เกลือ แร่ธาตุปฏิวัติสังคมชาติพันธุ์อีศาน
ทางอีศาน ฉบับที่ ๑๓ ปีที่ ๒ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖
คอลัมน์: อัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์อีศาน
Column: Identity of the Esan Ethnics
ผู้เขียน: วีระ สุดสังข์
Salt : Mineral that caused the social revolution among the Ethnics of the Northeast
The Salt Route in the Northeast was important to the history of various ethnicities in the areas of the Chee, Moon, Songkhram and Mekong river basins since the old days. It reflected the migration routes, the establishment of communities, the relationship, the coordination and the harmony among the various ethnic groups. It also supported the connection to the neighboring countries. The trade of salt went over the Mekong to Laos, Vietnam and beyond the Phnom Dong Raek Pass to the Kingdom of Kampuchea, the land where salt was in great demand for fish preservation. Salt was therefore the mineral which caused the social revolution for the Ethnics of the Northeast.
เมื่อครั้งยังเด็ก ครอบครัวยากจนมากจนต้องกินข้าวกับเกลือเป็นหลัก จำได้ว่า แม่หุงข้าวแล้วตักออกจากหม้อเทใส่กระด้งแล้วโรยด้วยเกลือ แม่คลุกเคล้าข้าวและเกลือให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นก้อน ๆ วางไว้ตามขอบกระด้งให้ลูกแต่ละคนหยิบเข้าปาก หากก้อนข้าวร้อน ๆ แม่จะเป่าและพูดว่าเพี้ยง ! ตับไก่, เพี้ยง ! ตับเป็ด, เพี้ยง ! ตับละมั่ง, เพี้ยง ! ตับวัว พวกเราพี่น้องก็กินกันอย่างเอร็ดอร่อย
พอข้าพเจ้าไปอยู่กับยาย ตื่นนอนตอนเช้าเห็นยายอมเกลือแล้วถูฟัน ยายบอกว่าเกลือกำจัดกลิ่นปากได้ ในปัจจุบันเกลือจึงเป็นส่วนผสมของยาสีฟัน, บางคราวเห็นยายตักเอาน้ำเปล่า ๆ ใส่ขันมาแล้วเหยาะเกลือประมาณสองช้อนชา เกลือละลายในน้ำกลายเป็นน้ำเกลือ แล้วกลั้วปากกลั้วคอละลายเสมหะกำจัดอาการไอ, ทุกครั้งที่ตำพริกยายจะเหยาะเกลือลงไปด้วย ถามยายว่า ทำไมต้องใส่เกลือด้วย ยายตอบว่า เกลือกับพริกเป็นของคู่กัน ทำให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้น เพราะรสมันเกื้อหนุนกัน พอโตมาหน่อยมีโอกาสเห็นพิธีกรรมเผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง จึงตอกย้ำให้เชื่อคำบอกเล่าของยายว่า เกลือนี้มีความสำคัญเพียงใด ครัวใดก็ตามหากไม่มีเกลือก็ถือว่าเป็นครัวที่ไม่สมบูรณ์
โบราณถือว่า เกลือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพราะในพิธีกรรมบางอย่างต้องใช้เกลือร่วมเซ่นสังเวยด้วยเกลือมีราคาเทียบเท่าเงินตราเพราะสามารถจ่ายเป็นค่าแรงงานได้ เกลือเป็นเครื่องปรุงอาหารที่ให้รสเลิศและป้องกันอาหารบูดเน่าได้ ในสมัยที่ยังไม่มีตู้เย็นแช่เนื้อแช่ปลากันบูดเน่าก็ใช้เกลือทำเนื้อเค็มและปลาเค็มเก็บไว้กินได้นาน แม้แต่การทำปลาส้ม ปลาจ่อม ปลาร้า เกลือก็มีบทบาทสำคัญมาก หากครัวใดขาดเกลือก็เหมือนขาดวิญญาณครัว เกลือจึงอยู่คู่พริกคู่ครัวมาแต่ดึกดำบรรพ์ก่อนที่จะมีน้ำปลาภายหลังซึ่งก็มีส่วนผสมของเกลืออยู่ดี
ในร่างกายของเราก็มีเกลืออยู่เช่นกัน เหงื่อของเราจึงเค็มเหมือนเกลือ และเมื่อป่วยไข้ไปโรงพยาบาล คุณหมอก็ให้น้ำเกลือทุกที เมื่อร่างกายได้รับบาดแผลหากใช้เกลือยัดเข้าไปในแผลก็จะทำให้แผลหายเร็วขึ้น นี่หมายความว่า ใครมีเกลือเป็นผู้ที่มีสุขภาพมั่นคง
