(23) Covid-19 เรียนรู้จากสถานการณ์ (25-04-2020)
#โลกาภิวัตน์กระเทือน
@ โควิด-19 อาศัยโลกาภิวัตน์แพร่กระจายไปทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว คนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศปีหนึ่ง 1.5 พันล้าน ไปทุกประเทศ ยังไม่ได้นับท่องเที่ยวในประเทศ เดินทางด้วยความเร็วของเครื่องบิน รถไฟความเร็วสูง รถยนต์
ร้อยปีก่อนที่เกิดไข้หวัดใหญ่สเปน ไม่ได้มีเครื่องบินหรือรถไฟความเร็วสูงแบบวันนี้ ไม่ได้มีถนนหนทางการไปหาสู่สะดวกสบาย แต่ไข้หวัดสเปนก็ไปทั่วโลก ติดกัน 500 ล้านคน ตายไป 50-100 ล้าน
วันนี้หลายคนคาดว่า ระบบสาธารณสุขดี การแพทย์ก้าวหน้า เทคโนโลยีทันสมัย ร้ายแรงแค่ไหนก็น่าจะ “เอาอยู่” ในเวลาไม่นานนัก แต่ผิดคาด ขนาดวันนี้ติดกันจะ 3 ล้าน ตายจะ 2 แสน ผู้นำประเทศต่างๆ ยังบอกว่าเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น แปลว่าต้องอีกนาน จนกว่าวัคซีนจะมา ยาดี ๆ จะออกคงเป็นปีแน่
โลกาภิวัตน์ทำให้โลกเชื่อมต่อกันแทบทุกด้าน การค้าการขาย การผลิต การขนส่ง ก็เริ่มเกิดปัญหาให้คนได้คิดด้านลบเมื่อมีผู้นำอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศสงครามการค้ากับจีนและประเทศต่าง ๆ อ้างว่าอเมริกาถูก “เอาเปรียบ” จึงขึ้นภาษีและเรียกร้องให้บริษัทอเมริกันที่ไปตั้งโรงงานในต่างประเทศกลับไปตั้งที่อเมริกา
หลายบริษัทถูกบีบด้วยมาตรการภาษีและการเงินก็จำเป็นต้องทำตาม ซึ่งก็ทำให้ผลิตภัณฑ์หลายอย่างราคาแพงขึ้น แต่นายทรัมป์ก็ตีปีกอ้างว่าทำให้คนอเมริกันมีงานทำมากขึ้น นั่นเป็นยกแรก
ยกที่สองไม่ใช่คนที่ทำให้โลกาภิวัตน์กระเทือน แต่เป็นโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มาเปิดเผยจุดอ่อนและข้อจำกัดของโลกาภิวัตน์ ทำให้คนเริ่มตระหนักว่า ที่คิดว่าโลกนี้เป็นเพียงหมู่บ้านหนึ่ง ที่ทุกอย่างถึงกันหมดและดีหมดคงไม่ใช่กระมัง
ก็เห็นแล้วว่า หน้ากากอนามัยสำหรับแพทย์หรือคนทั่วไปที่ผลิตจากจีนและอินเดียนั้นต้องแย่งกันสั่งแย่งกันซื้อ เพราะผลิตเองในประเทศไม่ได้ ไม่ทัน ไม่มีเครื่องจักรเครื่องมือ เพราะสั่งซื้อจากเอเชียถูกกว่าทำเองมาก รวมไปถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ อย่างยาหลายชนิดก็ผลิตในเอเชีย
แย่งเวชภัณฑ์กันจนเกิด “โจรสลัดหน้าใหม่” ในยุคโคโรนาครองเมือง เรื่องเกิดที่สุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ ที่อเมริกาฉกเอาเวชภัณฑ์ที่ส่งจากเมืองจีนไปยุโรปหน้าตาเฉย โดยประกาศว่า บริษัทอเมริกันที่ตั้งโรงงานที่เมืองจีน ที่ผลิตสิ่งของเหล่านี้ต้องส่งให้อเมริกาก่อน ตรรกะแบบย้อนยุคและแอนตี้โลกาภิวัตน์โดยแท้ ไม่ใช่นักเลงแต่เป็นอันธพาล
