ภูมิรัฐศาสตร์ภาคอีสาน และการลุกขึ้นสู้ของชาวอีสาน
ภูมิรัฐศาสตร์ ความหมายและขอบข่าย
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ วิชาภูมิรัฐศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการนำมาเป็นแนวทางกำหนดนโยบายของรัฐ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้มีวิชาภูมิศาสตร์การเมืองขึ้นมาก่อนแล้ว
ปัจจุบันวิชาภูมิรัฐศาสตร์ได้รับความสนใจน้อยมาก จนถือได้ว่าเป็นวิชาที่ตกยุคไปแล้วสาเหตุสำคัญที่เสื่อมความนิยม เกิดจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสงคราม มีอาวุธนิวเคลียร์ ขีปนาวุธวิสัยไกล ที่ยิงได้แม่นยำ แทนการยกทัพไปที่ต้องเสียงบประมาณมาก เสียเวลาซํ้าต้องเผชิญกับความปรวนแปรของอากาศและภูมิประเทศที่แตกต่างกันมาก ด้วยเหตุดังนั้นทำให้นักวิชาการภูมิรัฐศาสตร์มีน้อยตามไปด้วยตำราก็มีน้อยตามไปด้วย ยิ่งในประเทศไทยไม่ต้องพูดถึง การค้นคว้าเพื่อนำมาเรียบเรียงเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ภาคอีสาน มีจำกัดอย่างยิ่ง
ก่อนที่จะไปพูดถึงการให้ความหมายของภูมิรัฐศาสตร์ ขอให้ทำความเข้าใจเรื่องภูมิศาสตร์ก่อน (เล็กน้อย)
วิชาภูมิศาสตร์นั้นมีความสำคัญในเรื่องของความรู้เกี่ยวกับพื้นที่และบริเวณต่าง ๆ บนพื้นโลก พื้นที่หรือภูมิเป็นตำแหน่งของวัตถุในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งบนพื้นโลก ซึ่งมีเรื่องของเวลามาเกี่ยวข้อง และเวลาหรือกาลนี้เองที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ เรียกว่า มีความเป็นอนิจจังของพื้นที่นั้นเอง
คำอธิบายและการให้ความหมายคำว่าภูมิรัฐศาสตร์ เท่าที่นำมาเสนอก็มีไม่มากนัก ดังนี้
รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ได้อธิบายคำว่าภูมิรัฐศาสตร์ไว้ในหนังสือ ภูมิรัฐศาสตร์ (GEOPOLITICS) ว่า
ภูมิรัฐศาสตร์ คืออะไร?
นักรัฐศาสตร์ชาวสวีเดนชื่อว่า รูดอล์ฟ เจลเลน (Rudolf Kjelen) ได้บัญญัติศัพท์คำว่า“ภูมิรัฐศาสตร์” (Geopolitics) ขึ้นมาโดยย่อมาจากคำว่า Geographical Politics เมื่อ ค.ศ.๑๙๐๐ วิชาภูมิรัฐศาสตร์ศึกษาถึงเรื่องภูมิศาสตร์
ในปรากฏการณ์ทางการเมือง ในขณะที่วิชาภูมิศาสตร์การเมืองได้ศึกษาเรื่องการเมืองในปรากฏการณ์ภูมิศาสตร์ ความแตกต่างกันของวิชาภูมิรัฐศาสตร์ และวิชาภูมิศาสตร์การเมืองนั้นขึ้นอยู่กับจุดเน้นที่จะทำ การศึกษา โดยภูมิศาสตร์การเมืองยึดเอาภูมิศาสตร์เป็นหลักและการเมืองเป็นรอง แต่ภูมิรัฐศาสตร์ยึดเอารัฐศาสตร์เป็นหลักและภูมิศาสตร์เป็นรอง นักภูมิศาสตร์การเมืองมีแนวโน้มที่จะเน้นถึงผลกระทบของนักการเมืองที่มีต่อพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ส่วนผู้ที่ศึกษาวิชาภูมิรัฐศาสตร์จะเน้นถึงผลกระทบทางภูมิศาสตร์ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติและเกิดจากมนุษย์ที่มีผลต่อเรื่องการเมือง
