อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ
หลังกลับจากนมัสการพระธาตุหัวอก ฉันได้เริ่มเขียนบันทึกการพเนจรตามรอยบาทพระเจ้าเลียบโลกฉบับอีสาน เวลาล่วงผ่านจากฤดูร้อนครั้งนั้นบัดนี้มองผ่านหน้าต่างห้องช่อดอกคูนกลับมาบานอีกรอบแล้ว จนกระทั่งสายลมแล้งพัดเอากลีบดอกสีเหลืองบางเบานั้นหลุดร่วงหมดไป แต่ฉันก็ยังบันทึกเรื่องราวไม่แล้วเสร็จเสียที ยิ่งข้อมูลมีมากเท่าใด คำถามในใจก็มากเท่านั้น…
เรื่องมีอยู่ว่า พญาสุริยะวงศาธรรมิกราชในตำนานกับในประวัติศาสตร์นั้นเป็นบุคคลเดียวกันหรือไม่? เป็นผู้บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุพนมตามบันทึกหรือเปล่า? แล้วตำนานนี้ตกลงเรียบเรียงขึ้นในสมัยพญามีชื่อหรือสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชกันแน่?
ฉันปล่อยให้หน้ากระดาษว่างเปล่าจนเวลาล่วงเข้าอีก ๒ สัปดาห์ จะออกพรรษาแล้ว คืนหนึ่งฉันเปิดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กและปล่อยให้เคอร์เซอร์กระพริบอยู่นานจนตัดสินใจพับฝามันลง นั่งสมาธิแล้วเข้านอนดีกว่า คืนนั้นฉันได้ฝันไปว่าได้กลับไปกราบพระธาตุพนมอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้มีการจัดงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับเรื่องราวของพระอุรังคธาตุที่วัดด้วย ป้ายที่ติดประกาศระบุว่า ผู้บรรยายชื่ออาจารย์ผอูน ส่วนนามสกุลนั้นฉันจำไม่ได้
ในความฝันนั้นฉันดีใจมาก ตรงไปที่ห้องประชุมทันที น่าแปลกที่ผู้ร่วมฟังการบรรยายทั้งพระและฆราวาสต่างนั่งปะปนกันบนพื้น เมื่ออาจารย์ผอูนเห็นฉันก็รีบตรงดิ่งเข้ามาหาทันที เธอเป็นสตรีวัยกลางคน ร่างเล็กบาง ผิวขาว ตัดผมสั้นแค่คอ ดัดเป็นลอนใหญ่น่าจะย้อมดำ นุ่งซิ่นสีดำสวมเสื้อผ้าฝ้ายสีขาวมีลูกไม้เล็ก ๆที่ปกเสื้อ อายุราว ๆ ๔๕-๕๐ ปี
“เธอต้องอ่านงานของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์” อาจารย์ในความฝันกล่าว
เมื่อฉันทวนชื่อ พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ และอาจารย์ผอูน… จบก็ลืมตาตื่นขึ้นอย่างคนมีสติ ไม่ได้สะดุ้งตกใจตื่นแต่อย่างใด ลุกเดินไปที่โต๊ะเขียนหนังสือซึ่งห่างเพียง ๓ ก้าว แล้วเปิดฝาคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กขึ้น เข้ากูเกิ้ลใช้คำสำคัญว่า “อุรังคธาตุนิทาน, พิเศษ เจียจันทร์พงษ์” แล้วกดเสิร์ช
ข้อมูลลำดับแรกที่อินเทอร์เน็ตจัดให้ทำเอาฉันขนลุกซู่…
บุษบกทองคำบรรจุพระอุรังคธาตุชำรุดเล็กน้อย
ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนม
เนื้อเรื่องในตำนานอุรังคธาตุมาจบลงในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงเข้าใจกันว่าเรียบเรียงขึ้นในสมัยนั้น แต่! ใน “บั้นพุทธทำนาย” ที่อยู่ต้นเรื่องนอกจากจะมีการพยากรณ์เหตุบ้านการเมืองไว้ ยังกล่าวถึงกษัติรย์ลาวในลำดับต่อจากพระเจ้าไชยเชษฐา ซึ่งเหตุการณ์หลังจากนั้นค่อนข้างสับสน โดยเฉพาะตอนที่เริ่มรัชสมัยพระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราช ซึ่งไม่ทราบประวัติที่ชัดเจน ผู้เรียบเรียงจึงใช้กลวิธีการผูกเรื่องให้เป็นฤาษีมีฤทธิ์กลับชาติไปเกิดใหม่ ให้เชื่อมโยงกับเวลาที่บุคคลนั้นมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์ลาว
ตามหนังสือประวัติศาสตร์ฉบับที่พิมพ์โดยกระทรวงศึกษาธิการลาวที่ได้ชำระตำนานเก่า ๆ ให้ศักราชที่ตรงกับช่วงที่พระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราชขึ้นครองราชย์ไว้ ๒ ช่วง คือ พุทธศักราช ๒๑๗๖ กับ พุทธศักราช ๒๑๘๑ ซึ่งในตำนานอุรังคธาตุระบุถึงปีที่ฝูงเทวดาอารักษ์อัญเชิญเจ้าสุริยะกุมมานขึ้นเสวยราชสมบัติ “ปุณณ สหัสส วุฒิมงคลสังกราช” เป็นภาษาบาลี หมายถึง จุลศักราช ๑๐๐๐ [1] เมื่อเทียบเป็นพุทธศักราชจึงเป็นช่วงพุทธศักราช ๒๑๘๑-๒๒๓๓
[1] คนโบราณนั้นมีความเชื่อว่าทุก ๆ ศักราชที่ ๑๐๐๐ จะเป็นปีที่บ้านเมืองเกิดกลียุค ข้าวยากหมากแพง บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ จึงได้ลบศักราชนั้นทิ้งแล้วเขียนศักราชใหม่ขึ้นมาแทน ทำให้เรื่องราวในประวัติศาสตร์ไม่ปะติดปะต่อ.
