เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๑๐)
เงินตราอีกชนิดหนึ่งที่เป็นที่รู้จักของคนอีสานหรือคนลาวในอดีตคือเงินตราจากเพื่อนบ้านอย่างอาณาจักรไดเวียต (เวียดนาม) และเงินตราจากอาณาจักรจีน ซึ่งแผ่อิทธิพลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจเข้ามาในช่วงที่อาณาจักรล้านช้างอ่อนแอระสํ่าระสายจากปัญหาการเมืองภายใน โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ หรือประมาณปี ค.ศ.๑๘๐๐ ต้น ๆ นอกจากสยามจะมีอิทธิพลทางการเมืองเหนืออาณาจักรล้านช้างแล้ว อาณาจักรไดเวียตหรือเวียดนามก็มีอิทธิพลทางการเมืองต่ออาณาจักรล้านช้างมิใช่น้อย ดังนั้นสองขั้วอํานาจหรือมหาอํานาจทั้งสองคือเวียดนามและสยามนี้จึงขัดแย้งผลประโยชน์ทางการเมืองมาโดยตลอด ในขณะที่อาณาจักรล้านช้างแม้นว่าจะเป็นประเทศราชของสยาม แต่ก็ได้ส่งบรรณาการแก่ไดเวียตเช่นกัน จึงทําให้อาณาจักรล้านช้างในบางครั้งคราวถือเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า
การที่เวียดนามได้เข้ามามีอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจรวมกับสยามในดินแดนล้านช้างได้ส่งผลให้เงินตราของเวียดนามเข้ามาเป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนที่สําคัญด้วย เงินตราของเวียดนามที่รู้จักกันดีคือ เงินฮาง เงินตู้ เงินแท่ง ซึ่งเป็นเงินตราที่มีมูลค่าสูง ทําจากโลหะเงินบริสุทธิ์ถึงกว่าร้อยละ ๙๘ จึงได้รับการยอมรับและเชื่อถือค่อนข้างมากจากราษฎรโดยทั่วไป
หลวงผดุงแคว้นประจันต์ (จันทร์ อุตรนคร) ข้าหลวงกํากับราชการเมืองสกลนคร สมัยรัชกาลที่ ๕ ได้เขียน “เรื่องเงินของราษฎรภาคอีสาน” ในหนังสือลัทธิธรรมเนียมต่าง ๆ ภาคที่ ๑ ลัทธิธรรมเนียมราษฎรภาคอีสาน (โรงพิมพ์ทรงธรรมพิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๗๐ หน้า ๔๗-๕๓) ว่า “เงินฮางนี้มีนํ้าหนัก ๖ ตําลึง ๖ สลึง อีกประการหนึ่งคําเรียกว่าฮางนั้นเป็นสําเนียงภาษาราษฎรภาคอีสานตะวันออก ถ้าสําเนียงภาษาไทยก็เรียกว่า “ราง” อกประการหนึ่งที่เรียกว่าเงินฮางนั้น บางทีเขาก็เรียกว่าเงินฮางรังไก่ ก็มีเรียกเงินฮางศรีษะโปก็มีที่เรียกว่ารังไก่นั้นเพราะที่ก้นของเงินเป็นร่องแหลมกลมเหมอนก้นหอย ที่เรียกว่าเงินฮางศรีษะโปนั้นเพราะศรีษะข้างที่เขาตอกดวงตราประจําและขีดเลขหมายมปมโตกว่าข้างที่ไม่ได้ตอกตรา”
จากข้อความที่หลวงผดุงฯ กล่าวไว้นั้น เห็นได้ว่าเงินฮางที่กล่าวถึงล้วนมีขนาด ๖ ตําลึง ๖ สลึง หรือเทียบเท่า ๑๐ ตำลึงจีนนั้นเอง (๑ ตำลึงจีนหนักราว ๓๘ กรัม แต่ ๑ ตำลึงของไทยหนักราว ๖๐ กรัม) ที่เรียกว่าเงินฮางเพราะมีลักษณะคล้ายฮางข้าวที่ใส่ข้าวให้หมูมีขอบยกสูง เงินฮางรังไก่ที่กล่าวถึงนั้นเป็นเงินตราที่พ่อค้าจีนทําขึ้นเพื่อซื้อขายสินค้าและใช้จ่ายทั่วไปไม่ใช่เงินตราที่ผลิตจากเวียดนามแต่อย่างใด รูปทรงมีหลายแบบ ทั้งทรงขนมครก ทรงเรือสําเภา ทรงรองเท้า เป็นต้น ชาวตะวันตกเรียก เงินตรานี้ว่า “เงินไซซี” ซึ่งมาจากภาษาจีนกลางว่า “ซีซือ” แปลว่า เส้นใยละเอียดซึ่งหมายถึงเงินที่มีความบริสุทธิ์สูง มีความบริสุทธิ์ของเงินประมาณร้อยละ ๙๘ แต่คนโบราณมองลักษณะของเงินตรานี้คล้ายกับรังไก่ ที่ชาวบ้านทำขึ้นให้ไก่วางไข่จึงเรียกชื่อตามลักษณะนั้น
