Dam Dialogue 2 บทต่อเต้าความ “มหากาพย์ชนชาติไท”

Dam Dialogue 2

บทต่อเต้าความ “มหากาพย์ชนชาติไท”

อรรถาธิบายคำว่า ‘ด้ำ’ โดยการสืบสาวให้ถึงรากคำ (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2565)

โดย  สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

ในงานเขียนเรื่อง ‘สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท/ไต/ไทย/สยาม’ อันเป็นบรรพแรกของ “มหากาพย์ชนชาติไท” ศาสตราจารย์พิเศษชลธิรา สัตยาวัฒนา (อาจารย์ชล) ได้สืบสาวความหมายของ ‘ด้ำ’ ที่เชื่อมโยงถึงความเชื่อเก่าแก่หลากหลายนัยยะ เน้นย้ำถึงความสำคัญของคำว่า ‘ด้ำ’ อย่างเป็นพิเศษชนิด ‘ยวดยิ่ง’ ว่าคือ คำต้นเค้าต้นแบบอันเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ที่มีอิทธิพลอย่างลึกล้ำต่อการ ‘แรก’ สร้างชุมชนสร้างเมืองของพวกไท-กะได โดยเฉพาะสายไท-ลาว-สยาม

การเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้แสดงข้อวิพากษ์ติชมในงานเขียนเชิงวิชาการเรื่องนี้ ถือเป็นความกล้าหาญและเปิดกว้างทางความคิดอย่างแท้จริง และถือเป็นเกียรติอย่างสูงยิ่งสำหรับผู้เขียนในฐานะบุคคลทั่วไป ดังจะได้อภิปรายเป็นลำดับขั้นต่อไป

1) ตระกูลภาษาไท-กะได/ข้า-ไท (Tai-Kadai/Kra-Dai languages)

ภาษาไท-กะไดเป็นหนึ่งในห้าตระกูลภาษาใหญ่ของเอเชีย พบกระจายตัวบนภาคพื้นทวีปแถบจีนตอนใต้ลงมาจนถึงย่านอุษาคเนย์ มีความหลากหลายของสายพันธุ์ค่อนข้างมาก ประเมินกันว่าน่าจะมีอายุอย่างน้อยสามพันปีขึ้นไป โดยนักภาษาศาสตร์บางท่านได้จัดแบ่งออกเป็นสามสาขาใหญ่ คือ พวกข้า/ขร้า (Kra), หลี/ไหล (Hlai) และ กัม-ไท (Kam-Tai) โดยพวกกัม-ไทยังแตกสาแหรกออกไปเป็น กัม-สุย (Kam-Sui) และ เบ-ไท (Be-Tai) ในอีกทาง (Chamberlain ค.ศ. 2016)

2) ตระกูลภาษาออสโตรเนเซียน (Austronesian languages)

ภาษาออสโตรเนเซียนเป็นตระกูลภาษาใหญ่ ที่เชื่อกันว่าต้นตระกูลของภาษานี้เดินทางจากจีนแผ่นดินใหญ่ข้ามมาถึงเกาะไต้หวันเมื่อราว 3,500-4,000 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนกระจายตัวออกไปยังคาบสมุทรและหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิก เช่น ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย เรื่อยไปจนถึงเกาะฮาวาย และข้ามไปทางฝั่งมหาสมุทรอินเดียจนถึงเกาะมาดากัสการ์ ศาสตราจารย์ Robert A. Blust นักภาษาศาสตร์ ได้จัดแยกเป็นสิบสาขา ในแบบแผ่กระจายตัวทางด้านกว้าง โดยเก้าสาขาพบอยู่บนเกาะไต้หวันเท่านั้น ได้แก่ Atayalic, Puyuma, Paiwan, Rukai, Tsouic, Bunun, Western Plains, Northwest Formosan และ East Formosan และอีกหนึ่งสาขาคือ มาลาโย-โพลีนีเซียน (Malayo-Polynesian) พบกระจายตัวอยู่ตามหมู่เกาะต่างๆ นอกเกาะไต้หวันทั้งหมด (Blust ค.ศ. 2013)