ไม่เพียงเพราะแย่งกันซื้อเท่านั้น แต่ทั้งการผลิตและการขนส่งก็มีปัญหา เพราะเกิดล็อคดาวน์ในจีนในอินเดีย ในประเทศที่ผลิต ทำให้การจัดหาและขนส่งวัตถุดิบในการผลิตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ติดขัดเป็นลูกโซ่
นอกจากเรื่องเวชภัณฑ์ที่สำคัญและเร่งด่วนมากในยามวิกฤติ ก็ยังมีเรื่องข้าวปลาอาหารที่เริ่มขาดแคลน ไม่ใช่เพราะข้อจำกัดในการขนส่ง การผลิต การแปรรูป ที่มาจากการล็อคดาวน์เท่านั้น แต่ประเทศที่ผลิตอาหารก็เริ่ม “กักตุน” ไว้เผื่อวิกฤติยืดเยื้อ อย่างเวียดนามก็ไม่ขายข้าวที่เคยคิดจะขาย กลัวว่าปีหน้าจะไม่มีข้าวกิน
โลกาภิวัตน์คงไม่หมดไป โรงงานรถยนต์อเมริกายุโรปในเอเชียคงไม่ขนกลับไปผลิตในบ้านตนเอง แต่หลายอย่างจะเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม แม้ผลิตในประเทศจะแพงกว่า แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ เพราะโควิด-19 มาเตือนแล้วว่า อาจเกิดปัญหาและวิกฤติที่คาดไม่ถึงอีกในอนาคต
ยังมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่โดยรวมแล้วทำให้ประเทศต่าง ๆ เริ่มคิดถึง “การพึ่งตนเอง” และ “เศรษฐกิจพอเพียง” อย่างจริงจัง เพราะโควิด-19 มาเตือนแล้วว่า โลกาภิวัตน์นั้นไม่ได้ดีไปเสียทุกอย่าง อยากตั้งโรงงานประเทศไหนที่แรงงานถูกภาษีต่ำแบบที่เคยทำไม่ได้ง่าย ๆ อีกแล้ว คิดแต่เรื่องการส่งออกอย่างที่เคยทำมาก็ไม่ใช่แล้ว
ประเทศต่าง ๆ เริ่มคิดเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างจริงจัง “รายได้พื้นฐานถ้วนหน้า” (UBI) จึงกลับมาให้คนพูดถึงและพิจารณาเพื่อหาทางประยุกต์และนำเข้าสู่ระบบแบบถาวร อาจไม่เกิดทันที แต่ยิ่งโควิดระบาดยืดเยื้อก็ยิ่งต้องคิดกันหนักว่า จะทำอย่างไรคนจึงจะไม่อดตายมากกว่าตายเพราะไวรัส ต้องมีระบบเศรษฐกิจใหม่ที่มีภูมิคุ้มกันดีกว่าที่เป็นอยู่
ถ้าบ้านเราผลิตอาหาร ผลิตข้าวของเครื่องใช้ปัจจัย 4 ผลิตสินค้า ผลิตยา ผลิตเวชภัณฑ์ได้เองรวมแล้วอย่างน้อย “เศษหนึ่งส่วนสี่” อย่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสอนใน “เศรษฐกิจพอเพียง” คนก็จะ “พึ่งตนเองได้” เพราะเศรษฐกิจจะหมุนไปอีกหลายรอบ อาจ 2-3-4 จากร้อยละ 25 (หนึ่งในสี่) ก็จะหมุนไปเป็น 50-75-100 ได้
นับเป็น “ภูมิปัญญาของแผ่นดิน” และ “พลังของแผ่นดิน” ที่สหประชาชาติเองก็ยอมรับ และนำไปเป็นกรอบหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วม SDG 2015-2030 (Sustainable Development Goals) 17 เป้าหมายใหญ่ 169 เป้าหมายรอง ที่ลงนามโดยสมาชิกยูเอ็นทั้ง 192 ประเทศ รวมทั้งไทย เพื่อให้เกิดการพัฒนายั่งยืน โดยที่ยูเอ็นก็ไม่เคยคิดว่าจะได้อานิสงส์จากโควิด-19 จะมาทำให้คนสนใจ SDG โดยเฉพาะ “เศรษฐกิจพอเพียง”
