ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ ๒)

ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ ๒)

Report : รายงานทางอีศาน
ประวี ศรีนอก

ช่วงเช้าเราเดินทางไปเกาะยาว หวังว่าจะไปกินกาแฟเช้าบนเกาะ แต่ปรากฏว่าร้านปิด เปิดช่วงเย็นเกาะยาวที่ยาวสมชื่อ มองเห็นได้จากที่พัก สะพานเดินข้ามมีสองสะพานขนานกัน สะพานไม้และสะพานปูนแคบ ๆ พอให้รถมอเตอร์ไซค์สวนกันได้สะพานนี้ชื่อสะพานคอยร้อยปี “เพราะชาวบ้านบนเกาะทำเรื่องขอก่อสร้างสะพานจากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจร แล้วต้องรอคอยกันนานมากครับกว่าจะได้ เลยเปรียบเทียบเรียกสะพานนี้ว่า เหมือนต้องรอคอยกันเป็นร้อยปีกว่าจะสมหวัง” คุณย่องอธิบาย ยามเช้ามีควันไฟลอยกรุ่นอยู่ในหมู่บ้านกลุ่มเล็ก ๆ ในสวนมะพร้าว เราเดินลุยทรายข้ามไปฝั่งที่ติดทะเลที่มีธงชาติไทยปักอยู่ ที่เกาะยาวนี้ “แพรวา” เคยมาทำกิจกรรมด้านศิลปะวรรณกรรมกับเด็ก ๆ เมื่อห้าเดือนที่แล้ว มีการปล่อยเรือกอและญีวอยังสามอ (แปลว่าหัวใจเดียวกัน) มุ่งสู่เจ้าพระยา เพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงความต้องการสันติภาพ ผู้ขับเรือคือ คุณเกริ่น เขียนชื่น ช่างภาพและนักเขียนอิสระ จากสะพานมองเห็น สภ.ตากใบ ที่เกิดเหตุโศกนาฎกรรมเมื่อสิบสามปีที่แล้ว เกิดการปิดล้อมปราบประชาชนที่มาชุมนุมให้ปล่อยชุดรักษาหมู่บ้าน ๖ คน ที่ถูกกล่าวหาว่ายื่นปืนให้ผู้ก่อความไม่สงบ ผลล้อมปราบทำให้มีผู้เสียชีวิต ๘๕ ราย และส่วนใหญ่เกิดจากการบรรทุกคนไปค่ายทหารใช้เวลาเดินทางนาน ผู้คนอิดโรยเพราะอยู่ระหว่างถือศีลอด ซ้อนทับกันเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ

เรากลับมานั่งที่ร้านชาตรงมุมสี่แยก มีนกกรงหัวจุกแขวนอยู่หลายกรง เจ้าของนั่งจิบชาคุยกัน คุณย่องบอกว่า ที่หิ้วนกมาด้วยเพื่อเปิดประเด็นคุยเรื่องนกนำมาก่อน แล้วเรื่องอื่น ๆ ก็ตามมา ร้านน้ำชานอกจากมีในตลาดแล้วยังมักตั้งอยู่หน้าสุเหร่าด้วยแล้วข่าวต่าง ๆ มักกระจายเร็วจากร้านน้ำชา ในร้านมีขนมต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งข้าวหมกไก่ด้วย หยิบทานตามสบาย เมื่อเจ้าของมาคิดเงินก็บอกเขาว่ากินอะไรไปบ้าง ข้าง ๆ โต๊ะเรามีทหารหนุ่มนั่งอยู่ ต่อมาก็กลุ่มตำรวจมาอีกโต๊ะหนึ่ง ฉันคิดถึงคำพูดของคุณย่องที่บอกว่า เราไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย นักท่องเที่ยวไม่เคยถูกทำร้าย เป้าหมายของเขาคือ ทหาร ตำรวจ ครู และข้าราชการอื่น ๆ แต่เราจะโดนลูกหลง

ออกจากร้านแล้วเราไปชมวัดชลธาราสิงเห มีอีกชื่อหนึ่งว่าวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย เล่ากันมาว่าเมื่อก่อนตากใบยังเป็นรัฐกลันตัน เมื่อฝรั่งมาปักเขตแดนไทยอ้างว่าจุดนี้ต้องเป็นของไทยเพราะมีวัดไทยตั้งอยู่ วัดนี้จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ อุโบสถสร้างสมัยรัชกาลที่ ๔ กุฏิเจ้าอาวาสสร้างด้วยไม้ยกพื้นใต้ถุนสูง หลังคาซ้อนกันสามชั้น ทาสีฟ้างามสะดุดตา นอกจากนี้ยังมีศาลาริมน้ำที่รัชกาลที่ ๖ เสด็จมาประทับเพื่อทอดพระเนตรการแข่งเรือ