“เงินฮางศรีษะโป” นี้มีลักษณะเป็นแท่งยาวขอบยกสูง ลําตัวโค้งงอ ด้านหัวของเงินปูด หรือโต (โป) แต่ไม่มาก ด้านข้าง ด้านหัวและด้านหน้า มักตอกอักษรจีนหรือเวียดนามกํากับไว้ด้านหลังช่างทำเงินมักขีดเส้น ๑๐ ขีดไว้เพื่อการันตีว่าเป็นเงินแท้ ซึ่งลักษณะการขีดจะไม่เหมือนกันบางท้องถิ่นเรียกเงินตราชนิดนี้ว่า “เงินฮางคองูสิง” เพราะลำตัวของเงินโค้งงอคล้ายกับงู ชื่อเรียกของเงินตราชนิดนี้เรียกชื่อต่าง ๆ นานา ตามแต่ชาวบ้านจะเรียกขาน
หน่วยเงินที่ชาวบ้านเรียกเงินฮางนี้จะเรียกเป็นขัน เช่นเงินฮางขันหนึ่ง หมายถึงเงินฮางแท่งหนึ่ง มีนํ้าหนักราว ๓๘๐ กรัม หรือ๑๐ ตําลึงจีน คําว่า “ขัน” นี้น่าจะหมายถึงเข้มข้นหรือบริสุทธิ์สูง ที่บางครั้งเรียกกันว่าเข้มขัน ขันแข็ง เป็นต้น เนื่องด้วยเงินฮางนี้มีความบริสุทธิ์ของเงินประมาณร้อยละ ๙๘ ผลิตจากเวียดนามแล้วแพร่มาใช้ในดินแดนของล้านช้างในอดีต แต่ต่อมาก็มีการผลิตขึ้นเองในลาวและตีตราช่างผู้ทําเงินเพื่อการันตีว่าเป็นเงินแท้ เงินฮางที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของประชาชนคือเงินฮางของทิดเพ้า ทําขึ้นด้วยเงินบริสุทธิ์สูง แต่รูปทรงแข็งทื่อไม่อ่อนช้อยเช่นของโบราณ
เงินฮางนี้ยังมีอีกชื่อหนึ่งที่เป็นที่รู้จักและเรียกขานกัน คือเงินแนน เงินแน่น ซึ่งหมายถึงเงินตราที่มีเส้นใยละเอียดหรือมีความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินสูงนั่นเอง
เงินตราอีกชนิดหนึ่งที่หลวงผดุงฯกล่าวถึงคือเงินตู้ “ที่เรียกว่าเงินตู้ก็มีรูปพรรณสัณฐานอย่างเดียวกับเงินฮาง มีแปลกอยู่แต่ขอบศรีษะและท้องเงินตู้ไม่มีขอบสูงเหมือนเงินฮางอย่างหนึ่งมีศรีษะไม่งอนขึ้นเหมือนเงินฮางอีกอย่างหนึ่ง มีท้องไม่เป็นร่องลึกเหมือนเงินฮางอย่างหนึ่ง เงินตู้นี้เขาหล่อเป็นรูปแบน ๆ เป็นสี่เหลี่ยมเหมือนอย่างรูปพรรณเงินที่เขาตีให้เป็นสี่เหลี่ยม ค่ำที่เรียกว่าตู้ ถ้าจะว่าตามภาษาราษฎรภาคอีสานก็แปลว่า “ลุ่น” เพราะไม่มีขอบ ไม่มีริมเหมือนเงินฮาง เหมือนดังกระบือทุย ภาษาราษฎรภาคอีสานก็หมายเรียกว่า กระบือตู้”
เงินตู้นี้มีหลากหลายขนาดตามแต่จะผลิต แรกเริ่มเดิมทีคงผลิตในเวียดนาม แต่ภายหลังก็ผลิตใช้ทั่วไปทั้งในลาว เขมร เวียดนาม เพราะผลิตได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ถึงแม้จะมีความบริสุทธิ์สูงแต่อาจตํ่ากว่าเงินฮางบ้าง ประชาชนโดยทั่วไปก็ยอมรับนับถือในมูลค่าของเงินนี้ตามนํ้าหนัก ซึ่งมีหลากหลายขนาดเช่น
นํ้าหนัก ๖ ตําลึง ๑ บาท หรือ ๒๕ บาท (บาทหนึ่งหนักประมาณ ๑๕.๒ กรัม)
นํ้าหนัก ๕ ตําลึง ๑ บาท หรือ ๒๑ บาท
นํ้าหนัก ๓ ตําลึง ๒ บาท หรือ ๑๔ บาท
นํ้าหนัก ๓ ตําลึง หรือ ๑๒ บาท
เงินตราอีกชนิดหนึ่งของเวียดนามที่ได้แพร่เข้ามาใช้ในดินแดนของล้านช้าง และใช้ต่อมาจนกระทั่งดินแดนของสองฝั่งโขงถูกแยกออกจากกัน คือ เงินแท่ง หรือบางครั้งเรียกกันว่า เงินดิ้ง เป็นเงินตราขนาดย่อมหนักประมาณ ๓๘ กรัม หรือ ๑ ตําลึงจีนถ้าตามมาตราของไทยก็มีมูลค่า ๑๐ สลึง ลักษณะของเงินแท่งนี้เป็นแท่งยาวสี่เหลี่ยม ตอกตราอักษรเวียดนามไว้ทุกด้าน ทั้งหน้า-หลัง หัว-ท้าย ด้านข้างอักษรที่ประทับไว้ด้านหน้าและด้านหลังจะบอกมูลค่าของเงิน และชื่อกษัตริย์เวียดนามเอาไว้