ถ้ารัฐบาลไทยมีวิสัยทัศน์และแผนงานที่จริงใจต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จะต้องปรับเปลี่ยน “กระบวนทัศน์” การพัฒนา ไม่เล่นกับวาทกรรม “เศรษฐกิจรากหญ้า” “เศรษฐกิจชุมชน” ที่ยังใช้คนเป็นเพียงเครื่องมือการผลิต ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นฐานให้ “นายทุน” เหมือนเดิม
ยังคิดว่าจะใช้ห้างใหญ่ ร้านสะดวกซื้อ 7/11 เพื่อขายของชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่ได้คิดถึงการส่งเสริมให้ชุมชนผลิตเพื่อบริโภคกันให้มากที่สุด ให้ได้อย่างน้อย ¼ อย่างที่เศรษฐกิจพอเพียงบอก
ไม่ได้แยก 3 ตลาดให้ชัดเจน “ตลาดท้องถิ่น” ที่ชุมชนบริโภคเองในเครือข่ายท้องถิ่น “ตลาดผูกพัน” คือ การผูกกันระหว่างชุมชนที่ผลิตกับผู้บริโภคใหญ่อย่างโรงพยาบาล สถานศึกษา รัฐวิสาหกิจ โรงงาน บริษัท องค์กรต่าง ๆ และ “ตลาดใหญ่” ที่เปิดกว้างการแข่งขัน
ลองคิดถึงวิสาหกิจชุมชนกว่า 70,000 แห่ง ว่ามีศักยภาพแค่ไหนในการพัฒนาขึ้นเป็นการประกอบการที่มีคุณภาพในการผลิต การแปรรูป การตลาดเชื่อมต่อกับระบบเศรษฐกิจใหญ่ มี พรบ.ออกมากตั้งแต่ปี 2548 วันนี้ส่วนใหญ่ยังเป็น “ไม้ในกระถาง” ไม่ได้ลงดินและเติบโตเป็นไม้ใหญ่ที่พึ่งตนเองได้เลย
ส่วนใหญ่ไปลงทะเบียนไว้เพียงเพื่อรอรับความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งแทบไม่มีอะไร ปล่อยให้ดิ้นรนเอาเองแทบทั้งนั้น เพราะแม้แต่กฎหมายก็ไม่ได้รองรับให้เป็นนิติบุคคล ยังไม่มีกองทุนสนับสนุนอย่างจริงจัง ยังเป็นกลุ่มคนที่ไป “ลงทะเบียน” ว่ามีตัวตนมีกลุ่ม ไม่ใช่ไป “จดทะเบียน” เป็นนิติบุคคลอย่างที่ชาวบ้านจำนวนมากเข้าใจ
ขณะที่กรมการพัฒนาชุมชนได้งบประมาณเป็นกอบเป็นกำไปส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ส่งเสริมโอท็อป กรมส่งเสริมการเกษตรก็มองตาปริบ ๆ เพราะไม่ได้งบประมาณมาส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนมากมายอะไร ทั้ง ๆ ที่เป็นฐานสำคัญสำหรับโอท็อปและการท่องเที่ยว
ไม่ต้องพูดถึง อปท.ว่ามีงบพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นเท่าไร ในเมื่อรัฐบาลรวบอำนาจรวบงบประมาณไว้ที่ส่วนกลาง คิดเองทำเอง จะเหลืออะไรให้ท้องถิ่น
การทำงานแบบเอากรมเป็นตัวตั้ง เอาหน่วยงานรัฐเป็นศูนย์กลาง ไม่เอาชุมชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางงานก็ออกมาแบบต่างคนต่างคิด ต่างคนต่างทำ คำว่า “บูรณาการ” คำโตจึงเป็นแค่ลมปาก หรือเป็นเพียงแจกันดอกไม้ไว้ประดับบนโต๊ะทำงานท่านอธิบดี
