“สุรวิทยาคาร” คู่สุรินทร์

ทางอีศาน ฉบับที่๑๒ ปีที่๑ ประจำเดือนเมษายน ๒๕๕๖
คอลัมน์: รายงาน “ทางอีศาน”
Column: Report: “Esan Way”
ผู้เขียน: กอง บ.ก.


๏ เราลูกสุระศรีสุระอันแกร่งกล้า
ร่วมศรัทธาร่วมใจร่วมในถิ่นเนา
เขียวเหลืองเด่นเปรียบเป็นเส้นเลือดของเรา
ไหลมารวมเผ่าเหล่าไทยในสุรินทร์ ๏
(เพลงมาร์ชสุรวิทยาคาร)

พลิกดูประวัติของชาวสุรินทร์ที่มีชื่อเสียง มีผลงานสร้างสรรค์ความดีงามไว้ให้สังคมไทยมากมาย ล้วนจบการศึกษาจากโรงเรียนสุรวิทยาคาร

ร้อยกว่าปีที่ก่อตั้งโรงเรียนนี้ขึ้นมา ผู้บริหารและคณาจารย์ร่วมกันพัฒนาการศึกษา อบรมนักเรียน สร้างทรัพยากรชั้นนำจำนวนมากให้แก่ประเทศไทย

ล่าสุด (ธันวาคม ๒๕๕๕) โรงเรียนสุรวิทยาคาร จัดเป็นโรงเรียนที่ดีเด่นอันดับที่ ๗๑ ของประเทศไทย

หมุดหมายสำคัญของโรงเรียนสุรวิทยาคารมีย่อ ๆ ดังนี้

โรงเรียนสุรวิทยาคาร (เดิมชื่อโรงเรียนประจำจังหวัดสุรินทร์) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๒ เมื่อแรกตั้งได้อาศัยศาลาโรงธรรมของวัดจุมพลสุธาวาสเป็นสถานที่เล่าเรียนเฉพาะระดับประถมศึกษา

พ.ศ. ๒๔๕๖ กระทรวงธรรมการได้แต่งตั้ง ขุนพิสุทธวรวาท (อู๋ เกตุศิริ) มาเป็นครูใหญ่และเป็นธรรมการจังหวัดสุรินทร์คนแรก พ.ศ. ๒๔๕๘ ได้ย้ายโรงเรียนไปอาศัยเรียนที่ศาลาโรงธรรมวัดบูรพาราม ต่อมาได้ขอที่พักข้าหลวงเก่ามาดัดแปลงปลูกเป็นโรงเรียนขึ้น ให้นักเรียนประถมเรียนที่ศาลาโรงธรรม ให้นักเรียนมัธยมเรียนที่โรงเรียนหลังใหม่

พ.ศ. ๒๔๖๐ ราชบุรุษยา ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ โรงเรียนเปิดสอนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ พ.ศ. ๒๔๖๑ ราชบุรุษแห (ปป.) ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ เริ่มเปิดสอนในระดับฝึกหัดครูประกาศนียบัตรด้วย

พ.ศ. ๒๔๖๔ นายเลื่อน สุวรรณาคร ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ มีอาคารโรงเรียนหลังใหม่ (บริเวณศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ในปัจจุบัน) เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓ มีครู ๘ คน นักเรียน ๒๓๙ คน เริ่มเก็บเงินค่าเล่าเรียนในปีนี้

พ.ศ. ๒๔๗๕ นายมั่น เพ็ชรศรีสม (ปป.ก.) ดำรงตำแหน่งครูใหญ่ ขยายชั้นเรียนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่หก

พ.ศ. ๒๔๗๘ ย้ายนักเรียนสตรีออกไปเรียนที่โรงเรียนสตรี มีนักเรียนหญิง ๑๕๐ คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ถึงมัธยมศึกษาปีที่ ๓

