ว่าด้วย เงือก (๒)
“ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี
ลายสักรูปเกล็ดเงือกของชาวจ้วงในกวางสี ภาษาจ้วง เรียกตัวเงือกว่า ตูเงียะรูปเขียนตัวเงียะบนผาถํ้า ข้าพเจ้าถ่ายรูปจากภาพยนตร์ สารคดีของ CCTV
เรื่อง “เงือก” ในคติความเชื่อดึกดำบรรพ์ของชาวจ้วงในกวางสีและกวางตุ้ง ข้าพเจ้ายังค้นคว้าเอกสารภาษาจีนไม่ครบถ้วน เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้ถือเป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น
ภาษาจ้วง มีคำออกเสียงคล้ายคำว่า “เงือก” คือ “เงียะ” “ตูเงียะ” (ตัวเงือก ?)
ตามความเชื่อของนักวิชาการกวางสีโดยทั่วไปเชื่อว่า “ตูเงียะ” เป็นจ้าวแห่งนํ้าเช่นกัน แต่คือ จระเข้ เสียงคำว่า “เงียะ” นั้นคล้ายกับสำเนียงจีนกลางคำว่า “เง่อ” (หรือ เอ้อ) ที่แปลว่า “จระเข้” 鳄
เรื่องที่คำศัพท์ไท-จ้วง กับจีน ออกเสียงใกล้เคียงกันนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร วัฒนธรรมหัวเซี่ย-ฮั่น (จีนแท้ทางภาคเหนือ) กับวัฒนธรรมไป่ผู- ไป่เยวี่ย 百僕- 百 越 (ทางภาคใต้) นั้นมีปฏิสัมพันธ์ถ่ายทอดสู่กันและกันมากมาย คำศัพท์ก็คงยืมใช้ถ่ายทอดซึมซ่านกันไปมาจนมีคำศัพท์ตรงกันเป็นจำ นวนมาก ทำ ให้นักภาษาศาสตร์รุ่นแรก ๆ จัดเอาภาษาจีนกับภาษาไทยอยู่ตระกูลภาษาเดียวกัน คือตระกูลภาษาจีน-ทิเบต แต่ต่อมาพบว่าภาษาไท-จ้วงกับจีนมีระบบเรียงคำในประโยคไม่เหมือนกัน เช่น ภาษาไทยว่า “ไก่ดำ” ภาษาจีนจะว่า “เฮยจี – ดำไก่” ภาษากวางตุ้งว่า “ไก๋กง – ไก่ผู้” ส่วนจีนกลางว่า “จีกง – ไก่ผู้” ร่องรอยการเรียงประโยคตรงข้ามกันนี้ยังมีปรากฏในคัมภีร์เต๋าเต็กเก็ง หลายประโยค แสดงว่า ภาษาฉู่ โบราณ (แคว้นฉู่ หรือฌ้อ เป็นแหล่งต้นตอของลัทธิเต๋า มีคน “ฉู่” 楚 เป็นคนพื้นเมือง เป็นชนในกลุ่มวัฒนธรรมไป่ผู-ไป่เยวี่ย) ก็มีการเรียงคำในประโยคแบบเดียวกับพวกไป่เยวี่ย ที่เป็นต้นเค้าของภาษาไท-จ้วง ต่อมานักภาษาศาสตร์จึงแยกภาษาไท-จ้วง เป็นอีกตระกูลภาษาหนึ่งเรียกว่าตระกูลภาษา ไท-กะได
ย้อนกลับมาที่เรื่อง “ตูเงียะ” ของชาวจ้วงนักวิชาการจ้วงโดยทั่วไปเชื่อว่า “เงียะ” เป็นจ้าวแห่งนํ้า เป็นพี่น้องกับ “ปู้ลัวทัว” บรรพชนของมนุษย์ สัญลักษณ์ของตูเงียะเขาทำเป็นรูปจระเข้ เรื่อง “เงียะ” จึงดูห่างไกลจากเรื่อง “เงือก” ของชาวไทในเวียดนาม
แต่ข้าพเจ้าค้นพบคติความเชื่อแปลก ๆ อย่างหนึ่งในคนพื้นเมืองกวางสีและกวางตุ้งภาษาจีนเรียกว่า “龙 母 文 化” นับถือเจ้าแม่ “แม่มังกร” คนทั่ว ๆ ไปใช้คำจีนว่า 龙 母 – แม่มังกร แต่ในภาษาจ้วงท้องถิ่นเขาไม่เรียก “หลง- มังกรจีน” แต่เรียกว่า Daeggud “เด็กกุด” หมายถึงงูหางกุด (ด้วน) ที่กลายร่างเป็นชายหนุ่มเรียกเจ้าแม่มังกรว่า Yahmaiq “ย่าหม้าย” ศาลเจ้าบูชาเจ้าแม่มีตำนาน เล่ากันว่า เจ้าแม่คือหญิงนางหนึ่งที่เป็นแม่เลี้ยงของ “เด็กกุด” นางไปจับปลา แล้วช้อนได้งูตัวน้อย ๆ ตัวหนึ่ง นางทิ้งไปแล้วช้อนหาปลาต่อ แต่ก็ช้อนได้งูน้อยตัวนั้นอยู่เรื่อย ๆ หลายหน นางจึงนำกลับไปเลี้ยงไว้ที่บ้านแล้ววันหนึ่งขณะที่นางสับผักเลี้ยงหมู นางสับมีดพลาดไปถูกหางงูน้อยขาด หางจึงกุดไป ต่อมางูน้อยเติบโตเป็นมังกรมีอิทธิฤทธิ์ ช่วยเลี้ยงดูหญิงผู้นั้น นางจึงได้รับความเคารพบูชา เรียกกันว่าเจ้าแม่แม่มังกรในภาษาจีน หรือ “ย่าหม้าย” ในภาษาจ้วง
