มีคำผญากล่าวถึงบรรยากาศวิถีชีวิตงานประเพณีเดือนสิบ บุญข้าวสาก อยู่ว่า
“ เถิงเดือนสิบ สิก่นมันมาต้ม พ่องกะงมกอข้าว หาเทากำลังอ่อน พ่องกะคนต่าน้อย ลงห้วยฮ่องนา เดือนนี้บ่ได้ช้า พากันแต่งทานถง ข้าวสากลงไปวัด ให้หมู่สังโฆเจ้า มีลาบเทาพร้อม หมกดักแด้ ของดีคั่วกุดกี่ ซุบบักมี้ กะมาพร้อมพร่ำกัน”
ประเพณีบุญข้าวสาก เป็นประเพณีที่สำคัญ ที่ต่างรอวันทำงานบุญประเพณีนี้ด้วยหัวใจ ที่เปี่ยมศรัทธาในการสร้างกุศลผลบุญทานและแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
“เดือนสิบขึ้น ๑๕ ค่ำมาแล้ว ให้เจ้าพากันสร้างบุญทานนำเพิ่น ฮั่นทอนบุญข้าวสากอันนี้ถวายไว้แก่พระสงฆ์ ให้พระสงฆ์เจ้าจับสลากอันมีเป็นลายเขียน จุ่มจำอักษรไว้ ครั้นว่าเพิ่นจับได้ของผู้ไดให้บอกกล่าวเอาของผู้นั้นถวายถวายให้แก่พระองค์นั้นเทอญ บุญอันนี้หากมีแต่ปฐมเป็นเค้า เพิ่นได้เว้าไว้แต่ปางนั้นสืบมา ตามตำราเฮียกว่า บุญสลากภัตนั้นแล เจ้าเฮย” (ฮีตสิบสอง วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย)
บุญข้าวสากเป็นบุญที่สำคัญ ซึ่งมีขึ้นในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ แต่ในวันขึ้น ๑๓-๑๔ค่ำ ได้มีกิจกรรมความสำคัญไม่น้อยไปกว่าพิธีทางศาสนาที่จะมาถึง หากเราเดินไปในหมู่บ้านแต่ละบ้าน จะพบว่ามีการเตรียมการข้าวของไว้เป็นถุงๆ สำหรับส่งสำหรับต้อนเพื่อการไปยามกัน หรือเยี่ยมเยือนกันทุกทุกบ้าน
เทพ หมื่นหาวงศ์ คนลูกบ้านหนองหิน อำเภอเมืองสรวง ร้อยเอ็ด เล่าว่า “ได้เห็นและได้ทำการยาม มาตั้งแต่เด็กๆ ตอนนั้นเรียนหนังสืออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่สอง แถวบ้านสมัยก่อนโน้น นายังเป็นทุ่งที่เป็นธรรมชาติ อีศานบ้านเรา ยังมีความอุดมสมบูรณ์ ข้าวของที่จะไปยามกันนั้นหาง่าย เพียงออกไปนา ก็หากบ หาปลา ได้มาย่างเก็บไว้ ก็ใช้เป็นของยามและทำบุญกันได้แล้ว นอกจากนั้นก็มีข้าว กล้วย มะละกอ จัดรวมเป็นห่อ เตรียมไว้ เพื่อการไปยาม และเตรียมไว้เพื่อไปทำบุญที่วัด แม่จะบอกให้เอาข้าวของเหล่านี้ ไปไหว้ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ที่เป็นญาติของเรา เราเป็นเด็กก็ดีใจ ได้รู้จักญาติๆของเรา แล้วเราก็ได้รับของกลับมากินมาใช้อีกด้วย มีทั้งให้และรับในเวลาเดียวกัน
