“เมรุนกหัสดีลิงค์” อริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน

“เมรุนกหัสดีลิงค์” อริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน

วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๖๒ เป็นวันจัดพิธีพระราชทานเพลิงสรีระสังขารพระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) โดยใช้ “เมรุนกหัสดีลิงค์” ตามอริยะประเพณีโบราณในการปลงศพพระมหาเถระ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้เปิดผ้าม่านกั้ง เกี่ยวกับพิธีปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ซึ่งเป็นการสืบทอดอริยะประเพณีในแผ่นดินอีสาน

การปลงศพด้วยนกของชาวอุษาคเนย์

คติการปลงศพด้วยนกของชาวอุษาคเนย์ มีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันได้ว่ามีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ดังปรากฏภาพพิธีกรรมส่งผีขวัญที่มีองค์ประกอบภาพที่สำคัญ คือภาพนกอยู่บนหน้ามโหระทึก ด้วยเหตุที่คนโบราณเชื่อว่า นกเป็นสัตว์ที่สามารถเดินทางไปบนฟ้า อันเป็นดินแดนที่มนุษย์ในยุคบรรพกาลเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเมืองแถน ซึ่งเป็นโลกศักดิ์สิทธิ์ในคติทวิภูมิ ก่อนที่คติไตรภูมิจากชมพูทวีปจะแพร่เข้ามาในดินแดนอุษาคเนย์เมื่อประมาณ พ.ศ.๑๐๐๐

ส่วนคติไตรภูมิที่รับเข้ามาในชั้นหลัง ได้กล่าวถึงการปลงศพด้วยนกของชาวอุตตรกุรุทวีปว่านกอินทรี นกกด หรือนกหัสดีลิงค์ จะเข้ามาคาบศพออกไปทิ้งยังที่อื่น สอดรับกันกับคติเรื่องนกส่งผีขวัญสู่เมืองฟ้าที่มีอยู่ก่อนได้อย่างลงตัว

จากภาพวาดงานพระเมรุสมเด็จพระเพทราชา ประมาณ พ.ศ.๒๒๔๗ – ๒๒๔๘ แสดงให้เห็นว่ามีการสร้างหุ่นนกอินทรียืนแท่นรับบุษบกนำหน้ากระบวนรูปสัตว์อื่น ๆ สะท้อนให้เห็นคติการปลงศพด้วยนกที่สืบต่อมาในสมัยอยุธยา

สำหรับวัฒนธรรมสองฝั่งแม่น้ำโขง ปรากฏร่องรอยการปลงศพด้วยนกทั้งในดินแดนเชียงรุ้ง เชียงทอง (หลวงพระบาง) เชียงใหม่ และในดินแดนอีสาน โดยมีการสร้างเมรุเป็นรูปนกหัสดีลิงค์

การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ แต่เดิมจะสร้างเป็นนกขนาดใหญ่บนไม้ “แม่พะนอน” สำหรับชักลาก มีบุษบกหอแก้วบนหลังนกซึ่งมีหีบศพตั้งอยู่กลางหลังนกนั้น ลักษณะของเมรุนกหัสดีลิงค์ จะสร้างเป็นนกตัวใหญ่ มีหัวเป็นนก แต่มีงวงและงาเหมือนช้าง มีหางเป็นลายกนกเหมือนหงส์สามารถส่ายหัว ม้วนงวง กะพริบตา อ้าปาก กระพือหู ขยับปีกได้เหมือนนกนั้นมีชีวิต

เมรุนกหัสดีลิงค์ปลงศพเจ้านาย

การปลงศพเจ้านายด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ในล้านนา ปรากฏในพงศาวดารโยนกว่าแรกมีขึ้นใน พ.ศ.๒๑๒๑ หรือประมาณ ๔๔๐ ปีก่อน ความว่า “…ลุศักราช ๙๔๑๐ ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น ๑๒ ค่ำ นางพระยาวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพทำเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ขนาดใหญ่ รองด้วยแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้นแล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะพังกำแพงเมืองไปถึงทุ่งวัดโลกก็กระทำฌาปนกิจถวายเพลิง ณ ที่นั้น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์และวิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพเจ้าผู้ครองนครทำเช่นนี้สืบกันมา…”