ภายในบริเวณวัดเงียบสงบมาก หอมกลิ่นดอกจำปีรวยริน มีต้นมะขามป้อมหลายต้นกำลังออกลูกดกเต็มต้น เราเดินเข้าไปที่ศาลาด้านในพบพระนอนองค์ใหญ่

จากวัดเราพักเหนื่อยด้วยการไปดื่มกาแฟที่ร้านซาฟิร คาเฟ่ เจ้าของร้านเป็นเด็กหนุ่มวัย ๒๕ ปี ชื่อบาริสต้ากอน (ฟุรกอน หะยีวาเงาะ) เขาเคยไปเรียนที่ซูดาน แล้วเกิดความประทับใจในรสกาแฟและวัฒนธรรมการดื่มกาแฟที่นั่น ประเทศนี้ถึงแม้ผู้คนจะยากจน แต่มีจิตใจดี ขณะดื่มเขาจะวางถ้วยเปล่าไว้ ๒-๓ ใบ ถ้าคนเดินผ่านเขาจะเรียกให้ดื่มด้วย คุณจะได้ชิมรสชาติกาแฟที่ผสมรสช็อกโกแลตซ่อนอยู่ติดลิ้นนานเป็นสายพันธุ์ม็อกค่า ต้นสายพันธ์อยู่ที่เยเมน เทือกเขาม็อกค่า เป็นกาแฟที่แพงมาก(ประเทศไทยไม่มีจึงใช้ช็อกโกแลตผสมในกาแฟ)

มีแขกมาเพิ่มคุยกันที่โต๊ะของลุง คือท่านอิหม่าม มูดา ได้เข้ามาปรึกษาหารือถึงเรื่องการพัฒนาเกาะยาว เสียงคุยแว่ว ๆ (เพราะฉันนั่งฟังคนละโต๊ะ) “เราขาดทุนทรัพย์ด้านการศึกษา ไม่ว่าเราจะอยู่ฝ่ายไหนสายไหน เราอยากพัฒนาก็ต้องทำได้ พวกทำลายปล่อยไป ถ้าเราซีเรียสก็จะไม่มีความสุข”

อิหม่ามค่อย ๆ ลบสีแดงออกจากพื้นที่เกาะยาวอยากให้นักท่องเที่ยวเข้าไปกางเต้นท์นอนได้ ท่านพูดว่า

“งานที่เหนื่อยหนักยิ่งทำยิ่งให้ความสุข”

สุดท้ายก่อนลาจากกันท่านชมเสื้อของคุณปรีดาว่า “เสื้อสวย”

“ใส่ได้ไหมครับ” คุณปรีดาถาม

“ได้”

คุณปรีดารีบถอดเสื้อเย็บด้วยมือของชาวผู้ไทให้ทันที พร้อมกำชับว่าให้ซักก่อนเพราะใช้มาหลายวันแล้ว

เราเดินทางต่อไปยังยะลา คุณย่องได้ขับผ่านเทือกเขาบูโด ซึ่งเป็นแนวยาวทมึนขวางอยู่ ที่หน้าโรงเรียนและหน้าค่ายทหารมีด่านอยู่มาก ผ่านอุทยานแห่งชาติเขาบูโด ลัดเลาะคดเคี้ยวไปตามเทือกเขา คล้ายภาคเหนือของไทย เป็นถนนสายยุทธศาสตร์ จึงมีด่านถี่ ๆ ทุกหมู่บ้านและทุกโรงเรียนผ่านแม่น้ำสายบุรี ผ่าน อ.รามัน แล้วเข้าเขตตัวเมืองยะลา ที่มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ยะลา เป็นภาษามลายูแปลว่า แห เป็นจังหวัดเดียวของภาคใต้ที่ไม่มีพื้นที่ติดทะเล เป็นจังหวัดที่มีผังเมืองสวยงาม จากวงเวียนกลางเมืองจะมีถนนล้อมเป็นวงแหวนหลายชั้น เหมือนน้ำกระเพื่อม

