TAO Dialogue 1 เวทีสังสันทน์ ว่าด้วยเรื่อง “เต้า”

TAO Dialogue 1

เวทีสังสันทน์ ว่าด้วยเรื่อง “เต้า”

โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา Facebook Cholthira Satyawadhna

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท” กำลังใกล้จะสำเร็จเป็นรูปเล่มเพื่อให้บริการทางวิชาการแก่สาธารณชน โดยผู้เขียนทั้งสองถือเป็น ‘วิทยาทาน’ แก่สังคม

ผู้เขียน (ชลธิรา สัตยาวัฒนา1 :ในฐานะ ‘ผู้เขียนหลัก’) เป็นผู้เขียน ‘ยกร่างต้นฉบับ’   เรียบเรียงเรื่องราวอันเป็น มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง โดยได้ใช้ความรู้~ความเชี่ยวชาญ~ประสบการณ์ตรง~และแนวคิดอันมีค่าของท่านอาจารย์ชายชื้น (ชายชื้น คำแดงยอดไตย2 : ในฐานะ ‘ผู้เขียนรอง’ และ ‘ผู้บอกข้อมูลจากวงใน’) ให้เป็นประโยชน์ 

ทั้งนี้โดยผนวกกับฐานข้อมูลและองค์ความรู้ด้าน “ไท|ไต|ไทยศึกษา” ที่ผู้เขียนหลักสนใจค้นคว้าสั่งสมมาด้วยตนเองตลอดห้าสิบปีเศษที่ผ่านมา

สำหรับผู้เขียนหลัก งานชุดนี้เป็นการ ‘ต่อภาพปริศนา’ แต่งแต้มเติมเต็มส่วนที่ยังขาดและค้างคาใจ เพื่อเสริมต่อจากงานวิจัยด้าน ไท|ไต|ไทยศึกษา ที่ได้เพียรทำมาก่อนหน้า อันได้แก่ ลัวะเมืองน่าน; คนไท(เดิม)ไม่ได้อยู่ที่นี่; ตามรอยสวัสดิกะ สาวกำเนิดไท-ลาว; ไป่เยว่ การสืบสาวเชิงมานุษยวิทยา  รวมถึงอีกหลายบทความวิจัยที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษในวารสารวิชาการต่างประเทศ โดยเฉพาะในวารสาร TAI CULTURE [SEACOM], Berlin ในหลายสิบปีที่ผ่านมา

งานชุดนี้มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกับงานเขียนกึ่งวิจัยชุด มหากาพย์ชนชาติไท บรรพแรก ที่ได้จัดพิมพ์เป็นรูปเล่มหนังสือมาก่อนหน้าเมื่อสามปีก่อน คือ

     ด้ำ แถน กำเนิดรัฐไท

สาวรกรากต้นตอ คนไท ชุมชนไท-ลาว และความเป็นไท|ไต|ไท|สยาม

ชลธิรา สัตยาวัฒนา, ผู้เขียน;  ทองแถม นาถจำนง, บรรณาธิการ. (๒๕๖๑)

มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง  “เต้าตามไต เต้าทางไท” แต่งแต้ม ‘ต่อภาพปริศนา’ เพื่อสืบสาวรกรากต้นตอคนไท ชุมชนไท|ไต|ไทยในอดีต จนได้จินตภาพชัดเจนของ บรรพชนไท|ไต ที่มีภูมิลำเนาฟากฝั่งตะวันตก (Southwestern Tai) ของแดนอุษาคเนย์  สาระสำคัญว่าด้วย ไทใหญ่|ไตมาว|ไตเหนอ รวมถึง ไตเขิน|ไตลื้อ|และไตอาหม (กับอีกบางกลุ่มย่อย)  คนไทเหล่านี้ (ในบางพื้นที่) ใช้ชื่อเรียกตนเองในภาพรวมอีกชื่อหนึ่งว่า ไตโหลง (ไทหลวง) 

TAO  Dialogue 1

เวทีสังสันทน์ ว่าด้วยเรื่อง “เต้า”