3) ความสัมพันธ์ระหว่างตระกูลภาษาออสโตรเนเซียนและไท-กะได

แนวความคิดที่ว่าภาษาออสโตรเนเซียนและไท-กะไดมีความสัมพันธ์ต่อกัน ได้เกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้วตั้งแต่รุ่นของ Gustave Schlegel ผู้เสนอความเป็นไปได้ไว้ในปี ค.ศ. 1901 ซึ่งในยุคนั้นภาษาไท-กะไดถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเดียวกับภาษาจีนภายใต้ชื่อ ‘ชิโน-ไทย’ (Sino-Thai) (van Dreim ค.ศ. 1999) หากข้อเสนอของ Paul K. Benedict ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง (ปี ค.ศ. 1942) เป็นข้อเสนอที่ท้าทายต่อแวดวงวิชาการอย่างมาก โดยได้แยกภาษาไท-กะไดออกจากภาษาจีน และจัดให้ไปอยู่กับภาษาออสโตรเนเซียน (ภาษาอินโดนีเซีย) เรียกรวมกันในชื่อใหม่ว่า ‘ออสโตร-ไทย’ ก่อนเปลี่ยนมาเป็น ‘ออสโตร-ไท’ (Austro-Tai) ในปี ค.ศ. 1975 (Reid ค.ศ. 1984-1985 และ Blust ค.ศ. 2013)

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดเรื่องออสโตร-ไทที่นำเสนอด้วยวิธีการของ Paul K. Benedict ได้ถูกกระแสคัดง้างอย่างหนักจากแวดวงนักภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะสายชิโน-ไท เช่น อาจารย์ Luo Meizhen ได้แสดงความเห็นต่างไว้ในบทความปี ค.ศ. 1992 ว่า แม้จะเห็นด้วยกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษาไท-กะไดและออสโตรเนเซียน หากคำศัพท์หลายๆ คำก็แสดงความสัมพันธ์ ที่ไม่ใช่เป็นในลักษณะของการหยิบยืม ระหว่างไท-กะได กับภาษาชิโน-ทิเบตันด้วยเช่นกัน หรือศาสตราจารย์ Graham Thurgood ได้แสดงความเห็นไว้ในปี ค.ศ. 1994 ว่าความสัมพันธ์ของออสโตรเนเซียนและไท-กะไดเป็นเพียงการสัมผัสหยิบยืม (contact relationship) เท่านั้น (Reid ค.ศ. 1996) หรือศาสตราจารย์ William J. Gedney ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดไว้อย่างหนักในปี ค.ศ. 1976

นอกจากแนวความคิดเรื่องออสโตร-ไทแล้ว ศาสตราจารย์ Laurent Sagart ได้ชี้ถึงความสัมพันธ์ร่วมเชื้อสายระหว่างสองตระกูลภาษาไว้ เช่นในในปี ค.ศ. 2001 และ ค.ศ. 2004 หากจัดให้ภาษาไท-กะไดเป็นภาษาชั้นลูกหลานของภาษาออสโตรเนเซียนแทน (daughter language) มีศักดิ์เทียบเท่าภาษามาลาโย-โพลีนีเซียน ซึ่งเป็นจุดแตกต่างที่สำคัญกับแนวคิดของสายออสโตร-ไท อย่างไรก็ตาม อาจารย์ ดร. วีระ โอสถาภิรัตน์ หนึ่งในผู้ทำการวิจัยสานต่อแนวความคิดออสโตร-ไทหลังยุค Paul K. Benedict ได้พยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในแบบภาษาพี่ภาษาน้อง (sister language) เช่นในการประชุมวิชาการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี ค.ศ. 2013 ได้นำเสนอหัวข้อ ‘Austro-Tai revisited’ เปรียบเทียบคำศัพท์พื้นฐานระหว่างสี่ตระกูลภาษา พบว่าภาษาทิเบต-พม่าเข้าคู่กับภาษาจีนเดิม และภาษาออสโตรเนเซียนเข้าคู่กับภาษาไท-กะได ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อสนับสนุนแนวคิดแบบ sister language มากกว่า daughter language

4) รากที่มาของคำว่า ‘ด้ำ’

