กิ น ก้ อ ย ซี้ น

พ่อเฒ่ากิ เป็นผู้ใหญ่บ้านที่เข้มแข็ง เป็นคนเอาการเอางานดีมาก ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในอำเภอจะรู้จักแกดี หากมีงานสำคัญ ๆ ในอำเภอก็มักจะเรียกใช้แกเป็นแม่งานหลัก ผู้ใหญ่กิ แกมีถิ่นกำเนิดอยู่ “ทางอีศาน”

จึงมีเอกลักษณ์ของความเป็นคนอีสานอย่างเต็มเปี่ยม นั่นก็คือ หนักเอาเบาสู้ ผู้รู้ผญา มีอารมณ์ขัน รักมั่นท้องถิ่น ถวิลวัฒนธรรม นำวิกฤตเป็นโอกาส

พ่อเฒ่ากิมีลูกเขยชื่อ บักดิษฐ์ บักดิษฐ์มันเป็นคนหัวหมอ คิดอะไรมักแตกต่างไปจากคนอื่น ถ้าจะว่าเป็นคนคิดแบบมีวิสัยทัศน์ก็ไม่เชิงนัก เพราะบางครั้งมันคิดและถามคู่กรณี จนคู่กรณีตกขอบ ตอบแทบไม่ทัน! แม้แต่พ่อเฒ่าของมัน มันก็ไม่เว้น…มีกรณีตัวอย่าง

วันหนึ่งในฤดูฝน พ่อเฒ่ากิเดินทางไปทำธุระต่างจังหวัด การเดินทางไม่ค่อยสะดวกนักเพราะฝนตกหนักมาก เมื่อพ่อเฒ่ากิกลับมาถึงบ้าน ก็ถามบักดิษฐ์ผู้เป็นลูกเขย “ในช่วงที่พ่อบ่อยู่บ้าน ที่บ้านเฮาฝนตกหนักบ่?”

“จั๊กแหล่ว…ข้อยบ่ได้ไปยกฝนมาชั่งดู ว่ามันหนักสํ่าใด๋!” ฟังสิ…ฟังบักดิษฐ์มันตอบพ่อเฒ่าของมัน! บักดิษฐ์มันเป็นคนกวนอารมณ์จริง ๆ แต่พ่อเฒ่ากิก็ไม่ถือสา เมื่อได้ยินบักลูกเขยจอมกวนตอบอย่างนั้นก็ทำเฉยไม่มีการต่อล้อต่อเถียง ขืนต่อล้อต่อเถียงมันก็ยิ่งจะเป็นเรื่องยาวไปอีก และแล้ว…ก็เกิดเหตุการณ์หนึ่งที่พ่อเฒ่ากิกับบักดิษฐ์ต้องได้สนทนากันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

“ดิษฐ์เอ้ย! มื้อนี้พ่ออยากกินก้อยซี้น ไปซื้อก้อยซี้นมาสู่พ่อกินแหน่!” พ่อเฒ่ากิเอ่ย

บักดิษฐ์ว่า “ก้อยขม หรือบ่ขม?”

พ่อเฒ่ากิ “ก้อยขมแหล่ว มันจั่งสิแซบ!”

บักดิษฐ์ “ขมหน่อย หรือขมหลาย?”

พ่อเฒ่ากิ “ขมพอดีกินแซบ!”

บักดิษฐ์ “ขมพอดีกินแซบ ใส่บี๋จักซ้อนมันจั่งขมพอดีแซบ!”

พ่อเฒ่ากิ “มึงกะอย่าเป็นคนหัวหมอส่อกูหลาย…บักดิษฐ์!”

บักดิษฐ์ “หัวหมอแผนปัจจุบัน หรือแผนโบราณ?”

พ่อเฒ่ากิ “โอ๊ย! กูย้านบ่ได้กิ๋นก้อยซี้นดอกเด้อมื่อนี้!”

บักดิษฐ์ “บ่ได้กิ๋นก้อยซี้น สิกิ๋นหยังล่ะพ่อเฒ่า!”

พ่อเฒ่ากิ “กูยังอยากกิ๋นก้อยซี้นอยู่…บักห่ามึง!”

บักดิษฐ์ “ถ้ายังอยากกิ๋นก้อยซี้นอยู่ สิให้เขาใส่บี๋จั๊กซ้อน?”

พ่อเฒ่ากิ “โอ๊ย! เว้าซูซีแบบนี้ กูอยากตายเด้!”

บักดิษฐ์ “ถ้าพ่อเฒ่าตาย จะให้เผาหรือฝัง?”

พ่อเฒ่ากิ “บักห่าดิษฐ์! มึงอย่าลามหลาย ตอนพ่อมึงตาย ก่ะยังเผาเด้!”

บักดิษฐ์ “อ๋อ… ถ้าพ่อเฒ่าต๋าย ก่ะต้องเผาเนาะ! แล้วสิให้เผาสุกสํ่าใด๋?”

พ่อเฒ่ากิ บักห่ากิ๋นหัวมึงบักดิษฐ์! บักลูกเขยขวง!

Related Posts

ถั่วเหลือง ถั่วแระ และถั่วเน่า
คันไถโบราณ ตํานานและความเชื่อของชาวนา
มังมูน บุญข้าว : เสาค้ำวัฒนธรรมอีสาน
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com