พระไม้…ลมหายใจคนไทยอีสาน (๑)

บางสิ่งเราเห็นอยู่ทุกวันจนชินตา…จนลืมให้ความสำคัญ วันนี้ที่ฉันไปเที่ยวตลาดนัดจตุจักรจึงได้รู้ สิ่งที่ถูกสร้างจากสองมือด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนากลายเป็นสินค้าเฝ้าหิ้งชิ้นใหม่ของแผง…พระไม้

โดยที่ฉันไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว พระเจ้าไม้หรือพระไม้ ก็ได้โยกย้ายหายจากหิ้งบูชา โต๊ะหมู่ในบ้าน ในวัดทีละองค์สององค์ เปลี่ยนสถานที่ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เพื่อทำหน้าที่เป็นวัตถุโบราณสำหรับเรียนรู้ และกลายเป็นของสะสม ของประดับ ที่ร้ายกว่านั้นคือถูกทิ้งใต้ต้นโพธิ์! เห็นแบบนี้แล้วก็อดใจหายไม่ได้ คิดแล้วเห็นจะไม่ได้การ ตั้งแต่วันนั้นฉันจึงคอยมองหา คอยสังเกตว่าพระไม้อีสานในสถานการณ์วันนี้เป็นอย่างไร

“พระพุทธรูปเดี๋ยวนี้แบ่งเป็นพระใช้และพระเก็บ พระใช้คือ พระที่เอามาประดิษฐานบนแท่นบูชาเพื่อพิธีกรรมต่าง ๆ ส่วนใหญ่เป็นพระทองเหลือง ส่วนพระเก็บคือ ทั้งเก็บไว้ด้วยความอายว่าไม่ทันสมัย และเก็บไว้เพราะมีค่าเกรงว่าจะถูกโจรกรรมไป จึงซุกงำไว้” พระครูบุญชยากร เจ้าอาวาสวัดไชยศรี ให้ความเห็น

จากแผงขายของในจตุจักร

ประวัติการสร้างพระพุทธรูปจนมาถึงการสร้างพระไม้ในภาคอีสาน

ตามตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จโปรดพุทธมารดาบนดาวดึงส์เป็นเวลาสามเดือน สหชาติของพระองค์คือ พระเจ้าปเสนธิโกศลได้คิดถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าอย่างมาก จึงได้แกะสลักรูปเคารพจากไม้แก่นจันทน์ขึ้นมา แต่เนื่องจากไม่มีใครพบหลักฐานนั้น จึงกลายเป็นเพียงชาดกที่เล่าต่อกันมา

จนกระทั่งหลังจากที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ไปแล้ว ๓oo ปี ก็ยังไม่มีการสร้างพระพุทธรูป มีเพียงสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ เช่น ดอกบัว เป็นสัญลักษณ์ของการประสูติ บัลลังก์ กวางหมอบและต้นโพธิ์ เป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ ธรรมจักร ซึ่งคงเดาได้ไม่ยากว่าเป็นสัญลักษณ์ของการประกาศธรรม และสุดท้ายคือเจดีย์ สถูป เป็นสัญลักษณ์ของการปรินิพพานว่าเมื่อมีการถวายพระเพลิงสรีระพระพุทธองค์ก็จะเหลือเพียงนูนดิน

หลักฐานเกี่ยวกับความระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าในยุคนั้นจึงปรากฏเพียงเท่านี้ จนกระทั่งระหว่างพุทธศักราช ๕oo-๕๕o พระยามิลินท์หรือพระเจ้าเมนันเดอร์ที่ ๑ ได้กรีฑาทัพเพื่อแผ่ขยายอาณาเขตไปทั่วบริเวณด้านตะวันตกเฉียงเหนือของชมพูทวีป และ ตั้งราชธานีที่เมืองสากล หลังจากได้พบพระนาคเสน กษัตริย์เชื้อสายกรีกได้เกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงสร้างสถาปัตยกรรมและประติมากรรมทางพุทธศาสนาขึ้นมากมายในแคว้นคันธาราฐ  พระพุทธรูปองค์แรกที่มีหลักฐานการค้นพบสร้างขึ้นในสมัยนี้เอง โดยมีพระพักตร์อย่างชาวยุโรป จีวรมีริ้วคล้ายเครื่องนุ่งห่มของเทวรูปกรีก เรียกพระพุทธรูปแบบนี้ว่า “พระพุทธรูปแบบคันธาราฐ”