แต่ก็ยังมีความขัดแย้งของข้อมูลอีกว่า ในตำนานอุรังคธาตุได้กล่าวถึงการได้บูรณะพระธาตุพนม อานิสงส์ดังกล่าวส่งผลให้พระองค์ได้ไปจุติเป็นเทพบุตรบนสวรรค์ ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรเพื่อตรวจอายุของชั้นดินที่พระธาตุพนมได้พบหลักฐานว่า พระเจ้าสุริยะวงศาธรรมิกราชได้สวรรคตก่อนการบูรณะประมาณ ๒-๓ ปี ตำนานจึงน่าจะได้รับการเรียบเรียงขึ้นระหว่างพุทธศักราช ๒๑๗๖-๒๑๘๑
ดังนั้นจึงสันนิษฐานได้ว่าถ้าพุทธศักราช ๒๑๗๖ เป็นปีที่เสด็จสู่ราชสมบัติ ก็แสดงว่าน่าจะทรงทำพิธีราชาภิเษกในพุทธศักราช ๒๑๘๑ ซึ่งชื่อของพระยาศรีไชยชมพูที่ปรากฏท้ายเรื่องน่าจะเป็นข้าราชสำนักผู้เรียบเรียงตำนานอุรังคธาตุขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองในช่วงเวลาที่เป็นมงคลนี้…
เรื่องราวซับซ้อนจึงคลี่คลายออกด้วยประการนี้เอง…
บุษบกทองคำที่ได้รับการบูรณะส่วนยอดจากกรมศิลปากร ซึ่งได้บรรจุกลับคืนเข้าไปในเจดีย์ธาตุแล้ว ภาพจากหนังสือประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนม
หลังอ่านข้อมูลจบความตื่นเต้นทำให้ไม่อาจข่มตาหลับต่อได้ กระทั่ง ๖ โมงเช้า ตั้งใจว่าจะใส่บาตรทำบุญไปให้กับอาจารย์ผอูน ไม่ว่าอาจารย์จะยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่จนแล้วจนรอดด้วยความที่คิดว่าอาจารย์นั้นมาดี ฉันจึงยังไม่เห็นถึงความรีบด่วน จนเวลาล่วงผ่านอีก ๒ วันจะออกพรรษาแล้ว ในคืนนั้นฉันรู้สึกถึงบรรยากาศอึดอัดกดดันอยู่ไม่เป็นสุข จนต้องเปิดไฟนอนเพื่อความอุ่นใจ ทันทีที่ฟ้าสางฉันรีบใส่บาตรกรวดน้ำส่งกุศลไปให้อาจารย์ผู้มีคุณทันที และแถมให้อีก ๑ วันในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นสถานการณ์ก็สงบสุขไร้สิ่งก่อกวนให้เกิดความกังวลใด ๆ
ถึงตอนนี้ความคับข้องใจของฉันก็เหลือเพียงข้อเดียวแล้ว “บุษบกทองคำ” ยุคนี้อะไร ๆ ก็ต้องอาจารย์กู…กูเกิ้ลเอาไว้ก่อน ฉันเองก็เช่นกัน แต่ไม่ว่าจะเอาคำสำคัญมาสลับหน้าสลับหลังในการเสิร์ชก็ยังไม่พบ ขาดแต่ตีลังกานี่แหละถ้าคอมพิวเตอร์จะทำได้ละก็นะ
“ไม่เจอเลยแก” เพื่อนรักสาวผู้ไทส่งวิดีโอคอลมาจากพิพิธภัณฑ์จวนผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม
เอ…หรือจะอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ระดับชาติอย่างพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครกันหนอ แต่จากการตรวจสอบข้อมูลก็ไม่พบวี่แวว จนฉันเริ่มทำใจแล้วว่าคงต้องตัดใจจากข้อมูลส่วนนี้ จนกระทั่งวันเวลาล่วงเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ คนใกล้ตัวของฉันได้มอบของขวัญให้ เป็นหนังสือเก่าแต่สภาพยังใหม่เอี่ยม ตีพิมพ์ตั้งแต่ก่อนฉันจะเกิดเสียอีก หน้าปกเขียนว่า “ประมวลภาพประวัติศาสตร์พระธาตุพนม”
สำหรับบางคนของมีค่าอาจจะเป็นแก้วแหวนเงินทอง รถยนต์หรู ที่ดินสวย แต่สำหรับฉันแล้วหนังสือเก่าหายากนี่แหละที่ถือว่าเป็นของล้ำค่า ฉันค่อย ๆ พลิกมันอย่างเบามือและแทบจะกลั้นใจอ่านด้วยความระมัดระวัง ราวกับว่าถ้าหายใจแรงจะทำให้ตัวอักษรใดปลิวหายไป