คำว่า ‘ด้ำ’ ของ พวกไท-ลาว-สยาม อาจเป็นคำที่มีลำดับความเป็นมาร่วมกับคำไท-กะไดจำนวนสามคำคือ ‘ล้ำ’, ‘ดำ’ และ ‘น้ำ’ ซึ่งทั้งสามคำนี้มีคุณสมบัติพื้นฐานบางอย่างพัวพันร่วมกันอย่างลึกซึ้งมาแต่ครั้งโบราณ เช่นในพวกไทยลุ่มเจ้าพระยาใช้กันด้วยความหมายดังข้างล่าง:

คำว่า ‘ดำ’ หมายถึง ความมืดดำ การดำน้ำดำหัว และการปักดำ ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘black/darkness’, ‘to dive’ และ ‘to plant’ ตามลำดับ

คำว่า ‘ล้ำ’ หมายถึงสิ่งที่อยู่ภายใน อยู่ข้างใน หรือล่วงเข้าไปอยู่ในขอบเขตของบางสิ่ง ตรงกับคำในภาษาอังกฤษว่า ‘inside’

คำว่า ‘น้ำ’ หมายถึงของเหลวใส ลื่นไหล โอบอุ้ม ยืดหยุ่น เปลี่ยนรูปร่าง เป็นต้น ตรงกับภาษาอังกฤษว่า ‘water’

เมื่อเทียบกับไท-กะไดพวกอื่นๆ พบว่า ‘ดำ’ เป็นคำที่ถูกใช้อย่างกว้างขวาง เช่นในฐานะของความมืดดำ (black/darkness) อาทิ คำหลี/ไหลดั้งเดิม *(ʔ)dam C /(อ)ดั้ม/ (Ostapirat) หรือ *ɗəmʔ /เอดิมะ/ (Norquest), คำข้า/ขร้าดั้งเดิม *hl/dəm A /เดิม/, ไท-ไตสาขากลางและตะวันตกเฉียงใต้ส่วนใหญ่เรียกคล้ายๆ กันว่า dam1 /ดัม/ สืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมว่า *C̥.dam A /ดัม/ (C̥ คือเสียงอโฆษะปิดกั้นลมออกตัวใดตัวหนึ่ง -Andrew Hsiu) และที่น่าสนใจคือ พวกไท-ไตสาขาเหนือและพวกกัม-สุยส่วนใหญ่เรียกว่า nam1 /นัม/ หรือ ʔnam1 /อนัม/ สืบสร้างเป็นคำกัม-สุยดั้งเดิมว่า *ʔnam1 /อนัม/ ซึ่งไปคล้ายกับคำเรียก ‘น้ำ’ ที่มีเสียง *n /น/ เด่น

และในฐานะของการปักดำ (to plant) อาทิ คำข้า/ขร้าดั้งเดิม *təm C /เติ้ม/, คำกัม-สุยดั้งเดิม *ʔdram1/อดรัม/, ส่วนพวกไท-ไตใช้ทั้งคำว่า dam1 /ดัม/ และ nam1 /นัม/ สืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมได้อย่างน่าสนใจว่า *t.nam A /ต.นัม/ และพวกไท-ไตที่ใช้ ‘ดำ’ คำเดียวสองความหมาย ได้แก่ Debao เรียก dam2 /ดัม/, Guangnan Nong, Yanshan Nong และ Zhuang (Wuming) เรียก dam1 /ดัม/ และลาวเรียก dam/dàm /ดัม/

คำว่า ‘ล้ำ’ (inside) ไม่ค่อยพบในพวกไท-กะไดเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ใช้ด้วยรูปคำที่แตกต่างออกไป หากที่น่าสนใจคือ ในพวกไท-ไตสาขากลางและสาขาเหนือ เรียกคำที่หมายถึง ‘inside’ ว่า daɯ1 /ดะอื/ และสืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมว่า *C̥.daɰ A /ดะอื/ ซึ่งคลับคล้ายไปทางรูปคำ ‘ดำ’