เรื่องมังกรหางกุดมาตรงกับเรื่องเงือกหางกุดของชาวไทในเวียดนาม
ข้าพเจ้าจึงคิดว่า เดิมทีชาวจ้วงก็บูชาเงือกหางกุดเช่นกัน แต่ต่อมาได้รับอิทธิพลจาก “หลง-มังกรจีน” ละลืมเลิกใช้คำว่า “เงือก” หันไปใช้คำว่า “หลง” จากภาษาจีน แล้วทำให้จินตภาพของ “หลง – มังกรจีน” ในเสียง ‘ลวง’ เข้าแทนที่คำว่า “เงือก”
คล้าย ๆ กับที่พวกไทที่ได้รับพุทธพราหมณ์ใช้คำว่า “นาค” มาแทนที่คำว่า “เงือก” นั่นเอง
“เงียะ” เคยเป็นพี่น้องกับคน
ชาวจ้วงในกวางสีแบ่งออกกว้าง ๆ ได้เป็น “จ้วงเหนือ” กับ “จ้วงใต้” พวกจ้วงใต้มีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกับไท-ลาว โบราณมากส่วนพวกจ้วงเหนือใกล้เคียงกับไท-ลาว น้อยกว่าจ้วงใต้
เช่น ชาวจ้วงเหนือจะนับถือ “ปูลั้วทัว” เป็นบรรพชนผู้ให้กำเนิดมนุษย์ เรื่องราวแตกต่างไปจากเรื่อง “แถน” มาสร้างเมืองลุ่ม ชาวจ้วงเหนือมีตำนานการสร้างโลกว่า ตูเปี๊ยะ (ตัวฟ้า หรือตัวฟ้าผ่า), ปู้ลัวทัว (ผู้หลวกทั่ว), ตูเงียะ (ตัวเงือก) และตัวเสือ ร่วมกันสร้างโลก ฟ้า ดิน นํ้า และป่าไม้
ตัวฟ้า สร้างฟ้า และกำกับดูแลฟ้า
ปู้ลัวทัว สร้างดินและมนุษย์
ตัวเงียะ (เงือก) สร้างนํ้า และกำกับดูแลนํ้า
ตัวเสือ (หรือ ตูกุ๊ก) สร้างป่าไม้ และกำกับดูแลป่า
ในคำขับตำนาน “ปู้ลัวทัว” จะมีเกริ่นนำด้วยคำสรรเสริญ “สามอ๋อง” ได้แก่ ตัวฟ้า, ปูลั้วทัว และตัวเงือก หรือสรรเสริญ “สี่ออ๋ ง” คือ เพิ่มตัวเสือเข้าไปอีกหนึ่ง รวมเป็นสี่อ๋อง (คำว่าอ๋อง หมายถึงราชา เป็นคำที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีนฮั่น)
นักวิชาการที่กวางสีสรุปเอาไว้ว่า “ตัวฟ้า” คือเทพบนสวรรค์ เป็นจ้าวแห่งฟ้า “ปูลั้วทัว” คือ เทพบรรพบุรุษของมนุษย์ “ตัวเงียะ” (เงือก) และตัวเสือ คือโทเทม Totem (สัญลักษณ์เคารพบูชาประจำเผ่า) ของชาวจ้วง
จากข้อมูลเบื้องต้น เราได้ข้อสรุปว่าชาวจ้วงดึกดำบรรพ์ บูชา “เงียะ หรือเงือก” เป็นจ้าวแห่งนํ้า
มีนิทานเล่ากันว่าเงียะเป็นพี่น้องกับคน
นิทานเกี่ยวกับกำเนิดโลกและมนุษย์ของชาวจ้วงในกวางสี เล่าว่า ตูเงียะ (ตัวเงือก) เคยเป็นพี่น้องกับคน (บรรพบุรุษของมนุษย์คือปู้ลัวทัว” – ผู้หลวกทั่ว)
ตำนานว่า ผู้หลวกทั่วมีพี่น้องรวมกันสี่ตนคนโตคือ “ตัวฟ้า” (ภาษาจ้วงว่า duz byaj ตูเปี๊ยะ หมายถึง “ฟ้าผ่า”) คนที่สองคือ “ตัวเงียะ” (ภาษาจ้วงว่า duz ngieg ) คนที่สามคือ “ตัวเสือ” (ภาษาจ้วงเหนือถิ่นฐานที่รวบรวมตำนานเหล่านี้ เรียกตัวเสือว่า duz guk ตูกุ๊ก ในภาษาจ้วงใต้ใช้ตรงกับคำไทยว่า “เสือ”) ส่วนคนสุดท้องก็คือ “ปู้ลัวทัว-ผู้หลวกทั่ว”
“ตูเปี๊ยะ – ตัวฟ้าผ่า” พี่คนโตมีฤทธิ์มากเป็นผู้ควบคุมฝน สามารถปล่อยไฟฟ้า (ฟ้าผ่า) มีพลังมาก เที่ยวทำร้ายคนไปทั่ว
