทวดามาโปรด ทั้ง ๆ ที่มีวิธีการที่จะป้องกันตนเอง และถ้าเกิดติดก็จะไม่เจ็บป่วยถึงขั้นต้องไปโรงพยาบาล ดูแลตัวเองได้ ซึ่งก็ไม่ใช่มีแต่ฟ้าทลายโจร แต่หมายถึงการดูแลสุขภาพแบบ “องค์รวม”
ความจริง การที่ไทยมี “ภูมิคุ้มกัน” ดีมาปีกว่าจนได้รับการยกย่องไปทั่วโลก ไม่ใช่เพราะมีวัคซีนหรือยาดี แต่เพราะมาตรการ “ล้างมือ ถือระยะ สวมแมสก์” โดยรัฐเองก็มีมาตรการ “ล็อคดาวน์” ไปพร้อมกัน แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง แรงกว่าโควิดอีก เพราะคนไม่ติดโควิดแต่ทนทุกข์ทรมานมากกว่าและกำลังอดตาย
เพราะรัฐบาลไม่มีมาตรการดีพอเพื่อ “ชดเชย” ช่วยเหลือผู้คนในทุกภาคส่วนอย่าง “พอเพียง” เหมือนที่หลายประเทศที่พัฒนาแล้วเขาทำกัน โดยมีการผ่อนหนักผ่อนเบา แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงมากกว่าไทยมากอย่างเยอรมนี หรือญี่ปุ่น แต่ก็หาจุด “สมดุล” ได้ลงตัวพอสมควร ผู้คนไม่ทุกข์มาก
แปลกใจว่า กระทรวงสาธารณสุขก็ดี หน่วยงานอย่าง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) หรือ สช. (สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ) ก็ดี ดูเหมือนแทบไม่มีบทบาทอะไรในการ “สู้โควิด” ด้วยมาตรการที่เป็น “ทางเลือก” ซึ่งที่จริงสำคัญกว่า “ทางหลัก” ด้วยซ้ำ คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึก และให้ผู้คน “พึ่งตนเอง” ดูแลตนเองให้มากที่สุด แค่ “ประกาศเตือน-ขอร้อง” คงไม่พอ น่าจะมีอีกมากมายหลายวิธีที่ดีกว่า
เพราะถ้าเชื่อว่า “เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตก็เปลี่ยน สังคมก็เปลี่ยน สถานการณ์โควิดก็จะเปลี่ยนด้วย”
ปรับวิธีคิดโควิดป้องกันได้
วิกฤติโควิดเป็นโอกาสให้ได้เรียนรู้อย่างน้อยเรื่อง “สุขภาพ” ว่ามีวิธีคิดสำคัญอยู่ ๒ แบบ ที่ครอบงำโลกนี้มานาน แบบที่หนึ่ง คือ แบบโบราณที่สืบสานกันมาจนถึงทุกวันนี้ที่มองว่า คนป่วยเพราะสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่สมดุล ร้อนไปเย็นไป ธาตุแตก ต้องพัก ต้องล้มหมอนนอนเสื่อ อันนี้ไม่พูดถึงว่า ผีทำ
วิธีรักษาแบบนี้จึงพยายามให้กินอาหารที่มีประโยชน์ (คะลำ ก๋ำกิ๋น งดของแสลง) พักผ่อน ให้ยาสมุนไพร ซึ่งก็มาจากธรรมชาติเพื่อ “บำรุง” ให้แข็งแรง รวมทั้งมีการ “สู่ขวัญ” จะได้มีกำลังใจและฟื้นคืนมาปกติได้เร็วขึ้น
แบบที่สอง คือ แบบที่เป็นกระแสหลักทุกวันนี้ คือ คนป่วยเพราะมี “เชื้อโรค” รุกราน ที่เรียกว่า ไวรัส แบคทีเรีย ก็แยกย่อยออกไปอีกอย่างการเกิดความผิดเพี้ยนของยีน ที่ทำให้เกิดมะเร็ง และอื่น ๆ ที่จะไม่พูดถึง วิธีรักษาจึงต้อง “ฆ่าเชื้อโรค” เหล่านี้
เป็นการรบที่สู้กันมากว่าร้อยปีตั้งแต่มีหลุยส์ ปาสเตอร์ ที่บอกว่า เชื้อโรคแต่ละชนิดทำให้เกิดโรคแต่ละอย่าง เขาคิดค้นยาปฏิชีวนะ (antibiotic) ที่เราใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยจนเกิดอาการดื้อยา เพราะเชื้อโรคเก่ง ปรับตัวได้ นี่คือคำอธิบายเรื่องที่มาสาเหตุของโรคและความเจ็บป่วยที่แพทย์ใช้กัน
หลุยส์ ปาสเตอร์ (1822-1895) นักชีววิทยาผู้โด่งดังชาวฝรั่งเศส มีคนร่วมรุ่นชาติเดียวกัน คือ อองตวน เบฌอง (Antoine Béchamp 1816 – 1908) เป็นนักชีววิทยาเหมือนกัน แต่มีแนวคิดคนละขั้ว เขาไม่เชื่อว่า “เชื้อโรค” จะรุกรานคนให้เจ็บป่วยได้