คำว่า ‘น้ำ’ (water) เป็นคำที่ถูกเรียกใช้อย่างแพร่หลายเหมือนๆ กันในพวกไท-กะได ยกเว้นในพวกข้า/ขร้าที่ไม่ใช้ในรูปคำนี้ เช่น คำหลี/ไหลดั้งเดิม *C-nǝmʔ /เนิม/ (Ostapirat) หรือ *nam C /นั้ม/ (Norquest), คำกัม-สุยดั้งเดิม *ȵam3-ti /ณั้ม/, คำไท-ไตดั้งเดิม *C̬.nam C /นั้ม/ (*C คือเสียงปิดกั้นลมออกตัวใดตัวหนึ่ง และ C̬ คือเสียงโฆษะปิดกั้นลมออกตัวใดตัวหนึ่ง -Andrew Hsiu, Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. ค.ศ. 2008)

ถ้าพิจารณาที่คำว่า ‘ดำ’ ของพวกไทยลุ่มเจ้าพระยา แม้ว่าจะมีความหมายถึงสามลักษณะรวมอยู่ในคำเดียวกันก็ตาม หากเมื่อใดที่มีการพูดคำว่า ‘ดำ’ ออกมา ผู้คนมักจะนึกถึงนัยยะของความมืดดำเป็นอย่างแรกเหนือกว่านัยยะอื่นๆ อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการดำน้ำหรือการปักดำ ความโดดเด่นของนัยยะตรงนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า ความมืดดำน่าจะเคยดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศมาแต่เดิม ก่อนที่จะมีการผสมผสานพัวพันเกิดขึ้นในภายหลัง ซึ่งเป็นผลให้เมื่อเวลาจะใช้งาน ต้องนำคำแสดงสภาพหรืออาการเข้ามาประกอบกับคำว่า ‘ดำ’ เพื่อบ่งบอกเรื่องราว

ซึ่งสังเกตว่าการดำน้ำและการปักดำมีธรรมชาติของคำว่า ‘ล้ำ’ และ ‘น้ำ’ เป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่สำคัญ หากไม่มีคำทั้งสองเป็นองค์ประกอบหลัก ความหมายของการดำน้ำดำหัวและการปักดำก็ไม่อาจปรากฏ นั่นคือจะเหลือเพียงความหมายเดียวเท่านั้นว่า ความมืดดำ เป็นข้อบ่งชี้สำทับเข้าไปอีกชั้นถึงความเป็น ‘ดำ’ เมื่อแรกความหมาย อันสอดคล้องเป็นอย่างดีกับการสืบสร้างคำดั้งเดิมที่แตกต่างกันระหว่างความหมายว่าความมืดดำและการปักดำ เช่นคำไท-ไตดั้งเดิม *C̥.dam A และ*t.nam A, คำกัม-สุยดั้งเดิม *ʔnam1 และ *ʔdram1 และคำข้า/ขร้าดั้งเดิม *hl/dəm A และ *təm C ตามลำดับ แม้ว่าจะแตกต่างกันในเรื่องรูปเสียงไปบ้าง และคำกัม-สุยดั้งเดิมที่ดูเหมือนจะสลับข้างกัน 

จึงอาจถือเป็นข้อสรุปประการหนึ่งว่า ‘ดำ’ ของพวกไท-ไตที่ใช้ในแบบคำเดียวหลายความหมาย ควรเป็นรูปคำที่มีความหมายเดียวในชั้นแรกเริ่ม ก่อนเคลื่อนเข้าปะทะสังสรรค์กับคำของ ‘ล้ำ’ และ ‘น้ำ’ อย่างใกล้ชิด จนภายหลังได้รวมเอาความหมายที่สองและที่สามเข้าไว้ด้วยกันในที่สุด   

ที่สำคัญ คำว่า ‘ล้ำ’ (inside), ‘ดำ’ (black/darkness) และ ‘น้ำ’ (water) ที่สืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมว่า *C̥.daɰ A, *C̥.dam A, *C̬.nam C นั้น สามารถเทียบเคียงได้เป็นอย่างดีกับคำสืบสร้างออสโตรเนเซียนดั้งเดิม (Proto-Austronesian) ว่า *i-dalem /อิ-ดาเลม/, *ma-qitém /มา-คิเตม/ และ *daNum /ดาลยุม/ ตามลำดับ นอกจากนั้นคำว่า ‘ปักดำ’ (to plant) ที่สืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมว่า *t.nam A ยังเทียบได้กับคำออสโตรเนเซียนดั้งเดิมว่า *CaNém /ตซาเลยม/ (Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. ค.ศ. 2008) 