สำหรับเธอเมื่อโตขึ้นชีวิตก็เปลี่ยน เธอว่า “ออกจากโรงเรียนก็ได้เข้ามาทำงานเป็นสาวโรงงานในกรุงเทพ ก็ได้ห่างประเพณีเหล่านี้ไป เรียกได้ว่าลืมเรื่องการยามกันในงานบุญข้าวสากไปเลย จนเมื่อได้กลับมาทำโรงงานที่บ้านของตัวเองอีกครั้ง จึงได้ถามแม่ว่า ประเพณีบุญข้าวสากนั้นยังมีการยามญาติพี่น้องกันอยู่หรือเปล่า แม่บอกว่ายังมีอยู่สิลูก จึงได้หวนกลับมาทำอีกครั้งราวสองสามปีที่ผ่านมานี่แหละ ได้กลับมาเตรียมข้าวของให้แม่ไว้เมื่อลูกหลานมายามแม่ก็จะได้มีไว้ต้อนรับเด็กๆลูกๆหลานๆ
ของที่ไว้ต้อนที่มายามเปลี่ยนไป จากของที่เคยหาได้จากท้องไร่ท้องนาดังแต่ก่อนสมัยเด็กไม่มี ทุกวันนี้การทำนาใช้ปุ๋ยเคมี มีฉีดยา จะหากบ หาปลา ดังแต่ก่อนก็ยาก ก็หาผลไม้ ส้มโอ ขนม กระยาสารท และของอื่นๆที่หาซื้อได้ง่ายมาใช้ เป็นส่วนใหญ่ กระยาสารทหรือข้าวสากที่แต่ก่อนแต่ละบ้านจะทำกันเองก็ไม่มีใครทำอีกแล้ว และที่บ้านก็ทำข้าวต้มมัด ที่ต้มจริงๆ ไม่ใช่ข้าวต้มผัดเตรียมไว้เป็นของให้ตอบแทนด้วย และแม่บอกว่าเด็กๆอีศานบ้านเรา ไม่ค่อยมีสตางค์ เราพอมี ก็จัดให้เด็กๆจะได้เป็นกำลังใจ เขาจะได้ไปซื้อขนมกิน เป็นที่ชอบใจเด็กๆมากกว่า จึงเตรียมสตางค์ไว้ให้แม่เอาไว้ให้กับเด็กๆ” นั่นคือภาพที่เห็นในปัจจุบัน
สุพิน ไชยรัตน์ นางเอกหมอลำ ของหมู่บ้าน เล่าให้ฟังเหมือนกันว่า “ก่อนงานก็ได้เตรียม ของที่จะให้กับลูกหลานที่มายามกัน เช่น ขนม นม กล้วย และก็เงิน เด็กก็จะมายามเรากัน จากวันที่สมัยเป็นเด็กไปยามญาติๆ วันนี้ถึงคราวที่ลูกหลานมายามตัวเองแล้ว (หัวเราะ )ปีนี้ก็มีลูกหลานมายามกันสัก ๒๐ คนได้ ขนมกระยาสารทหรือข้าวสาก วันนี้ก็ไม่มีใครกวนใครทำดังแต่ก่อนแล้ว มีอยู่บ้างก็ที่บ้านเมืองคอง ที่ยังพอจะทำอยู่บ้าง ของที่ไปยามกันก็มีข้าวสารเป็นหลัก เธอว่า ของที่ให้ตอบแทน กล้วย มัน ปลา กบ ถั่ว ก็ยังมีให้กันอยู่ แต่ส่วนใหญ่ ข้าวของจัดพอเป็นพิธีเป็นของสมัยใหม่ และเงินมากกว่า
ยายพาว ผลาผล ยายที่อยู่ในวัยใกล้๗๐ ปี ที่เคารพของลูกหลานมายาม บอกกับเราว่า “ดีนะลูกประเพณีบุญข้าวสาก ทำให้เราได้รู้จักลูกๆหลานๆ และแม้ไม่ใช่ญาติ เป็นผู้ที่รักเคารพนับถือกันก็มา ถ้าไม่มีบุญข้าวสาก นานปีกว่าจะได้พบกัน แต่มีงานบุญข้าวสาก ปีหนึ่งเราก็จะได้เห็นหน้าลูกหลานและญาติ ทั้งที่เป็นพ่อแม่ของเด็กๆที่เขาพาลูกหลานมาด้วย เป็นความสุขที่เราได้อยู่เห็นหน้ากัน ได้มาเยี่ยมเยือนกัน”
บรรยากาศในหมู่บ้าน จะเห็นการเดินทางไปเยี่ยมเยือนกัน หรือยามกันแทบทุกบ้าน บ้างปั่นจักรยาน บ้างไปด้วยมอเตอร์ไซค์ หากสังเกตจะเห็นห่อข้าวของที่วางอยู่ในตระกร้าหน้ารถ ก็รู้ได้ทันทีว่าเป็นการไปยามกัน จากบ้านนั้นไปบ้านนี้ ช่วงเช้าและเย็นที่เด็กๆก่อนไปโรงเรียนและหลังโรงเรียนเลิกแล้ว