แต่ในส่วนการสร้างพระไม้ครั้งแรกของภาคอีสานยังไม่มีหลักฐานที่ปรากฏชัดเจน คาดว่าหลังจากพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชเสด็จสวรรคตในพุทธศักราช ๒๒๓๘ นครเวียงจันทน์เกิดความวุ่นวาย มีการอพยพของผู้คนข้ามฝั่งแม่น้ำโขงมายังไทยเรื่อยมาจนถึงยุคสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ทำให้ดินแดนอีสานตอนบนมีการตั้งบ้านเรือนกันหนาแน่น อิทธิพลจากศิลปะล้านช้างจึงแพร่มาทางการอพยพโยกย้ายถิ่นฐานหรือการสืบทอดงานฝีมือเชิงช่างมาทางเครือญาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานทางพุทธศิลป์

“แหล่งข้อมูลมักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เกิดมาก็เห็นแล้ว’ แต่จากการที่ผมลงพื้นที่สำรวจราว ๆ ห้าร้อยวัดในภาคอีสาน จึงสรุปได้ว่าน่าจะมีการทำขึ้นมาเมื่อประมาณสองร้อยปีที่แล้ว” รองศาสตราจารย์ดอกเตอร์นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เล่าเรื่องการตามรอยพระไม้ให้ฉันฟังในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘นำบุญใส่ใจ สลักไม้ค้ำคูณ’ ที่ทางเทศบาลนครขอนแก่นจัดขึ้นเพื่อสืบสานศิลปะแขนงนี้

อ.ชอบ ดีสวนโคก
อ.นิยม วงศ์พงษ์คํา

คติธรรมในการสร้าง

ขณะที่การสะกดรอยข้อมูลของพระไม้แบบอีสานของฉันดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนั้น  กล่าวได้ว่าเป็นความโชคดีที่ในงานนำบุญใส่ใจสลักไม้ค้ำคูณนั้น ฉันได้พบกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ชอบ ดีสวนโคก อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งท่านได้เมตตาเล่าเรื่องเกี่ยวกับคติสร้างพระพุทธรูปขึ้นว่า เพื่อเป็นการระลึกถึงพระคุณขององค์มหาบุรุษในเรื่องปัญญาคุณ วิสิทธิคุณ และกรุณาธิคุณ

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับ และต่ออายุพระพุทธศาสนาด้วย อันเนื่องจากพุทธวจนะที่ว่า ‘ใครเห็นธรรมะเท่ากับเห็นเราตถาคต’ คือ เมื่อเห็นพระพุทธก็จะนึกคำสอนของพระพุทธองค์ที่เป็นธรรมวินัย และคติสำคัญคือ เป็นการขอให้ได้พบพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ โดยเฉพาะพระศรีอารยเมตไตรยที่จะมาโปรดเวไนยสัตว์ในอนาคต


ไม้คูณที่นํามาแกะสลักในกิจกรรมนําบุญใส่ใจสลักไม้คํ้าคูณ พร้อมแบบร่าง
การแกะสลัก

ไม้ที่นำมาแกะสลักนิยมใช้ต้นไม้ที่มีชื่อและเรื่องราวเกี่ยวพันในพุทธประวัติ รวมถึงมีการพ้องเสียงตามสำเนียงท้องถิ่นที่เชื่อว่าเป็นมงคล เช่น

ไม้โพธิ์ ถือว่าเป็นโพธิบัลลังก์ในการตรัสรู้ ใช้กิ่งที่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก มาแกะสลักองค์พระ ส่วนรากของต้นโพธิ์นิยมแกะเป็นรูปอัครสาวก

ไม้คูณ ในภาษาอีสานมีคำว่า ‘ค้ำคูณ’ มีความหมายว่า ค้ำจุนให้อยู่เย็นเป็นสุข ชาวบ้านนิยมใช้กิ่งและลำต้นในการแกะสลักองค์พระ

