สมุนไพรระงับปวด

ว่านค้างคาว

“ปวด” คำ ๆ เดียวนี้ ทุกคนได้ยินเหมือนกัน แต่รับรู้ไม่เหมือนกัน  คนส่วนใหญ่ไม่ชอบความเจ็บปวด แม้ว่าต้องพบเจอตั้งแต่เกิดจนตาย ความรู้สึกเจ็บปวดเป็นคุณสมบัติอันจำเป็น ที่ทำให้สัตว์ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่อาจเป็นอันตรายต่อตนเอง ถ้าไม่มีความรู้สึกเจ็บปวดทารกที่เกิดมาคงอยู่รอดได้ไม่เกินหนึ่งวัน

สมองบันทึกความรู้สึกที่เป็นความสุขเพื่อที่จะได้ทำซ้ำอีก ขณะเดียวกันก็จดจำความรู้สึกเจ็บปวดเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นอีก  อย่างไรก็ตาม ความเจ็บปวดบางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น จากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดมาก่อน หรือความเสื่อมของร่างกายอันเป็นวิถีธรรมชาติ มนุษย์ได้เรียนรู้สารพัดวิธีในการรับมือกับความเจ็บปวด  มีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรแก้ปวดอยู่ในทุกชาติพันธุ์  รวมแล้วมีพืชกว่าพันชนิด ยากที่จะสาธยายได้หมดสิ้น  แต่จากมุมมองของการออกฤทธิ์พอจำแนกได้เป็นสามกลุ่ม ต่อไปนี้

กลุ่มแรก ยับยั้งกระบวนการอักเสบที่นำมาซึ่งความรู้สึกเจ็บปวด การอักเสบเกิดขึ้นเมื่อมีการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อ ไม่ว่ามีหรือไม่มีการติดเชื้อจุลชีพก็อักเสบได้ทั้งนั้น เมื่อบาดเจ็บ มีการขยายตัวของหลอดเลือดเล็ก ๆ ในบริเวณนั้นและใกล้เคียง ทำให้ผิวหนังแดงและร้อน ขณะเดียวกัน น้ำในหลอดเลือดก็รั่วมากองที่ใต้ผิวหนัง เห็นเป็นการบวม กดทับตัวรับความรู้สึก ส่งสัญญาณออกไปให้สมองรับรู้ได้ว่า ปวด สมุนไพรที่ใช้ระงับการอักเสบทำให้อาการบวมลดลง ความรู้สึกเจ็บปวดจึงผ่อนคลาย  อย่างไรก็ตาม การอักเสบและความเจ็บปวดจะกลับมาอีก ถ้าปัจจัยที่ทำให้เกิดการอักเสบนั้นยังอยู่ เช่น ผลึกของกรดยูริกในโรคเก๊าท์ หรือการผุกร่อนของกระดูกในโรคกระดูกและข้อเสื่อม

พืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์ระงับการอักเสบ ที่คนไทยรู้จักกันดีมาช้านาน  ได้แก่ ไพล ขิง กระชาย ตลอดจนพืชอื่น ๆ ในวงศ์ขิง-ข่าด้วยกัน  มักใช้เป็นยาภายนอก ทำเป็นลูกประคบ หรือขี้ผึ้ง น้ำมันทาถูนวดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อที่ปวดเจ็บ สารออกฤทธิ์ในหัวไพลไม่ละลายน้ำแต่ละลายในน้ำมันได้ดี ที่เรียกน้ำมันไพลนั้น แท้จริงได้มาจากทอดชิ้นของหัวไพล ในน้ำมันมะพร้าว  สรรพคุณแก้ปวดระงับอักเสบของไพล ไม่ว่าจะมองจากมุมของการแพทย์พื้นบ้าน หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ ล้วนไม่มีอะไรเคลือบแคลง แต่ข้อเสียคือ สีจากน้ำมันไพล สามารถเปรอะเปื้อนผิวหนังและเสื้อผ้าได้ และบางคนก็รู้สึกไม่ชอบกลิ่นไพลเอามาก ๆ