“ตัวเงียะ” ก็มีฤทธิ์มากเช่นกัน เป็นผู้ควบคุมนํ้า สามารถปล่อยนํ้าท่วมจมคนและสัตว์
“ตัวเสือ”มีกรงเล็บและเขี้ยวแหลมคมสามารถกัดคนตายได้อย่างง่ายดาย เป็นผู้ควบคุมลม (บางตำนานว่าควบคุมป่า)
“ผู้หลวกทั่ว” ไม่มีฤทธิ์เดชอะไร มีแต่ภูมิปัญญา เขารู้เรื่องทุกอย่าง รู้หลักเหตุผลต่าง ๆ จึงได้รับฉายาว่า “ผู้หลวกทั่ว” (หรือผู้รู้ทั่ว)
ตัวฟ้า ตัวเงียะ ตัวเสือ ใช้ฤทธิ์เดชของตนข่มเหงรังแกผู้หลวกทั่วอยู่เรื่อย ๆ สุดท้ายยังคิดอยากจับผู้หลวกทั่วกินเสีย แต่ทั้งสามตัวอยากจะกินผู้หลวกทั่วตามลำพัง ไม่อยากแบ่งให้ตัวอื่นกิน พวกเขาจึงหาวิธีได้ ตกลงกันว่าพวกเขาจะแข่งขันฤทธิ์เดชกัน ใครร้ายกาจที่สุดจะได้กินผู้หลวกทั่ว โดยในการแข่งขันนั้นจะให้ผู้หลวกทั่วเข้าร่วมด้วย
วิธีการแข่งขันคือ ให้ตัวหนึ่งอยู่ข้างนอก อีกสามตัวเข้าไปอยู่ในกระท่อมเชิงเขา ตัวที่อยู่ข้างนอกแสดงฤทธิ์เดชเต็มที่ หากพวกที่อยู่ในกระท่อมหวาดกลัว ก็นับว่าผู้ชนะคือตัวที่แสดงฤทธิ์เดช เริ่มต้นตัวฟ้าแสดงฤทธิ์เดชก่อน พวกตัวเงือก ตัวเสือ กับผู้หลวกทั่วเข้าไปอยู่ในกระท่อมตัวฟ้าเริ่มแสดงฤทธิ์ด้วยการเรียกฝนห่าใหญ่ตกลงมาจนกระทอ่ มเปยี กปอนโยกเยก พวกที่อยู่ในกระท่อมกลัวว่าตัวฟ้าจะชนะจึงช่วยกันคํ้ายันเสาไว้อย่างเต็มที่ ดังนั้นแม้ตัวฟ้าจะกระหนํ่าตีกลองฟ้า ผ่า (ตามตำนานว่าอาวุธของตัวเปี๊ยะคือกลองมโหระทึก) แรงจนแผ่นดินสะท้านสะเทือนแต่กระท่อมนั้นก็ไม่พัง ตัวฟ้าจึงขว้างฟ้าผ่าลงมาแต่เนื่องจากกระท่อมเปียกนํ้ามาก แม้ถูกฟ้าผ่าแต่ไฟก็ไม่ไหม้ติดกระท่อม ตัวฟ้าจึงพ่ายแพ้
ถึงคราวตัวเงือกแสดงฤทธิ์เดชบ้าง ตัวเงือกสั่งให้นํ้าทะเล นํ้าในแม่นํ้า บึง เกิดคลื่นใหญ่ซัดขึ้นมาที่กระท่อม ตัวฟ้าและตัวเสือกลัวว่าตัวเงือกจะได้กินผู้หลวกทั่ว จึงช่วยกันคํ้ายันกระท่อมไว้ ประกอบกับกระท่อมอยู่บนเชิงเขานํ้าขึ้นมาท่วมไม่ถึง ตัวเงือกออกฤทธิ์สุดเดชจนเหนื่อยอ่อนไปเอง จึงต้องพ่ายแพ้
ต่อไปถึงทีตัวเสือแสดงฤทธิ์เดชบ้าง ตัวเสือเรียกลมพายุพัดใส่กระท่อม ตัวฟ้า ตัวเงือกกลัวตัวเสือจะได้กินผู้หลวกทั่ว จึงช่วยกันคํ้ายันกระท่อมไว้เต็มที่ ลมแม้จะแรงแต่กระท่อมก็ไม่โยกคลอน ตัวเสือจึงกางเล็บแยกเขี้ยวคำรามกรรโชกใส่กระท่อมเสียงดัง แต่ตัวฟ้า ตัวเงือก ผู้หลวกทั่ว ไม่กลัวตัวเสือ ตัวเสือจึงพ่ายแพ้
สุดท้ายถึงคราวผู้หลวกทั่วแสดงความสามารถบ้าง ตัวฟ้า ตัวเงือก ตัวเสือ พากันเข้าไปในกระท่อม ผู้หลวกทั่วลั่นดานปิดกระท่อม กระท่อมถูกลมพัดจนแห้งมาก ผู้หลวกทั่วจุดไฟขึ้นรอบกระท่อม ฝ่ายตัวฟ้า ตัวเงือก ตัวเสือตกลงกันว่า เมื่อผู้หลวกทั่วเริ่มแสดงฤทธิ์ ทั้งสามก็จะกระโจนออกจากกระท่อมไปพร้อมกัน แล้วจับผู้หลวกทั่วแบ่งกันกินอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งสามนึกไม่ถึงว่ากระท่อมจะติดไฟเร็ว ควันไฟมากมายทำให้ทั้งสามสำลักควัน ไฟก็ลามเข้าใกล้ตัว ทั้งสามจะกระโจนออกมา กระท่อมก็ถูกลั่นดานปิดแน่น ทั้งสามได้แต่วิ่งวุ่นหาทางหนีออกจากกระท่อม