แล้วเราจึงเห็นการส่งเสริมโอท็อป การท่องเที่ยวชุมชนที่ยัดเยียดให้ชาวบ้าน จัดตั้งให้ชุมชน โดยไม่มีกระบวนการเรียนรู้หรือการมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ไม่ได้เชื่อมต่อกับการเศรษฐกิจสังคมของชุมชน จึงคิดแต่จะเด็ดยอดภูมิปัญญาไปขาย เอาผีตาโขนไปขาย เอาบุญประเพณีไปขายในนามการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ทั้ง ๆ ที่หลายแห่งชาวบ้านลงทุนลงแรงไป ได้คืนมาน้อยนิดแบบขาดทุนก็มาก
ไม่คิดถึงการ “ต่อยอดภูมิปัญญา” ประสานงานกับวิสาหกิจชุมชน กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรเพื่อร่วมมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน ไม่ใช่ส่งเสริมแต่ผลงานของตนเอง รายงานประจำปีเสร็จก็ปล่อยให้โอท็อปเฉาไปเจ๊งไป ที่ท่องเที่ยวทรุดโทรมร้างไป มีให้เห็นได้ในทุกจังหวัด
ความเชื่อมั่นที่หายไป ไม่ใช่แต่ในตลาดหลักทรัพย์ที่ตกใจทีหุ้นก็ร่วงที คราวนี้ตื่นตระหนกอย่างหนัก หุ้นเลยร่วงหนักจนคงกู่ไม่กลับ เพราะความเชื่อมั่นหายไปจริง ๆ ในทุกวงการ ทุกสาขาอาชีพ
โควิด-19 มาทำลายความเชื่อมั่นของคนที่เคยอหังการว่ายิ่งใหญ่ เก่งกล้าสามารถ เป็นกระจกให้มนุษย์มองเห็นตัวตนที่แท้จริงว่า เล็กนิดเดียว เปราะบางยิ่งนัก ป่วยง่าย ตายง่าย
ดูที่ประเทศเยอรมนี ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมา (20 เมษายน) มีการคลายล็อคดาวน์ ให้เปิดร้านค้าทั่วไปที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 800 ตร.ม. ยกเว้นร้านเฟอร์นิเจอร์ ร้านขายรถยนต์ จักรยาน ที่ใหญ่เท่าไรก็ได้ ส่วนร้านอาหาร บาร์ ร้านกาแฟยังปิด ทีวีเยอรมันไปสำรวจพบว่า ร้านค้าต่าง ๆ มีคนเข้าน้อย ผิดคาดและผิดหวังอย่างยิ่งสำหรับคนที่ปิดกิจการมาเป็นเดือนที่คาดว่าจะได้ขายของ
ความเชื่อมั่นของผู้คนได้หายไป โควิด-19 ทำให้คนคิดหนัก ระมัดระวังการใช้จ่าย ระมัดระวังการกินการอยู่ การเดินทาง ทุกอย่างต้องใส่ใจและไม่ประมาท
นี่คือ “new normal” หรือ “วิถีธรรมดาแนวใหม่” ที่คนจะต้องเริ่มทำความคุ้นเคย ถ้าเป็นคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน เป็นชีวิตที่ต้อง “รีแซ็ต” ต้อง “อัพเดต” ไม่เช่นนั้นจะอยู่ไม่ได้ ไม่ทัน ตกยุค ที่ผู้มากำหนดยุคใหม่นี้ที่สำคัญไม่ใช่คน แต่เป็นไวรัส
ความเชื่อมั่นที่ลดลงหรือหายไปในเทคโนโลยี ในระบบเศรษฐกิจ ในโลกาภิวัตน์ และสำหรับหลายคน รวมไปถึงความเชื่อมั่นที่หดหายใน “ประชาธิปไตย” ที่ถูกท้าทายอย่างหนัก
จะเรียกความเชื่อมั่นคืนมาได้อย่างไร คงต้องกลับมาทบทวน “คน-ความรู้-ระบบ” อันเป็นองค์ประกอบของเศรษฐกิจพอเพียง ที่แนะนำให้สร้างคนดีมีมัชฌิมาปฏิปทา (พอประมาณ) สร้างความรู้ (มีเหตุมีผล) สร้างระบบดีมีภูมิคุ้มกัน (มีภูมิคุ้มกัน) ให้เป็นฐานชีวิตและเศรษฐกิจที่เป็นธรรมกับทุกคน
New normal แบบนี้น่าจะทำให้มีความเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดไวรัสหรือภัยพิบัติมา เราจะผ่านไปได้ (ด้วยกัน)