เด็กๆเห็นเป็นงานที่มีความสุข สนุก ได้เจอผู้ใหญ่ใจดี มีของกลับบ้านไปกินกันในครอบครัวแล้วยังได้สตางค์จากญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออีกด้วย แล้วอย่างนี้ทำไมจะไม่สุขใจเด็กๆเล่า
เสาวลักษณ์ ผักผือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ โรงเรียนบ้านหนองหินใหญ่ เป็นคนหนึ่งที่มายามญาติผู้ใหญ่ คือยาวพาว ผลาผล เธอบอกว่า “มาตั้งแต่อยู่ประถมปีที่สองหรือสาม แล้ว แม่บอกว่า งานบุญข้าวสาก ให้เอาของไปยามยาย ญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือของครอบครัวเรา ก็ไปตามที่แม่บอก ไม่ค่อยได้คิดอะไร เป็นเรื่องสนุก ปีหนึ่งมีหนหนึ่งได้สตางค์ด้วย แต่พอโตมาคิดได้ว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่ทำให้ได้เราไปเยี่ยมญาติ เอาของไปให้ เป็นน้ำใจที่มีให้กัน เป็นการสร้างความผูกพันกันในหมู่ญาติพี่น้องผู้ใหญ่กับเด็กๆ เป็นเรื่องที่หนูคิดว่าดีมากๆเลย ถ้าไม่มีงานบุญข้าวสาก เราเป็นเด็กก็จะไม่กล้า เขิน กลัว แต่เป็นประเพณี ก็ยอมรับกัน ทำอย่างมีความสุข ทั้งคนให้ และคนที่ได้รับ หนูดีใจที่ได้ทำและก็เป็นส่วนหนึ่งที่ได้อนุรักษ์ เรื่องราวดีดีของบ้านเราไว้”
ในเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่บนศาลาวัดชมพูหนองหิน มีการทำบุญใส่บาตร เป็นปกติ พระมหาโยธิน เจ้าอาวาสวัดชมพูหนองหิน ได้บรรยายธรรมบอก ญาติโยมที่มารวมกันบนศาลาวัด ว่า “ ดีใจที่เห็นญาติโยม ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้มาทำบุญประเพณีบุญข้าวสากอย่างมากมาย จนเต็มศาลามากกว่าวันศีลปกติ และบอกถึงอานิสงส์ ของการรักษาประเพณีงานบุญข้าวสากไว้ว่า เป็นงานที่เราได้ทำบุญ ถวายสลากภัตถวายสังฆทาน ได้ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการทำบุญหยาดน้ำไปให้ นอกจากนั้น เรายังได้ไปเยี่ยมเยือนกันระหว่างลูกหลานกับญาติผู้ใหญ่ทำให้เกิดความรักใคร่ความสามัคคีที่มีต่อกันอย่างดี”
จากนั้นก็ให้ญาติโยมบนศาลารับพรพระและหยาดน้ำอุทิศส่วนกุศลกัน ภาพผู้คนที่มาร่วมทำบุญในตอนเช้า ทั้งศาลา ต่างก้มตัวเทน้ำใส่ลงภาชนะที่รองรับปากก็ว่าคำกรวดน้ำอุทิศเป็นภาษาอีศานต่างคนต่างว่ากัน เป็นภาพที่งดงามสื่อจากใจของผู้เป็นลูกหลานส่งถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ ยายบัวลา สุโพธิ์ กล่าวเป็นคำอุทิศให้ฟังได้ยินว่า