และในหนังสือเล่มเดียวกันนี้ได้อธิบายแนวคิดของนักภูมิรัฐศาสตร์ชื่อ รูดอล์ฟ เจลเลน ไว้ดังนี้
ในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ เจลเลนได้บัญญัติศัพท์คำว่า “ภูมิรัฐศาสตร์” (Geopolitics) ขึ้นโดยอธิบายว่า ภูมิรัฐศาสตร์ คือ การศึกษาวิเคราะห์ทางด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และสังคมศาสตร์ กับเรื่องระวางที่ทางการเมืองซึ่งมีอัตราส่วนอยู่หลายระดับ (ไล่ไปตั้งแต่บ้าน เมือง ภาค รัฐ ไปจนถึงระหว่างประเทศและทั่วโลก) มักจะพิจารณาถึงปัจจัยทางการเมืองและยุทธศาสตร์สำคัญทางภูมิศาสตร์ โดยภูมิศาสตร์ในที่นี้หมายถึง ทำเลที่ตั้ง ขนาด และตำแหน่ง
ไพศาล ชัยมงคล ได้อธิบายเชิงการให้ความหมายไว้ในบทความเรื่อง ภูมิรัฐศาสตร์ใน นิตยสารปริทัศน์ ว่า
ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงลักษณะภูมิประเทศและวัฒนธรรม (ซึ่งหมายถึง พื้นที่ทรัพยากร และประชาชน) ของรัฐหนึ่ง ๆ ว่ามีส่วนสัมพันธ์กับอำนาจ (Power) ของรัฐนั้น ๆ อย่างใด และพื้นที่ ทรัพยากรกับประชากรนั้นจะมีประโยชน์ต่อรัฐนั้น ๆ ในทางยุทธศาสตร์และการปกครองอย่างใดบ้าง นอกจากนั้นภูมิรัฐศาสตร์ยังมุ่งศึกษาถึงความสัมพันธ์ของรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่ง โดยพิจารณาจากฐานะทางด้านอำนาจ (power position) ของรัฐทั้งสองเป็นหลักในการพิจารณาเปรียบเทียบความได้เปรียบเสียเปรียบ ดังที่มีผู้กล่าวว่าภูมิรัฐศาสตร์เป็นการศึกษาถึงความแตกต่างที่มีอยู่ในภูมิภาคการเมืองต่าง ๆ (The study of the differences which exist between political regions)
ขอบข่ายของภูมิรัฐศาสตร์
จากที่ได้กล่าวถึงภูมิรัฐศาสตร์มาแล้วนั้นพอจะสรุปได้ว่า มีความกว้างขวางของเนื้อหาวิชาที่เกี่ยวข้องกับวิชาอื่น ๆ คือ ภูมิศาสตร์ประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์การสงครามและการทหาร
ภูมิศาสตร์ จะให้ความรู้ความเข้าใจสภาพความเป็นจริงของรัฐต่าง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่นั้นว่า มีขนาดเท่าไหร่ รูปทรงอย่างไร อยู่ที่ไหนมีทรัพยากรมากน้อยเพียงใด มีปริมาณมากน้อยต่อด้านเศรษฐกิจหรือไม่
ประวัติศาสตร์ เพื่อทราบถึงพื้นฐานความเป็นมาของรัฐนั้นว่า เป็นมาอย่างไร เข้มแข็ง อ่อนแอ เคยเป็นรัฐที่มีอำนาจ เคยเป็นอาณานิคมของรัฐอื่นหรือไม่ ทั้งนี้เพราะว่า เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์จะมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายหลาย ๆ ด้าน
รัฐศาสตร์ ทำให้เรารู้ว่ารัฐสมัยใหม่นั้นคืออะไร และทราบถึงการปกครองของรัฐมีรูปอย่างไร เผด็จการ ประชาธิปไตยหรือสังคมนิยมความเป็นมาของผู้ปกครอง อำนาจอธิปไตยเป็นของใคร ประชาชนมีส่วนร่วมหรือไม่