เชื่อไหมว่า ใน “เต้า” มีรหัสนัยซุกซ่อนอยู่อย่างเงียบเชียบ

ชื่อว่า “เต้าตามไต เต้าทางไท” อาจฟังดูเข้าใจยาก

มีนักวิชาการสองท่าน ให้ความสนใจ ‘ต่อความ’ ว่าด้วยเรื่อง “เต้า”

ท่านแรก คือ คุณประสิทธิ์ ไชยชมพู นักสันนิษฐานศัพท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมินามวิทยา

ท่านที่สอง คือ คุณสุพัฒน์ เจริญสรรพพืช นักภาษาศาสตร์เชิงประวัติ ผู้เชี่ยวชาญสืบค้นรากคำดั้งเดิมของภาษาไท|ไทย ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน

     “เต้า ตามไต”  คำ ‘เต้า’ ในที่นี้เป็น คำกริยา

     “เต้า ทางไท”  คำ ‘เต้า’ ในที่นี้เป็น คำนาม

คุณประสิทธิ์ ไชยชมพู  ได้เขียนบทต่อความนัยว่าด้วยคำ ‘เต้า’ ที่เป็นคำนาม  มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้

     ‘เต้า’ ในทัศนัยข้าพเจ้า

     โดย  ประสิทธิ์   ไชยชมพู

‘เต้า’  มีความนัยซับซ้อนน่าค้นหา…

ก่อนอื่นจะขอตรวจสอบในหมวดคำที่มีการรวบรวมไว้ จะหมายถึงอะไรบ้าง

– คำนาม

๑  เต้า คือ ส่วนหนึ่งของเครื่องบนของเรือนไทย เป็นไม้แผ่นแต่งปลายให้เรียว มีเดือยอยู่ปลายเพื่อสอดรับกับไม้เชิงกลอน. 

๒  เต้า = นม.

– ลักษณะนาม เช่น นม ๒ เต้า; พูตาล ๓ เต้า เป็นต้น

– คำเรียกภาชนะทรงคล้ายเต้านม เช่น เต้าปูน เต้าน้ำ

– คำเรียกวัสดุสิ่งของมีลักษณะคล้ายเต้านม เช่น เต้าแคน เต้าปืน

เต้าแคน = ไม้ที่ทำเป็นรูปเต้านมสำหรับสอดใส่ไม้ซางซึ่งเป็นลูกแคน (ปรีชา พิณทอง, ๒๕๓๒ : ๓๗๕)

‘เต้า’  ควรจัดเป็นศัพท์ที่ได้สัญญา (คือ จำได้หมายรู้) จากรูปทรง ‘เต้านมเพศแม่’

‘เต้านมเพศแม่’  จึงเป็นศัพท์ตั้งต้นของอีกหลายคำ เช่น เต้าปูน เต้าน้ำ เต้าปืน เต้าแคน

ในทางกลับกัน อาจย้อนแย้งว่า ‘พืชน้ำเต้า’ ต่างหากเป็น ‘สัญญา’ เป็นศัพท์ตั้งต้นให้แก่คำเรียก เต้านมสตรี!

ซึ่งก็น่าสนใจ เพราะ ‘พืชน้ำเต้า’  ก็จัดเป็นพืชดึกด้ำบรรพ์ที่มนุษย์รู้จักกินและประดิษฐ์ผลแห้งใช้สอยมานานนักแล้ว

ข้าพเจ้าไม่รู้สิ่งใดเป็นสัญญาให้แก่สิ่งใด ทำได้เพียงตั้งสมมติฐานต่อรูปทรงทั้ง ๒ สิ่งนี้แสดงอุปลักษณ์คล้ายกัน หากจะพรรณนาก็พอทำได้ดังนี้

“ตั้งแต่สาวรุ่นเพิ่งตั้งเต้าผุดปุ่มนม ก็ประหนึ่งพืชน้ำเต้าผลิผลอ่อน;

เต้านมสาวเต็มวัยตึงเต่ง ประหนึ่งพืชน้ำเต้ากลมกลึงแน่น;

เต้านมแม่ลูกดก ก็ปานพืชน้ำเต้าชนิดก้านยาว ๆ ทรงคล้อย;

