(๑)
กะหล่ำปลีสีทันดร
ภาพกาก คือ ภาพประกอบที่ทำให้เรื่องราวในภาพจิตรกรรมสมบูรณ์ขึ้น แม้จะไม่ใช่ภาพหลักแต่มันก็มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยซ่อนอยู่ในตัวของมันเอง “คอลัมน์เกร็ดในความกาก” นี้ จะพาผู้อ่านทุกท่านทะลุมิติเข้าไปเพลิดเพลินกับเรื่องราวของฝาผนังล้ำค่าด้วยกัน ณ บัดนี้ค่ะ
สิมวัดไชยศรี บ้านสาวะถี จังหวัดขอนแก่น ได้ชื่อว่ามีภาพฮูปแต้มสังสินไซที่สมบูรณ์ที่สุด ที่ว่าสมบูรณ์นั้นคือ เพียบพร้อมทั้งองค์ประกอบของภาพ และเรื่องราวที่มีครบทั้ง ๒ ภาค คือภาคแรกที่เป็นเรื่องราวการเดินดงผจญภัยข้าม ๗ ย่านน้ำ ๙ ด่านมหาภัย ของท้าวสินไซ เพื่อไปตามเอาอาที่โดนยักษ์ลักไปเป็นเมียกลับคืนบ้านเมือง และภาคจบที่เรียกว่า “ม้วนชาดก” ที่กล่าวถึงบทสรุปของเรื่องว่า ในกาลข้างหน้า ท้าวสินไซได้ไปเกิดเป็นพระพุทธเจ้า ส่วนท้าวสีโหและสังข์ทอง ได้ไปเกิดเป็นพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตร เป็นต้น
เมื่อครั้งแรกที่ฉันมาชมฮูปแต้มที่สิมหลังนี้ แม้จะได้ศึกษาเนื้อหาของวรรณกรรมมาบ้าง แต่เมื่อได้เห็นเส้นสายทรงกลมภาพหนึ่ง มันทำให้ฉันถึงกับงุนงงไปวูบใหญ่ว่า “กะหล่ำปลี” มันเกี่ยวกับเรื่องสังสินไซตอนไหนกันนะ แม้ภายหลังจะมีโอกาสได้ไปอีกหลายครั้ง แต่ด้วยความตื้นเขินก็ยังมองเห็นเป็นกะหล่ำปลีอยู่เช่นนั้น
จนกระทั่งวันหนึ่ง อาจารย์ทรงวิทย์ พิมพะกรรณ์ และอาจารย์ชอบ ดีสวนโคก ได้มีการชำระฮูปแต้มสินไซกัน เมื่อมาถึงคิวของวัดไชยศรี อาจารย์ชอบพิจารณาอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะเฉลยว่า ที่แท้แล้วภาพนี้คือ “มหานทีสีทันดร” เท่านั้นเองฉันก็พลันบังเกิดความสว่างวาบ
มหานทีสีทันดร หมายถึงอย่างไร กว้างใหญ่แค่ไหน
ถ้าให้เล่าเรื่องนี้ เห็นจะต้องไปปักหมุดกันที่เขาพระสุเมรุ อันเป็นศูนย์กลางจักรวาล ตามคัมภีร์ไตรภูมิกถา เขาพระสุเมรุนี้มีเขารายล้อมอยู่ ๗ ชั้น เรียกรวม ๆ ว่า “สัตตบริภัณฑ์” โดยเขาแต่ละลูกจะมีมหาสมุทรใหญ่คั่นระหว่างเขาอีก ๗ ชั้น มหาสมุทรแต่ละแห่งจะมีลักษณะน้ำที่แตกต่างกันไปจากชั้นในไปชั้นนอก คือ น้ำนม น้ำนมส้ม น้ำเนย น้ำอ้อย น้ำเหล้า น้ำจืด น้ำเค็ม มหาแห่งมหาสมุทรเหล่านี้ละที่เรียกว่า “มหานทีสีทันดร”
ในคำว่า “มหานที” แปลว่า ห้วงน้ำอันไพศาล
“สีทะ” แปลว่า ทำให้ทุก ๆ สิ่งจมลง