ในประวัติศาสตร์โลกที่ว่าด้วยเกลือ เกิดสงครามแย่งชิงเกลือทั้งในยุโรปและอเมริกาหลายครั้ง เพราะถือว่าเกลือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ใครครอบครองเกลือได้มากถือว่าเป็นผู้มีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น นั่นเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นทางซีกโลกตะวันตก ซึ่งมีนักเขียน นักวิชาการเขียนไว้ให้ศึกษาจำนวนไม่น้อยและไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงอีก หากต้องการกล่าวถึงชาติพันธุ์อีศานตั้งแต่โบราณที่สร้างวัฒนธรรมถ้อยทีถ้อยอาศัย, การพึ่งพา, การอยู่ร่วมกันโดยผ่านเกลือ นั่นคือวัฒนธรรมแลกพริกแลกเกลือจนเกิดถ้อยคำสำนวนว่า “พริกอยู่บ้านเหนือเกลืออยู่บ้านใต้”
บนผืนแผ่นดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้อุดมไปด้วยเกลือสินเธาว์ ใต้ผืนดินมีโดมเกลือมหาศาล
อาจกล่าวได้ว่า ที่นี่คือ อาณาจักรเกลือยืนยันได้จากหลักฐานที่ห้วงทะเลได้ฝากทิ้งไว้นับ ๑๐๐ ล้านปี น้ำทะเลที่ไหลท่วมดินแดนแห่งนี้ได้ถูกปิดกั้นด้วยเทือกเขา และการยกตัวของเทือกเขาภูพานตอนกลางของภาค ทำให้เกิดการแบ่งดินแดนภาคนี้ออกเป็น ๒ ส่วน มีลักษณะเป็นแอ่งคล้ายก้นกระทะ ส่วนที่อยู่ทางเหนือเรียกว่า “แอ่งสกลนคร” ส่วนที่อยู่ทางใต้เรียกว่า “แอ่งโคราช” เมื่อเวลาผ่านไปเกลือมหาศาลที่ซับอยู่ในเนื้อดินจนกระทั่งขี้เกลือผุดขึ้นมาเหนือดิน ชาวบ้านเรียกว่าขี้ทาหรือดินเอือด ภูมิปัญญาโบราณทำเกลือโดยขูดเอาขี้ทาหรือดินเอือดใส่รางขนาดใหญ่เทน้ำลงไปแล้วคนให้เข้ากัน หมักไว้สักสองสามวัน จากนั้นจึงกรองเอาน้ำซึ่งเป็นน้ำเค็ม เมื่อเอาน้ำไปต้มจนแห้งก็กลายเป็นเม็ดเกลือขาวสะอาด รสชาติพอดีไม่เค็มจัด แต่เค็มแบบกลมกล่อมเหมาะแก่การบริโภค ปัจจุบันใช้เครื่องจักรกลผลิตเกลือและสร้างผลกระทบตามมาจำนวนไม่น้อยซึ่งจะไม่กล่าวถึง
ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีแหล่งเกลืออยู่ทุกหนทุกแห่ง บางแห่งความเข้มข้นของเกลือมีมากจนทำให้ดินเค็ม ซึ่งหมายถึง ดินที่มีปริมาณเกลือที่ละลายอยู่ในสารละลายดินมากเกินไป จนมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและผลิตผลของพืชเนื่องจากทำให้พืชเกิดอาการขาดน้ำและมีการสะสมไอออนที่เป็นพิษในพืชมากเกินไป นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่สมดุลของธาตุอาหารพืชด้วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือจึงประสบปัญหาในการเพาะปลูกพืชอย่างมาก นอกจากนี้เกลือยังกัดกินเกาะเป็นสนิมในเหล็กที่ใช้ประกอบอาคารบ้านเรือน ที่เห็นชัดแถบบริเวณแม่น้ำมูลตอนกลางก็คือเสาปูนที่มีเหล็กเส้นอยู่ด้านใน เกลือจะกัดกินจนเหล็กเส้นผุจนเนื้อปูนแตก ขุดบ่อใช้น้ำรดพืชผักไม่ได้เพราะน้ำเค็ม ปัญหานี้เพิ่มมากขึ้นหลังจากสร้างเขื่อนตลอดสายแม่น้ำมูล เพราะการเก็บกักน้ำทำให้น้ำซึมลึกลงไปละลายภูเขาเกลือใต้ดินให้เกลือผุดขึ้นมา เสมือนการไปปลุกยักษ์หลับนั่นเองข้าพเจ้ามีโอกาสตามไปดูแหล่งเกลือบริเวณลุ่มน้ำยาม,น้ำสงครามและน้ำอูน ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่ใน “แอ่งสกลนคร” แถบจังหวัดสกลนครและนครพนม โดยการนำพาของ “คุณเด่นชัย น้อยนาง” นักเขียนชาติพันธุ์อีศานคนหนึ่ง