โดยเฉพาะคำว่า ‘ล้ำ’ (inside) ของออสโตรเนเซียนนั้น ควรเกิดจากรากคำพยางค์เดียว ‘monosyllabic root’ ที่มีความเก่าแก่เป็นอย่างยิ่ง คือ *lem ซึ่งได้ถูกสืบค้นและให้ความหมายพื้นฐานไว้โดยนักภาษาศาสตร์ถึง 4 ท่านคือศาสตราจารย์ Robert A. Blust –dark ‘มืดดำ’, E.M. Kempler Cohen –soft, weak, moist, tired ‘อ่อนตัว นุ่ม ชุ่มชื้นและเหลว’, John U. Wolff –night and darkness ‘กลางคืนและความมืดดำ’ และ R. David Zorc –dark ‘มืดดำ’ ซึ่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่ให้ความหมายไปในทางความมืดดำ ยกเว้น E.M. Kempler Cohen ที่ให้ความหมายพัวพันอยู่กับเรื่องคุณสมบัติของน้ำ

ดังตัวอย่างคำสองพยางค์ของภาษามาเลย์-อินโดนีเซีย (ผู้เป็นส่วนหนึ่งของออสโตรเนเซียน) จำนวนมากที่แตกตัวออกจากรากคำ *lem เช่นคำว่า ‘malam’ /มาลัม/ -กลางคืน, ‘dalam’ /ดาลัม/ -ข้างใน มืดลึกล้ำ, ‘belam’ /เบอลัม/ -เชื้อไฟที่ยังมอดไม่หมด หรือมองไม่ค่อยชัด พร่ามัว, ‘ilam-ilam’ /อีลัม-อีลัม/ -ค่อยๆ เลือนหายไป, ‘kelam’ /เกอลัม/ -ไม่ค่อยสว่าง ทึมเทา, ‘selam’ /เซอลัม/ -การดำดิ่งลงไปใต้ผิวน้ำ, ‘silam’ /ซีลัม/ -มืดมัว หม่นหมอง จมหาย มักใช้กับดวงตะวัน หรือล่วงเลยมานานแล้ว, ‘tenggelam’ /เติงเกอลัม/ -จมหาย หรือจมลง, ‘lambung’ /ลัมบุง/ -ท้อง พุง และ ‘lampung’ /ลัมปุง/ –ตะกอนดินโคลน เป็นต้น (Kamus Besar Bahasa Indonesia ค.ศ. 2012)

ที่น่าสนใจคือ สามารถเทียบเคียงกับชุดคำคล้ายของพวกไทยลุ่ม เช่น ‘กล้ำ’, ‘คล้ำ’, ‘ถลำ’, ‘ก่ำ’, ‘ล้ำ’, ‘ลำ’, ‘ด่ำ’ ‘ค่ำ’ ขยายไปจนถึงคำว่า ‘หล่ม’, ‘หลุม’, ‘ล่ม’ และ ‘ลุ่ม’ และยังอาจกินความไปถึงคำว่า ‘แรม’ เป็นต้น

ในความเห็นของผู้เขียน ทั้งความมืดดำและคุณสมบัติของน้ำล้วนตกอยู่ใต้อำนาจของ ‘ล้ำ’ ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสิ่งที่เข้าพัวพันด้วย เขียนรวบยอดในภาษาอังกฤษได้ว่า ‘inside, darkness and water properties’ และอาจขยายทางเลือกของรากคำพยางค์เดียวให้เป็น *lam/lem/lum โดย ‘ล้ำ’ คือเนื้อที่ว่างเปล่าที่แทรกซึมอยู่ภายใน ส่งผลขั้นวิกฤติต่อการดำรงอยู่ของความมืด ‘ดำ’ ผู้จำต้องอาศัยเนื้อที่ว่างเปล่าภายในเป็นร่มเงาเพื่อการแสดงตัว จนกลายเป็นธรรมชาติของภายใน (กลางคืน) มืดและภายนอก (กลางวัน) สว่าง เช่นเดียวกับ ‘น้ำ’ หากขาดซึ่งเนื้อที่ว่างเปล่าที่แทรกซึมอยู่ภายในแล้ว ความเป็น ‘น้ำ’ ก็ไม่อาจปรากฏ