ส่วนในแผ่นดินล้านช้าง แม้ไม่มีบันทึกว่ามีการปลงศพเจ้านายด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ตั้งแต่เมื่อใด แต่ปรากฏภาพถ่ายเมรุนกหัสดีลิงค์ในเมืองหลวงพระบางหลายงาน รวมทั้งรถเชิญโกศพระศพเจ้าเพชรราชที่ทำเป็นนกหัสดีลิงค์ ๓ หัว

ใน “ประวัติเมืองอุบลราชธานี” ที่ ดร.ปรีชา พิณทอง ได้ปริวรรตจากคัมภีร์ใบลาน ได้กล่าวถึงตอนท้าวคำผงจัดงานศพพระวอพระตาโดยใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ความว่า “…เถิงเมื่อตาวันซ้ายยามดีใส่พระโกศ สองพ่อลูกยอตั้งใส่หลัง นกหัสดีลิงค์นกงวงคือช้าง ช่างเขาทำดีแท้หูตาคิ้วงวงหย่อน หลับมืนตีงงวกไปขวาซ้าย คือจักบินเองได้พือหางขยับปีก เต๋อปากง้ำงวงยื้อหยอกสาว..” จึงเกิดเป็นแบบแผนในการปลงศพเจ้านายสายเมืองอุบลราชธานีที่สืบเชื้อสายต่อมา โดยจะใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ปลงศพเฉพาะอาญาสี่ ได้แก่ เจ้าเมือง ๑ อุปฮาด ๑ ราชวงศ์ ๑ ราชบุตร ๑ รวมถึงบิดามารดาและภรรยาของอาญาสี่เท่านั้น ต่อมาเมื่อยกเลิกระบบอาญาสี่ การใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ในเมืองอุบลราชธานีสำหรับเจ้านายจึงถึงกาลเปลี่ยนแปลงไป

เมรุนกหัสดีลิงค์ อาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) หลักคำเมืองอุบลราชธานี วัดมณีวนาราม วัดป่าน้อย พ.ศ.๒๔๖๔

เมรุนกหัสดีลิงค์ปลงศพพระมหาเถระ

หลักฐานการเริ่มใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ในการปลงศพพระมหาเถระเมืองอุบลราชธานี ปรากฏในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อทรงส่งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ไปเป็นข้าหลวงต่างพระองค์

ดร.ฌอง บร็องก์ ได้บันทึกเกี่ยวกับงานศพพระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) เจ้าคณะใหญ่เมืองอุบลราชธานี ใน พ.ศ.๒๔๔๖ มีภาพรูปแบบเมรุนกหัสดีลิงค์ของพระเถระแรกมีในแผ่นดินอีสาน และเรื่องราวพิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ รวมทั้งภาพนางเทียมเจ้านางสีดา ซึ่งยังไม่พบในเอกสารอื่นใดที่เก่าไปกว่านี้

งานพระราชทานเพลิงพระอริยกวีด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์และพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ด้วยเจ้านางสีดา ครั้งนั้น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ เสด็จเป็นประธานในการจุดฟักแค ได้กลายเป็นแบบแผนอริยะประเพณีในการปลงศพพระมหาเถระผู้ทรงคุณธรรมในเมืองอุบลราชธานีสืบต่อมา ดังปรากฏในพิธีศพของอาชญาท่านธรรมบาล (ผุย ธมฺมปาโล) พ.ศ.๒๔๖๔ และพิธีศพพระครูวิโรจน์รัตโนบล (บุญรอด นนฺตโรสมจิต) พ.ศ.๒๔๘๖ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า พระมหาเถระผู้จะได้ปลงศพด้วยนกหัสดีลิงค์ในยุคแรกนั้น จะต้องเป็นหลักคำเมืองซึ่งมีตำแหน่งเทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัด

ต่อมา เมื่อมีพระราชบัญญัติลักษณะการ ปกครองสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ ทำให้ “ญาท่าน” หรือ เจ้า คณะตำบล มีสถานะเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ตาม ไปด้วย เมรุนกหัสดีลิงค์จึงมีการนำมาใช้กับพระเถระตั้งแต่เจ้าอาวาสขึ้นไป

การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์จึงเป็นแบบแผนอริยะประเพณีในการปลงศพพระมหาเถระสืบต่อมา โดยมีธรรมเนียมว่า พระมหาเถระรูปใดเป็นผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ สมควรที่จะได้จัดพิธี พระราชทานเพลิงศพโดยสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ เทินบุษบกหอแก้ว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงคุณอันประเสริฐแห่งพระมหาเถระรูปนั้น

นางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์

แม้ว่าในมิติทางวัฒนธรรม เมรุนกหัสดีลิงค์จะเป็นวัฒนธรรมร่วมของคนในลุ่มแม่น้ำโขงที่ สืบทอดพิธีการปลงศพด้วยนกมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล แต่พบว่า เอกลักษณ์ที่แตกต่างเฉพาะในพิธีการปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ของชาวอีสาน คือ พิธีการ “ฆ่านกหัสดีลิงค์” ก่อนทำการเผา เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีพิธีการฆ่านกหัสดีลิงค์ในล้านนาและล้านช้าง อีกทั้งไม่มีการบันทึกเรื่องดังกล่าว ไว้ใน “ประวัติเมืองอุบลราชธานี” ซึ่งกล่าวถึงการจัดการพิธีศพพระวอพระตา สืบมาจนถึงเจ้าเมืองอุบลราชธานีไว้อย่างละเอียด แต่ไม่มีการกล่าวถึงพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์เลย จึงเป็นข้อสงสัยว่า “พิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ไม่ได้มีมาแต่เดิมในเมืองอุบลราชธานี แต่น่าจะเกิดขึ้นในสมัยหลัง”

มุขปาฐะเรื่องนางสีดาฆ่านกหัสดีลิงค์มีหลายตำนาน ตำนานหนึ่งเล่าว่า นกหัสดีลิงค์บินมาจับ คนที่ทุ่งหลวง ทุ่งปาง เมืองสุวรรณภูมิ เจ้าเมืองจึงให้ไปสืบหาผู้มีฝีมือในการฆ่านกหัสดีลิงค์ จนไปถึงเมืองตักศิลา เจ้าเมืองตักศิลาได้มอบศรให้เจ้านางสีดาผู้เป็นราชธิดา เจ้านางสีดาได้แผลงศรฆ่านกถึงแก่ความตาย เจ้าเมืองสุวรรณภูมิจึงเผานกนั้น และเกิดเป็นธรรมเนียมว่าเมื่อเจ้านายสิ้นชีวิต ให้สร้างเมรุรูปนกหัสดีลิงค์เพื่อถวายพระเพลิง

ส่วนตำนานฝ่ายจำปาศักดิ์กล่าวว่า ในระหว่างพิธีศพเจ้าเมืองเชียงรุ้งแสนหวีฟ้าหรือตักศิลา มีนกหัสดีลิงค์บินมาแย่งพระศพไป จึงมีเจ้านางสีดาบุตรีมหาราชครู นางมีฝีมือในการยิงธนู ได้ตามไปยิงธนูฆ่านกหัสดีลิงค์ตาย ชาวเมืองจึงได้ถวายพระเพลิงพร้อมกับซากนกหัสดีลิงค์นั้น จึงเป็นธรรมเนียมของเจ้านายเมืองอุบลราชธานีสืบแต่นั้นมา

ผู้เขียนพบว่า บทความของ ดร.ฌอง บร็องก์ ที่เขียนขึ้นใน พ.ศ.๒๔๔๗ ได้กล่าวถึงเรื่องราวของตำนานนกหัสดีลิงค์ไว้อย่างน่าสนใจ พอสรุปความได้ว่า

“…นางสุชาดามเหสีของพระอินทร์ได้ลงมาจุติเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์เมืองตักศิลา ชื่อ “สีดา” เพื่อปราบนกหัสดีลิงค์ที่กำลังเข้ามาเข่นฆ่ามนุษย์และสัตว์โลก เมื่อนางอายุได้ ๑๕ ปี นกหัสดีลิงค์ตัวใหญ่ มีงาและงวงเหมือนช้าง ได้เข้ามาเข่นฆ่าผู้คน พระราชธิดาสีดาจึงอาสาไปสังหารนกหัสดีลิงค์โดยนางได้ขอเครื่องประดับ ๕ อย่าง ขอเสนาบดีพร้อมทั้งทหาร ตะกร้าดอกไม้ซ้อนเป็น ๗ ชั้น (บายศรี) และให้พราหมณ์ร่ายเวทสวดมนตร์พร้อมถวายเครื่องบูชาเทวดา จากนั้นพระอินทร์จึงลงมาประทานคันศรและลูกธนูพร้อมอวยพรให้นางมีชัยชนะ ในระหว่างการต่อสู้นางสีดาได้ยิงศรไปปักอกนกหัสดีลิงค์ร่วงตกลงมาตาย กษัตริย์ตักศิลาจึงยกเมืองให้พระราชธิดาสีดาครอบครอง พระนางครองเมืองได้ ๒ ปี จึงเสด็จกลับไปเป็นมเหสีพระอินทร์บนสวรรค์…”