ประวัติศาสตร์การสงครามและการทหาร จะทำให้ทราบถึงสภาพอากาศ สภาพภูมิศาสตร์อันมีผลต่อผลแพ้ชนะของสงคราม แนวคิดการก่อสงครามใช้ยุทธศาสตร์ใดในการตัดสินใจทำสงคราม
สำหรับความหมายของภูมิศาสตร์การเมืองในหนังสือ ภูมิศาสตร์การเมือง ของ รัชนีกร บุญหลง ได้มีคำอธิบายถึงขอบเขตของภูมิศาสตร์การเมืองของนักวิชาการต่างประเทศหลายคนขอยกเอามาเพื่อให้เปรียบเทียบข้อแตกต่างของภูมิรัฐศาสตร์กับภูมิศาสตร์การเมือง เพียงคนเดียว ดังนี้
ฮันส์ ดับเบิลยู ไวเกิต : ภูมิศาสตร์การเมืองเป็นวิชาที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิศาสตร์กับสภาพการเมืองของรัฐและชาติทั้งหลาย สภาพภูมิศาสตร์นั้นมีอิทธิพลต่อสภาพการเมือง ในขณะที่สภาพการเมืองมีอิทธิพลต่อสภาพภูมิศาสตร์เช่นกัน (Weigert and others,๑๙๕๗)
เพื่อให้เข้าใจในเนื้อหาของภูมิรัฐศาสตร์ผมขอสรุปและยกตัวอย่างของเหตุการณ์ของโลกประกอบ
ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นวิชาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของรัฐในการกำหนดนโยบาย เพื่อผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลัก โดยนำความรู้ทางภูมิศาสตร์มาประกอบการดำเนินนโยบายของเหตุการณ์ กรณีรัสเซียบุกยึดเอาแหลมไครเมียร์ซึ่งมีเมือง เซวัสโตโปล เป็นเมืองท่าเรือออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนี่ยนได้ทุกฤดูกาล หรือกรณีที่จีนมีความพยายามจะยึดเอาหมู่เกาะและน่านน้ำในทะเลจีนใต้ไว้ในครอบครอง ล้วนแต่การใช้ภูมิรัฐศาสตร์มาดำเนินการ (อ่านบทความเรื่อง “ปีศาจแห่งวันวานยังคงอยู่ดี : ภูมิรัฐศาสตร์” ของ รศ.ดร.โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ / บทความเรื่อง “พลังงานและการลุกขึ้นสู้ (รัสเซีย) ของยูเครน” ของ ชุมพล อุ่นพัฒนาศิลป์ สองบทความนี้อยู่ใน มติชนรายวัน พ.ศ. ๒๕๕๗ หรืออ่านเรื่อง สวัสดีเซวัสโตโปล ของ สมพงษ์ ประทุมทอง ใน“ทางอีศาน” ฉบับที่ ๒๖ ประจำเดือนมิถุนายน๒๕๕๗)
ส่วนข้อสรุป (ของผู้เขียน) ภูมิศาสตร์การเมือง เป็นการนำเอาสภาพภูมิศาสตร์และศักยภาพของประเทศมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดวิธีการทางการเมือง กรณีข้อพิพาททะเลจีนใต้ฟิลิปปินส์ เลือกวิธีการทางการเมืองในมุมของกฎหมาย โดยใช้ศาลอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งการเดินเกมส์นี้ใครเป็นผู้ได้เปรียบหรือเสียเปรียบคง ทราบแล้ว
ภาคอีสาน สภาพปัจจุบันและภูมิศาสตร์
ภาคอีสานแม้จะมีความไม่รื่นรมย์สมบูรณ์แต่ก็มีเรื่องราวหลากหลายให้ตีความอธิบายให้เข้าใจ ขยายความ เชื่อมโยงไปได้กว้างขวาง
ก่อนจะไปเข้าถึงแก่นแท้ของภูมิภาคนี้ ขอทำความกระจ่าง ความหมายและที่มาของคำสามคำ คือ อิสาน อีสาน และอีศาน มีคนจำนวนมากมีความสับสน ไม่เข้าใจว่าคำไหนเป็นคำที่ทางราชการใช้ แต่ละคำมีความหมายและที่มาอย่างไร จากการตรวจสอบการอธิบายการให้ความหมายและที่มา ได้ความดังนี้