เนื้อหาในเล่มเล่าเรื่อยไปตั้งแต่ตำนานอุรังคธาตุฉบับย่อ การสร้างและการบูรณะพระธาตุพนมในแต่ละยุคสมัย ไปจนถึงวันที่พระธาตุพนมล้ม และบัญชีทรัพย์ศฤงคารที่พบในนั้น ซึ่งเมื่อพลิกไปที่หน้ากระดาษอาร์ตมันพิมพ์ ๔ สี ในหน้าถัดไปมือของฉันก็เริ่มสั่น เมื่อภาพบุษบกทองคำรูปทรงแบบหอบูชาข้าวปรากฏ เป็นภาพที่คาดว่าเป็นต้นฉบับของทุก ๆ ภาพที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต เป็นรูปฉบับเต็มที่ไม่ได้ถูกตัดต่อพร้อมข้อความระบุว่า “บุษบกทองคำที่บรรจุพระอุรังคธาตุ ซึ่งพบครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๗-๑๘ ตุลาคม ๒๕๑๘ อยู่ในสภาพชำรุดนิดหน่อย กรมศิลปากรได้บูรณะยอดใหม่ ก่อนงานพระราชพิธีบรรจุฯ พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งได้รับการบรรจุกลับคืนไปในองค์พระธาตุเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
เห็นข้อมูลในกรอบเล็ก ๆ นั้นแล้ว ในใจก็พลันสว่าง ว่าสิ่งที่ข้องใจนั้นได้คลี่คลายแล้ว แต่ความบังเอิญยังไม่จบเพียงเท่านั้น เมื่อฉันพลิกหน้าต่อไปซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผลการขุดค้นพระธาตุพนม ไล่อ่านลงมาเรื่อย ๆ จนมาถึงรายชื่อเจ้าหน้าที่กรมศิลปากรซึ่งมาปฏิบัติงานสำรวจและวางผังรื้อถอนซาก เมื่อสายตาปรับโฟกัสไปที่รายชื่อลำดับที่ ๒ “นายพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ รองประธานฝ่ายโบราณคดี” เฮ้ย! ฉันอุทานออกมาดัง ๆ มันเป็นเรื่องบังเอิญที่น่าอัศจรรย์อะไรขนาดนี้ ในใจนึกถึงคุณพระคุณเจ้าอยากให้บันทึกการเดินทางนี้เป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดพระศาสนาแม้เป็นส่วนเสี้ยวเล็ก ๆ ก็พึงใจ
ถึงตอนนี้ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องตำนานอุรังคธาตุของฉันถูกเติมเต็มแล้ว ฉันได้รู้ว่าท่ามกลางความหลากหลายของชาติพันธุ์ นิทานมุขปาฐะเรื่องนี้เป็นทั้งภาพสะท้อนสังคม ความคิด และความเชื่อของชาวพุทธทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำโขง…การเดินทางตามรอยพระพุทธบาทในตำนานอุรังคธาตุของฉันจบลงในหน้านี้ แต่หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางของคุณ…ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม
นิตยสาร “ทางอีศาน” ฉบับที่ ๘๒
ปีที่ ๗ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
นิตยสารรายเดือนของชาวอีสานและคนไททุกภูมิภาค
ลึกซึ้งรากเหง้า เข้าใจปัจจุบัน รู้ทันอนาคต
ติดตามตอนต่อไป
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : แผนการจาริก (๑)
อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : จุดเริ่มต้น (๒)
อุรังคธาตุ-นิทานพเนจร : สู่เมืองหนองหานหลวง (๓)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : พญานาคเกเรแห่งรอยพระพุทธบาท หมายเลข ๓ (๔)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๑ (๕)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๒ (๖)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : บุกดอยนันทกังฮี – ๓ (๗)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ๑ (๘)
อุรังคธาตุ – นิทานพเนจร : ที่จุดเริ่มต้นคือที่สุดท้าย – ตอนจบ