คุณเด่นชัย น้อยนาง ได้พาดูและให้ข้อมูลโพนเกลือทั้ง ๙ แห่งในเขต ๓ ลุ่มน้ำ คำว่า “โพน” นี้หมายถึงจอมปลวก เป็นเนินดินสูงกว่าพื้นราบแต่ไม่สูงเท่าภูเขา โพนเกลือที่ว่านี้เกิดจากการทิ้งเศษดินเอือดหลังจากกรองเอาความเค็มด้วยน้ำแล้วชาวบ้านที่ต้มเกลือนำไปทิ้งกองไว้จนกลายเป็นโพน โพนเกลือจึงไม่ได้เกิดจากธรรมชาติ หากเกิดจากการทิ้งเศษดินเอือดนั่นเอง ซึ่งประกอบด้วย
๑. โพนเกลือวัดโนนสวรรค์ บ้านเม่นใหญ่ ตำบลอากาศ อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร มีความสูงประมาณ ๑๕ เมตร กินเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัด
๒. โพนเกลือสำนักสงฆ์โพนช้างสันติธรรม ชาวบ้านแถบนี้เรียกโพนช้างขาว เนินดินแห่งนี้อยู่ห่างจากวัดโนนสวรรค์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๕๐๐ เมตร มีความสูงประมาณ ๘ เมตร เนื้อที่ประมาณ ๙ ไร่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของสำนักสงฆ์
๓. โพนเกลือโนนส้มโฮง บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นเนินดินสูง ๕ เมตร มีพื้นที่ประมาณ ๕ ไร่ล้อมรอบด้วยที่นาของชาวบ้าน
๔. โพนเกลือโพนแต้ อยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านท่าเรือ เป็นโพนเตี้ย แต่มีเนื้อที่ ๑๕ ไร่ อยู่ห่างจากโพนช้างขาว ประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร
๕. โพนเกลือโพนกอก เป็นโพนขนาดเล็กที่สุดในจำนวน ๙ โพน ห่างจากบ้านแต้ไปทางทิศตะวันตกราว ๔๐๐ เมตร ปัจจุบันล้อมรอบด้วยที่นาชาวบ้าน
๖. โพนเกลือโนนตุ่น อยู่ในเขตบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรืออำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านแต้
๗. โพนเกลือโนนจุลณี อยู่ในเขตบ้านบะหว้า ตำบลท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม อยู่ทางทิศตะวันออกของบ้านแต้ (โนนตุ่นและโนนจุลณี มองไกล ๆ คล้ายนมผู้หญิง)
๘. โพนเกลือโพนวัดโพธิ์เครือ อยู่ในเขตบ้านเสี่ยว ตำบลบ้านเสี่ยว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มีความสูงประมาณ ๕ เมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัด
๙. โพนเกลือสำนักสงฆ์โนนหัวแข้ บ้านเสี่ยว อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม มีความสูง ๒๐ เมตร นับว่าสูงที่สุด มีเนื้อที่ประมาณ ๖ ไร่ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดทั้งหมดนี้เป็นแหล่งเกลือในแอ่งสกลนครซึ่งสืบทอดวิถีและวัฒนธรรมเกลือมานับพันปี
นอกจากนี้แล้วที่ “แอ่งโคราช” ยังมีแหล่งเกลือบ่อพันขัน ในเขตจังหวัดร้อยเอ็ด และแผ่สายเกลือครอบคลุมไปทั่วบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้ นับแต่ นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษและยโสธร แหล่งเกลือบ่อพันขันเป็นแหล่งต้มเกลือสินเธาว์ที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดิมเป็นอุตสาหกรรมเล็ก ๆ ในครัวเรือนที่ชาวบ้านต่างต้มเกลือในช่วงฤดูแล้ง จนกลายเป็นสินค้าซื้อขายแลกเปลี่ยน เช่น บรรทุกเกลือไปแลกข้าว แลกพริกหรือสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะบริเวณแหล่งต้มเกลือนั้นไม่สามารถสร้างผลผลิตได้เพียงพอ อันเนื่องจากความเค็มของดินนั่นเอง ปัจจุบันนี้เน้นการขายมากกว่าการแลกเปลี่ยน การเดินทางแลกเปลี่ยนนี้เองที่ก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมให้กลมกลืนของหมู่ชนในชาติพันธุ์อีศาน นับแต่เรื่องของภาษา วัฒนธรรม ประเพณี การเกี่ยวดองเป็นเครือญาติจนสามารถผสมผสานและร่วมอยู่ร่วมกินกันอย่างสงบสุข
