ชาติพันธุ์วรรณนา
“ไม้ ต้น เดียว บ่ เป็น ดง. คน ผู้ เดียว บ่ เป็น บ้าน.”
[คำไตแต่ดึกด้ำบรรพ์]
เริ่มจากเรียนชั้นประถม ก.ไก่ ก.กา หัดอ่านออกเขียนได้แล้ว ที่ลูกหลานของเราทุกคนต้องรู้ประวัติหมู่บ้านตำบลเมือง รู้จักโคตรเหง้าเหล่าตระกูลของตน รู้ภาษาพ่อภาษาแม่แล้วจึงรู้ใช้ภาษากลาง รู้นิทานตำนาน งานศิลปะ งานดนตรี สิ่งเคารพศรัทธา เทพาอารักษ์ รู้ประเพณีฮีตคอง
เมื่อเติบโตขึ้นมาอีกต้องเข้าใจว่า ย้อนหลังไปไม่นานบนผิวโลกนี้ไม่มีเส้นแบ่งกั้นกันเป็นประเทศนั้นประเทศนี้ ผู้คนในแถบถิ่นที่พวกเราอยู่ และเพื่อนบ้านในดินแดนอุษาคเนย์นี้ ล้วนอพยพดิ้นรนเคลื่อนย้ายไปมาเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย เพื่อการหาอยู่หากิน ด้วยวิถีทำมาค้าขาย ด้วยสงครามการรบพุ่งเข่นฆ่ากัน หรือด้วยการไปสมพงษ์สมพันธุ์กัน ก่อนจะตั้งหลักปักฐานเกิดรูปรอยจนเป็นบ้านเป็นเมืองดั่งทุกวันนี้
ดินแดนที่ราบสูงทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของประเทศไทย ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์มากมาย เช่น ชาติพันธุ์พี่น้องไทลาว ไทผู้ไท ไทแสก ไทญ้อ ไทกุลา ไทกะเลิง ไทข่า (บรูฮฺ หรือบลู) ไทโย้ย ไทพวน ไทโส้ ไทโส้ง ไทกูย (ส่วย) ไทแขมฺร์ ไทโคราช ไทบุรีรัมย์ ไทยชะบน (ญัฮกุร หรือเนียะกุล หรือละว้า) รวมถึงพี่น้องเชื้อชาติจีนและเวียดนามอีกด้วย บรรพชนของเราเหล่านั้น ล้วนแต่เร่ร่อนเดินทางต่อสู้บาดเจ็บและล้มตายอย่างเหลือคณานับ
เมื่อคนรู้ลึกซึ้งรากเหง้าเผ่าพันธุ์ตน เขาย่อมเป็นคนที่ทรนง มั่นคง ทรงศักดิ์ศรี ชุมชนบ้านเมืองและประเทศชาตินั้นย่อมเข้มแข็ง สามัคคี มีพลัง แต่เมื่อเราถูกด้อยค่า กระทั่งดูถูกกันเองและดูถูกตัวเอง
ปัจเจกชนจึงอ่อนแอ ชุมชนหมู่บ้านจึงถูกเขาเอาเปรียบ ล้าหลัง เราต้องพลิกฟื้น รื้อสร้างสำนึก จิตวิญญาณตัวตนของตนขึ้นมา ต้องเป็นคนใหม่ ตื่นรู้ ปฏิบัติและส่งทอดให้คนรุ่นใหม่ ไม่เช่นนั้นเราจะกลายเป็นฝุ่นผงปลิวไปในสังคมระบบทุนสามานย์ ฟุ้งกระจายไปกับโลกที่ไร้พรมแดน ไร้เมตตาและอยุติธรรม
อดีตกาลที่ผ่านมา สังคมไทยไม่เพียงไม่ปลูกฝังอบรมให้ผู้คนตระหนักสำนึกในชาติพันธุ์วรรณนาแห่งตน สังคมไทยยังกดทับ ย่ำยีคนไกลปืนเที่ยง คนชายขอบ และพี่น้องที่มีรั้วบ้านติดกันมาโดยตลอด