[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒)
วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี

ประตูเข้าหน้าวัดบ้านยางทวงวราราม ตำบลบ้านยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม

วัดบ้านยางก่อตั้งเมื่อพ.ศ. ๒๓๓๙ หรือเมื่อ ๒๒๐ ปีก่อน ในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดยางทวงวราราม ตั้งอยู่ที่บ้านยาง ตำบลยาง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีโบราณสถานสำคัญคือ สิมวัดบ้านยาง จดทะเบียนเป็นโบราณสถานจากกรมศิลปากรเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๒๕ สิมหรืออุโบสถแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อพ.ศ. ๒๔๖๕ มีอายุได้ ๙๔ ปีในปีนี้ ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ ๖ โดยฮูปแต้มที่ผนัง ประกอบด้วยเรื่องราวของพุทธประวัติด้านใน ด้านนอกแต้มเป็นเรื่องราวของพระมาลัย พระเวชสันดรชาดก และเรื่องของพระปาจิต นางอรพิม

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชดำริแบ่งหัวเมืองอีสานออกเป็น ๕ มณฑลนั้น มหาสารคามถูกจัดอยู่ในมณฑลอุบลราชธานี ซึ่งมีหัวเมืองอยู่ ๕ หัวเมือง ได้แก่ หัวเมืองรอ้ ยเอ็ด เมืองกาฬสินธุ์ เมืองกมลาไสย เมืองสุวรรณภูมิ และเมืองมหาสารคามดังนั้นจึงเห็นความสัมพันธ์ระหว่างความนิยมในวรรณกรรมเรื่องปาจิต อรพิม ในมณฑลอุบลราชธานี ที่มีการนำเรื่องดังกล่าวนี้ไปเป็นภาพเขียนผนังที่วัดทุ่งศรีเมือง (จังหวัดอุบลราชธานี) ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นศิลปะแบบชาวเมือง แต่ในขณะที่ฮูปแต้มที่สิมวัดบ้านยางถือว่าเป็นศิลปะรูปแบบท้องถิ่นโดยแท้ และฮูปแต้มที่สิมวัดบ้านยาง เป็นงานพุทธศิลป์ที่แสดงให้เห็นถึงความนิยมในเรื่องของพระปาจิตและนางอรพิมอย่างสูง ในฐานะวรรณกรรมทางพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อศิลปะ

สิมอีสานวัดบ้านยาง มีหลังคาโบสถ์ทำจากกระเบื้องและสังกะสีคลุมรอบ (ภาพโดย Ivan Polsan)ภาพผนังสิมอีสานที่มีเรื่องราวของ พระมาลัย พระเวสสันดร และนางอรพิม ไล่ลำดับจากบนลงล่างปราชญ์ชาวบ้านกำลังอธิบายเรื่องราวของนางอรพิม จากภาพจิตรกรรมฝาผนัง

ไพโรจน์ สโมสร ศึกษาเรื่องจิตรกรรมฝาผนังอีสาน ได้จัดหมวดหมู่ของงานช่างแต้มเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มช่างพื้นบ้านแท้ กลุ่มที่ได้รับอิทธิพลช่างหลวงกรุงเทพฯ และกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมผสมล้านช้าง-กรุงเทพฯ หากงานภาพจิตรกรรมเรื่องปาจิต อรพิม ที่วัดทุ่งศรีเมืองเป็นงานที่ได้รับอิทธิพลล้านช้างและช่างหลวงกรุงเทพฯ งานฮูปแต้มที่วัดบ้านยาง นั้นนับว่าเป็นงานของช่างพื้นบ้านแท้ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

เนื้อเรื่องที่อยู่ในสิมอีสานทั่วไปนั้นมักจะนำมาจากวรรณกรรมท้องถิ่น หรือพื้นบ้าน และชาดก บางครั้งวรรณกรรมพื้นบ้านก็กลายเป็นชาดกนอกนิบาต แต่การหยิบยกมาวาดไว้ในสิมซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สำคัญของวัด นับว่าเป็นความนิยมในวรรณกรรมเรื่องนั้น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทศชาติชาดก เวสสันดร อันเป็นชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับประเพณีความเชื่อของชาวอีสานและลาว ประเพณีบุญผะเหวด และเรื่องสังข์สินไชย หรือสินไซ

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระปาจิต และนางอรพิม ที่ปรากฏรอบสิมวัดบ้านยางนั้น อยู่ล้อมรอบบริเวณสิมหรืออุโบสถ แต่อยู่ในลำดับล่างสุด โดยมีเรื่องพระมาลัย และพระเวสสันดรอยู่ข้างบนตามลำดับ ซึ่งเป็นการยากที่จะเข้าใจเรื่องราวที่แต้มไว้หากผู้มาเยือนขาดความเข้าใจในขนบของจิตรกรรมฝาผนังสิมอีสาน โดยเรื่องราวที่ปรากฏล้อมรอบสิมวัดบ้านยางนี้ ถึงแม้จะเป็นเรื่องราวทางพุทธศาสนาตามเนื้อหาที่รับรู้กัน ยังแฝงข้อคิดคติธรรม ปริศนาธรรม รวมทั้งภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแวดล้อม จากความคิดและจินตนาการของช่างแต้ม หรือศิลปินผู้วาดภาพ โดยช่างเขียนชาวบ้าน ช่างหน่าย และพระภิกษุทวง หรือญาคูทวง