ด่านในตัวเมืองยะลา มองดูแล้วหายน่ากลัวไปเยอะ เพราะมีกลุ่มศิลปินพากันมาวาดภาพการ์ตูนสวนดอกไม้ ฯลฯ ที่แท่งบังเกอร์และแผ่นกั้นระเบิดหลายจุดในเมือง ที่นี่มีห้างใหญ่อยู่ห้างเดียวคือห้างโคลีเซี่ยม ของคุณคม อัครเดช อดีตผู้กำกับภาพยนตร์ มีร้านท็อปเจริญมากกว่าเซเว่น ผ่านตลาดสดและบริเวณสถานีรถไฟเป็นโซนชาวพุทธข้ามทางรถไฟไปฝั่งโน้นชาวบ้านเรียกเขตเยรูซาเล็มเพราะเป็นเขตมุสลิม

เย็นนี้เรามีนัดกับหนังเต็ง (นายมะยาเต็ง สาเมาะ) เพื่อชม วายังกูเละ (ภาษามลายู) หรือหนังตะลุง ที่บ้านสาคอ ต.ท่าสาป อ.เมือง หนังเต็งวัย ๔๓ ต้อนรับเราด้วยความยินดี บ้านของท่านเป็นศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน จึงมีป้ายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้หลายป้าย หนังเต็งพาไปดูตัวหนังตะลุงที่สะสมไว้จำนวนมาก ผลิตจากหนังวัวหนังควาย ถ้าตัวที่เห็นด้านข้างเป็นแบบมลายู ส่วนรูปด้านหน้าเต็มใสเป็นแบบไทย มีรูปเทวดาที่ได้รับอิทธิพลจากชวา รูปในเรื่องรายณะ รูปชาวบ้าน รูปตัวตลก เช่นตลกไอ้เท่ง ก็นำมารวมกัน สมัยก่อนเล่นแต่รามเกียรติ์ สมัยนี้เล่นเรื่องสมัยใหม่ด้วย

หนังเต็งยังได้แสดงของจริงให้เราชม เราได้ฟังดนตรีอันไพเราะ และร้องเพลงในภาษามลายู เด็กสามคนจากวิทยาลัยนาฏศิลปฯสนใจเครื่องดนตรีมาก พวกเราได้ชมทั้งหน้าฉากหลังฉากอย่างใกล้ชิดจนถึงเวลาต้องลาจาก

ลุงสวมกอดหนังเต็งแล้วจับมือลากัน หนังเต็งบอกว่าคืนนี้เจอกันอีกทีที่ร้านแซบอีสาน

ที่ร้านแซบอีสานคืนนี้คึกคัก หน้าร้านมีป้ายใหญ่ ๒ ป้าย ยินดีต้อนรับศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์คำสิงห์ ศรีนอก (“ลาว คำหอม”) กับป้าย ชมรมอีสานสัมพันธ์จังหวัดยะลา และนิตยสารรายเดือนทางอีศาน เชิญชมดนตรีพื้นบ้านแชมป์ประเทศไทย “หมาเก้าหาง” ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป มาม่วนกับโปงลาง พิณ แคน ที่ร้านแซบอีสาน นำกันเด้อ

เราได้พบปะสนทนากับบุคคลผู้อยู่ในวงการศิลปวัฒนธรรมหลายท่าน และพี่น้องชาวอีสาน รวมทั้งหนังเต็งก็มาร่วมด้วย ชมการปราศรัยและการแสดงบนเวทีโชว์ศิลปวัฒนธรรมอีสานกันอย่างสนุกสนาน และฉันได้รู้ว่า อ.สฤษดิ์ นอกจากจะเป็นนักวิชาการ นักเขียน นักร้องแล้วยังเป็นหมอลำที่เก่งกาจอีกด้วย

คืนนี้เราพักที่ยะลา รุ่งขึ้นเช้าคุณย่องพาไปทานอาหารเช้าที่เรียกว่า “นาซิ ดาแฆ” หนูอลิษา ดาโอ๊ะนักข่าวของเว็บข่าวภาคใต้ชายแดนได้อธิบายว่า เป็นข้าวที่หุงผสมข้าวเหนียวกับกะทิราดแกง มีให้เลือกหลายอย่างคือ เนื้อ ปลา ไก่ มีไข่ต้มวางข้าง ๆ พร้อมน้ำ พริกผักสดมาให้แกล้ม แกงออกรสหวานเล็กน้อยทุกหม้อมีพริกหยวกลอยหน้า แต่ที่แปลกอีกอย่างหนึ่งคือโรตีร้านนี้ทานกับไข่ดาวแล้วจิ้มน้ำแกง

คุณย่องบอกว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว จะพาลุงกับป้าไปเที่ยวปัตตานี เพื่อให้ครบสามจังหวัดชายแดนใต้ ฉันขอบคุณจากใจจริง