เบฌองบอกว่า คนป่วยเพราะร่างกายโดยรวม “ไม่แข็งแรง” กินอาหารไม่เหมาะสม นอนไม่พอ ไม่ออกกำลังกาย อยู่ในพื้นที่ไม่ดี อับชื้น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีมลพิษมาก ในร่างกายคนเรามีเชื้อโรคมากมายเต็มไปหมด แต่ทำอะไรไม่ได้เพราะร่างกายเราแข็งแรง
นี่เป็นเพียงการสรุปสั้น ๆ เพียงเพื่อให้เข้าใจว่า คนเราทุกวันนี้ “เชื่อ” ในทั้งสองวิธี อยู่ที่ว่าเชื่อวิธีไหนมากกว่า บางคนเชื่ออย่างแรกแบบสุดโต่ง หมอเป็นเทวดา ยาเป็นของวิเศษ เป็นอะไรมาก็วิ่งไปหาหมอหายาทันที
อย่างโควิดมาก็รอวัคซีนอย่างเดียว เชื่อมั่นว่า ถ้ามาแล้วทุกอย่างก็จบ ระหว่างนี้จึงไม่ดูแลป้องกันตนเอง เพราะที่จริงสถานการณ์โควิดกำลังบอกว่า ทฤษฎีที่สองของเบฌองน่าจะใช้ได้ดีกว่า และทุกหน่วยงานก็แนะนำให้ใช้วิธีนี้มากที่สุด คือ ล้างมือ ถือระยะห่าง สวมแมสก์ และการล็อคดาวน์แบบเข้มก็คือแนวคิดจากเบฌองด้วย ที่บอกว่า “อย่าไปหาเรื่องเพื่อหาโรค จะได้ไม่เป็นโรค”
การที่แนวคิดเรื่องเชื้อโรคครอบงำเราทุกวันนี้อย่างรุนแรง ทำให้เราเชื่อทฤษฎีเชื้อโรคแบบไม่ลืมหูลืมตา แบบไม่ต้องใช้วิจารณญาณใด ๆ ส่วนสำคัญเป็นเพราะธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจยา หรือแพทย์พาณิชย์ ในโลกที่ใช้ระบบทุนนิยม ส่งเสริมการบริโภค ต้องการทำกำไรสูงสุด แม้แต่โรงพยาบาลไทยยังเข้าตลาดหุ้น
ลองคิดถึงแค่เรื่องคอเลสเทอรอลที่ก่อนนี้สมาคมแพทย์ทั่วโลกรวมหัวกันกำหนดว่าถ้า ๒๕๐ อันตราย เกินนี้ต้องกินยา วันดีคืนดีลดลงมา ๒๐๐ อ้างการวิจัยว่า ๒๕๐ สูงเกินไป ลองคิดดูว่า บริษัทยาได้กำไรไปอีกเท่าไร จะมีหมอสักกี่คนที่กล้าเป็นแกะดำออกมาบอกว่า ไขมันที่เรียกว่าคอเลสเทอรอลนั้นเรา “โดนหลอก” ไม่ได้อันตรายอะไรขนาดนั้น และต้องแยกด้วยว่า ไขมันดีกับไม่ดีสัดส่วนเป็นอย่างไร
นี่คือตัวอย่างเดียวของการคิดแบบแยกส่วน คิดว่าเชื้อโรคหนึ่งทำให้เกิดโรคหนึ่ง จึงรักษาตามโรค ตามอาการ ไม่ได้รักษา “คนไข้” ที่ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ที่เรียกว่า การแพทย์แบบองค์รวม ที่รักษาคนมากกว่ารักษาไข้ หรือดูภาพรวมทั้งหมด อวัยวะทุกส่วน รวมไปถึงจิตใจของคนไข้ด้วย
คิดถึงพ่อทองอ่อน สิทธิไกรพงษ์ ปราชญ์ชาวบ้าน อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น ผู้ได้ประกาศนิยบัตรแพทย์แผนไทยสาขาเภสัชกรรมและเวชกรรม ผู้เชี่ยวชาญผู้ทรงคุณวุฒิให้กระทรวงสาธารณสุขและมหิดล เรื่องศัพท์ภาษาอีสานที่เรียกชื่อสมุนไพรและโรคไม่เหมือนกัน
หลายปีก่อนมีนักวิจัยคนหนึ่งไปถามพ่อทองอ่อนว่า ไวรัส แพทย์แผนโบราณเขาเรียกอะไร พ่อทองอ่อนตอบว่า “จัก” (ไม่รู้) ถามอีกว่า “แบคทีเรีย แพทย์แผนโบราณเขาเรียกว่าอะไร” พ่อตอบว่า “จัก” อีก ที่จริงพ่อแกล้งตอบ แล้วอธิบายว่า ในแพทย์แผนโบราณไม่มีไวรัส แบคทีเรีย เพราะมีวิธีคิดอีกแบบหนึ่ง เป็นสุขภาพองค์รวม
