กระดาษ ในยุค ๔.๐
ที่อยู่ตรงหน้าผมคือ กระดาษกองหนึ่งส่วนใหญ่เป็นจดหมายเวียนข่าวสารให้รับรู้ ยังมีเอกสารงานวิจัยทางขวามืออีกกองหนึ่ง ต้องอ่านให้เสร็จในสองสามวัน และนั่นถัดไป เป็นข้อสอบที่ออกเสร็จแล้ว รอการตรวจทานความถูกต้องอีกครั้งก่อนส่งไปทำสำเนา กองกระดาษเหล่านี้เพิ่มพูนขึ้นทุกวัน จดหมายเวียนอิเล็กทรอนิกส์นะหรือ มีไว้เพื่ออวดชาวโลกว่า เราก็ทันสมัยแล้วเราก็ใช้จริง ๆ ด้วย แต่ใช้ควบคู่ไปกับจดหมายเวียนที่เป็นกระดาษ
คงมีบางคน ในบางครั้ง คิดเรื่องการประหยัดกระดาษ หรือการนำกลับไปใช้ใหม่ แต่ไม่มีใครคิดจริงจังว่า กระดาษที่ใช้แล้วนี่ไปไหนทำถุงกล้วยแขกรึ จะใช้สักเท่าไรเชียว ขนมขบเคี้ยวสมัยนี้ห่อด้วยวัสดุพลาสติกเคลือบสีสันสดใส ภายในอัดก๊าซช่วยถนอมอาหาร ไหนเลยจะใช้กระดาษเปื้อนหมึกให้มะเร็งถามหา
บรรพบุรุษของเราที่อยู่ตามถ้ำและเพิงผาหิน ถ่ายทอดความคิดของเขาผ่านภาพเขียนสีหรือภาพพิมพ์มือ ที่ใช้ยางไม้ ผงหินเป็นหมึก ต่อมามีการใช้วัตถุรูปร่างต่าง ๆ แทนชนิด และจำนวน พืชผล สัตว์เลี้ยง ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ
ราวห้าพันกว่าปีที่แล้ว ชาวสุเมเรียนเป็นพวกแรก ที่คิดค้นการทำร่องรอยบนวัตถุ เช่น ไม้ดินเหนียว เป็นสัญลักษณ์แทนทั้งภาพและเสียงและในราวสามพันกว่าปีที่แล้ว ตัวอักษรที่แทนเสียงพูดอย่างแท้จริงก็ถือกำเนิด
คนในยุคก่อน ใช้วัสดุเท่าที่หาได้บันทึกถ่ายทอดเรื่องราว ไม้ หิน ดินเหนียว กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ ถูกใช้มาแล้วทั้งนั้น ในประเทศจีนโบราณ ใช้ไม้ไผ่ผ่าเป็นซีก มัดติดต่อกันด้วยเชือกหนัง คล้ายเล่มสมุด
พร้อม ๆ กับการคิดค้นตัวอักษร ชาวอียิปต์โบราณเมื่อห้าพันปีที่แล้ว นำเอาไส้ในของต้นกกฝานบาง ๆ วางเรียงต่อเนื่องและพาดขวาง จากนั้นใช้ไม้ทุบให้เรียบเป็นเนื้อเดียวกัน ได้วัสดุคล้ายแผ่นกระดาษ ใช้เขียนอักษรหรือวาดรูปได้วัสดุนี้ได้ชื่อตามต้นกกว่า พาไพรัส (Papyrus)
ในประเทศจีน มีพืชชนิดหนึ่ง คนจีนเรียกโทนทัวมู่ (通脱木) หากแต่ชื่อในภาษาอังกฤษฟังแล้วชวนไขว้เขวว่า ต้นกระดาษข้าว (rice paper) เป็นไม้พุ่ม ลำต้นโตเต็มที่ขนาดแขนผู้ใหญ่ ใบขนาดใหญ่กว้างราว ๑ ศอก ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉก ไส้ในลำต้น สีขาว ฟ่ามเบา ดูดซับน้ำได้ไม่มากไม่น้อยเกินไป เฉือนให้เป็นแผ่นบางใช้เขียนภาพสีน้ำได้ดีเช่นเดียวกับกระดาษ
เห็นได้ชัดว่า กระดาษหลายรูปแบบ มีใช้ในหลายภูมิภาคของโลกมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาลแต่กระดาษที่ทำจากเส้นใยพืช ถูกคิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรกโดยขุนนางชาวจีนสมัยราชวงศ์ถัง เมื่อเกือบสองพันปีที่แล้ว ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า
“แต่เดิมมักเขียนและจารึกอักษรลงบนซีกไผ่หรือแพรไหม…แต่ผ้าไหมราคาสูง ส่วนซีกไผ่ก็น้ำหนักมาก ใช้ไม่ใคร่สะดวก ไช่ หลุน จึงคิดผลิตกระดาษจากเปลือกไม้ เศษปอ เศษผ้า และเศษอวน เขาทูลเสนอผลงานต่อพระเจ้าแผ่นดินในปีแรกแห่งรัชกาลเซี่ยวเหอ พระองค์ตรัสชมสติปัญญาเขาอย่างยิ่ง นับแต่นั้น ทุกแห่งทุกหน คนจึงใช้กระดาษ และเรียกกระดาษว่า ‘กระดาษท่านไช่’