๑. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ให้ความหมายไว้ว่า
“อีสาน น. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (ป.) พระศิวะ หรือพระรุทร” และไม่ปรากฏคำว่าอิสาน และอีศาน ในพจนานุกรมฉบับนี้
๒. นิตยสาร “ทางอีศาน” ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๐ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๖ ได้เสนอคำอธิบายของคำหมาน คนไค และสุจิตต์ วงษ์เทศ ไว้ดังนี้
อีสาน, อิสาน, อีศาน “พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕” ให้ความหมายของอีสาน ๒ อย่าง คือ ๑. ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ๒. พระศิวะ หรือพระรุทร และให้ที่มาของคำ อีสาน เป็นภาษาบาลี อีศาน เป็นภาษาสันสกฤต
“คนอินเดียที่ศรัทธาในศาสนาฮินดู ถือว่าพระรุทรเป็นเทพเจ้าองค์สำคัญในคัมภีร์พระเวทและเป็นเทพเจ้าองค์เดียวกันกับพระศิวะหรือพระอิศวร คนไทยจำนวนหนึ่งจึงมีความสับสนในการเขียนอีสาน บางทีคนเขียนอิสานหรืออีศาน อาจจะเป็นเพราะเห็นว่าคำอีสานมีความเชื่อมโยงกับพระอิศวร” คำหมาน คนไค
“คนอีสาน บางทีเรียกชาวอีสาน มีหลักแหล่งอยู่ฝั่งขวาแม่นํ้าโขง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย อีสานเป็นชื่อเรียกพื้นที่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยที่มีกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง
“คำว่า อีสาน มีรากภาษาสันสกฤต สะกดว่า อีศาน หมายถึง นามพระศิวะ ผู้เป็นเทพยดาประจำทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (เคยใช้มาแล้วเมื่อราวหลัง พ.ศ. ๑๐๐๐ ในชื่อรัฐว่า อีศานปุระและชื่อพระราชาว่า อีศานวรมัน) แต่คำบาลีเขียน อีสาน ฝ่ายไทยยืมรูปคำจากบาลีมาใช้หมายถึง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
“ตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ตรงกับคำอีสาน) เริ่มใช้เป็นทางการสมัยรัชกาลที่ ๕ ราว พ.ศ.๒๔๔๒ ในชื่อ มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือแต่ยังหมายเฉพาะลุ่มนํ้ามูลถึงอุบลราชธานีจำปาสัก ฯลฯ” สุจิตต์ วงษ์เทศ
๓. นายทองแถม นาถจำนง ได้นำเสนอเรื่องพระอีสาน ซึ่งเป็นมหาเทพที่ยิ่งใหญ่ของศาสดาฮินดู ในนิตยสาร ทางอีศาน เริ่มตั้งแต่ฉบับปีที่ ๓ ฉบับที่ ๓๓ เดือนมกราคม ๒๕๕๘ ถึงฉบับที่ ๓๖ เดือนเมษายน ๒๕๕๘ ขอสรุปสั้น ๆ มาพอเข้าใจ
อีศานมีรากศัพท์มาจากคำว่า ISA อ่านว่าอิศา เป็นคำสันสกฤต แปลว่า เจ้านายที่แสดงถึงความมีอำนาจ และ อิศา เป็นฉายาหนึ่งของ พระศิวะ
พระศิวะนั้นมีหลายภาค หลายฉายา แต่ภาคที่มี อำนาจสูงสุดคือ พระอีสาน พระอีสานพระศิวะ พระสุฑา ศิวะ และพระรุทธ รวมทั้งภาคต่าง ๆ ของพระเหล่านี้ล้วนแต่มาจากต้นเค้าเดียวกัน
พระอีสาน ประจำอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน
(อ่านต่อฉบับหน้า)