ด้วยความพัวพันกันอย่างซับซ้อนและลึกซึ้งของคำทั้งสาม ผ่านสองตระกูลภาษา ดังที่ได้อ้างอิงกล่าวความเป็นต้นมา อาจถือเป็นรากเหง้าข้อสนับสนุนสำคัญที่สะท้อนถึงคำว่า ‘ด้ำ’ ของพวกไท-ลาว-สยาม ทั้งในแง่ของรูปคำ *-am/em/um ที่สอดคล้องกับเสียงสระอะบวกตัวสะกดแม่กม รูปเสียงตั้งต้นที่กลืนกลายมาเป็นเสียง /ด-/ และความหมายของ ‘inside’, ‘darkness’ และ ‘water’ ที่สอดผสานกับผู้ดำรงสถานะแห่ง ‘ผี’ โดยโน้มเอียงมายังเส้นทางของ ‘inside’ มากกว่าเส้นทางอื่น เหตุเพราะว่า ‘ด้ำ’ คือการแสดงความหมายของโลกที่อยู่ภายในอย่างเด่นชัด ทั้งในฐานะของผู้เฝ้าบ้านเฝ้าเรือนเฝ้าอยู่ภายใน ทั้งในฐานะของบรรพชนผู้เดินทางล่วงล้ำเข้าไปในขอบเขตดินแดนอื่น ทั้งในฐานะของผู้นิยมในความลางเลือนมืดดำ เป็นผู้ซึ่งไม่ชื่นชอบการปรากฏตัวต่อโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยแสงสว่าง หากเป็นผู้ครอบครองโลกทั้งใบที่อยู่กันคนละด้าน อันเป็นด้านที่ต่างภูมิทัศน์ต่างมิติต่างการรับรู้ของผู้คนทั่วไป ไร้ซึ่งตัวตนไร้รูปธรรมให้จับต้องได้

นอกจากนั้น คำว่า ‘ด้ำ’ ยังอาจพัวพันใกล้ชิดกับคำว่า ‘ถ้ำ’ ผ่านรูปคำ /-อัม/ ผ่านรูปเสียง /ด-/ และ /ถ-/ ซึ่งเป็นเสียงกักจากฐานปุ่มเหงือกเหมือนกัน ผ่านความหมายของ ‘ถ้ำ’ ที่เป็นโพรงอยู่ลึกล้ำเข้าไปภายในแผ่นดินหรือภูเขา แม้เป็น ‘ถ้ำ’ ที่มืดทึบและอับแสงหากแสดงนัยยะของความเป็น ‘ด้ำ’ ไปถึง ‘ล้ำ’ สิ่งที่อยู่ภายในอย่างชัดเจน ซึ่งคำนี้มีการเรียกใช้ในหลายพวกของไท-ไตด้วยรูปคำเดียวกันว่า thamC1 /ถั้ม/ แม้ว่าจะสืบสร้างเป็นคำไท-ไตดั้งเดิมชนิดควบกล้ำว่า *cramC /จรั้ม/ ก็ตาม (พิทยาวัฒน์ ค.ศ. 2009) 

ความเป็น ‘ถ้ำ’ ผู้อยู่ภายในของพวกไท-ไตยังไปพ้องกับความหมายของคำว่า ‘สิกัง’ หรือ ‘สะก้าง’ ของชาวลัวะ ที่แปลว่าถ้ำน้ำเต้าผู้เป็นเพศแม่อุ้มท้องแรกกำเนิดทารกไว้ข้างใน เช่นที่อาจารย์ชลได้ตั้งข้อสังเกตถึง ‘เสาสิกั้ง’ ของชาวลัวะไว้ในบทความเรื่อง ‘ใจบ้าน ใจเมือง และใจคน’ ปี พ.ศ. 2531 คัดมาส่วนหนึ่งดังนี้:

‘เช่นเดียวกับเรื่อง ‘หลักเมือง’ ของไทยปัจจุบัน ชาวบ้านไม่ว่ากลุ่มชาติพันธุ์ใดไม่รู้สึกว่ามีนัยความหมายเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องของ ‘ใจบ้าน’

แต่ผู้เขียนก็ไม่ปิดประตูเสียทีเดียวสำหรับ ความหมายนัยนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าศึกษาจาก ‘ใจบ้านลัวะหรือว้า’ ซึ่งผู้เขียนมีสมมติฐานว่า อาจเป็นต้นเค้าที่มาของความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับเสาอินทขีล กล่าวคือ

   ชาวว้าในยูนนานเรียกใจบ้านว่า ‘เสาสิกัง’

   ชาวลัวะเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนเรียกว่า ‘เสาสะก้าง’

   คำว่า ‘เสา’ ในภาษาว้า แปลว่าไม้

   ส่วน ‘สิกัง’ หรือ ‘สะก้าง’ เป็นศัพท์เดียวกันมีความหมาย ๓ นัย คือ

๑. น้ำเต้า(ที่ตกแต่งแล้ว)       

๒. กำเนิดมนุษย์ และ         

๓. หลักล่ามวัวควายเวลาประกอบพิธีกรรม   

นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราพบว่า ‘น้ำเต้า’ เป็นสิ่งที่มาควบคู่กับ ‘เสา’ มนุษย์ถือกำเนิดจากน้ำเต้า นี่เป็นระบบจิตสำนึกของ “สายวัฒนธรรมน้ำเต้า” ที่มีความพ้องกันอย่างไม่น่าจะเป็นความบังเอิญ โดยนัยดังกล่าว ‘น้ำเต้า’ จึงเป็นสัญลักษณ์ของ ‘โยนีลึงค์’ และ ‘เสา’ ย่อมเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากบุรุษลึงค์ 

ชาวว้ายังมีนิยายปรัมปราประจำเผ่า ชื่อเรื่อง “สิกังสิห์” แปลว่าออกจากน้ำเต้า

หรือ “ถ้ำกำเนิดมนุษย์”’ 

ดังนั้นอาจสรุปเสนอในท้ายสุดได้ว่า ‘ด้ำ’ ควรเป็นคำพวกไท-ลาว-สยามดั้งเดิม ขยับขยายถึงไท-กะไดทั้งตระกูล ผู้พัฒนาลงมาจากคำเรียก ‘inside’ และพัวพันอย่างลึกล้ำกับ ‘darkness’ และ ‘water’ ในแบบคำสองพยางค์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเกิดจากรากคำพยางค์เดียวของออสโตร-ไท *lam/lem/lum ผ่านคำควบกล้ำในหมู่ไท-กะไดก่อนที่จะหดสั้นลงเป็นคำโดดพยางค์เดียวในชั้นหลังสุด พร้อมกับความหมายใหม่ว่า

‘ผีบรรพชนผู้เฝ้าปกปักรักษาอยู่ภายใน’

และใช้กันอย่างกว้างขวางในกลุ่มไท-ลาว-สยาม

จึงขอปิดการอรรถาธิบายถึงเรื่องราวความเป็นมาของคำว่า ‘ด้ำ’ ไว้ ณ ที่นี้

สุพัฒน์ เจริญสรรพพืช

จันทบุรี 30 พฤศจิกายน 2560 (ปรับปรุง 1 กันยายน 2565)

***

บรรณานุกรม:

ชลธิรา สัตยาวัฒนา. พ.ศ. 2531. “ใจบ้าน ใจเมือง และใจคนฯ” ใน คนไท (เดิม) ไม่ได้อยู่ที่นี่. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. จดหมายข่าว-สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ปีที่ 21 ฉบับที่ 245. (www.royin.go.th)

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. พ.ศ. 2554. พจนานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. (www.royin.go.th)

Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa. 2012. Kamus Besar Bahasa Indonesia (KBBI) Online: Badan Pengembangan dan Pembinaan Bahasa, Kemdikbud (Pusat Bahasa). (www.kbbi.web.id)

Blust, Robert A. 2013. Austronsian languages (Revised edition).