ไช่ หลุน (蔡倫, พ.ศ. ๕๙๓-๖๖๔) มีชื่อรองว่า จิ้งจ้ง (敬仲) เป็นขันทีชาวจีนซึ่งถือกันว่า คิดค้นวิธีผลิตกระดาษจากเส้นใยพืช แบบเดียวที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน กระดาษในยุคแรกทำจากใยไม้ เช่น กัญชง ไผ่ ปอสา นำมาแช่น้ำจนนุ่ม ทุบให้แตกเป็นปุยเส้นใย ช้อนด้วยตะแกรงตากแห้ง บางครั้งยังย้อมด้วยสีจากพืช ให้ความสวยงามและป้องกันแมลงกัดกินได้ด้วย นอกจากใช้เป็นวัสดุในการจดบันทึกแล้ว กระดาษที่ทำขึ้นตอนนั้นยังใช้ห่อใบชาเพื่อเก็บรักษากลิ่นให้คงอยู่นาน
ในเอเชียตะวันออก กระดาษถูกใช้ด้วยหลากหลายจุดประสงค์ ทำฝาบ้าน ทำพัด และเมื่อทาน้ำมันเคลือบเงา ก็สามารถกันน้ำได้ จึงใช้ทำร่ม ทำภาชนะใส่ของ เมื่อกระดาษเดินทางไปถึงญี่ปุ่น นักบวชในสมัยนั้น นุ่งห่มผ้าที่ทอจากเส้นใยกระดาษ เชื่อกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความบริสุทธิ์ อีกทั้งคำว่า คามิ (神) ในภาษาญี่ปุ่น นอกจากแปลว่ากระดาษแล้ว ยังหมายถึงเทพเจ้า ด้วย
ประเทศจีนภายใต้การปกครองของราชวงศ์ถัง ขยายอำนาจไปทางตะวันตกครอบคลุมเส้นทางสายไหมและเอเชียกลาง หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่า มีการทำกระดาษในเขตซินเกียง ทิเบต และอินเดีย เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ จนกระทั่งใน พ.ศ. ๑๒๙๔ ปลายรัชสมัยของฮ่องเต้ ถังเสวียนจง กองทัพราชวงศ์ถังปะทะกับอาหรับในสงคราม ที่แม่น้ำทาลาส การสู้รบนี้ จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของกองทัพจีน ส่งผลให้ในปีเดียวกันนั้นเอง คนท้องถิ่นในดินแดนยูนนานที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน แข็งข้อและก่อตั้งอาณาจักรน่านเจ้าขึ้น ส่วนในเมืองหลวงฉางอันก็ถูกขุนศึก อันลู่ซัน(安禄山)ก่อกบฏ ราชสำนักจีนวุ่นวายกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ จนไม่อาจขยายกำลังมาทางเอเชียกลางได้อีกเลย
จากชัยชนะในสงครามที่แม่น้ำทาลาส พวกอาหรับได้ช่างทำกระดาษชาวจีน กลับไปยังตะวันออกกลาง ใน พ.ศ. ๑๓๓๖ โรงงานกระดาษแห่งแรกก็ถูกสร้างขึ้นที่เมืองแบกแดด ชาวอาหรับได้ถ่ายทอดวิธีการทำกระดาษให้แก่ชาวอียิปต์ ส่วนชาวยุโรปนั้น กว่าจะทำกระดาษเป็นก็อีกหลายร้อยปีต่อมา
การทำกระดาษแพร่ขยายไปทางตะวันตกถึงสเปน และโปรตุเกส ลงใต้ถึงตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ส่วนทางตะวันออกก็ไปถึงเอเชียกลาง ไม่นานเมืองอย่าง ซามาคานด์ (อยู่ในอุซเบกีสถานปัจจุบัน) ดามาสกัส และไคโร ก็กลายเป็นศูนย์กลางของการทำกระดาษ จนถึง พ.ศ. ๑๖๙๔ พวกมัวร์จึงได้สร้างโรงงานกระดาษแห่งแรกที่ วาเลนเซีย ประเทศสเปน (ในตอนนั้นเมืองนี้เรียกว่า “ซาติวา”) จากนั้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีกำเนิดจากจีนจึงผ่านไปยังอิตาลี เยอรมนี และส่วนอื่น ๆ ของยุโรปได้ ส่วนในแผ่นดินโลกใหม่อเมริกานั้น โรงงานทำกระดาษโรงแรกเกิดขึ้นที่ฟิลาเดลเฟีย เมื่อสามร้อยกว่าปีมานี้เอง