เรื่องราวทั้ง ๓ เรื่อง แม้จะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดแต่มีสาระสำคัญที่สอดคล้องกัน คือ นกหัสดีลิงค์เข้ามาสร้างความเดือดร้อน ผู้ฆ่านกหัสดีลิงค์เป็นหญิงชื่อ “สีดา” การฆ่านกหัสดีลิงค์ใช้ลูกศรยิง

ในพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ก่อนการเผาศพเจ้านาย และพระมหาเถระเมืองอุบลแต่เดิมมามีผู้ทำหน้าที่เจ้านางสีดาที่ปรากฏเป็นข้อมูลให้สืบค้นได้รายแรกคือ ญาแม่สุกัณ ปราบภัย มีภาพปรากฏในพิธีปลงศพพระอริยกวี (อ่อน ธมฺมรกฺขิโต) พ.ศ.๒๔๔๖ ปรากฏในบทความของ ดร.ฌอง บร็องก์

ญาแม่สุกัณ ปราบภัย เทียมนางสีดาเพื่อฆ่านกหัสดีลิงค์ พ.ศ.๒๔๔๖ ในบทความของ ดร.ฌอง บร็องก์

นางเทียมเจ้านางสีดาคนต่อมาคือ คุณยาย มณีจันทร์ ผ่องศีล ได้ทำหน้าที่ฆ่านกหัสดีลิงค์ใน ยุคที่เมรุนกหัสดีลิงค์ได้คลี่คลายมาสู่พระเถระและสามัญชน อันเป็นยุคที่ช่างคำหมา แสงงาม เป็นนายช่างที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ให้กับพระเถระและสามัญชนทั้งในจังหวัดอุบลราชธานีและต่างจังหวัด

หลังจากการปลงศพช่างคำหมา แสงงาม ด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์ใน พ.ศ.๒๕๓๓ แล้ว คณะศิษย์ ต้นอย่างช่างสวัสดิ์ ไปดง ช่างคล้าย บุญยู้ ผู้มีผีมือชั้นเยี่ยมต่างไม่มั่นใจนักเมื่อถูกถามว่า “จะทำนกหัสดีลิงค์ อีกไหม?” เพราะการสร้างมีพิธีกรรมที่เดิมพันด้วยชีวิตและทุนทรัพย์ที่สูง

ต่อมา พระครูสีลสาราภรณ์ (หลวงปู่สมสิทธิ์ รักขิตสีโล) เจ้าอาวาสวัดป่าสักดาราม บ้านท่าม่วง อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีดำริสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ตามแบบแผนอริยะประเพณีในพิธีพระราชทานเพลิงหลวงปู่ทองมา ถาวโร พ.ศ.๒๕๓๕ จึงได้รวบรวมคณะช่างบ้านท่าม่วง ฟื้นฟูการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ ยึดแบบแผนการสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์ เทินบุษบกหอแก้วตามขนบโบราณ แต่บุษบกหอแก้วทรงหลังคายอดปราสาทตามอย่างของช่างคำหมา แสงงาม โดยมีช่างคล้าย บุญยู้ เป็นผู้ให้ข้อมูลเชิงช่าง

ด้วยความจำเป็นที่จะให้มีพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ ตามอริยะประเพณีโบราณ ในพิธีพระราชทานเพลิงหลวงปู่ทองมา ถาวโร พระครูสีลสาราภรณ์ จึงได้เดินทางไปเชิญนางเทียมเจ้านางสีดาที่จังหวัดอุบลราชธานี แต่เนื่องจากคุณยายมณีจันทร์ ผ่องศีล ได้เสียชีวิตลง ลูกหลานผู้สืบทอดยังไม่พร้อมที่จะไปประกอบพิธี จึงได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์ เครื่องคายที่ต้องใช้ และขั้นตอนในพิธีกรรม

พระครูสีลสาราภรณ์จึงได้สถาปนาเจ้านางสีดาเพื่อฆ่านกหัสดีลิงค์ โดยยึดแบบแผนตามอย่างจารีตโบราณที่ได้รับมอบจากนางเทียมเจ้านางสีดา เมืองอุบลราชธานี เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ช่างคล้าย บุญยู้ และ ช่างสวัสดิ์ ไปดง สองครูบาใหญ่
ผู้สืบทอดฝีมือเมรุนกหัสดีลิงค์จากช่างคำหมา แสงงาม