เงินแท่งที่พบโดยส่วนมากจะเป็นเงินแท่งที่ผลิตขึ้นในรัชสมัยกษัตริย์เจียล่ง หรือยาลอง (Jia Long) ที่ครองราชย์ในระหว่าง พ.ศ.๒๓๔๕-๒๓๖๒ โดยด้านหน้าตีตราอักษรสี่ตัว อ่านได้ว่า “เจีย หลง นี่ จ้าว” แปลว่า ผลิตขึ้นในรัชกาลเจียล่ง ด้านหลังตี
ตราอักษรว่า “จิง อิ๋น อี่ เหลี่ยง” แปลว่า เงินบริสุทธิ์ หนึ่งตำลึงเงินแท่งนี้ผลิตต่อเนื่องมาอีกหลายรัชสมัยแต่ผลิตไม่มากนัก หลังจากตกเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส จึงพบเงินแท่งที่ตอกตรารัชกาลอันนอกจากกษัตริย์เจียล่งน้อยมาก
เงินตราเวียดนามนี้มีหน่วยที่เรียกกัน เป็นหน่วยนํ้าหนัก คือ
๑๐ ฝน เป็น ๑ บั๊ก
๑๐ บั๊ก เป็น ๑ เบี้ย (หนึ่งตําลึงจีน)
๑๐ เบี้ย เป็น ๑ ปง (บางครั้งก็เรียกขัน)
ดังนั้นจึงเรียกเงินฮางว่า “เงินฮางหนึ่งปง หรือหนึ่งขัน” เรียกเงินแท่งว่า “เงินแท่งหนึ่งเบี้ย” นอกจากนี้แล้วยังมีการผลิตเงินแท่งที่มีขนาดเล็กกว่าหนึ่งเบี้ยด้วย แต่ผลิตน้อยมากและแทบไม่มีการนํามาใช้ในแถบสองฝั่งแม่นํ้าโขง
เงินตราที่กล่าวไปแล้วนั้นล้วนรู้จักและนิยมใช้จ่ายของคนลาวทั้งสองฝั่งโขง เพราะมีค่าสูง ผลิตจากโลหะเงินบริสุทธิ์แต่ภายหลังก็เลิกนิยมใช้กัน หลังจากมีเงินเหรียญจากส่วนกลางขึ้นไปใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังหลวงผดุงฯได้กล่าวไว้ว่า “เงินตราทั้งสองอย่างนี้ในประเทศราษฎรภาคอีสานตะวันออก ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้ใช้ซื้อหาและแลกเปลี่ยนกันอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อยเต็มทีเพราะเขาใช้เงินเหรียญและเงินบาท อย่างที่โปรดเกล้าให้ใช้นี้เสียโดยมาก ถึงแก่กาลก่อนโนนเงินเหรียญและเงินบาทที่โปรดเกล้าให้ใช้ตลอดพระราชอาณาเขตสยาม มีมานานอยู่แล้วก็จริงแต่ไม่สู้จะแพร่หลายเหมือนในกาลทุกวันนี้”
ทั้งเงินฮางฮังไก่ เงินฮางศรีษะโป เงินตู้ เงินแท่ง ล้วนเป็นเงินตราที่บรรพบุรุษของเราชาวอีสานและชาวลาวในอดีตรู้จักเป็นอย่างดี และยอมรับในมูลค่า แม้จะเป็นเงินตราสัญชาติต่างประเทศ แต่ในปัจจุบันเงินตราดังกล่าวถูกหลงลืมไปแทบสิ้นมีคนรู้จักเพียงคนเฒ่าคนแก่ที่มีอายุอานามอย่างน้อย ๗๐ หรือ ๘๐ ปีขึ้นไป ลูกหลานในปัจจุบันแทบไม่รู้จัก เพราะเงินตราดังกล่าวได้ถูกหลอมทิ้งไปเสียหมด หลังจากผู้คนเลิกใช้ไป ก็ได้แต่หวังว่าบทความนี้จะทําให้เงินตราโบราณในอดีตเป็นที่รู้จักมากขึ้น รอฟื้นความทรงจำเก่า ๆ ของพี่น้องลาวชาวอีสานและพี่น้องลาวฝั่งซ้ายแม่นํ้าโขงขึ้นมาอีกครั้ง
****
ติดตามตอนก่อนหน้าได้ที่
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๒)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๓)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๔)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๕)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๖)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๗)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๘)
เงินตราโบราณ ในอีสานบ้านเฮา (ตอนที่ ๙)
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
อีบุค ที่ www.mebmarket.com