เช่นนั้น ลองดูพืชสมุนไพรพื้นบ้านอีกชนิดหนึ่ง ใช้ระงับการอักเสบได้ดีเช่นกัน ไม้ต้นนี้เรียกเป็นภาษากลางเพราะ ๆ ว่า เนระพูสีไทย แต่คนทั่วไปเรียกว่า ว่านค้างคาว เนื่องจากมีดอกรูปร่างแปลกตา  สีม่วงเกือบดำ ดูคล้ายค้างคาวกำลังบิน เป็นที่มาของชื่อ ว่านค้างคาวนี้ เป็นพืชส้มลุกอายุหลายปี มีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน ใบรูปไข่ยาวราว ๑ ศอก โคนใบป้าน ปลายใบแหลม พบได้ในป่าชื้นทั่วประเทศ และหาซื้อได้จากร้านขายต้นไม้ในฐานะไม้ประดับ

ชาวบ้านชาวป่า นิยมใช้ใบอ่อนหรือดอก เผาไฟกินกับลาบหรือน้ำพริก มีรสขมปานกลาง ช่วยให้เจริญอาหาร ส่วนเหง้าหรือลำต้นใต้ดินนั้น ต้มกับเนื้อไก่ เชื่อกันว่า กินแล้วบำรุงกำลัง ทำให้อดทนต่อความเจ็บปวด ยิ่งถ้าได้กินเป็นประจำ จะทำให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เลือดลมไหลเวียนดี สำหรับชาวบ้าน การหาไก่มาต้มกินเป็นประจำเป็นความยากลำบากอย่างหนึ่ง คงเป็นเพราะเหตุนี้จึงยังมีคนปวดข้อปวดเข่าอยู่  แต่ถ้าต้องการใช้ภายนอก ก็ทำได้ง่าย ๆ เพียงหั่นเหง้าสดหรือแห้งเป็นชิ้นเล็ก ๆ  ต้มกับน้ำ นำมาชุบผ้า พันพอกกล้ามเนื้อและข้อส่วนที่ปวด ได้ผลดีแค่ไหนหรือ เอาเป็นว่ามีผลการวิจัยรองรับก็แล้วกัน

ยังมีพืชอื่น ๆ อีกมาก ที่มีสรรพคุณแบบเดียวกับไพลและว่านค้างคาว แต่มักผสมกับตัวยาอื่นเป็นตำรับ ดังเช่น เถาวัลย์เปรียง ผสมอยู่ในตำรับยาไทยที่ชื่อ เทพธารา ก็มีฤทธิ์ระงับปวดเช่นกัน

ดอกว่านค้างคาว
แก้ว

พืชกลุ่มที่สอง ระงับความเจ็บปวดได้โดยการปิดกั้นสัญญาณที่จะส่งไปยังสมอง ทำให้สมองไม่รับรู้ว่ามีความเจ็บปวด ชาวบ้านมักใช้พืชในกลุ่มนี้แก้ปวดฟัน เพราะในโพรงฟันที่ปวดนั้นมีเส้นประสาท น้ำที่เกิดจากการเคี้ยวและอมสมุนไพรกลุ่มนี้ทำให้รู้สึกชา พอทุเลาความเจ็บปวดไปได้บ้าง พืชที่มีสรรพคุณเช่นนี้ ได้แก่ ผักคราดหัวแหวน ต้นแก้ว มะแขว่น  มะข่วง ซึ่งมีรสเผ็ดปร่า ซ่าลิ้น