นัยยะสำคัญแห่งความเป็นอริยะประเพณี

เมื่อเมรุนกหัสดีลิงค์ได้เปลี่ยนบทบาทจากเครื่องประกอบเกียรติยศของเจ้านายสายเมือง อุบลราชธานี มาสู่เครื่องแสดงพลังศรัทธาต่อพระมหาเถระผู้ละสังขาร พิธีปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์จึงเปลี่ยนความหมายจากจารีตประเพณีมาสู่ความเป็นอริยะประเพณี

เชื่อว่าแต่เดิมคงเรียกเมรุรูปนกที่มีงวงงานี้ว่า “นกหัสดีลิงค์” ดังที่ปรากฏในประวัติเมืองอุบลราชธานี รวมถึงฮูปแต้มในอีสาน ทั้งที่ปรากฏในสิมหรือในผ้าผะเหวด ต่างเขียนกำกับด้วยอักษรตัวธรรมหรือตัวไทน้อยว่า “หัสดีลิงค์” หรือ “หัสสาดีลิง” ทั้งสิ้น ไม่ปรากฏ “สักกะไดลิง” “หัสสะไดลิง” ดังที่มีการใช้ในปัจจุบันแต่อย่างใด นอกจากนี้ในหมู่ช่างผู้สร้างได้เรียกชื่อนกนี้อีกอย่างว่า “นกอินทรี” สอดรับกับความในผ้าผะเหวดโบราณ วัดเกษมสีมา อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี บันทึกอักษรตัวไทน้อยกำกับรูปนกมีงวงงานี้ว่า นกอินทรี

พระครูสีลสาราภรณ์ (หลวงปู่สมสิทธิ์ รักขิต สีโล) ครูบาใหญ่นกหัสดีลิงค์ได้ให้อรรถาธิบายว่า “…ที่ว่านกอินทรีย์ เพราะอาการของนกที่ทำกลไก ให้สามารถขยับได้ เปรียบเหมือน “อินทรีย์” คือ ร่างกายของเราที่ย่อมหวั่นไหว เมื่อตากระทบรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ดังนั้น นกนี้จึงเรียกว่านกอินทรีล้อกับคำว่าอินทรีย์คือร่างกาย เมื่อเจ้านางสีดามาฆ่านกอินทรีให้ตายด้วย “ศร” ซึ่งเปรียบเหมือนการใช้ “คำสอน” ของพระพุทธเจ้าไปประหารกิเลส การฆ่านกอินทรีจึงเปรียบเทียบกับการที่พระมหาเถระได้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน จนสามารถสงบระงับจากกิเลสที่มากระทบนั่นเอง การสร้างเมรุนกหัสดีลิงค์หรือเมรุนกอินทรีย์ จึงนิยมสร้างถวายแก่พระมหาเถระที่เป็นพระสุปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เพราะเป็นเรื่องที่แฝงด้วยปริศนาธรรมเกี่ยวกับการเอาชนะกิเลส…”

การตีความเรื่องการฆ่านกอินทรีย์ด้วยศร ที่เปรียบเทียบกับการใช้พุทธธรรมคำสอนฆ่ากิเลส เป็นการตีความของพระครูสีลสาราภรณ์ ที่สอดรับกับบทบาทใหม่ของเมรุนกหัสดีลิงค์ที่ถูกนำมาใช้ในการปลงศพพระมหาเถระ ด้วยเหตุนี้ การปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์จึงเป็นอริยะประเพณีของชาวอีสาน ที่น้อมถวายพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ทรงคุณอันประเสริฐด้วยศรัทธา

“อินทรี” อักษรไทน้อยบนผ้าผะเหวดโบราณ วัดเกษมสีมา อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี

พลวัตเมรุนกหัสดีลิงค์ในอีสาน

เมรุนกหัสดีลิงค์ซึ่งแต่เดิมเป็นแบบแผนประเพณีการปลงศพเฉพาะกลุ่มอาญาสี่ เมืองอุบลราชธานี และผู้ใกล้ชิดคือ บิดา มารดา และภรรยา เท่านั้น ต่อมาเมื่อสิ้นสุดระบบอาญาสี่ การปลงศพด้วยเมรุนกหัสดีลิงค์จึงคลี่คลายมาสู่การน้อมรำลึกถึงคุณธรรมอันประเสริฐของพระมหาเถระ ในตำแหน่งหลักคำเมือง ซึ่งเทียบเท่าเจ้าคณะจังหวัดในปัจจุบัน