“อันตระ” แปลว่า ระหว่าง
รวมคำแล้วคือ “สีทนตระ” หรือ “สีทันดร” หมายถึงมหาสมุทรใหญ่ที่มีน้ำละเอียด ไม่มีสิ่งใดลอยอยู่ได้
เมื่อไม่นานมานี้ฉันได้มีโอกาสไปสอนเด็ก ๆ ชั้นประถมศึกษา ๕ และ มัธยมศึกษา ๑ โรงเรียนบ้านสาวะถี และโรงเรียนสาวะถีพิทยาสรรพ์ ให้รู้จักการปรุงสีที่ได้จากธรรมชาติอย่างพวกพืชและหินแร่ ให้เป็นโทนสีในฮูปแต้ม
ระหว่างที่เดินชมสิมเล่าเรื่องฮูปแต้มกันฉันพาเด็ก ๆ วนไปหยุดที่ภาพกะหล่ำปลีปริศนาแล้วลองทายเด็ก ๆ ว่าภาพที่เห็นนี้คืออะไร
เด็ก ๆ ทายว่า เตาหมูกระทะบ้าง ตะกร้อบ้าง ก้อนไหมพรมก็มี ยางรถมอเตอร์ไซค์ กะหล่ำปลี ลูกเทนนิส ก็มา จินตนาการของพวกเขาล้ำลึกกว่าฉันเสียอีก
จนเมื่อฉันเฉลยว่า “ที่เห็นนี่คือมหาสมุทรใหญ่ที่เรียกว่ามหานทีสีทันดร” เด็ก ๆ ทำหน้าเหวอกันใหญ่ พากันถามเสียงเซ็งแซ่ว่า “คือหยัง ๆ”
ในเมื่อสวมบทบาทครูเฉพาะกิจแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ให้ถึงที่สุด ฉันปั้นหน้าจริงจังก่อนจะเล่าเรื่องราวตามที่เคยผ่านตามาจากหนังสือไตรภูมิกถาว่า
“มหานทีสีทันดรเป็นมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล และน้ำในมหาสมุทรนั้นเป็นน้ำทิพย์ที่มีความละเอียดมาก ละเอียดจนไม่มีสิ่งใดจะลอยอยู่ได้ แม้แต่แววหางนกยูงที่แสนจะบางเบาเมื่อตกลงไปก็ยังจม”
“กว้างใหญ่เท่าใด๋” ตุ๊ต๊ะ เด็กชายที่เป็นหัวโจกของชั้นเรียนถาม
“ก็คิดดูว่า แสนมหาพระยาครุฑยังเต็มบินกว่าจะไปถึงถิ่นวิมานทอง…” ฉันยกบทละครเรื่องกากี มาเปรียบเทียบให้เด็กชายเห็นภาพ เจ้าหนูจดบันทึกเรื่องอัศจรรย์ที่ได้ฟังใส่สมุดยิก ๆ
“ด้วยความกว้างใหญ่ไพศาล และไม่อาจจะว่ายข้ามไปได้ การจะข้ามผ่านมหานทีนี้ยากเสียยิ่งกว่ายาก จึงได้มีคำกล่าวเปรียบเทียบการฟันฝ่าอุปสรรคอันหนาหนักในชีวิตว่า เหมือนดั่งข้ามสีทันดร” ฉันกล่าวปิดท้าย พ่อใหญ่แม่ใหญ่ที่มาสังเกตการณ์ลูกหลานเรียนหนังสือนอกตำรา พากันพยักหน้าหงึกหงักเห็นพ้องด้วย
แม้ว่ามหานทีสีทันดรจะลึกจนเหลือหยังคะเน และสุขุมละเอียดจนไม่อาจมีสิ่งใดลอยอยู่ได้ แต่ก็ยังมีสัตว์ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว ขอให้มวลมิตรนักอ่านทำใจเย็น ๆ รอสักหน่อย แล้วฉันจะนำเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากภาพกากมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไป