เราได้เคยถกแถลงกันเรื่องความหลากเลื่อนของภาษาตามแนวคิดของแดริด้า-นักคิดแนวรื้อสร้างผู้เรืองนามชาวฝรั่งเศสมาบ้างแล้ว โดยเริ่มจากคำว่า “ด้ำ” ซึ่งเป็นคำไทดั้งเดิม ต่อมาได้กลายเสียงเป็น “ด้าม” จากชื่อโคตรวงศ์ “หมื่นด้ำพร้าคต” เพี้ยนไปเป็น “หมื่นด้ามพร้าคด”
การเขียนคำนี้ จาก ‘คต’ เป็น ‘คด’ เป็นทั้งการกลายเสียงและกลายรูปจาก /โคต/-‘โคตร’ ความหมายเทียบได้กับคำ ‘Clan’ ในภาษาอังกฤษ
ศัพท์นี้มีความสำคัญมากในเชิงมานุษยวิทยา หมายถึงต้นตระกูลหลักอันเป็นที่มาของสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน การถือโคตรเกิดจากการที่ “ครอบครัว” อันเป็นหน่วยเล็กที่สุดทางสังคม ได้ขยายตัวกลายเป็นสถาบันทางสังคมโดยการสืบสายเลือด (พันธุ์) บรรพชนจาก “ต้นตอ” เดียวกัน เปรียบกับต้นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ‘Clan’ ก็คือรากแก้วของไม้ยืนต้นนั้น ๆ รากแขนงก็คือสายสกุล หรือ “สายตระกูล” เขียนแบบภาษาบาลีคือ ‘พงษ์’ เขียนแบบภาษาสันสกฤตคือ ‘วงศ์’ ตรงกับคำ Lineages ในภาษาอังกฤษ ศัพท์นี้มักใช้เป็นพหูพจน์เพราะแต่ละโคตรอาจแตกแขนงออกเป็นหลายวงศ์พงษ์พันธุ์ จากนั้นจึงมีการสืบสายย่อยออกมาเป็น ‘สกุล’ หรือ ‘ตระกูล’ หนึ่ง ๆ (ในหนังสือโบราณเขียนตามการออกเสียงว่า‘ขระกูล’ ก็มี) รากศัพท์ของคำสกุลนี้มาจากภาษาตระกูลมอญ-เขมร
มีสำนวนไทยหนึ่งที่สะท้อน “การถือโคตร” คือถือสาว่าการสืบสายโคตรเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวคือ “ผู้ดี” ทั้งหลายสามารถสาวโคตรย้อนทวนกลับไปได้หลายชั่วโคตรอย่างมีศักดิ์ศรี คนเหล่านี้จัดว่าเป็นผู้มี “สกุลรุนชาติ”กรณีที่มี “ผู้ดีผีชาวเลือง” ในศิลาจารึก “ปู่สบถหลาน” ก็คงจะเข้าข่ายนี้ “ผีชาวเลือง” ก็คือสายผีของผู้ดี (ผู้มีสกุลรุนชาติ) ชาว (ตระกูล) เลืองแห่งสุโขทัยนั่นเอง การใช้สำนวน “มีสกุลรุนชาติ” หมายถึงการถือกำเนิดในสายสกุลที่ดีสำนวนนี้มีนัยยะลึกซึ้งถึงขั้นเป็นการถือยศถือศักดิ์ของสายสกุล การจำแนกความแตกต่างกันทางสายสกุลในสังคมไทยจึงบ่งบอกถึงการแบ่งแยกทางชนชั้นไปในตัว และมีนัยยะเหยียดหยามทางชนชั้นต่อผู้มาจากต่างสายสกุลที่อาจมียศถา
บรรดาศักดิ์ต่ำกว่าด้วย กล่าวในเชิงมานุษยวิทยาสังคมไท-ลาวจัดว่ามีการกีดกันทางสังคม (Social discrimination) ผ่านทางสายสกุลมาแต่โบราณ หนุ่มที่ “ไม่มีสกุลรุนชาติ” จะมารักใคร่ชอบพอแต่งงานกับสาวที่ “มีสกุลรุนชาติ”
ไม่ได้ โดยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าในห้วงเวลาของประวัติศาสตร์สังคมที่ค่อนข้างยาวนานห้วงหนึ่งในบางสังคมบางกลุ่มชาติพันธุ์ทางวัฒนธรรมหรือบางโคตรวงศ์ มักจะมีการแต่งงานกินอยู่ด้วยกันภายในสายสกุลหรือจำกัดเฉพาะภายในโคตร
วงศ์เดียวกันเท่านั้น ตามประวัติของพระพุทธเจ้า แม้แต่สิทธัตถะกุมารก็ถูกผูกมัดด้วยกฎเกณฑ์เคร่งครัดดังกล่าวนี้เช่นกัน
โดยเหตุที่การกินอยู่หลับนอนด้วยกันไม่ใช่เริ่มต้นจากความรักใคร่ชอบพอกันเท่านั้นแต่มีนัยยะสำคัญในทางการสืบทอดจรรโลงความเป็นสถาบันด้วย ศัพท์ทางมานุษยวิทยาจึงเรียกการแต่งงานชนิดนี้ว่า ‘Institutionalized marriage’
เด็ก-หนุ่ม-สาวในสังคมครอบครัวแบบสายตระกูลมีความเป็นสถาบันเข้มข้น จึงไม่อาจประพฤติตนตามใจชอบ นอกรีตนอกรอยไม่ได้แต่ก็มีบางคู่ที่แหกกฎยอมผิดฮีตด้วยอานุภาพของความรักจนเป็นที่เล่าขาน เช่นกรณีโศกนาฏกรรม “อุสาบารส” “ขูลูนางอั้ว” “พระลอกับเพื่อน-แพง” ทางยุโรปในกรณีของโรเมโอ-จูเลียต ก็น่าจะมีที่มาจากกฎเกณฑ์ทางสถาบันของการถือโคตรถือวงศ์เช่นกัน
หากวิเคราะห์ตามแนวทัศนะวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์ ปรากฏการณ์อันเข้าข่ายเป็นโศกนาฏกรรมของหนุ่มสาวผู้ไม่อาจสมหวังในรักเพราะไปมีรัก “ข้ามโคตรวงศ์” (ซึ่งบางคู่บางกรณีก็เป็นแบบ “ข้ามเผ่าพงศ์” ด้วยนั้น) ล้วนเกิดขึ้นในห้วงประวัติศาสตร์ที่พ่อหรือปู่ หรืออีกนัยหนึ่งผู้อาวุโสชายแห่งโคตรขึ้นมาเป็นใหญ่ กุมอำนาจสูงสุด อำนาจแห่งปิตาธิปไตยจึงจัดว่ามีคุณูปการในการขับดันให้เกิด “ความรักที่ไม่ตาย” แต่ได้นำความตายมาสู่คู่หนุ่มสาวจำนวนมากทุกมุมโลก “ขูลูกับนางอั้ว” เข้าข่ายนี้ชัดเจนมากเพราะถึงขั้นเป็นการลอบรัก “ข้ามเผ่า-ข้ามชาติพันธุ์”
ในสายตระกูลลอนั้น กรณีของพระลอกับพระเพื่อนพระแพง อาจมีผู้ค้านว่า “เจ้าย่า” เป็นผู้หญิงต่างหาก ที่เป็นผู้ใช้อำนาจกระทำการรุนแรงด้วยการสั่งทหารให้รุมล้อมวังและทำร้ายด้วยอาวุธ จนทั้งสามชู้รักต้องศรเสียบอกตายไป
พร้อม ๆ กัน แนววิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ก็ยังคงสามารถอธิบายปรากฏการณ์พิเศษนี้ได้โดยไม่ย้อนแย้งกันเลย กล่าวคือ “เจ้าย่า” (มิใช่ ‘ยาย’) เป็นภาพตัวแทนของสายอำนาจฝ่ายพ่อเป็นใหญ่กระทำการแทน ‘เจ้าปู่’ ผู้ทรงอำนาจใน “โคตรสายพ่อเป็นใหญ่” นอกจากนี้การที่เมืองสองกับเมืองสรวงขัดแย้งกันนั้น เป็นเหตุเกิดขึ้นในขั้น
ตอนการพัฒนาสังคมจากวิถี “บ้าน” ไปสู่ วิถี “เมือง” ระยะต้น ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากขั้นปลายสังคมแบบชุมชนบรรพกาล ไปสู่ช่วงต้นของสังคมทาส หรือสังคมเกษตรกรรมที่เจ้าที่ดินถือครองทาส มีไพร่กสิกรหรือชนชั้นชาวไร่ชาวนาเกิดขึ้นแล้ว ผู้หญิงบางคนจึงยังคงมีบทบาทนำในสังคม โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสถานภาพสูงเป็นชนชั้นสูงในสังคม แม้ว่าสังคมเมืองแมนสรวงจะถือ “ด้ำปู่” แล้วก็ตาม
อาจมีการตั้งโจทย์หรือข้อกังขาในใจว่าจริงหรือที่ว่าสังคมชุมชนบรรพกาล มีการถือ“ด้ำนาย” ก่อนการถือ “ด้ำปู่”?
“ปางด้ำนาย” คืออะไร (What?) อยู่ที่ไหนกันบ้าง (Where?)
เป็นช่วงเวลาใดของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของสังคมไท-ลาว (When?)
ปางนี้ มีลักษณะทางเศรษฐกิจและโครงสร้าง-หน้าที่อย่างไร (How?) ในบริบทประวัติศาสตร์สังคมและวัฒนธรรมไท-ลาว
ในขั้นตอนนี้ เราจะมาลงรายละเอียดกันเรื่อง “ปางด้ำนาย” ตามแนวทางทฤษฎีที่ท่านอาจารย์คำจองแห่งสถาบันวิจัยชาติพันธุ์วิทยากรุงฮานอย ผู้ได้กำหนดอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ของท่านว่าเป็น “ชาวไทดำ” แห่งอาณาจักรแถน
“ด้ำ” เป็นคำไทดั้งเดิม (Proto-Tai)
“ด้ำ” น่าจะมีความหมายใกล้เคียงกับคำ “โคตร” อันเป็นคำที่มีรากมาจากศัพท์สันสกฤต ดังนั้นคำ “ผีด้ำ” จึงหมายถึง ผีบรรพชนของสายโคตรวงศ์ และถ้าหากมีคำขยายเป็นคำ “ผีด้ำใหญ่” น่าจะหมายถึง ผีเจ้าโคตร คือ ผีบรรพชนที่เป็นต้นโคตร และทั้งนี้หากเราตีความไม่ซับซ้อนว่า ‘ใหญ่’ ในที่นี้ก็หมายถึง ผู้ใหญ่ หรือผู้เป็นใหญ่ ดังนั้นจะเป็นชายหรือหญิงก็อาจเป็น “ด้ำใหญ่” ได้
อย่างไรก็ตาม มีอีกแนวสันนิษฐานหนึ่ง
ของนักนิรุกติศาสตร์บางสำนัก ที่วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ตามหลักสัทศาสตร์ว่า คำว่า ‘ใหญ่’ นั้นกลายเสียงมาจากคำ ‘ยาย’
หากเดนิ ตามแนววิเคราะห์นี้ “ผีด้ำใหญ่”่ ในเอกสารโบราณก็น่าจะเป็นผู้หญิงเท่านั้น การจะตีความว่า “ผีด้ำใหญ่” ก็คือ “ผีด้ำยาย” ค่อนข้างสวมรอยกันสนิทกับแนววิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ ซึ่งท่านอาจารย์คำจองใช้ว่า “ผีด้ำนาย”
ว่าตามหลักสัทศาสตร์ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คำว่า “ยาย” อาจกลายเสียงมาจากคำว่า “นาย” หากเป็นเช่นนั้นจริง ความข้อนี้เข้ากันได้สนิทกับแนววิเคราะห์แบบมาร์กซิสต์ที่ท่านอาจารย์คำจองท่านใช้ตีความแล้วพัฒนาขึ้นสู่
ทฤษฎีแบบไท ๆ ท่านเสนอว่า “ปางด้ำนาย” เป็นห้วงเวลาที่สายด้ำแม่เป็นใหญ่ มีการสืบตระกูลสายแม่
“นาย” ก็เป็นคำไทดั้งเดิมอีกเช่นกัน
ตามความเคยชินปัจจุบันในประเทศไทยคำว่า “นาย” เป็นคำเรียกนำหน้าผู้ชาย เช่น นาย
ทักษิณ นายตู่ นายชาติชาย ฯลฯ แต่คำที่ยังมีใช้กันในปัจจุบันว่า ‘คุณนาย’ ในภาคกลาง ‘แม่นาย’ ทางภาคเหนือ และ ‘นายหัว’ ทางภาคใต้สองคำแรกหมายถึงผู้เป็น “นาย” ที่เป็นผู้หญิงส่วนคำหลังนั้นปัจจุบันใช้เรียกแต่ผู้ชายเท่านั้น บ้างว่าเดิมก็เคยใช้คำนี้เรียกผู้หญิงแต่เดี๋ยวนี้ไม่มีนายหัวผู้หญิงแล้วทางภาคใต้
คำว่า “นาย” โดยรากศัพท์จึงมิใช่คำที่ใช้ระบุเพศชายเท่านั้นเช่นที่ทางราชการไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าห้วงประวัติศาสตร์ร่วมสมัย “นาย” เป็นได้ทั้งสองเพศ (หรือเหมารวมถึงเพศที่สามที่สี่ด้วยก็ได้)
แต่…ห้วงระยะต้น ๆ ของสังคมชุมชนแบบบรรพกาลนั้น “นาย” เป็นผู้หญิงเท่านั้นเพราะเป็นผู้ที่นำพาสังคมยุคต้นของมนุษย์ในฐานะ ผู้เป็นแม่ หรือ แม่ผู้ให้กำเนิด เด็กทารกดูดนมแม่ แม่เป็นผู้คลอดทารกออกมา แม่เป็น
เจ้าของ “น้ำนม” แต่ผู้เดียว สิ่งหาได้ด้วยยากนี้ผู้ชายไม่อาจให้ได้ สังคมแต่บรรพกาลจึงพัฒนาขยายตัวได้เพราะผู้เป็นแม่ แม่จึงเป็น “นาย” ของสังคม กล่าวคือ เป็นเจ้าของทั้ง “น้ำนม” “ทารก” และ “สังคม” โดยส่วนรวม
ความมหัศจรรย์ที่มนุษย์สามารถถือกำเนิดขึ้นมาได้นั้น ในชั้นแรกมนุษย์ไม่ว่าหญิงหรือชายยังไม่มีความรู้เรื่องของวิทยาศาสตร์ทางเพศ รู้แต่ว่าเด็กทารกออกจากท้องแม่มิใช่ท้องพ่อ เด็กทารกจึงเป็นสมบัติของแม่ ความรู้สึกของ
ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ก่อให้เกิดสถานภาพของ “ความเป็นนาย” ขึ้นมาในสังคมชุมชนแบบบรรพกาล ประกอบกับการทำกสิกรรมที่ผู้หญิงเป็นผู้รู้ ผู้กำความลับของพันธุ์ข้าว และเป็นผู้นำพาปฏิบัติการด้านการหาอยู่หากินตามวิถี
เศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยังชีพ (Subsistenceeconomy) จึงทำให้ผู้หญิงผู้เป็นนายสามารถสถาปนาความเป็นใหญ่ในชุมชนขึ้นมาเหนือผู้ชาย
จึงขอสรุปว่า /ใหญ่-gnai/ /ยาย-yaai/ /นาย-naai/ เป็นคำกลายเสียง มาจากรากคำเดียวกัน
เมื่อเสียงกลาย ความหมายก็หลากเลื่อนไปได้ต่าง ๆ นานา แต่ก็สามารถอธิบายกฎเกณฑ์ของการกลายเสียงได้ตามหลักนิรุกติศาสตร์ภาษาศาสตร์สังคม และอรรถศาสตร์ แห่งวัตถุนิยมประวัติศาสตร์มาร์กซิสต์