ตัวฟ้ากระโดดออกไปทางหลังคาได้เป็นตนแรก เขากระโดดลอยขึ้นไปบนฟ้า ดวงตาถูกไฟและควันรมจนมัว นับแต่นั้นจึงไม่กล้าลงมาจากฟ้าอีก ตัวเสือเรี่ยวแรงมาก ชนฝาด้านหนึ่งพังออกมา แล้วกระโจนหายเข้าไปในป่า ร่างกายถูกไฟเผาไหม้เป็นลายดำ ๆ อยู่ตลอดร่าง นับแต่นั้นก็ไม่กล้าออกมาสู่ทุ่งราบอีก
ส่วนตัวเงือก เมื่อตัวเสือพังฝาด้านหนึ่งออกมาแล้ว ตัวเงือกจึงตามออกมาได้ ตัวเงือกถูกไฟไหม้มากที่สุด มีแผลมากที่สุด เขาโดดลงทะเลไปซ่อนตัว จนเมื่อแผลหายรอยแผลนั้นกลายเป็นเกล็ด นับแต่นั้นจึงไม่กล้าขึ้นมาบนบกอีกผู้หลวกทั่วไม่เพียงรักษาชีวิตของตนไว้ได้เท่านั้นแต่ยังได้ช่วยรักษาชีวิตของมนุษยชาติไว้ด้วย นับแต่นั้นมามนุษยชาติก็ไม่ถูกตัวฟ้าและสัตว์ร้ายคุกคามอีก
ข้างต้นนี้เป็นตำนาน “ตูเงียะ” ที่โยงใยกับเรื่องบรรพบุรุษของมนุษย์ – ปู้ลัวทัว ต่อไปจะนำเสนอตำนานเกี่ยวกับ “ย่าหม้าย” และ “เด็กกุด” หรือวัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกร ซึ่งมีศาลเจ้าหลายแห่งตามริมแม่นํ้าในกวางสีและกวางตุ้ง
เรื่องนี้คุณ พรพล ปั่นเจริญ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมโหระทึก แปลจากบทความเรื่อง “壮族龙母文化 : 中文百科在線 The Culture of Mother Dragon of Chuang จากเว็บไซต์ http://www.zwbk.org/zh-tw/Lemma_Show/261271.aspx
รูป ตูเงียะ-ตัวเงือก หน้าศาลบูชาปู้ลัวทัว อำเภอเถียน หยาง กวางสี ปู้ลัวทัวมีสัตว์บริวาร ๑๒ ตัวหินสลัก ในหมู่บ้าน หลงหมู่ชุน (หมู่บ้านแม่มังกร ปัจจุบันชื่อ “หลงอิงชุน”) ชาวบ้านเล่าตำนานว่าเป็นรูป ของ Daeggud – เด็กกุด ที่ชาวบา้ นเคารพบูชา หมูบ่ า้ น หลงหมู่ชุน อยู่ในเขต “เหลี่ยงเจียงเจิ้น” อำเภออู่หมิง ใกล้กับแม่นํ้าเหลยเจียง ตีนเทือกเขาต้าหมิงซานเทวรูปเจ้าแม่แม่มังกร (หลงหมู่) หรือ Yahmaiq ย่า หม้ายในหมู่บ้านหลงหมู่ชุนภาพวาดของ “ย่าหม้าย” เจ้าแม่แม่มังกร ของชาว หมู่บ้านสือเหมิน ตำบลถางหง อำเภอส้างหลิน กวางสี
วัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกร
แปลโดย พรพล ปั่นเจริญ
วัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกร เป็นวัฒนธรรมและตำ นานเรื่องหนึ่งซึ่งสืบทอดมาจากยุคมาตาธิปัตย์ (แม่เป็นใหญ่) ของชาวจ้วง แก่นของเรื่องเป็นการบูชาเทพเจ้า และตำนานมุขปาฐะสืบทอดมาตั้งแต่ยุคมาตาธิปัตย์ของชาวจ้วง ต่อเนื่องมาจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจ้วงปัจจุบัน ในพื้นที่ซึ่งมีชาวจ้วงอาศัยรวมกันอยู่มาก มักจะมีศาลเจ้าบูชาเจ้าแม่แม่มังกรนี้ ในกวางสี กวางตุ้ง เขตอู่โจว และกระทั่งในมณฑลเจ๋อเจียง ปรากฏมีศาลเจ้าแม่แม่มังกรจำนวนมาก จากการวิจัยพบว่า ต้นเค้ากำเนิดของวัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกรอยู่ในลุ่มแม่น้ำอิ้วเจียง(ทางตอนเหนือของกวางสี) รายรอบเทือกเขาต้าหมิงซาน
ตำนานเล่าว่าทางทิศเหนือของภูเขาต้าหมิงในอำเภอส้างหลินเสี้ยน ไกลออกไปประมาณ ๒๐ กม. ที่หน้าหมู่บ้านสือเหมิน มีบึงนํ้าลึกมากไม่สามารถหยั่งได้ถึง ชาวบ้านพื้นถิ่นเรียกพื้นที่นั้นว่า ทะเลสือหนัน ในหมู่บ้านนั้นมีหญิงหม้ายที่ยากจนไม่มีลูกเต้า อยู่เดียวดายทุกข์ยากมาก
เช้าวันหนึ่ง นางไปตักนํ้าที่ทะเลสือหนันขณะที่ตักนํ้ามีงูตัวหนึ่งว่ายนํ้าเข้ามาในถังนํ้าของนาง นางรีบเทนํ้าปล่อยงูไป แล้วตักนํ้าขึ้นมาใหม่แต่น่าแปลกที่งูก็ว่ายนํ้าเข้ามาในถังนํ้าของนางครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดนางก็แบกถังนํ้าพร้อมงูในถังนํ้ากลับบ้าน แล้วเลี้ยงงูไว้ในอ่างนํ้า กาลเวลาผ่านไปนางรู้สึกเหงาและต่ำต้อย งูน้อยเหมือนรู้ใจนาง จึงเลื้อยวนอยู่รอบตีนนาง นางรักงูเหมือนดั่งลูก มีอยู่ครั้งหนึ่งนางกำลังหั่นผักเลี้ยงหมู งูน้อยเล่นอยู่ข้าง ๆ คอยเอาหางกวาดผักที่ตกกระจายไปกลับมา แม่หม้ายไม่ทันเห็นจึงได้พลาดสับมีดถูกหางงูขาด ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นางจึงเรียกงูน้อยว่า Daeggud (Daeg เด็กภาษาจ้วงแปลว่า ผู้ชายที่ยังไม่ได้แต่งงาน gud ภาษาจ้วงแปลว่า ขาด, ด้วน) แล้วนางก็รักงูน้อยมากดั่งลูกแท้ ๆ ของนาง
วันเวลาผ่านไป Daeggud ได้เติบโตขึ้นและมีลำตัวยาวเท่าเสาบ้าน งู ‘เด็กกุด’ อาศัยอยู่ในบ่อนํ้าหน้าบ้านก่อน หลังจากนั้นจึงใช้ชีวิตอยู่ในทะเลสือหนัน เขาเห็นแม่มีสภาพชีวิตความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก จึงจับปลาจากทะเลสือหนันเอากลับมาให้ผู้เป็นแม่ของเขากิน
หลังจากที่แม่หม้ายตาย Daeggud ก็บินไปทางทิศเหนือ สักพักหนึ่งก็คาบโลงศพไม้แดงมาบรรจุศพแม่หม้าย ขณะนั้นฟ้ามืดพายุลมแรง Daeggud นำเอาโลงศพไปวางไว้บนชะง่อนผาเหนือปากถํ้าบนภูเขาด้านหลังหมู่บ้านสือเหมินเนื่องจากวันที่หญิงหม้ายตายตรงกับวันที่ ๓ เดือน ๓ (ตามจันทรคติจีน) ต่อมาในวันที่ ๓ เดือน ๓ ของทุกปี ก็จะมีปรากฏการณ์ลมพัดแรงมาระลอกหนึ่งที่หมู่บ้านสือเหมินเปน็ ประจำ ทำให้เกิดตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเป็นวันที่ Daeggud กลับมาทำความสะอาดสุสานที่ฝังศพของย่าหม้าย
ต่อมาบรรดาผู้คนเรียกภูเขาลูกนั้นว่า “ป้าเซียน” และเรียกถํ้านั้นว่า “กั่นเซียน” ผู้คนร่วมมือกันทำทางเดินขึ้นไปถึงถํ้า และได้สร้างแท่นบูชาถวาย Daeggud และแม่ ทุก ๆ วัน ๑ และวัน ๑๕ ผู้คนจะขึ้นเขาไปที่ถํ้าแห่งนี้ ภายในถํ้ามีแท่นบูชาเพื่อขอโชคลาภ ขอฝน เมื่อบนบานขอแล้วจะได้สมปรารถนาทุกครั้ง
ตอนที่ Daeggud อยู่บนโลกชอบกินข้าวเหนียวที่แม่ทำมาก ดังนั้นเพื่อรำลึกถึง Daeggud ชาวบ้านจึงทำข้าวเหนียวตามอย่างเกล็ดบนตัว Daeggud เป็น “ข้าวห้าสี” ชาวจ้วงที่อยู่ในบริเวณภูเขาต้าหมิงซานได้เล่าขานเรื่องราวของแม่มังกรสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน อันสะท้อนถึงวิถีชีวิตในยุคมาตาธิปัตย์
เจ้าแม่แม่มังกร เป็นเทพเจ้าหญิงที่สูงสุดของชาวจ้วง เป็นสัญลักษณ์ของบรรพชนมนุษย์ในแถบลุ่มแม่นํ้าจูเจียงและลุ่มแม่นํ้าซีเจียง ในกระแสธารของประวัติมนุษยชาติ พระนางได้ประทับร่องรอยไว้อย่างลึกซึ้งในสังคมชาวจ้วงทั้งในด้านการเมือง, สังคม, เศรษฐกิจ, การทหาร, ศิลปวัฒนธรรม, จารีตประเพณี, ศิลปวัฒนธรรมฐานะของสตรี มีผลสะเทือนถึงทั่วประเทศจีนและประเทศอาเซียน รวมถึงชาวจีนโพ้นทะเล ในเมืองและอำเภอหลายแห่ง ในกวางสี กวางตุ้งฮ่องกง มาเก๊า ล้วนมีศาลเจ้าเป็นที่เคารพบูชาผู้คนมาจุดธูปเทียนเซ่นไหว้ไม่ขาดสาย บางทีก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง
ประชาชนที่อาศัยอยูบ่ ริเวณโดยรอบของภูเขาต้าหมิงซาน กวางสี ในประวัติศาสตร์มีการเรียกขานชื่อเทพที่ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างตั้งศาล ปั้นรูปปั้น และแท่นบูชา ด้วยเหตุทางประวัติศาสตร์ หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวจ้วงต่างจึงสร้างศาลเจ้าเล็ก ๆ เป็นของตน เรียกชื่อเป็นภาษาจีนว่า ศาลบัลลังก์เทพ “เส้อทานเมี่ยว” “社坛庙” บนศาลจะเขียนตัวหนังสือขนาดใหญ่ว่า “ที่ประดิษฐานราชาฟ้าเจ้าแม่ดิน” “天王地母之位” อัญเชิญเจ้าแม่แม่มังกรและเทพแห่งสายฟ้ามาประดิษฐานไว้ในระดับเดียวกัน เพื่อให้เทพปกปอ้ งรักษาคุม้ ครองผู้คนในหมู่บ้าน เมื่อถึงวันที่ ๓ เดือน ๓ ตามจันทรคติจีน ชาวบ้านต้องทำข้าวเหนียวห้าสี ไปเซ่นไหว้ “เส้อทานเมี่ยว” เสียก่อน จะเห็นได้ว่าเจ้าแม่แม่มังกรมีความสำคัญฝังแน่นในจิตใจของชาวจ้วงมาก (ในพิธีเสนเมืองของชาวไทในเวียดนาม จะมีการเซ่นไหว้บูชาแถน พร้อม ๆ กับ เงือก – ทองแถม นาถจำนง)
มนุษยชาติเคยผ่านสังคมมาตาธิปัตย์เพศแม่เป็นใหญ่ ผู้หญิงมีฐานะควบคุมผู้คนในสังคมพวกเธอจะมีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมของกินส่วนผู้ชายมีหน้าที่ล่าสัตว์หาปลา มีประเพณีแต่งงานแบบกลุ่มข้ามโคตรตระกูลกัน เด็กชายเด็กหญิงรู้จักแต่แม่ ไม่รู้จักพ่อ ในยุคนั้นผู้หญิงที่แต่งงานจะไม่ไปอยู่บ้านฝ่ายชาย ก่อน ค.ศ.๑๙๔๙ หญิงชาวจ้วงในชนบทเมื่อแต่งงานแล้วมีธรรมเนียม “ไม่ไปอยู่บ้านเจ้าบ่าว” นี่อาจจะร่องรอยจาง ๆ ของยุคมาตาธิปัตย์ก็เป็นได้
เทพเจ้าสตรีเป็นร่องรอยตกทอดมาจากสังคมยุคมาตาธิปัตย์ หญิงหม้ายเลี้ยงงู ไม่กล่าวถึงสามี รวมถึงน้องสาวของหญิงหม้ายเดินขึ้นไปบนเขาร้องไห้เสียงดังปานฟ้าถล่มดินทลาย ก็ไม่ปรากฏเรื่องสามี ดังนั้นจึงอธิบายได้ว่าตำนานเรื่องนี้ได้สะท้อนถึงสังคมวัฒนธรรมเพศแม่-มาตาธิปัตย์ แล้วต่อมาจึงเปลี่ยนมาเป็นสังคมวัฒนธรรมเพศพ่อ- ปิตาธิปัตย์ เนื่องจากเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์ ผู้คนสมัยก่อนไม่รู้เรื่องสังคมวัฒนธรรมที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ จึงเห็นว่าหญิงที่เลี้ยงงูในตำนานนี้เป็น หญิงหม้าย
เทพเจ้าสตรีก็เป็นร่องรอยของประมุขเผ่าด้วย มีแต่ระดับประมุขเท่านั้นจึงจะมีเรื่องราวเหลือตกทอดต่อมายาวนาน ในยุค “ชนเผ่า” แต่ละเผ่าจะมี “โทเทม” (totem) สัญลักษณ์ที่เป็นสิ่งเคารพประจำเผ่า นับถือโทเทมนั้นเป็นสิ่งพิทักษ์ปกป้องพวกของตน และประมุขชนเผ่าก็มักจะเรียกตนเองตามโทเทมนั้น ๆ ชนเผ่าที่นับถืองูเป็นโทเทมก็เรียกว่าเผ่างู เผ่าที่นับถือวัวเป็นโทเทมก็เรียกว่าเผ่าวัว ชนเผ่าที่นับถือจระเข้(เง่อ) ก็เรียกว่าเผ่าจระเข้ เผ่าที่นับถือกบเป็นโทเทมก็เรียกว่าเผ่ากบ เป็นต้น
