อิฐทุกก้อน โบราณวัตถุทุกชิ้น ซากปราสาทเก่าทุกองค์ ลวดลายและรูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่ เสมือนคำบอกเล่าความเป็นมา ให้ผู้คนได้เรียนรู้และเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีตกาล

หนึ่งในร่องรอยบรรพชนในอดีตกาลนั้นคือ ปราสาทโคกงิ้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์

ปราสาทแห่งนี้หลังขุดแต่งโบราณสถาน นักโบราณคดีพบโบราณวัตถุทั้งทับหลังสลักภาพคชลักษมี เสาประดับกรอบประตู  ประติมากรรมรูปพระโพธิสัตว์วัชรปาณีทรงครุฑ และยังพบเครื่องมือเครื่องใช้อย่างภาชนะดินเผาอีกด้วย สิ่งของที่พบเหล่านี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะรูปแบบศิลปะ รูปร่างวัตถุ และลวดลาย สามารถนำมาวิเคราะห์หายุคสมัยของวัตถุเหล่านั้นได้ ดังคำพูดที่ว่า “อิฐเก่าเล่าเรื่อง”   

องค์ปราสาทโคกงิ้ว จัดเป็นศาสนสถานประจำสถานพยาบาล มักเรียกกันว่า อโรคยศาล ผู้สร้างหรือให้สร้างขึ้นมานั้นคือ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างขึ้นราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นยุคสมัยของพระองค์ที่ครองเมืองพระนครหลวง หรือ “นครธม”  

แผนผังโบราณสถาน นางสาวสุภาวดี อินทรประเสริฐ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา อธิบายว่าประกอบด้วยปราสาทประธานตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ส่วนทิศตะวันออกเฉียงใต้ของปราสาทประธานเป็นที่ตั้งของบรรณาลัย ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีประตูเข้าออกด้านหน้าเพียงด้านเดียว มีซุ้มประตูทางเข้าหรือโคปุระอยู่ทางด้านทิศตะวันออก นอกกำแพงแก้วทางทิศและด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาทประธานเป็นสระน้ำประจำศาสนสถาน

มักมีคนถามว่าเหตุไฉนปราสาทขอมโบราณถึงปรากฏอยู่ในดินแดนไทย ไม่เพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือเท่านั้น ภาคกลางก็มีอย่างปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรีเป็นต้น คำตอบปัจจุบันมีอยู่สองกระแสหลักคือ 1.สมัยโบราณอำนาจการปกครองขอมโบราณแผ่เข้ามาถึงดินแดนที่ประเทศไทยตั้งอยู่ในปัจจุบัน และ 2.สมัยโบราณอารยธรรมขอมโบราณแผ่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ขอมโบราณไม่ได้เข้ามาปกครองในพื้นที่ที่มีปราสาทขอมโบราณทุกที่เสมอไป หากแต่“ความเชื่อ”ทางศาสนาที่แผ่เข้ามา ทำให้มีคนเชื่อถือเคารพบูชาเหมือนกับขอมโบราณ คนเหล่านั้นจึงสร้างปราสาทขึ้นมา ประเด็นหลังนี้ มีคนเปรียบเทียบให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า  เหมือนการสร้างพระอุโบสถในพระพุทธศาสนา ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชาต่างก็มีพระอุโบสถเหมือน ๆ กัน แล้วการสร้างปราสาทแบบขอมโบราณในแผ่นดินถิ่นใด จะเหมารวมว่าเป็นดินแดนขอมโบราณไปทุกที่ที่มีปราสาทได้อย่างไร

ทั้งสองกระแสความเชื่อที่กล่าวมายังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน แม้จะเป็นคำตอบแบบไม่ฟันธงว่ากระแสใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน กระแสใดถูกต้อง แต่ก็เชื่อว่าเป็นคำตอบคนที่มีคำถามอยู่ในใจพอได้แนวทางไปศึกษา“ต่อยอด”เพื่อหาคำตอบที่ต่อไป  

สำหรับโบราณวัตถุที่น่าสนใจยิ่ง ณ ปราสาทแห่งนี้คือ “ทับหลัง”  ที่วางอยู่เบื้องล่าง นักโบราณคดีชำนาญการอธิบายว่า ลักษณะรูปแบบศิลปะขอมแบบคลังหรือแบบบาปวน อายุราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นทับหลังหินทรายสลักภาพคชลักษมี  พบจากการขุดแต่งบริเวณบรรณาลัย รายละเอียดของทับหลังมีองค์พระลักษมีประทับนั่งขัดสมาธิบนฐานดอกบัว พระหัตถ์ทั้ง 2 ข้างถือดอกบัว ด้านข้างทั้งสองของพระองค์มีช้างยืนสองขาชูงวงเหนือพระเศียร ใต้ฐานพระลักษมีเป็นรูปเกียรติมุขหรือหน้ากาลคายท่อนพวงมาลัย มือของหน้ากาลยึดชายท่อนพวงมาลัยไว้ พวงอุบะเป็นลายใบไม้ม้วน เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นลายใบไม้ ขอบด้านข้างทั้งสองด้านของทับหลังมีรูปสิงห์ยืนจับปลายท่อนพวงมาลัยไว้

ลักษณะดังกล่าวเป็นศิลปะขอมแบบคลังหรือแบบบาปวน อายุสมัยราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ซึ่งมีอายุเก่ากว่าปราสาทโคกงิ้ว จึงสันนิษฐานว่าในช่วงเวลาก่อสร้างมีการเคลื่อนย้ายทับหลังจากปราสาทหลังอื่นมาประดับตกแต่งปราสาทโคกงิ้ว หรืออาจจะมาจากเหตุปัจจัยอื่นก็ได้

ปราสาทโคกงิ้ว แม้องค์ปราสาทจะมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปราสาทหินพนมรุ้ง ปราสาทหินพิมาย แต่ก็เป็นร่องรอยอารยธรรมบรรพชนที่เป็นมรดกอันล้ำค่าของคนในแผ่นดินถิ่นอีสาน

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com