เมื่อถึง อ.ยะรัง คุณย่องจอดรถซื้อลูกหยีให้ มีหลายแบบ ทั้งกวนและแห้ง ๆ ที่ยังไม่แกะเปลือกถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่าถนนสายมรณะ เป็นชุมชนที่คนอยู่เยอะ บ้านติด ๆ กัน ถนนมีซอยแยกช่องเล็กช่องน้อยเยอะ ทำให้ฝ่ายขบวนการหลบหนีง่าย กลางคืนน่ากลัวมาก แต่กรุงเทพฯ น่ากลัวกว่าเยอะ เพราะที่นี่นักท่องเที่ยวไม่เคยถูกทำร้าย คุณย่องพูดให้เราอุ่นใจ แล้วเล่าว่าที่นี่คืออาณาจักรลังกาสุกะ พบซากเมืองเก่าที่รุ่งเรืองมาก่อนยุคศรีวิชัยและทวารวดี เป็นเมืองท่าใหญ่ที่มีการติดต่อค้าขายระหว่างโลกตะวันออกกับตะวันตก มีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว ที่เสื่อมสลายเพราะทะเลถอยห่างจากตัวเมือง จนชาวเมืองต้องทิ้งเมืองเก่ามาอยู่ปัตตานีดารุสสาลาม เราเดินทางต่อไปชมมัสยิดกรือเซะ

มัสยิดกรือแซะ มีอายุเก่าแก่มากกว่า ๓๐๐ ปี ตั้งแต่สมัยอยุธยา มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน (ปิตู = ประตู, กรือบัน = ช่องประตูรูปโค้ง) ตามรูปประตูที่โค้งแหลมแบบเปอร์เซีย ภาพมัสยิดที่สร้างไม่เสร็จนั้นคุ้นตาเรา แต่เมื่อเข้าไปพิจารณาใกล้ ๆ เห็นแผ่นอิฐใหญ่ ๆ ดูแข็งแกร่งทุกแผ่นได้รับรู้ความทุกข์ความสุขของมนุษย์มายาวนาน ฉันเอามือสัมผัสแผ่นอิฐ น้ำตาพาลจะไหลเมื่อนึกถึงเหตุการณ์กรือเซะเมื่อปี ๒๕๔๗ ที่มีคนตายถึง ๓๒ ศพ และในวันเดียวกันก็มีการต่อสู้กันอีก ๑๒ จุด รวมทั้งหมดตาย ๑๐๗ ศพ เศร้ามาก

ภายในมัสยิดเป็นห้องโถงสี่เหลี่ยมปูพรมเต็มหนึ่งในสามส่วน มีฉากไม้กั้นไว้ให้ผู้หญิงที่มาทำละหมาด เพดานกรุด้วยไม้ฉลุสวยงาม มองดูเรียบง่ายกรมศิลปากรได้มาบูรณะเมื่อ ๑๒ ปีที่แล้วพบว่าโครงสร้างโดมไม่แข็งแรงจึงพัง ไม่มีร่องรอยถูกไฟเผาหรือฟ้าผ่าตามตำนานที่ถูกสาปจากเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่มีศาลอยู่เกือบติดกัน ตามตำนานเล่าว่า ลิ้มกอเหนี่ยว รับปากกับพ่อแม่ว่าจะมาตามหาพี่ชายให้พบแล้วพากลับเมืองจีน ถ้าไม่สำเร็จจะยอมตาย เมื่อ
พบพี่ชายแล้วพี่ชายไม่ยอมกลับอ้างว่ากำลังสร้างมัสยิดอยู่ เขาเป็นมุสลิมและมีครอบครัวแล้ว นางจึงเสียใจ ตัดสินใจผูกคอตาย ก่อนตายได้สาปแช่งให้สร้างมัสยิดไม่สำเร็จ ผู้คนพากันศรัทธานับถือยกย่องให้เป็นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เล่ากันว่าพี่ชายสร้างมัสยิดไม่สำเร็จ เพราะถูกฟ้าผ่าถึงสามครั้ง ดังนั้นเมื่อมีคณะทัวร์มาสักการะเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แล้วไกด์ชี้มือมาทางมัสยิด จะสร้างความไม่พอใจให้ชาวมุสลิมที่พบเห็น มีทางเดินแคบ ๆ ประมาณสองเมตรคั่นอยู่ชาวจีนและมุสลิมแถวนี้จึงมีความขัดแย้งกัน จนกระทั่งมีการจัดเวทีเสวนาให้ ๒ ฝ่ายคู่ขัดแย้งมาคุยกันเพื่อลดความบาดหมางเมื่อชาวจีนจุดประทัดที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวระหว่างที่ทำการละหมาด สร้างความอึดอัดใจให้ผู้คนที่อยู่รอบ ๆ มัสยิด จึงได้ข้อตกลงว่า ฝ่ายจีนจะไม่พูดถึงคำสาปและจะไม่จุดประทัดในระหว่างที่มีการอาซาน ทั้งสองฝ่ายได้ปรึกษากันที่จะพัฒนาสถานที่ทั้งสองแห่งให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแสดงให้เห็นถึงทุกปัญหาย่อมมีทางออก ขอให้หันหน้ามาคุยกัน