ที่บ่อพันขันนี้ คุณบุญมา ภูเม็ง กล่าวว่า “อ่านประวัติเมืองอุบลราชธานีสมัยพระวอพระตาหนีภัยเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์ ออกจากนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน (หนองบัวลุ่มภู) ก็แบ่งกำลังส่วนหนึ่งไปตั้งชุมนุมที่บ้านบ่อพันขันทุ่งกุลา ก็มีนัยว่าเป็นบ่อน้ำเกลือและบ่อน้ำจืดออกน้ำตลอดปี” ความผูกพันของเกลือกับวิถีชีวิตแบบลาว/อีสานถึงขนาดบ้านใดมีลูกสาว ถ้ามีชายหนุ่มขยันขันแข็ง หน่วยก้านดี พ่อเฒ่า(พ่อตา)ถึงกับบอกว่า “มีเกลือกะทอเดียว”ก็จะยอมยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย อันนี้มีเค้าความจริงอยู่มาก ครูสุรินทร์ ภาคศิริ เคยเขียนเพลงให้ ครูอังคนางค์ คุณไชย นางเอกหมอลำคณะอุบลพัฒนา ชื่อเพลง “กำพร้ากำพอย” ท่อนที่ ๔ ว่า “อ้ายเป็นลูกกำพร้า ส่วนน้องนั่นหนา กำพอยแม่และพ่อ เกิดเป็นหญิงมันยากยิ่งจริงหนอ ไผสงสารน้องบ่นอ เกลือกะทอเดียวกะสิเอา”
ภูมิปัญญาระดับชาวบ้าน นอกจากจะใช้เกลือในการบริโภคแล้ว ยังใช้เกลือในการรักษาอาการเจ็บป่วยอีกด้วย เช่น หากมีอาการมึนศีรษะ สมองไม่ปลอดโปร่งก็ใช้น้ำอุ่นประมาณ ๑ ถัง ผสมเกลือ ๒-๓ ช้อนแล้วอาบ เกลือจะช่วยกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนได้ดี มีเลือดไปหล่อเลี้ยงสมอง, หากบังเอิญกินอาหารปนสารพิษเข้าไปหรือเกิดอาการอึดอัดอาหารไม่ย่อย และอยากให้อาเจียนออกมาก็ให้ดื่มน้ำเกลือเข้มข้นแก้วใหญ่ ๆ เพียงชั่วอึดใจก็จะอาเจียนพวกสารพิษออกมา, หากมีอาการคันตามผิวหนังให้ทาบริเวณที่คันด้วยน้ำเกลือ เชื้อราบริเวณนั้นจะสิ้นฤทธิ์, ถ้ายุงกัดจนเป็นตุ่มบวมคันก็ไม่ต้องเกาให้รีบใช้น้ำเกลือทาที่รอยแผล ไม่นานอาการคันก็จะหายไปและรอยบวมก็จะยุบหายไปด้วย, หากคัดจมูกน้ำมูกไหลและอาจลุกลามจนกลายเป็นโรคจมูกอักเสบก็ใช้น้ำเกลือเจือจางหยอดเข้าไปในรูจมูกทั้งสองข้าง เกลือจะช่วยฆ่าเชื้อโรคในโพรงจมูก, พวกโรคตาแดงนอกจาก
หยอดด้วยน้ำนมแม่ลูกอ่อนแล้วก็ให้ใช้ผ้าขาวสะอาดจุ่มน้ำเกลือเช็ดตา แล้วล้างตาด้วยน้ำสะอาด อาการบวมแดงก็จะค่อยทุเลาและหายในที่สุด
เส้นทางสายเกลือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำชี ลุ่มแม่น้ำมูลลุ่มน้ำสงคราม และลุ่มแม่น้ำโขงมาแต่โบราณทำให้มองเห็นภาพการอพยพโยกย้ายถิ่นฐาน การก่อตั้งชุมชน การประสานสัมพันธ์กันระหว่างชาติพันธุ์ต่าง ๆ จนเกิดความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวทางด้านความเชื่อ จารีต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และการสร้างบ้านแปงเมืองจนมีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างเด่นชัด นอกจากนี้ยังเชื่อมสัมพันธ์กับประเทศใกล้เคียง โดยมีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับเกลือ จากดินแดนแห่งนี้ข้ามลำแม่น้ำโขงสู่ดินแดนของลาว เวียดนามและข้ามช่องเขาพนมดองแร็กไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา เพราะราชอาณาจักรกัมพูชาก็มีความต้องการใช้เกลืออย่างมหาศาล ในการถนอมอาหารที่ได้จากปลาในทะเลสาบ เกลือจึงเป็นแร่ธาตุที่ปฏิวัติสังคมชาติพันธุ์อีศาน…!!
ขอบคุณ คุณเด่นชัย น้อยนาง และคุณบุญมา ภูเม็ง.