Canberra: Asia-Pacific Linguistics. (www.pacling.anu.edu.au)

Chamberlain, James R. 2016. Kra-Dai and the Proto-History of South China and Vietnam: Journal of the Siam Society, vol. 104. (www.academia.edu)

Cohen, E. M. Kempler. 1999. Fundaments of Austronesian roots and etymology. Canberra: Pacific Linguistics, Research School of Pacific and Asian Studies, Australian National University. (www.en.wiktionary.org)

van Dreim, George. 1999. A new theory on the origin of Chinese. Himalayan Languages Project. Leiden: Leiden University, (www.himalayanlanguages.org)

Gedney, William J. 1976. On the Thai evidence for Austro-Thai.

Annual Meetings of the Association for Asian Study, Toronto, March 1976.

Computational Analyses of Asian and African Languages, vol. 6: 65-82.

Tokyo: National Inter-University Research Institute of Asian and African Languages and Cultures. (www.sealang.net)

Greenhill, S.J., Blust. R, & Gray, R.D. 2008. The Austronesian Basic Vocabulary Database: From Bioinformatics to Lexomics. Evolutionary Bioinformatics 4: 271-283. (www.language.psy.auckland.ac.nz)

Luo, Meizhen. 1992. A Second Discussion of the Genetic Classification of the Kam-Tai Languages: A Reply to Benedict. Paper on Tai languages, Linguistics and Literatures. Ed. Carol J. Compton and John F. Hartmann, Center for Southeast Asian Studies, Northern Illinois University: 44-54. (www.sealang.net)

Ostapirat, Weera. 2000. Proto-Kra. In Linguistics of the Tibeto-Burman Area, vol. 23. no. 1: 1-251. (www.sealang.net)

Ostapirat, Weera. 2013. Austro-Tai revisited. The 23rd Annual Meeting of the Southeast Asian Linguistics Society, May 29-31, Chulalongkorn University, Bangkok. (www.jseals.org/seals23)

Pittayaporn, Pittayawat. 2009. The Phonology of Proto-Tai. In Partial Fulfillment of the Requirements for the Degree of Doctor of Philosophy, Faculty of the Graduate School of Cornell University. (www.ecommons.cornell.edu)

Reid, Lawrence A. 1984-1985. Benedict’s Austro-Tai Hypothesis-An Evaluation. Asian Perspectives, XXVI(1), University of Hawaii. (www2.hawaii.edu)

Reid, Lawrence A. 1996. The Current State of Linguistic Research on the Relatedness of the Language Families of East and Southeast Asia. In Indo-Pacific prehistory: The Chiang Mai papers, Vol. 2, ed. by Ian C. Glover and Peter Bellwood, 87-91. Bulletin of the Indo-Pacific Prehistory Association 15. Canberra: Australian National University. (www2.hawaii.edu)

Sagart, Laurent. 2001. Comment: Malayo-Polynesian features in the AN-related vocabulary in Kadai. Paper presented at the International Meeting Perspectives on the Phylogeny of East Asian Languages-Périgueux, August. (www.academia.edu)

Sagart, Laurent. 2004. The higher phylogeny of Austronesian and the position of Tai-Kadai. Oceanic Linguistics 43: 411-444. (www.halshs.archives-ouvertes.fr)

Wolff, John U. 1999. The monosyllabic roots of Proto-Austronesian. In Elizabeth Zeitoun and Paul Jen-kuei Li, eds. 1999. Selected papers from the Eighth International Conference on Austronesian Linguistics: 139-194. Taipei, Taiwan: Academia Sinica. (www.en.wiktionary.org)

Zhengzhang, Shangfang. 1991. Decipherment of Yue-Ren-Ge (Song of the Yue boatman): Cahiers de linguistique – Asie orientale Année 1991 Volume 20 Numéro 2: 159-168. (www.persee.fr)

Zorc, R. David. 1990. The Austronesian monosyllabic root, radical or phonestheme. Linguistic Change and Reconstruction Methodology: De Gruyter. (www.zorc.net)

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com