“สาธุเด้อ ผู้ข้าได้หยาดน้ำ ลงใส่แผ่นดิน ขอให้อินทร์พรหมฟ้า เทวดาพร้อมพำ จตุล้ำองค์ประเสริฐ ผู้มีฤทธิ์กว่าคนทั้งค่าย ผู้ข้าได้ขอหยาดน้ำลงในผืนแผ่นธรณีแก่นเง่า ผู้เป็นเจ้าแห่งพยาน ลูกหลานได้มาทำทาน ให้มาพร้อมพำกัน” ยายท่องของยายงึมงำ เป็นบทกลอนที่ไพเราะมากๆ ต่ออีกว่า
“ผู้รักษาศีลตักบาตร หยาดน้ำได้ไปให้ ได้กิน เกิดมาในชาตินี้ ขอให้เว้นหมู่เวร ชาติหน้าเป็น ขอให้ร่วมวาสนา ขอให้องค์พระศรีอาริย์ ชาติจะมาภายหน้า อินทานแจกหว่าน ขอให้ได้แก่ยาย ตา พ่อแม่พี่น้อง ผู้ตายม้วยมอดจม ชาติหน้าพู้น ขอให้ร่วมวาสนา ชาติสิมาภายสร้อย ลูกหลานผู้ข้าให้คอยใจสร้าง ขอให้มมพังพู้น ภายหน้า ชาติซิมาแน่ทอน แน่เด้อ” ยายหยาดน้ำหยดลงเป็นหยดสุดท้าย พอดีกับคำกล่าวของยายที่สิ้นสุดลง เชื่อว่าหยดน้ำที่รดลงสู่แผ่นดินจะสื่อสารถึงบรรพบุรุษผู้ล่วงลับจะได้รับบุญกุศลที่ทำด้วยใจส่งไปให้ถึงได้แน่นอน ยายพนมมือสาธุ อีกครั้ง ด้วยใบหน้าที่อิ่มเอิบไปถึงหัวใจ
ก่อนจะแยกย้ายกันลงศาลากลับบ้าน ได้มีโอกาสเข้าไปลาตาสาง สวนมอญ ปราชญ์ท้องถิ่น ของหมู่บ้านที่ในงานบุญข้าวสากวันนี้ ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำทำพิธีทำบุญบนศาลาจนจบพิธีกรรมเป็นที่เรียบร้อย ตาสางบอกเหมือนเป็นบทสรุปถึงหัวใจของประเพณีบุญข้าวสากให้ฟังว่า
“ บุญข้าวสาก เป็นบุญเยี่ยมญาติ จะได้ไม่ขาดญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย จะได้รู้จักลูกๆหลานๆ รุ่นหนึ่งจากไป รุ่นลูกรุ่นหลานก็ยังมีอยู่ เขาจะมากันแต่เช้า มาด้วยใจ มีอะไรเขาก็มาให้เยี่ยมปู่ย่า เยี่ยมตาเยี่ยมยาย เรามีอะไร กล้วย ข้าวต้ม ขนมก็ให้เขา ต้อนรับเขา คนแก่ไปหาเขาไม่ได้ เขาก็มาหากัน เราก็ได้เห็นหน้ากัน ไม่ขาดพี่ขาดน้อง ผู้ตายได้รับบุญทานจากสลากภัต สังฆทาน ลูกหลานอุทิศไปให้ นี่แหละ บุญข้าวสาก”
บนศาลาวัด ที่ผู้ศรัทธาต่างทยอยลงกลับบ้านเกือบหมด เหลือเพียงผู้เฒ่าผู้แก่ที่จะถือศีลต่อ ได้ตั้งวงกินข้าวเช้ากัน จากนั้นก็ถือวัตรปฏิบัติศีลฟังธรรมกันต่อไปตลอดทั้งวันจนค่ำ ประเพณีเดือนสิบบุญข้าวสากนั้นไม่ใช่งานบุญธรรมดา แต่เป็นงานบุญที่สืบสานสายใยระหว่างคนเป็นกับคนเป็นเยี่ยมยามกันในหมู่ญาติ เป็นงานบุญ ระหว่างคนเป็นกับคนตาย ที่เป็นบรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้สื่อสารถึงกัน ด้วยใจที่เคารพกตัญญูต่อกัน นับเป็นหัวใจสำคัญของประเพณีนี้อย่างแท้จริง