ด้านหน้าของมัสยิดมีฐานที่ตั้งปืนใหญ่นางพญาตานีตั้งอยู่ ตัวปืนถูกย้ายไปอยู่หน้ากระทรวงกลาโหมแล้ว มีการสร้างของเทียมมาตั้งไว้แทน ก็ถูกระเบิดไปแล้วจึงเหลือแต่ฐาน ด้านข้างที่ถนนฝั่งตรงข้ามมีบ้านสร้างแบบศิลปะภาคใต้สวยงามตั้งอยู่แต่ปิด ถามชาวบ้านจึงทราบว่าเขาจะทำพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน ศูนย์เรียนรู้การท่องเที่ยว แต่เงียบหายไปปล่อยให้ร้าง ชาวมุสลิมคนหนึ่งได้เข้ามากอดมาจับมือลุง บอกว่าผมรู้จักคุณ ผมเคยอ่านเรื่องของคุณ ลุงปลื้มมาก

เมืองปัตตานีได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งการศึกษา มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อันมีชื่อเสียงที่เราเรียกย่อ ๆ ว่า ม.ปัตตานี ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยร่มรื่นมาก คุณย่องขับรถข้ามสะพานที่ข้ามแม่น้ำปัตตานีที่กว้างใหญ่ เห็นเรือประมงจอดอยู่มากมาย มีลูกเรือที่เป็นชาวพม่าและเขมรเยอะ ชาวมุสลิมแถบนี้ไม่ชอบพม่า ด้วยเหตุผลที่ว่าพม่าไล่โรฮิงญาออกจากประเทศ

ฉันได้เห็นนาเกลือริมถนน คุณย่องเล่าว่าเป็นนาเกลือที่เหลือแห่งเดียวของจังหวัด สมเด็จพระเทพฯ ให้คงรักษาไว้ หน้าแล้งชาวบ้านจะทำนาเกลือกันเกลือที่นี่ไม่เค็มมาก จะเรียกว่าเกลือหวานก็ได้ ทำอาหารอร่อย ดองสะตออร่อย พูดซ๊ะ!ทำให้ฉันอยากชิมเกลือปัตตานีเลย

คุณย่องได้พาเราไปชมมัสยิดกลางปัตตานีที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย คณะเดินทางของเราได้มาทานอาหารกลางวันกันที่ร้าน tist coffee & food เจ้าของร้านอัธยาศัย ไมตรีดีมาก ออกมานั่งคุยกับลุง ภายในร้านมีงานศิลปะให้ชมเยอะ สมชื่อร้านอาหารอร่อย แต่ที่แปลกน่าชิมตามที่หนูอลิษาแนะนำคือ ไก่กอและ เป็นไก่ชิ้นใหญ่ที่เดียวในน้ำแกงสีส้มเข้มข้น คำว่า กอและ แปลว่าโคลงเครง เช่นเรือกอและ เป็นเรือลำเล็กเวลาออกทะเลถูกคลื่นลมจะโคลงเครง เราจากลากันที่นี่พร้อมสัญญาว่าจะกลับมาอีกเพราะเสน่ห์ของศิลปวัฒนธรรม และผู้คนที่มีน้ำใจดีงาม มีอะไรอีกมากมายที่เราอยากดู อยากพบ อยากพูดคุย

อย่างไรก็ตาม หากปราศจากการดูแลอย่างมีน้ำใจของคุณย่อง – ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์ การเยือนสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็ยากจะเป็นไปได้จึงขอขอบคุณอย่างสุดใจอีกครั้ง

อ่าน ตาม “ลาว คำหอม” ไปเยี่ยมชายแดนใต้ (ตอนที่ 1)

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
เมืองฮม เมืองโบราณกว่า ๔๐๐ ปี ของลาว
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com