ในดินแดนสุวรรณภูมิ การใช้ใบลานบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ และตำรายา พบตั้งแต่ยุคของสุโขทัยและเชียงใหม่เป็นต้นมา ลานเป็นพืชในวงศ์เดียวกับตาล ใบลานเป็นแถบยาวราวศอกกว่า กว้างราว ๒-๓ ข้อนิ้วมือ ผูกรวมกันเป็นเล่ม ๑ เล่มเรียก ๑ ผูก การเขียนหรือ “จาร” ใบลาน ทำโดยใช้เหล็กแหลมขูดลงไปบนใบลานหลังจากนั้นจึงใช้เขม่าผสมน้ำมันยางเช็ดให้สีดำฝังลงไปในร่องรอยที่จารไว้
การทำผูกใบลานมีมากขั้นตอน ซับซ้อนและต้องใช้ผู้ที่มีความชำนาญ จัดเจน อีกทั้งความจำกัดของวัตถุดิบ คือต้นลาน กระดาษจากเส้นใยพืชจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ชาวสยามรู้จักทำกระดาษจากต้นข่อยตั้งแต่เมื่อราว ๗๐๐ กว่าปีมาแล้ว กระดาษข่อยแผ่นยาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าพับซ้อนทบกลับไปกลับมา กลายเป็นสมุดข่อยเวลาอ่านก็เปิดทีละหน้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ที่มีเนื้อกระดาษสีขาว ก็เขียนด้วยสีดำ สีแดง หรือสีทอง ส่วนกระดาษข่อยที่ผสมผงถ่านหรือย้อมด้วยน้ำมะเกลือให้เป็นกระดาษสีดำ ก็เขียนด้วยสีขาวหรือสีทอง อุปกรณ์ที่ใช้เขียน เรียกว่าปากกา หรือปากไก่ ทำด้วยไม้หรือขนไก่เหลาแหลม บากให้มีช่องสำหรับให้น้ำหมึกไหล น้ำหมึกสีขาวทำจากการบดหอยมุกให้ละเอียดผสมกับกาวยางมะตูม น้ำหมึกสีดำทำจากเขม่าไฟผสมกับกาวยางมะตูม
ทางภาคเหนือ มีต้นสาหรือปอสาขึ้นเองอยู่มากตามที่รกร้าง ปอสาเป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วลอกเปลือกมาใช้แทนเชือกได้ดีนัก เส้นใยต้นสาใช้ทำกระดาษได้ดี กระดาษสาใช้ห่อของ เป็นวัสดุดูดซับน้ำ ทำร่ม ทำของใช้ ของชำร่วยมากมาย
กระดาษที่เราใช้กันในทุกวัน ประกอบด้วยเส้นใยไม้หลายชนิดผสมกัน เพื่อให้มีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งาน กระดาษซับ กระดาษชำระ ต้องนุ่ม เหนียว แต่ฉีกขาดได้ และต้องดูดซึมน้ำได้ดี ส่วนกระดาษที่ใช้เขียน ต้องเรียบ ทนต่อการฉีกขาดและไม่ดูดซึมน้ำ
คนไทยในยุคที่ดูโทรทัศน์ขาวดำ นิยมบันทึกความในใจลงในสมุดไดอารี่ ดีใจเสียใจก็ระบายกับ “สมุดจ๋า” อย่างเป็นส่วนตัว หนุ่มสาวรู้จักกัน จีบกัน ก็สื่อสารด้วยกระดาษจดหมายที่หอมด้วยแป้งฝุ่น จะพรมน้ำหอมหรือก็ราคาแพงนัก จะรักจะชังกันยังต้องใช้เวลา
คนไทยยุค ๔.๐ ที่ถูกยัดเยียดกล่องดิจิทอลให้ดูโทรทัศน์ เกือบจะเขียนหนังสือบนกระดาษให้อ่านรู้ความแทบไม่ได้ ทนอ่านข้อความยาวเกิน ๓ บรรทัดก็ไม่ได้อีก ดีใจเสียใจก็ระบายกับ “เฟซบุ๊ก” แล้วคิดเอาเองว่าเป็นส่วนตัว ทั้งที่ใจจริงก็ต้องการให้คนอื่นเห็น หนุ่มสาวรู้จักกัน จีบกัน ก็สื่อสารกันด้วยข้อความใน “ไลน์” เห็นหน้าเห็นตากันได้ฉับพลัน โดยไม่เฉลียวใจว่านั่นอาจไม่ใช่รูปจริง จะรักจะชังกันก็มิพักต้องเสียเวลารู้จักกันตอนเช้า นัดเจอกันตอนบ่าย พออีกวันบอกถูกหลอก วอนให้สังคมเห็นใจ
คนมองโลกสวยหวังว่า คนไทยจะใช้กระดาษน้อยลง ตัดต้นไม้น้อยลง ยิ่งเห็นหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง ๆ ทยอยปิดตัวลงเดือนละหลาย ๆ ฉบับ ยิ่งเพิ่มความมั่นใจว่า ต้องใช่แน่ ๆ
แอบดีใจว่า นี่ต้องเป็นผลมาจากนโยบายทันสมัยแบบ ๔.๐ แน่แท้เทียว
******
คอลัมน์ ผักหญ้าหมากไม้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๖ ฉบับที่ ๖๖| ตุลาคม ๒๕๖๐
.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220