โดยทั่วไปการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังนั้นมีวิธีการเขียนอยู่ด้วยกัน ๓ แบบคือ การวาดภาพด้วยสีฝุ่น การวาดภาพลงปูนเปียก การวาดภาพแบบขี้ผึ้งผสมนํ้ามัน การเขียนภาพจิตรกรรมที่วัดบ้านยางนี้มีลักษณะเป็นการเขียนด้วยสีฝุ่น สีที่ใช้มีทั้งจากธรรมชาติและเคมี โดยเฉพาะสีฟ้าหรือสีครามนั้นทางผู้ขายต้องสั่งมาจากบริษัทดูปองค์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดบ้านยางมีสีประกอบทั้งเขียว นํ้าตาล เทา แดง เหลือง ขาว และฟ้าหรือคราม

การวาดนั้นแบ่งตามผนังล้อมรอบแต่ละบานทั้งสี่ด้าน การดูภาพนั้นเริ่มจากหันหน้าเข้าหาประตูสิม และเริ่มเดินทวนเข็มนาฬิกา คือเดินจากทางด้านขวาและอ้อมไปทางซ้ายอย่างไรก็ตามการวาดนั้นดูเหมือนว่าจะเรียงตามลำดับ แต่บางครั้งก็ไม่เรียงลำดับเรื่อง ยากแก่การตีความ และมีองค์ประกอบอื่น ๆ เข้ามาแทรกเช่นเรื่องราวคติชาวบ้าน มีตัวละครอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่อง จึงต้องมีการตีความโดยผู้รู้ทั้งปราชญ์ชาวบ้าน ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรมและภาพเขียน ปราชญ์ชาวบ้านที่อาศัยในละแวกนั้นก็สูงอายุมากแล้ว และเหลือคนที่สามารถเล่าเรื่องปาจิต อรพิม ได้เพียงคนหรือสองคนเท่านั้นและนอกจากนั้นภาพก็เริ่มเลือนหายไปจากตามกาลเวลาและจากการสัมผัสด้วยความไม่รู้ของเด็ก ๆ ชาวบ้าน และผู้มาเยือน จึงควรจะมีการศึกษาวิธีอนุรักษ์ให้ดีขึ้น ดังเช่นที่ สันติ เล็กสุขุมกล่าวไว้ในหนังสือ จิตรกรรมไทย สมัยรัชกาลที่ ๓ ความคิดเปลี่ยนการแสดงออกก็เปลี่ยนตาม ว่าเป็น “ข้อด้อยสำคัญของงานจิตรกรรมคือ วัสดุในการเขียนภาพมีข้อจำกัดด้านความทนทานวัสดุที่ใช้คือสีฝุ่นผสมกาว ไม่คงทน เมื่อถูกความชื้นที่มีอยู่ทั้งในอากาศและความชื้นจากใต้ดินที่ซึมผ่านทางผนังขึ้นมา (ที่มหาสารคามก็คงมีความชื้นจากเกลือด้วย: ผู้เขียน) …รวมทั้งเกิดจากผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ที่กระทำต่อจิตรกรรมฝาผนัง เราจึงสูญเสียจิตรกรรมฝาผนังไปอย่างน่าเสียดาย”

ดังนั้นผู้เขียนและคณะทำงาน อันประกอบด้วยนักวิชาการทางด้านนิรุกติศาสตร์ สถาปนิก นักวัฒนธรรม จึงริเริ่มศึกษาภาพวาดจิตรกรรมฝาผนังชุดนี้ ควบคู่กับการปริวรรตใบลานตัวธรรมลาวของวัดบ้านยาง เรื่องนางอรพิม นับได้ว่าเป็นฮูปแต้มอีสานจากช่างท้องถิ่นเรื่องพระปาจิต นางอรพิม ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทยที่พบได้ในขณะนี้ จึงควรศึกษาและบันทึกไว้ให้เป็นมรดกแก่คนรุ่นหลังสืบต่อไป

****

บทความที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

ตามรอยเส้นทางสายวัฒนธรรม พระปาจิต นางอรพิม

เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร [๒]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]

นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]

วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]

[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)

[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑

เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]

[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ

[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)

Related Posts

ว่าด้วย เงือก (๓) คติความเชื่อเรื่องเงือกของชาวไทในเวียดนามและลาว จากเอกสารภาษาไทย
ฤๅสับปะรดเป็นหัวอยู่ใต้ดิน
อักษรในอีสาน…ต้นธารประวัติศาสตร์
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com