โรงเรียนประจำจังหวัดหลังใหม่ ทรงปั้นหยาสองชั้น ขนาดกว้าง ๙.๕๐ เมตร ยาว ๘๒ เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ วันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๑ เสร็จเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๔๘๒ สร้างด้วยเงินทุนสะสมศึกษาพลี ๒ หมื่นบาท กับเงินที่รัฐบาลใช้คืนอีก ๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๒๒,๐๐๐ บาท ค่าปลูกสร้างโรงเรียนเป็นเงิน ๒๐,๕๕๐ บาท เหลือนอกนั้นเป็นค่าก่อสร้างโรงอาหารและสะพานนักเรียนเข้าเรียนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๔๘๒

พ.ศ. ๒๔๘๔ ตัดชั้นประถมศึกษาออก คงเปิดสอนเฉพาะชั้นมัธยมศึกษา

พ.ศ. ๒๔๙๔ กระทรวงศึกษาธิการประกาศเปลี่ยนชื่อโรงเรียน จากโรงเรียนประจำจังหวัดสุรินทร์ เป็น โรงเรียนสุรวิทยาคาร เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน

พ.ศ. ๒๕๐๓ กระทรวงศึกษาธิการประกาศใช้แผนการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๐๓ จึงตัดชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑, ปีที่ ๒ และปีที่ ๓ ออกเปลี่ยนชั้นเรียนเป็นมัธยมศึกษา (ม.ศ.) และได้เปิดสอนชั้นเตรียมอุดมศึกษา แผนกวิทยาศาสตร์

พ.ศ. ๒๕๓๓ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่

พ.ศ. ๒๕๓๕ เปิดโรงเรียนสาขาที่ตำบลสลักไดอำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์

พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงศึกษาธิการให้ได้รับรางวัลโรงเรียนพระราชทานระดับมัธยมศึกษาขนาดใหญ่

พ.ศ. ๒๕๕๒ โรงเรียนสุรวิทยาคารครบ ๑๐๐ ปี และเริ่มก่อสร้างอาคาร ๖ อาคารใหม่สี่ชั้น

ศิษย์เก่าสุรวิทยาคารที่มีชื่อเสียงมีเป็นจำนวนมาก ขอเสนอบางท่าน ดังนี้

นายพิศาล มูลศาสตรสาทร อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย,
ศ.ดร.มานะ พิทยาภรณ์,
นายเหลื่อม พันธ์ุฤกษ์,
นายญาติ ไหวดี, นาย
เปลื้อง วรรณศรี,
สุธีร์ พั่วพันธ์ุ,
ไพบูลย์ สุนทรารักษ์,
มนู สัมพันธ์,
นายเสนอ มูลศาสตร์,
ชัย ชิดชอบ,
“นายหนหวย”- ศิลปชัย ชาญเฉลิม,
นายสิงห์ชัย บังคดานรา-“นเรศ นโรปกรณ์”,
นายฉัตร บุณยศิริชัย (“อ้อย อัจฉริยกร”, “ศักดิ์สุริยา”) อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย,
นายเสงี่ยม พวงคำ,
เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๕,
บำรุงศักดิ์ กองสุข,
โกวิทย์ วัฒนกุล,
สุรชัย ดำรงศักดิ์,
นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์,
นายพิสิฐ กุศลาไสยานนท์ อดีตกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย (DD),
สุรศักดิ์ สืบสหการ ฯลฯ

ปรัชญาโรงเรียน
นตฺถิ ปญฺญา สมา อาภา
แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี

คำขวัญประจำโรงเรียน
ความประพฤตินำหน้า วิชาตามหลัง

๏ เลือดเขียวเหลืองหญิงชายหมายมุ่งมั่น
เฝ้าฝ่าฟันหมั่นเพียรเพื่อศึกษา
ประพฤติดีมีวินัยใฝ่วิชา
ศิษย์ก้าวหน้าครูปลื้มลืมทุกข์ร้อน ๏

Related Posts

ภาพพระเตมีย์ บนใบเสมาทวารวดีอีสาน
ต้นกำเนิดนิทาน “ตาเจี้ย ตาลูน – ปลาบู่ทอง – เต่าคำ และซินเดอเรลล่า”
งานสงกรานต์ของคนอีสาน

Leave a Reply

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com