อีสาน ในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม
อีสาน ภูมิภาคที่มีภาพลักษณ์ที่ไม่รื่นรมย์ในการรับรู้และทัศนะของผู้คนภายนอกพื้นที่ และถูกตอกยํ้าด้วยวาทกรรมจากงานวรรณกรรม งานเขียนประวัติศาสตร์ แต่ด้วยความกว้างใหญ่ของพื้นที่ ๆ มีเขตติดต่อกับเพื่อนบ้านที่มีระยะทางยาว ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมหลากหลาย เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งด้านการพัฒนา การค้า การเมือง
การรับรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และมีความรู้ความเข้าใจต่อภูมิภาคนี้จะทำให้การอ่านการศึกษาเพิ่มรสชาติเป็นอย่างดี อีสานในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม จะนำท่านไปสู่พรมแดนที่บอกกล่าวดังข้างต้น
“อีศาน” บทกวีนี้มีประวัติศาสตร์
“นายผี” นามแฝงของ อัศนี พลจันทร ที่ จิตร ภูมิศักดิ์ ในฐานะผู้มาทีหลัง ยกย่องให้เป็นมหากวีประชาชน ที่อัศนี พลจันทร เป็นผู้ที่มาก่อน ทั้งเป็นแรงบันดาลใจให้จิตร ภูมิศักดิ์ ผลิตผลงานทางวิชาการและวรรณศิลป์ ซึ่งเป็นบทกวีที่เต็มไปด้วยคุณภาพ
บทกวี “อีศาน” ที่มีเนื้อหาอันทรงพลัง มีความงามทางภาษาและมีภาพของธรรมชาติของอีสานให้แก่ผู้อ่าน ได้เห็นอย่างชัดเจน และกลายเป็นวาทกรรมถูกนำไปตอกยํ้าต่างกรรม ต่างวาระ และรับรู้กันว่าอีสานคือถิ่นทุรกันดาร แห้งแล้ง และยากจน
บางกวี อีศาน เพียงวรรคแรกก็ปลุกเร้าให้เกิดความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมชาติของอีสาน
ในฟ้าบ่มีนํ้า ในดินซํ้ามีแต่ทราย
นํ้าตาที่ตกราย คือเลือดหลั่ง! ลงโลมดิน
สองมือเฮามีแฮง เสียงเฮาแย้งมีคนยิน
สงสารอีศานสิ้น อย่าทรุด, สู้ด้วยสองแขน!
พายุยิ่งพัดอื้อ ราวป่าหรือราบทั้งแดน
อีศานนับแสนแสน สิจะพ่ายผู้ใดเหนอ?
(โปรดอ่านบทกวีที่สมบูรณ์ในทางอีศานฉบับที่ ๓๔)
เพราะความมีพลังของบทกวี เพราะบทกวีให้ภาพธรรมชาติของอีสานที่คมชัด เพราะบทกวีให้ภาพของมนุษย์อีสานที่อดทน บึกบึน แข็งแรง และบทกวีปลุกเร้าให้พวกเขาต้องอดทนต่อสู้อย่ายอมแพ้ อะไรคือแรงบันดาลใจให้อัศนี พลจันทร เขียนบทกวี “อีศาน” ที่ทรงพลังนี้
อัศนี พลจันทร เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๖๑ ที่บ้านท่าเสา ต.หน้าเมือง อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี บิดาคือ พระมนูกิจวิมลอรรถ (เจียร พลจันทร) แม่ชื่อ สะอิ้ง พลจันทร แม่เสียชีวิตเมื่ออัศนีอายุได้ ๓ เดือน อัศนีจบ ม.๘ จากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙ จบวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ขณะที่เรียนธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความโต้ทัศนะของ ส.ธรรมยศ เกี่ยวกับเรื่องนิราศลำนํ้าน้อย ของพระยาตรัง โดยใช้นามปากกาว่า “นางสาวอัศนี”
นามปากกา “นายผี” ใช้เมื่อมาเขียนหนังสือที่นิตยสารรายสัปดาห์เอกชน ที่ก่อตั้งโดย นายจำกัด พลางกูร, สด กูรมะโลหิต และมีจำนง สิงหเสนี เป็นบรรณาธิการ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ นามปากกา “นายผี” อัศนี พลจันทร ได้แต่งกลอนอธิบายความหมายที่ถูกต้อง เพราะคนมักจะเข้าใจว่า นายผี หมายถึง ผี (หลอก) วรรคหนึ่งเขียนว่า “ปีศาจบดีทวี ภูตไหว้”
ปีศาจ คือ ปีศาจหรือผี บดี คือ เจ้าหรือนาย สรุปแล้ว นายผี คือ เจ้านายของภูตผีทั้งหลายนั่นเอง