ผักคราดหัวแหวน
มะข่วง

พืชกลุ่มที่สาม ออกฤทธิ์โดยตรงที่สมอง ปิดกั้นการรับรู้ของสมอง บาดแผลยังอยู่ การอักเสบยังอยู่ และสัญญาณที่ส่งไปตามเส้นประสาทก็ยังมีอยู่ แต่สมองไม่ยอมรับรู้ พืชในกลุ่มนี้ที่รู้จักกันดีคือ ฝิ่น ซึ่งเข้ามาสู่ดินแดนสยามอย่างน้อยกว่า ๒๐๐ ปี แต่เนื่องจากไม่สามารถเพาะปลูกในพื้นที่ราบลุ่มได้ ยางฝิ่นจึงมีราคาแพง ไพร่ทั่วไปไม่อาจซื้อหามาเสพได้ แม้ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น การเสพฝิ่นก็มีสถานะไม่ชัดเจน บางเวลาก็ห้าม บางเวลาก็เพิกเฉย เป็นไปตามอิทธิพลทางการค้าและการเมือง

อย่างไรก็ดี ฝิ่นสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่สูง ดังนั้น ชนชาติที่อยู่ตามภูดอยภาคเหนือ เขตติดต่อกับพม่าและจีนตอนใต้  จึงรับเอาการปลูกฝิ่น สูบฝิ่น  เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต  เพลงพื้นบ้านของชาติพันธุ์ม้ง ถึงกับรำพันว่า “ไม่มีฝิ่นก็ทุกข์ ไม่มีน้ำหมูก็ทุกข์” น้ำหมูในที่นี้หมายถึง น้ำมันหมู ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับตะเกียงสูบฝิ่น ถ้าใช้น้ำมันก๊าด จะทำให้ควันฝิ่นเหม็น สูบไม่ได้

คนเฒ่าคนแก่สูบฝิ่นแล้วก็ไม่ปวดหลังปวดข้อ อย่างน้อยก็พอเดินเหินได้ ไม่ร้องคร่ำครวญให้เป็นภาระกับลูกหลาน  หว่านเมล็ดฝิ่นเมื่อหมดฝน  อีกหนึ่งเดือนต่อมาพอต้นอ่อนสูงเกือบคืบ ถอนเอามาจิ้มน้ำพริก หวานกรอบเสียยิ่งกว่าผักโฮโดรโพนิกส์  ต้นฝิ่นที่เหลือจะได้แข็งแรง ไม่แย่งอาหารกัน พอถึงปลายหนาวก็กรีดเอายางฝิ่นได้ เก็บรวบรวมไว้เป็นยา และพอให้พ่อเฒ่าแม่เฒ่าได้สูบบรรเทาปวด  ส่วนเมล็ดฝิ่นที่เป็นผงเล็กจิ๋วนั้น เก็บไว้ใส่ขนมตอนปีใหม่ อร่อยไม่แพ้เมล็ดงา

ยางฝิ่นมีสารที่มีฤทธิ์ระงับปวดหลายชนิด เช่น มอร์ฟีน โคเดอีน  ซึ่งถ้าใช้ในปริมาณมากเกินไป สามารถกดการทำงานของสมอง หยุดการหายใจ และตายได้  นอกจากนี้ การใช้ติดต่อกันทำให้เกิดการดื้อยาและเสพติด  รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกจึงได้ประกาศควบคุมการปลูก และการใช้ฝิ่น ตลอดจนสารที่มาจากฝิ่น

ใบฝิ่น
ดอกฝิ่น

นอกจากฝิ่นแล้ว พืชกระท่อม ก็สามารถมีฤทธิ์ระงับปวดได้เช่นกัน กระท่อมเป็นไม้ยืนต้น มีถิ่นกำเนิดในอุษาคเนย์ ใบเดี่ยวขนาดฝ่ามือ ออกตรงข้อ ขอบใบหยักเป็นคลื่น นอกจากเส้นใบที่เป็นแนวขนานชัดเจนแล้ว ก็ไม่มีลักษณะอื่นใดโดดเด่นพอให้คนไม่รู้จักมาก่อนชี้ได้ว่านี่ ต้นกระท่อม  ที่เห็นเป็นข่าวถูกตำรวจจับเป็นครั้งคราวนั้น ถ้าไม่เป็นเพราะปลูกขายกันเอิกเกริกเกินไป ก็คงเป็นคราวเคราะห์หามยามซวยของคนปลูกโดยแท้