ยุคของผู้นำชนเผ่าผู้นำเผ่าทุกเผ่าต้องมีรูปปั้นเคารพที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ปกป้องคุ้มครองคนสัตว์ที่ตนเองคุ้มครองอยู่ รูปปั้นสัตว์ที่สร้างไว้บูชาประจำเผ่าอย่างเช่น เผ่าที่นับถืองูก็จะสร้างรูปปั้นเทพงูไว้ประจำเผ่า วัวก็จะสร้างรูปปั้นเทพวัว จระเข้ก็จะใช้ปั้นจระเข้เป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า นับถือกบก็จะมีกบเป็นเทพประจำเผ่าเป็นต้น ศาสตราจารย์เลี่ยงถิงหวัง มีความเชื่อว่า แม่ม่ายเป็นประมุขเผ่าจระเข้ ส่วนงูหางกุดเป็นเผ่างู หญิงหม้ายเลี้ยงงู สะท้อนว่าเผ่างูมีเรื่องเดือดร้อน ได้รับความช่วยเหลือจากเผ่าจระเข้ นี่เป็นเงาสะท้อนของประมุขเผ่าสองเผ่า
การค้นพบวัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกรที่ภูเขาต้าหมิง เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชาวจ้วงที่ภูเขา Buluotuo Ganshan เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๕ การค้นพบครั้งนั้นมีความสำคัญยิ่ง จากหนังสือ “NuYe, Duan Qi, Ba (Shan.Qu) เปิดเผยความลับของเจ้าแม่แม่มังกรแห่งภูเขาต้าหมิง” 《(女乜)(短乞)·岜(山取)–大明山龙母揭秘》 เราได้เห็นผลงานอันเกิดจากความเสียสละความอุตสาหะของผู้เชี่ยวชาญในวงการจ้วงศึกษา ก่อนจะค้นพบแหล่งต้นเค้ากำเกิดของวัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกร ใน ค.ศ. ๑๙๘๐ พี่น้องจ้วงในกรุงปักกิ่ง ได้เริ่มต้นเรียกร้องให้กำหนดวัน ๓ เดือน ๓ ตามจันทรคติจีน เป็น “เทศกาลเพลงของชนชาติจ้วง” เทศกาลนี้เป็นความสืบเนื่องของการรำลึกถึง “เจ้าแม่แม่มังกร – ย่าหม้าย” และ Daeggud – เด็กกุด ที่นางเลี้ยงดูจนเติบใหญ่
ผลจากการวิจัยภาคสนามได้ค้นพบว่าตำนานเจ้าแม่แม่มังกรที่เล่ากันสืบต่อมา มังกร (หลง) ตัวนั้นที่แท้แล้วคือ งูลายห้าสีที่หางด้วน (กุด) เป็นโทเทมของเผ่างูที่อยู่ตีนเทือกเขาต้าหมิงซาน ในแถบนั้นไม่ปรากฏมีความเชื่อเรื่อง “หลง -มังกรแบบจีน” อยู่เลย
โทเทมเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยมาตาธิปัตย์ในยุคสังคมโคตรวงศ์ และก็ดำรงอยู่ต่อมาร่วมกับยุคสังคมชนเผ่า และเป็นสัญลักษณ์ประจำเผ่า
ตีนเทือกเขาต้าหมิงซานนี้ งูหางกุดได้ฝากร่องรอยความเป็นโทเทมไว้ทั่วไป
โทเทมทั้งหลายถูกนับถือเป็นบรรพบุรุษของเผ่าด้วย สมาชิกของเผ่าจะมีจิตสำนึกผูกพันเป็นเครือญาติกับสัญลักษณ์โทเทมนั้น รอบ ๆ เทือกเขาต้าหมิงซานมีตำนานว่า งูนี้ถูก “ย่าหม้าย” เลี้ยงดูเหมือนลูกตนเอง จึงเรียกว่า “Daeg” อันหมายถึงชายวัยรุ่น งูนี้ถูกยอมรับว่าเป็น “คน” ได้ด้วย แต่ Daeggud จำเป็นต้องหางขาดเสียก่อนจึงจะเปลี่ยนเป็น “คน” ได้ ตำ นานดึกดำบรรพ์จึงมีเรื่องราวที่ งูหนุ่มมาได้เมียเป็นคน มีลูกหลานสืบสกุลต่อมา เรื่องนี้มีความเป็นมาจากโทเทมนั่นเอง
โทเทมทุกอย่างล้วนมีเทศกาลที่เกี่ยวเนื่องกับโทเทม วันที่ ๓ เดือน ๓ (จันทรคติจีน) ชาวจ้วงถือเป็นเทศกาลรำลึกถึง “เด็กกุด” และ “ย่าหม้าย” ซึ่งก็คือวันเทศกาลของโทเทมงู (หรืออาจจะเป็น “เงือก” – ทองแถม นาถจำนง) นั่นเองในวันนั้นผู้คนบูชาบรรพบุรุษ คือยอมรับว่า “เด็กกุด” กับ “ย่าหม้าย” เป็นต้นเค้าบรรพบุรุษ ต้องเซ่นไหว้ “เด็กกุด” “ย่าหม้าย” เสียก่อน จึงจะไปปัดกวาดสุสานของครอบครัวตนได้