นี่คือวิธีคิดคล้ายกับอองตวน เบฌอง ชาวฝรั่งเศส ที่คนไม่ค่อยรู้จักเท่าหลุยส์ ปาสเตอร์ แต่วันนี้โควิดมาทำให้ชื่อของเขาได้รับการกล่าวขานถึงไม่น้อย แต่คนฝรั่งเศสดูจะไม่สน คนติดโควิดไปแล้ว ๕ ล้านกว่า อันดับ ๔ ของโลก และยังเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ ละหลายหมื่น หลายคนบอกว่า วัคซีนมาเดี๋ยวก็จบ
ซึ่งโยงไปเกี่ยวกับนักปราชญ์ฝรั่งเศสอีก “คู่หนึ่ง” ที่โด่งดังมาก คือ เดการ์ต (1596-1650) กับปัสกาล (1623-1662)
เรอเน เดการ์ต คือนักปรัชญาเหตุผลนิยมที่โด่งดังที่สุด เขาคือเจ้าของวาทะ “ฉันคิด ฉันจึงเป็นอยู่” (I think therefore I am) เขายกเรื่อง “เหตุผล” ยิ่งใหญ่สุดจนมนุษย์ถูกจำกัดความและตีค่าเพราะเหตุผลเท่านั้น คุณคิดเป็น คุณจึงเป็นคน คิดไม่เป็นก็ไม่เป็นคน ค่าของคนอยู่ที่ความคิด (เท่านั้น)
แล้วไปวัดความฉลาดความโง่ด้วยใบปริญญาไปเลย ต้องจบปริญญาตรีจึงจะฉลาด (และไปเป็นนักการเมืองระดับชาติหรือท้องถิ่นได้) ปริญญาโทเก่งกว่าปริญญาตรี ปริญญาเอกเป็นสัพพัญญูเทวดา
ภาษาฝรั่งเศสจึงเรียกคนที่เถียงเก่ง ให้ความคิดและเหตุผลมาก ๆ ว่า พวกคาร์เตเซียง และแนวคิดเหตุผลนิยมผสมกับวิทยาศาสตร์นิวตัน นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงโลกไปในทางที่วิวัฒน์มาถึงเราวันนี้ (แบบแยกส่วนและบิดเบี้ยว)
ปัสกาล คือ คนที่มีวาทะอันงดงามที่ว่า “หัวใจมีเหตุผลที่สมองของเราไม่รู้จัก” เจ้าของแนวคิดแบบ “องค์รวม” ไม่แยกส่วน ไม่กลไก ไม่ลดทอนชีวิตลงมาเหลือเพียง “ความคิด” ไม่ลดทอนโรคภัยไข้เจ็บลงมาเหลือแค่เชื้อโรค และปัสกาลบอกว่า “ขอบฟ้ามิได้อยู่ที่สุดสายตา แต่อยู่ทุกย่างก้าวที่เราเดิน”
สรุปว่า อย่าได้หวังแต่วัคซีนในการป้องกันโควิด เพราะไม่แน่ว่าจะมีโควิดใหม่มาเยือนอีกเมื่อไร หรือตัวเก่าจะกลายพันธุ์ไปจนวัคซีนก็ช่วยไม่ได้เท่าไร และจะมีโรคใหม่อื่น ๆ ที่จะอุบัติขึ้นอีกเมื่อใด
คงต้องฟังไอน์สไตน์ที่บอกว่า “ถ้าคนไม่เปลี่ยนความคิดให้ถึงรากถึงโคน ไม่รอดแน่”
ดีที่สุด คือ ต้องพึ่งตนเอง ท่องไว้ว่า “ยาดีที่สุดคืออาหาร โรงพยาบาลดีที่สุดคือครัว หมอดีที่สุดคือตัวเราเอง” ออกกำลังกาย นอนหลับให้เพียงพอ ลดความเครียด ปล่อยวางบ้าง หาความสุนทรียะในชีวิตด้วยการดูหนัง ฟังเพลง ร้องแพลง อ่านหนังสือ ทำสวน ปลูกผักกินเอง ทำอาหารกินเอง enjoy life !
ทำอะไรแล้วมีความสุข กายใจก็จะแข็งแรง ภูมิคุ้มกันเข้มแข็ง ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้ดีที่สุด
เสรี พพ ๑๙ เมษายน ๒๐๒๑
*****
“เสรี พพ”
ปริญญาตรี, โท (ปรัชญา) ที่กรุงโรม อิตาลี (Universita’ Urbaniana) ปริญญาเอก (ปรัชญา) ที่เมืองมิวนิก เยอรมนี (Hochschule fuer Philosophie)
ภาษาที่ใช้งานได้ดี : ไทย, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาเลียน, เยอรมัน, ลาว ภาษาที่ใช้ได้ขั้นพื้นฐาน : สเปน และละติน
อดีตประสบการณ์ รองศาสตราจารย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้อำนวยการองค์การสหประชาชาติในเอเชียแปซิฟิกด้านเอดส์, บรรยายพิเศษในงานสัมมนาที่สหรัฐฯ ยุโรป เอเชีย, อธิการบดี สถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน ฯลฯ
มีผลงานรวมเล่มกว่า ๔๐ ปก บางเล่มแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส, เยอรมัน.