ในช่วงหลัง พ.ศ.๒๕๐๐ มีการใช้เมรุนกหัสดีลิงค์แพร่หลายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในภาคอีสาน เช่น ร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม และนครราชสีมา เป็นต้น โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะการปลงศพของพระมหาเถระเท่านั้น แต่มีการใช้ในการปลงศพสามัญชนด้วย เช่น ในงานปลงศพของนายทองดี อัตถากร ชาวจีนบุตรเขยพระเจริญราชเดช (อุ่น ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม) งานปลงศพของนายเคน แสงงาม และงานปลงศพของนายคำหมา แสงงาม

จะเห็นได้ว่า การใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ในพิธีการปลงศพที่เดิมจำกัดเฉพาะในกลุ่มอาญาสี่ ได้เลื่อนไหลมาสู่กลุ่มพระมหาเถระ จนกระทั่งถึงสามัญชนในที่สุด โดยไม่ได้จำกัดเฉพาะในเมืองอุบลราชธานี สะท้อนให้เห็นถึงการสืบต่อคติชนลุ่มน้ำโขงที่แฝงอยู่ในพิธีกรรม ที่เชื่อว่านกเป็นพาหนะนำผีขวัญของผู้คนในทุกชั้นวรรณะที่วายปราณขึ้นไปสู่เมืองฟ้า อันเป็นดินแดนสุคติภูมิหลังความตาย ตามความเชื่อของชาวอุษาคเนย์มาแต่ยุคบรรพกาล

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของเมรุนกหัสดีลิงค์ในกลุ่มของช่างคำหมา แสงงาม ซึ่งแต่เดิมมีลักษณะเป็นนกหัสดีลิงค์ เทินบุษบกหอแก้ว เป็นการสร้างหอแก้วครอบนกหัสดีลิงค์ ทั้งยังมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเครื่องยอดบุษบกหอแก้วจากทรงโบราณอีสานที่มีปากขัน หลังคาลาด สองชั้นเชิงกลอน องค์ระฆังประกอบบันแถลงเป็นจตุรมุข เหนือองค์ระฆังทำเป็นบัลลังก์รองรับบัวกลุ่มและปลียอด โดยเปลี่ยนมาเป็นยอดปราสาทซ้อนชั้นอย่างศิลปกรรมภาคกลาง

การเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของเมรุนกหัสดีลิงค์ จากการใช้ในพิธีศพเจ้านายคลี่คลายมาถึงการใช้กับสามัญชน ซึ่งปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การน้อมส่งสรีระสังขารของพระมหาเถระด้วยศรัทธา ตลอดทั้งการปรับรูปแบบโดยการนำศิลปกรรมไทยเข้ามาผสมผสานในเชิงช่าง สะท้อนให้เห็นถึงพลวัตของการใช้เมรุนกหัสดีลิงค์ในพิธีปลงศพที่มีนัยยะทางวัฒนธรรมผ่านงานศิลปกรรม ภายใต้เงื่อนไขของกาลเวลาและบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม บนพลวัตและพัฒนาการของคติการปลงศพด้วยนกที่สืบต่อกันมาหลายพันปีจนกระทั่งตกผลึกเป็นเมรุนกหัสดีลิงค์ ที่หยัดยืนจนเกิดเป็นแบบแผนอัตลักษณ์ที่สำคัญในพิธีกรรมหลังความตายของชาวอีสาน ที่กำลังท้าทายต่อกระแสธารแห่งโลกาภิวัตน์ ที่มีเพียงชาวอีสานเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตอบคำถามว่า

“เมรุนกหัสดีลิงค์” ควรค่าแก่การอนุรักษ์และสืบทอดต่อไปหรือไม่ในกาลปัจจุบัน ???

*****

.

คอลัมน์ เปิดผ้าม่านกั้ง นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๑ | มกราคม ๒๕๖๒

ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท

สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท

หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท

ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)

.

สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง

inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901

line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW

Related Posts

หมาน
คำโตงโตย : “ฮ้อนกว่าไฟ ใสกว่าแก้ว แล้วก่อนทำ”
เมืองนครจำปาศักดิ์ – ๒ –
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com