สัญลักษณ์ของโทเทมจะถูกปกปักรักษาห้ามฆ่าห้ามทำลาย ในสังคมดึกดำบรรพ์ทั่วโลกล้วนเป็นอย่างนี้ ในเมนูอาหารตำรับกวางตุ้ง“มังกรสู้เสือ” “龙虎斗” เป็นเมนูที่มีชื่อเสียง ใช้เนื้องูทำมีรสชาติอร่อยมาก แต่ชาวจ้วงรายรอบเทือกเขาต้าหมิงซานไม่กินเนื้องู เพราะงูคือบรรพบุรุษ หากพบงูในทุ่งนาก็ให้ตีหญ้าให้งูหลบไป
ทุกโทเทมจะถูกขยายให้มีอิทธิฤทธิ์ ถูกเคารพบูชาเป็นเทพผู้พิทักษ์ กวางสีอยู่ติดทะเลหนานไห่ ปลายฤดูใบไม้ร่วงมักมีพายุไต้ฝุ่น ในช่วงเทศกาลวัน ๓ เดือน ๓ ผู้เฒ่ารอบ ๆ เทือกเขาต้าหมิงซานพากันพูดว่า “เด็กกุด” มาปัดกวาดสุสานแม่แล้ว พวกเขาเชื่อว่า “เด็กกุด” มีฤทธิ์เรียกลมพายุ และเชื่อว่า “เด็กกุด” ไล่ปลามาให้คนจับได้เต็มลำเรือ ชาวบ้านเผิงชุน ในอำเภออูห่ มิงกล่าวว่าเพราะมี “เด็กกุด” หมู่บ้านเขาจึงไม่ประสบภัยธรรมชาติพายุฝนลูกเห็บนิทานที่ขยายอิทธิฤทธิ์ทำนองนี้ยังมีอีกมากมาย
เนื่องจากโทเทมมีพลังอำนาจคุ้มครองปกปักรักษาคนในเผ่า สมาชิกในเผ่าจึงนิยมแกะสลักหรือวาดรูปโทเทมติดตัวไปด้วย “หลง – มังกรจีน” ของชนชาติฮั่นมีปรากฏทั่วไปหมด ในดินแดนชาวจ้วง สัญลักษณ์ “เด็กกุด” (งูหางกุด หรือเงือกหางกุด …ทองแถม นาถจำนง) ก็มีปรากฏทั่วไปหมดเช่นกัน (มีปรากฏในลายผ้าซิ่นของชาวไทในเวียดนามเสมอ นั่นคือลายเงือกหางกุด…ทองแถม นาถจำนง)
แหล่งต้นเค้ากำเนิดของโทเทม จะมีชื่อสถานที่เกี่ยวกันกับโทเทมเสมอ บริเวณรอบ ๆ ของภูเขาต้าซานมีชื่อสถานที่ที่เกี่ยวกับตำนาน “เด็กกุด” เช่น ในอำเภออู่หมิง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเทือกเขาต้าหมิงซาน มีชื่อสถานที่ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเจ้าแม่แม่มังกรมากมาย เช่นชื่อแม่นํ้า หมู่บ้าน ทะเลสาบ ลำธาร ภูเขาและศาลเจ้า หากมองจากจุดนี้ก็เห็นได้ว่า “เด็กกุด” เป็นโทเทมประจำเผ่างู -บรรพชนของชาวจ้วงรอบ ๆ เทือกเขาต้าหมิงซาน ผู้เลี้ยงดู “เด็กกุด” คือ แม่มังกร หรือ “ย่าหม้าย” นั้น ตำนานพื้นบ้านยังเรียกนางว่า “ย่าหวาง” 娅王 น่าจะเป็นชื่อเรียกตำแหน่งหัวหน้าเผ่าจระเข้ (เง่อ 鳄) ของชาวจ้วงในยุคมาตาธิปัตย์
เรื่อง Daeggud – เด็กกุด และ Yahmaiq – ย่าหม้าย ในตำนานชาวจ้วงเหนือ คล้ายคลึงกับเรื่อง “อ้ายหางกุด” ของชาวไทในเวียดนามมาก แล้วเรื่อง “อ้ายหางกุด” ของชาวไทในเวียดนามเป็นเช่นไร ? ติดตามในฉบับหน้าครับ
***
บทความที่เกี่ยวข้อง
ว่าด้วย เงือก (๒) “ตูเงียะ” เงือกของชาวจ้วงในกวางสี
ว่าด้วย เงือก (๓) คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไทในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย
คอลัมน์ บทความพิเศษ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๕๒| สิงหาคม ๒๕๕๙
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220