ส่วนเต้านมหญิงชรายานย้วย ก็คล้ายพืชน้ำเต้าพันธุ์ก้านยาวโทงเทง”

ยกเว้น ‘พืชน้ำเต้า’ ป่องสองชั้น  ชั้นบนป่องเล็ก ชั้นล่างป่องใหญ่  คั่นด้วยคอคอดแบบน้ำเต้าเซียนของจีน

สรุปนัยสำคัญแห่งศัพท์ ‘เต้า’ ด้ำเดิม สะท้อนบ่งชี้ ‘เพศแม่’ อย่างเด่นชัด (แม้กระเทยก็นำอุปลักษณ์นี้ไปใช้)  ดัง ‘ตำนานน้ำเต้าปุง’ (หรือน้ำเต้าปุ้ง)  สะท้อนการให้กำเนิดเผ่าชนจำนวนมากดุจเมล็ดน้ำเต้า

สารานุกรมคำลาวอีสาน  นิยาม ‘ปุ้ง’ ว. ท้องป่องเรียก ท้องปุ้ง อย่างว่า

“ฝันว่ามาณวะผู้ชายเซ็งหีนะโหด โตเติบด้ามดำหม้อหมู่คาม แอวพันผ้าเป็นเกลียวเหน็บเตี่ยว ท้องพ่างโผ้โลปุ้งปึ่งดัง กายปุมเป้าเป็นปมเกลื้อนกลาก

กากซากแข้วขาวกล้าป่งงา” (เวส – กลอน) (ปรีชา พิณทอง, ๒๕๓๒ : ๑๕๔)

ขอขยายความเรื่อง ‘เต้าแคน’

นิทานปรัมปราเล่าว่า ฅนประดิษฐ์ ‘แคน’ ฅนแรกเป็น ‘หญิงหม้าย’  แคนจะเสียงดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับส่วนประกอบสำคัญคือ ‘เต้าแคน’ โดยตรงกลางของเต้าแคนถูกเจาะทะลุสำหรับสอดเรียง ‘ลูกแคน’ ที่จัดเรียงลดหลั่นเป็น ๒ แพประกบกัน ประกอบเข้าในเต้าแคนแล้วผนึกด้วยขี้สูด (ยางชันโรง)

ลูกแคนแต่ละลำมีลิ้นประจำเฉพาะให้เสียงของตัวเอง เมื่อเล่นเข้าชุดกันแล้วจะให้เสียงประสานไพเราะเพราะพลิ้วมาก  จัดเป็นเครื่องดนตรีดั้งเดิมโบราณ  ว่ากันว่าพบหลักฐานโบราณคดีบ่งบอกว่าแคนถูกประดิษฐ์ขึ้นมาไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีแล้ว บ่งบอกถึงบรรพชนของเราเข้าถึงสุนทรียะมานานแล้ว อันเป็นภูมิปัญญาขั้นสูงของมนุษย์

ข้าพเจ้าค่อนข้างมั่นใจว่า แต่ด้ำเดิมนั้น ‘เต้าแคน’ ทำจากผลน้ำเต้าแห้ง  ปัจจุบันยังมีหลักฐาน คือ แคนของกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในดินแดนจีนตอนใต้ รวมทั้งกลุ่มที่ใช้ ‘แคน’ ในประเทศไทย ลาว เมียนมา เวียดนาม

ขณะที่ แคนไทย แคนลาว (เมื่อใดไม่รู้) ช่างแคนได้เปลี่ยนจากผลน้ำเต้ามาใช้ไม้เนื้อแข็งปานกลาง สลักเสลารูปทรงเต้าสืบทอดเรื่อยมา  กระทั่ง ประมาณสี่สิบ-ห้าสิบปีมาจนปัจจุบัน ‘เต้าแคน’ ไม่เป็นทรงคล้ายเต้านมเสียแล้ว  แต่ทำเป็นแท่งกลมยาว คงมีเหตุผลเพื่อให้สองอุ้งมือกุมกำได้มิดชิด (โปรดช่วยกันสังเกตว่าจริงหรือไม่?)