ไม้ยอ ใช้ได้ทั้งยอป่าและยอบ้าน การนำไม้ยอมาทำพระเพื่อหวังอานิสงส์ให้คนยกย่องสรรเสริญ

ไม้จันทร์ (แก่นจันทร์) มีหลักฐานทางตำนานที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธประวัติ

ไม้พยูง เชื่อว่าจะช่วยให้คนอื่นเกื้อกูล

ไม้ขนุน ตามการออกเสียงชื่อของต้นไม้ มีความหมายที่อยากให้มีผู้เกื้อหนุน   

ไม้กระโดน คำว่า ‘โดน’ ในภาษาอีสาน แปลว่า นาน การนำมาแกะสลักพระไม้เชื่อว่าจะได้รับอานิสงส์ให้ผู้แกะมีอายุยืนนาน

ไม้มะขาม หากมีอายุมากเนื้อไม้จะมีสีดำ นิยมแกะเป็นพระพุทธรูป โดยเชื่อว่าผู้สร้างจะเป็นที่เกรงขาม และมีรูปร่างแข็งแรง มีอายุยืนดังต้นมะขาม

ไม้ติ้ว พ้องกับหน่วยนับในภาษาอีสานที่มีค่าสูงที่สุด (หน่วย สิบ ร้อย พัน หมื่น แสน ล้าน โกฏิ กือ ตื้อ ติ้ว)

มูกเกี้ย และมูกมัน ความเป็นมงคลของมันอยู่ที่ความหอมของดอกซึ่งออกเป็นช่อขนาดใหญ่

นอกจากนี้ยังมีการนำไม้ชนิดอื่น เช่น แก้ว เต็งรัง ประดู่ มะค่า งิ้ว ส้มกบและแตงแซง มาใช้ในการแกะสลักพระพุทธรูปด้วย

ภายในงาน…ระหว่างที่ผู้ร่วมงานเสวนากำลังแลกเปลี่ยนความรู้แก่กัน จู่ ๆ เสียงของทุกคนก็เบาลง สายตาจับจ้องไปในทิศทางเดียวกัน ชายสูงวัยที่ก้าวผ่านประตูเข้ามาใหม่ดึงสายตาทุกคน  และต่างพากันยกมือไหว้ด้วยความนอบน้อม ท่านคือ พ่อคำอ้าย เดชดวงตา ครูภูมิปัญญาด้านการแกะสลักไม้ ซึ่งรับไหว้พร้อมกับยิ้มให้ทุกคนอย่างมีเมตตา ก่อนจะกวักมือเรียกลูกศิษย์ให้ไปหยิบของสิ่งหนึ่งจากย่ามแล้วถาม

“ลองทายกันดูว่าพระองค์นี้แกะจากไม้อะไร”

บ้างก็ว่าลงรัก บ้างก็ว่าไม้มะขาม บ้างก็ว่าไม้กฤษณา บ้างก็ว่าไม้มะเกลือ ทายว่าตะโกก็ยังมี ดูเหมือนทุกคนจะลืมเรื่องไม้ ‘พญางิ้วดำ’ ไปเสียสิ้น ต่างส่งเสียงฮือฮาเมื่อทราบว่าองค์พระปางห้ามญาติสีดำสนิทตรงหน้านั้นสร้างสรรค์จากพญาไม้นั้น

อาจารย์ชอบผู้ที่มีนิทานเรื่องเล่ามากมาย เมื่อเห็นพระแกะสลักจากไม้งิ้วดำจึงเล่าที่มาของเกร็ดทางคติความเชื่อว่า…

พ่อคําอ้าย เดชดวงตา กับพระไม้งิ้วดํา

(ติดตามต่อฉบับหน้า)

***

คอลัมน์  รายงาน “ทางอีศาน”  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๔ ฉบับที่ ๔๘ | เมษายน ๒๕๕๙

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com


โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ต้นงิ้ว กามารมณ์ และการลงทัณฑ์
ฮูปแต้มวัดไชยศรี
มาคุยมาลำดับความกัน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com