เส้นทางวัฒนธรรมคืออะไร
เรื่องของพระปาจิตและนางอรพิม เป็นเรื่องราวที่เล่าต่อ ๆ กันมาในหมูชุ่มชนชาวอีสานและลาว ที่มีความโดดเด่นในด้านการเล่าเรื่องจากสถานที่ เป็นการบอกที่มาของภูมิศาสตร์และชื่อบ้านนามเมือง เช่นการบอกที่มาของชื่อภูเขาแม่นํ้า เนิน โคก ต้นไม้ ดอกไม้ ที่มีลักษณะแปลกรวมทั้งที่มาของชื่อหมู่บ้านว่ามีที่มาอย่างไร จึงเป็นที่มาของการจัดการรวบรวมเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับภูมินามเหล่านี้ ให้เป็นเส้นทางที่ต่อเนื่องกันจนกลายเป็นเส้นทางวัฒนธรรม
เส้นทางวัฒนธรรม (Cultural Routes) คืออะไร
แนวคิดเรื่องเส้นทางวัฒนธรรมนั้นเป็นสากล และมีการประชุมจัดตั้งกฎเกณฑ์ในองค์กรที่สำคัญระดับโลก อย่างเช่น สภาการโบราณสถานระหว่างประเทศ (International Council on Monuments and Sites หรือ ICOMOS) และ สภายุโรป (Council of Europe หรือ COE) ได้กำหนดหลักเกณฑ์และกฎบัตรที่ต่างก็กล่าวว่าเส้นทางวัฒนธรรมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นหนึ่ง การใช้วัฒนธรรมร่วมกัน และสันติภาพโดย COE ให้คำจำกัดความของเส้นทางวัฒนธรรมว่า “เป็นการส่งเสริมความมีเอกลักษณ์ของพื้นที่วัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นการเก็บรักษาวัฒนธรรมที่หลากหลายเอาไว้ เพื่อให้เกิดความปรองดองในมวลหมู่มนุษยชาติ”
ขณะที่ ICOMOS ได้ให้คำจัดความเส้นทางวัฒนธรรมไว้ว่า “เป็นตัวแทนของกระบวนการที่มีปฏิสัมพันธ์ เคลื่อนไหวของการเชื่อมต่อของความหลากหลายทางวัฒนธรรมของมนุษย์ เพื่อสะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความแตกต่างกันของผู้คน สู่การเป็นมรดกวัฒนธรรม โดยจำเป็นต้องมีการแบ่งปันกันทางวัฒนธรรมที่ส่งผ่านต่อให้เห็นการใช้งานดั้งเดิม ที่มีรากฐานเพื่อสันติ”
กล่าวโดยรวมว่า ความหมายของเส้นทางวัฒนธรรมนั้นก็คือ “เส้นทางใด ๆ ที่มีการติดต่อสื่อสาร ทั้งทางบกและทางนํ้า ซึ่งไม่มีข้อจำกัดและปิดกั้นทางกายภาพ และเป็นเส้นทางที่มีการใช้งานที่หลากมิติ ต่อเนื่องและเป็นเส้นทางแลกเปลี่ยนสินค้า ความคิด ความรู้และคุณค่าระหว่างผู้คน ประเทศ ภูมิภาคต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญในหลายช่วงเวลา ซึ่งเส้นทางนี้จำต้องได้รับการส่งเสริมดูแลให้สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรม ตลอดทั้งสถานที่และเวลา โดยต้องผสมผสานกัน ระหว่างความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ที่ยังคงอยู่”
ในปัจจุบันมีการศึกษาเส้นทางวัฒนธรรมหลากหลายทั่วโลก เช่นสภายุโรป (COE) ได้ประกาศเส้นทางวัฒนธรรมแล้วกว่า ๒๙ เส้นทาง ส่วนองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (The United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization หรือ UNESCO) ได้ประกาศให้มีเส้นทางวัฒนธรรมที่ได้เป็นมรดกโลกกว่า ๑๘๙ เส้นทาง และอยู่ในบัญชีรายชื่อกว่า ๙๑๙ เส้นทาง
ในการกำหนดเส้นทางวัฒนธรรมสายปาจิต อรพิม นี้ ผู้เขียนได้กำหนดจากการดำเนินเรื่องตั้งแต่เริ่มต้นที่เล่าต่อกันมาจากที่มีการบันทึก หรือเล่าถึงชื่อเมืองอย่างชัดเจน เช่นบอกว่า เมืองพิมาย มาจากคำว่า พี่มาเมือง, บ้านกงรถ มาจากดุมล้อรถพระปาจิต เป็นต้น หากจะใช้การคาดคะเนก็จะมีเหตุผลมารองรับและต้องเป็นชื่อที่มีความใกล้เคียงมากที่สุด อาทิ พรหมพันธุ์นคร เป็นเมืองของเจ้าชายปาจิต นั้นก็มีบทในโคลงที่กล่าวชัดเจนว่าเป็นเมืองนครทม ส่วนเมืองจัมปาก หรือจามบาก นั้นมีบทบันทึกว่าคือเมืองจัมปาสัก รวมทั้งการสัมภาษณ์ชาวเมืองที่สันนิษฐานว่ามาจากคำว่าจามปา ซึ่งเป็นเมืองของพระจิตเสน อันเป็นข้อสันนิษฐานที่มาของชื่อพระปาจิต หรือเปรี๊ยะจิต อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของเส้นทางคือ พระปาจิตออกเดินทางจากบ้านเมืองของตนเอง คือ ในวรรณกรรมตำนานเมืองพิมายบันทึกว่าเป็นเมืองนครทม ส่วนตำนานจากถิ่นบุรีรัมย์นั้นก็จะบอกว่า ปราสาทหินพนมรุ้ง คือ วังของเจ้าชายปาจิตการเดินทางนั้นเริ่มต้นเดินตามหา นางบัว ซึ่งเป็นแม่ของนางอรพิม ตามคำทำนายของโหราบอกว่า เนื้อคู่ของเจ้าชายปาจิตนั้นอยู่ในครรภ์ของหญิงชาวบ้านที่กำลังทำนา แต่มีข้อสังเกตคือหญิงผู้นี้จะต้องมีกลด หรือมีร่มเงา คอยบังศีรษะไว้อยู่ตลอดเวลา
งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเส้นทางในตำนานที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ และสระแก้ว ทั้งจังหวัดจำปาสักในประเทศลาว และเมืองเสียมเรียบในประเทศกัมพูชา ที่ตั้งอยู่บริเวณเขตเทือกเขาพนมดงรัก เพราะเส้นทางเหล่านี้บางเส้นทางได้ทับซ้อนกับเส้นทางราชมรรคา นอกเหนือไปจากนั้นงานวิจัยยังได้ครอบคลุมไปถึงเหตุการณ์และสถานที่ในตำนานท้าวปาจิต นางอรพิม ที่ตั้งอยู่บริเวณลำนํ้ามูล มีกำเนิดจากจังหวัดนครราชสีมา และลำนํ้ามาศ ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำนํ้ามูล
ขอบเขตของประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
การศึกษาวิจัยเรื่องนี้ เป็นการศึกษาแนวคิดของเส้นทางวัฒนธรรมและมรดกวัฒนธรรมที่มีชีวิต ถือว่าเป็นเครื่องมือและเทคนิควิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสร้างแนวทางการศึกษา นอกจากนั้นยังได้ครอบคลุมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียในแต่ละจังหวัดที่เส้นทางได้พาดผ่านไป ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นชาวบ้าน และปราชญ์ท้องถิ่น เพื่อร่วมกันกำหนดเส้นทางจากแผนที่มรดกวัฒนธรรม มีสถานที่ตามรายเส้นทางที่ผู้วิจัยได้กำหนดไว้ ๓๐ ที่ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับตำนานเรื่องปาจิต อรพิม โดยตั้งอยู่บริเวณที่ราบสูงโคราช ตลอดทางของเทือกเขาพนมดงรัก ประเทศไทย กัมพูชา และลาว การโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวของตำนานไปตามสถานที่ต่าง ๆ
เส้นทางการเดินทางของปาจิต อรพิม ที่เล่าต่อกันมาและเนื้อเรื่องที่ถูกบันทึกนั้นเป็นการเดินด้วยเท้าเป็นส่วนใหญ่ ในบางครั้งใช้พาหนะเป็นสัตว์เลี้ยงเช่นควาย และมีพาหนะอีกบางประเภทคือเกวียน และเรืออยู่บ้าง การสัญจรนั้นเป็นไปทั้งทางบกและทางนํ้า
การเล่าเรื่องชื่อเมืองเชื่อมต่อกันไปตามเมืองที่ใกล้ ๆ กัน ชื่อหมู่บ้านที่มีเพียงคนในท้องถิ่นเท่านั้นที่คุ้นเคย ได้ถูกบันทึกไว้อย่างน้อยสองร้อยกว่าปีตามหลักฐานทางเอกสาร ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่า เส้นทางที่เรียกว่าพรมแดนระหว่างไทย ลาวและเขมร ในแต่เดิมนั้นเป็นสิ่งที่ชาวบ้านไม่รู้จัก และสามารถพิสูจน์ได้ด้วยเรื่องราวจากตำนานที่มีการเดินทางจากเมืองสู่เมือง ด้วยเหตุผลและเสรีภาพในการสัญจร โดยไม่มีอุปสรรคจากพรมแดนของประเทศ
(ติดตามต่อฉบับหน้า)
บ้านนางออ อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา หนึ่งในชื่อบ้านนามเมืองในตำนานเรื่องปาจิต อรพิม
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับตำนานเมืองพิมาย [๓]
นิทานประจำถิ่น ปาจิต อรพิม และฉบับเมืองนางรอง [๔]
วรรณกรรมสมัยกรุงธนบุรี เล่มที่สอง [๕]
[๖] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๑)
[๗] ปาจิต อรพิม ในงานศิลปะ (๒) วัดบ้านยางทวงวราราม อายุ ๒๒๐ ปี
[๘] เส้นทางตามหาอรพิม ตอนที่ ๑
เส้นทางขันหมาก : ลำปลายมาศ และ บ้านกงรถ [๙]
[๑๐] ถํ้าเป็ดทอง และจารึกปฏิวัติ
[๑๑] เส้นทางหนีของปาจิต อรพิม (กำเนิดเมืองพิมาย)