สะดืออีสาน
สะดืออีสาน อยู่ติดกับบึงน้ำขนาดใหญ่ชื่อว่าบึงกุย ตั้งอยู่ที่หมู่ 13 ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม สถานที่แห่งนี้ชาวภาคตะวันออกเฉียงเหนือทราบกันดีว่าเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของแดนอีสาน
คำว่า “สะดือ” หมายถึงส่วนที่อยู่ตรงกลาง ก่อนที่จะกำหนดจุดสะดืออีสาน ว่าต้องเป็นบริเวณแห่งนี้ คณะสำรวจพบว่าสถานที่ที่เป็นจุดสะดืออีสานจริง ๆ อยู่บริเวณยุ้งข้าวของชาวบ้าน
หลังสำรวจพบแล้ว ก็พบอุปสรรคต่อมาคือ ทางการไม่สามารถซื้อที่ดินของชาวบ้านได้ จุดที่พบนั้น อาจารย์พยงค์ มูลวาปี ยืนยันว่า “อยู่ใต้ยุ้งข้าวตรงเสาต้นที่ 2 ด้านหัวยุ้งข้าวของนายสัมฤทธิ์ ดวงจันทะโคตร และนางพนม ดวงจันทะโคตร เมื่อเจรจาซื้อที่ดินปรากฏว่าทางการไม่สามารถซื้อที่ตรงนั้นได้ เนื่องจากเห็นว่าราคาแพงไป”
เรื่องของที่ดินเอาเข้าจริงก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ผืนดินบางแห่งลูก ๆ หลาน ๆ สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ คราใดมีความจำเป็นต้องขาย ครานั้นเจ้าของที่รักหยาดเหงื่อของบรรพชน ย่อมต้องคิดแล้วคิดอีก ส่วนเรื่องราคานั้น ใครจะตัดสินใจเอามาเป็นเรื่องหลักหรือเรื่องรองย่อมขึ้นอยู่ที่ความคิดของแต่ละบุคคล
เมื่อทางการเจรจาซื้อที่ดินไม่ได้ก็ต้องหาทางออกใหม่ “โดยอาศัยพิกัดรัศมี 200 เมตรจึงได้ซื้อที่ดินติดกับโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน เพื่อสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นมา”
อาณาบริเวณของสะดืออีสาน มีบึงน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,750 ไร่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำมากมาย เป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของชาวมหาสารคาม อีกทั้งโดยรอบบึงยังมีทัศนียภาพที่สวยงาม บรรยากาศเงียบสงบ เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและพักผ่อน มีอาคารรูปทรงสวยงามตั้งเป็นสัญลักษณ์โดดเด่น ภายในพื้นที่มีอาณาเขตที่กว้างขวาง มีการจัดตกแต่งเป็นสวนสาธารณะร่มรื่น สามารถมองเห็นวิวสวยงาม
สะดืออีสานเป็นจุดพิกัดกึ่งกลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มักนิยมเดินทางมาเก็บภาพประทับใจ เพื่อบันทึกความทรงจำว่า ครั้งหนึ่งได้เคยมายืนอยู่ ณ ศูนย์กลางของภาคอีสานแล้ว
ภาพที่เห็นชินตาคือ นักท่องเที่ยวใช้มือชี้ลงไปตรงจุดที่เรียกว่าสะดืออีสาน แล้วเก็บภาพเอาไว้เพื่อยืนยันว่า ได้เดินทางมาถึงแล้ว
มุมมองของคนอีสานแล้ว “ผมมองว่าเป็นศูนย์กลางของภาคอีสานจริง ๆ ทางการจึงสร้างเสาขึ้นมาตรงอนุสรณ์สถานคล้ายเป็นหลักบ้านหลักเมือง เป็นศูนย์กลางความศรัทธาทางพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งรวมความศรัทธาของชาวอีสานที่อำเภอโกสุมพิสัย” อาจารย์พยงค์อธิบาย
และบอกว่า “ด้านบนอนุสรณ์สถานเป็นเสาตั้งขึ้นคล้ายหลักเมืองเป็นแนวความเชื่อและศรัทธาของพราหมณ์ผสมผสานกับพุทธ ตรงด้านข้างมีศาลาประดิษฐานพระพุทธรูปและตรงมุมจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ด้วย”
ห่างจุดอนุสรณ์สถานเส้นทางสายหลัก 208 มหาสารคาม-โกสุมพิสัย จะพบจุดให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป “อยู่ห่างจากอนุสรณ์สถานประมาณ 3.5 กิโลเมตรเท่านั้น”
สำหรับการเที่ยวชมบึงกุย หากใครมาสะดืออีสานแล้วสามารถขับรถเที่ยวรอบบึงกุยหรือที่สะพานไม้ไผ่แห่งศรัทธา “มีเกาะกลางบึงกุยชื่อโนนนกหอค้นพบโบราณวัตถุหลายชิ้นตอนนี้นายอำเภอได้ส่งไปให้สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา กรมศิลปากร เพื่อตรวจสอบอยู่”
สะพานไม้แห่งศรัทธาที่บึงกุย เป็นสะพานที่ชาวบ้านร่วมมือร่วมกันใจบริจาคไม้ไผ่เพื่อนำมาก่อสร้าง หากยืนอยู่จุดนี้จะมองเห็นศาลา 8 เหลี่ยมและ ประติมากรรมป้ายบอกพิกัดสะดืออีสาน ช่วงเย็น 16.00 น.เป็นต้นไป จะมีชาวบ้านมาขายของที่บริเวณตรงข้ามทางลงสะพานแห่งศรัทธา บริเวณนี้ใครจะขับรถเที่ยว เดิน วิ่งเล่น ขี่จักรยาน หรือถ่ายภาพขณะดวงตะวันโต ๆ ค่อย ๆ ลับขอบฟ้าก็ได้
สะดืออีสาน คือหมุดหมายแห่งการท่องเที่ยวหนึ่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความพร้อมแล้วทั้งบรรยากาศและสถานที่ หากแต่เรื่องการบริหารจัดการให้พื้นที่สวยงาม ร่มรื่น ท้าทายให้เข้าเยี่ยมชมนั้น ขึ้นอยู่กับหน่วยงานของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้อง
แน่นอน ความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านกับทางการก็เป็นเรื่องสำคัญ