ใบกระท่อมมีรสขม แต่เมื่อนำมาเคี้ยว หรือต้มน้ำกิน ทำให้กระปรี้กระเปร่า มีเรี่ยวแรงทำงาน บางคนเติมน้ำหวานหรือน้ำอัดลมสีดำพอให้กลบรสขม การเคี้ยวหรือกินใบกระท่อมในลักษณะนี้ ชาวบ้านที่คุ้นเคยกับต้นกระท่อม ไม่เห็นเป็นเรื่องแปลกอะไร ก็ไม่ต่างจากกินหมาก กินเมี่ยง

ใบกระท่อม มีสารออกฤทธิ์ชื่อว่า ไมทราไจนีน (mitragynine) เคี้ยวกินเพียง ๒-๓ ใบ  มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ตื่นตัว หูตาสว่าง ไม่ง่วงซึม แต่ถ้าเคี้ยวหรือกินในปริมาณมาก มีฤทธิ์คล้ายฝิ่น กล่าวคือ ทำให้ทนต่อความปวดเมื่อยได้ ทนงานหนัก สู้แดด สำหรับคนทำงานแล้วทำไมจะไม่ดีเล่า

อย่างไรก็ตาม นับแต่มี พ.ร.บ.พืชกระท่อม และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นต้นมา การปลูก การเสพพืชกระท่อม ก็กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ที่เคยเปิดเผยก็ต้องลักลอบ ที่เคยปลูกเคยแบ่งปันกัน กลับต้องซื้อขาย ที่เคยเคี้ยวเคยต้มก็มีการดัดแปลง เติมสารโน่น นี่นั่น เข้าไปเพื่อเสริมฤทธิ์ จากใบสด ใบแห้ง ก็กลายเป็นผง เป็นเม็ด ถึงตอนนี้ กระท่อม กลายเป็นยาเสพติดสมบูรณ์แล้ว

กระท่อม

สมุนไพรแก้ปวดถ้าใช้อย่างเหมาะสม อย่างพอดี ก็เป็นคุณ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ถ้าท่านเป็นคนป่วยใกล้ตาย หรือถึงอย่างไรก็ต้องตาย ไยจะมากลัวกับการติดยา แต่ถึงไม่กลัว ด้วยเงื่อนไขของกฎหมายและราคา คนจนก็เข้าถึงยาแก้ปวดที่มีประสิทธิภาพสูงได้ยากอยู่ดี

ตลอดระยะเวลาหลายหมื่นปีของวิวัฒนาการมนุษย์  พืชจำนวนมากถูกนำมาใช้บรรเทาปวดให้ทุเลา ใครรู้ก็ปลูก ใครมีก็แบ่งให้ใช้ ใครเอื้อเฟื้อก็รักษา มาถึง พ.ศ.นี้ สมุนไพรแก้ปวด บ้างกลายเป็นของวิเศษที่โอ้อวดเกินจริง บ้างถูกกักขังอยู่ในคอกที่ชื่อสารเสพติด บ้างเป็นสินค้าราคาแพงในร้านขายของที่ชื่อโรงพยาบาล

ไม่มีพื้นที่ให้สมุนไพรแก้ปวดสำหรับคนจนอีกแล้ว

***

คอลัมน์  ผักหญ้าหมากไม้  นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๒| มิถุนายน ๒๕๖๐

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

บุญผะเหวด : บุญมหาชาติงานช้างในหัวใจศรัทธาชาวอีศาน
สถิติ
อโยธยาในสายตาคนลุ่มแม่นํ้าโขง
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com