​ฅนรุ่นเก่าแสดงความเคารพขนบเดิมด้วยการสร้างอุปลักษณ์ผ่านสัญญะ ‘เต้าแคน’ อย่างชัดเจน

​ส่วนฅนรุ่นปัจจุบัน จะเหลือแต่ปุ่มปลายเต้าแคนที่สะท้อนสัญญะเพศแม่ แต่ตัวเต้ากลายเป็นแท่งกลมยาว เน้นความสะดวกในการกุมกำพรมนิ้วลูกแคนได้ง่าย(?)

กระนั้น ก็น่าแปลกใจ คำไทย/ลาว ที่วิวัฒนาการมาร่วมกัน กลับแยกกันเรียกลักษณะนามแคนต่างกัน

ขณะที่ คำไทยเรียก ’แคน ๑ เต้า’

คำลาวเรียก ‘แคน ๑ ดวง’ !

อีกทั้งยังใช้อย่างทั่วไป ดังตัวอย่าง ;

ดวง ๑ น.  เป็นคำเรียกของใช้บางอย่าง เช่น มีดหนึ่งดวง เสียมหนึ่งดวง

หมากจกหนึ่งดวง แคนสองดวง (ปรีชา พิณทอง, ๒๕๓๒ : ๓๑๙)

สารานุกรมฉบับปรีชา พิณทอง ไม่มีบอกถึงลักษณะนามว่า ‘นมของสตรี’ เรียกอย่างไร?

ข้อสังเกต :  ‘เต้าแคน’ นอกจากรูปทรงตูมอย่างเต้านม แถมทำหัวนมตรงปลายด้านหันออก  วิธีการเป่าและดูดเต้าแคนก็เสมือนสูบฉีดน้ำนม(ลม)จากด้านใน เสมือนมองจากด้านใน  เช่นเดียวกับ ศิวลึงค์ตั้งบนฐานโยนี (ก็เสมือนมองจากด้านใน) คือ สัญญะการสังวาสสองเพศอย่างสมบูรณ์

ขณะที่ ‘เต้าแคน’ แทนสัญญะเพศแม่  ถ้าว่าตามตำนานจะเป็นหญิงหม้ายที่ประดิษฐ์แคนขึ้นมาเป่าด้วยท่วงทำนองสะท้อนอารมณ์โหยหา หวนไห้ อ้อยสร้อย  บางลีลาก็รื่นเริงปานเสียงนกการะเวกร้องก้องพงไพร

=====

*โปรดติดตามตอนต่อไป  TAO  Dialogue 2

“เต้า” สนทนา จากประสบการณ์อ่านวรรณคดี

บนฐานคิด ‘มานุษยวิทยาสัญนิยม’ ของ ชลธิรา สัตยาวัฒนา

ว่าด้วยเรื่อง  ‘เต้า’ ในความหมายต่างๆ ที่มีความนัยสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น

***

TAO Dialogue 1 เวทีสังสันทน์ ว่าด้วยเรื่อง “เต้า”

TAO Dialogue 2 “เต้า” สนทนา จากประสบการณ์อ่านวรรณคดี บนฐานคิด ‘มานุษยวิทยาสัญนิยม’

Dam Dialogue 2 บทต่อเต้าความ “มหากาพย์ชนชาติไท”

Tao Dialogue 3 บทวิจารณ์ มหากาพย์ชนชาติไท บรรพสอง

Tao Dialogue 4 บทสนทนาว่าด้วยคำ ‘เต้า’ จาก ‘เต้า’ จุดกำเนิด สู่ ‘เก๊ง~เคียง~เชียง’ ที่ตั้งมั่น

Tao Dialogue 5 บทสนทนาว่าด้วยเรื่อง ‘เต้า’ บทบาททางพิธีกรรม

Related Posts

เปิดตัวหนังสือ “มหากาพย์ชนชาติไทฯ”
กำหนดการงาน ~ “สู่ขวัญสุวรรณภูมิ” เสวนาวิชาการ เล่าขานเรื่องราวสุวรรณภูมิ
หนังสือ ๓ เล่มชุด “มหากาพย์ชนชาติไท : เต้าตามไต เต้าทางไท”
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com