อัศนี พลจันทร เป็นผู้ที่มีบุคลิกที่ราชการเรียกว่า พวกหัวแข็ง เถรตรง เหมาะกับอาชีพการตัดสินอรรถคดี แต่ไม่เหมาะกับงานในระบบราชการไทยเขาได้ตัดสินใจลาออกจากราชการเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๙๕ โดยมีเบื้องหลังจากการปราบปรามคอมมิวนิสต์ครั้งใหญ่ของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูล สงคราม ในกรณี กบฏสันติภาพ
กบฏสันติภาพ เป็นเหตุการณ์ทางการเมืองที่ประชาชนชาวไร่ ชาวนา กรรมกร นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ นักการเมือง รวมตัวกันเป็น คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ คัดค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สนับสนุนทหารไปร่วมรบในคาบสมุทรเกาหลี และในสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการนำลัทธิคอมมิวนิสต์มาเผยแพร่ในประเทศไทยแล้วโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนโพ้นทะเล ดังนั้นช่วงเวลาต่อ ๆ มา นักการเมืองนักเขียน นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากจึงถูกกล่าวหาให้ร้ายว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คิดล้มล้างการปกครองด้วยกำลังต่างชาติ อีกกลุ่มหนึ่งที่เกิดขึ้นในระยะนั้น คือ ขบวนการกู้ชาติ ที่จัดตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๔๙๔ โดยมี นายสุพจน์ ด่านตระกูล, นายสมุทร สุรักขกะ รวมทั้ง นาวาอากาศตรีพร่างเพชร บุญรัตพันธ์ เข้ามาร่วมด้วย
กล่าวเฉพาะกลุ่มคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ดูจะเข้มแข็งกว่าทุกกลุ่ม เพราะมีสมาชิกจำนวนมาก เป็นตัวแทนจากทุกภูมิภาคของประเทศ และจากกลุ่มอาชีพ เช่น นายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ เป็นรองประธาน พระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นายเปลื้อง วรรณศรี นักศึกษาธรรมศาสตร์ นายแคล้ว นรปติ นักการเมือง และ นายครอง จันดาวงศ์ ตัวแทนชาวนา เป็นต้น
ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ คณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทย ได้รณรงค์ขอบริจาคเสื้อผ้า อาหาร และทรัพย์สินเงินทองเพื่อนำไปแจกจ่ายชาวอีสาน การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสันติภาพแห่งประเทศไทยขยายตัวออกไปต่างจังหวัดทั้งภาคใต้ภาคเหนือ โดยเฉพาะภาคอีสานที่สกลนคร (นายครอง จันดาวงศ์) จังหวัดสุรินทร์ (นายเปลื้อง วรรณศรี) ใบปลิวที่แจกจ่ายออกไปมีบทความข้อเขียนของอิศรา อมันตกุล และ อัศนี พลจันทร ในนามปากกา “กุลิศ อินทุศักดิ์” เพราะยังเป็นข้าราชการอยู่ และบทกวีอีศานของเขาถูกเขียนขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ๒๔๙๕ ในนิตยสาร สยามสมัย ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินนโยบายเพื่อปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง
บทกวีอีศาน ให้ภาพที่ห่อเหี่ยวอารมณ์ เศร้าแต่หนักแน่น และเขาก็มีบทกวีที่ให้อารมณ์เศร้าแต่มีความงาม นุ่มนวล จินตนาการที่เย็นสงบ สะอาดและชวนคิดถึงเจ้าของบทเพลง เดือนเพ็ญ
“เดือนเพ็ญสวยเย็นเห็นอร่าม นภาแจ่มนวลดูงาม เย็นชื่นหนอยามเมื่อลมพัดมา….”
อัศนี พลจันทร เสียชีวิตเมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๐ และวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ เขาถูกนำกลับบ้าน (ประเทศไทย) เพียงกระดูกและวิญญาณ แต่ต้องใช้เวลา ๑๐ ปีเต็มจึงได้กลับบ้าน
*****
อีสาน ในประวัติศาสตร์และวรรณกรรม คอลัมน์ นอกเครื่องแบบ นิตยสารทางอีศาน ฉบับที่ ๓๗ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๘