พระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาราม

พระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาราม

เรื่อง : สัจภูมิ ละออ

ภาพ : พยงค์ มูลวาปี

วัดพุทธมงคลประดิษฐานพระพุทธรูปยืนมงคล ขณะที่วัดสุวรรณาวาส ประดิษฐานพระพุทธมิ่งเมือง พระพุทธรูปทั้งสองมีตำนานเกาะเกี่ยวกัน คนสร้างคนเดียวกัน ทั้งสององค์เป็นศูนย์รวมใจของชาวมหาสารคาม และพุทธศาสนิกชนทั่วไป

วัดสุวรรณาวาส ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโคกพระตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม

ความเป็นมาของพระพุทธมิ่งเมือง ปรากฏในตำนาน และคำบอกเล่าของชาวมหาสารคามปราชญ์ท้องถิ่น และเว็บไซต์ต่าง ๆ ของราชการ

ในเว็บไซต์ของจังหวัดมหาสารคามระบุว่าอาณาบริเวณถิ่นที่เป็นอำเภอกันทรวิชัยปัจจุบันเดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองคันธาร์ธิราช มีเจ้าเมืองขอมปกครองอยู่ ต่อมาได้กลายเป็นเมืองร้างเจ้าเมืองคันธาร์ธิราชองค์สุดท้ายชื่อ ท้าวลินทองหรือสิงห์โตดำ ท้าวสิงโตดำมีนิสัยโหดร้ายแย่งสมบัติจากบิดาโดยจับขังให้อดอาหารจนสิ้นชีวิต และยังสั่งให้ฆ่าพระมารดาอีก

ภายหลังท้าวสิงโตดำได้ครองเมืองแล้วท่านก็เกิดความรุ่มร้อนกระวนกระวายใจ ครั้นเรียกโหรมาถามถึงต้นสายปลายเหตุจึงกระจ่างชัดแล้ว ว่าแท้จริงปมเหตุมาจากผลกรรมที่กระทำไว้ หนทางแก้ไขโหรแนะนำให้สร้างพระพุทธรูปล้างบาป

ท้าวสิงโตดำจึงได้สร้างพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ องค์หนึ่งปัจจุบันอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ส่วนอีกองค์หนึ่งอยู่วัดพุทธมงคล ตามตำนานจะเห็นว่าพระพุทธรูปทั้งสองเกิดจากการสร้างขึ้นมาเพื่อไถ่บาป ซึ่งเป็นความเชื่อของคนในสมัยก่อน ซึ่งยังมีถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนตำนานสร้างพระพุทธรูปจากตำนานอื่น ๆ อาทิ สร้างพระพุทธรูปเพราะฝนแล้ง เมื่อสร้างเสร็จฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล เป็นต้น

ในตำนานนี้ยังมีต่ออีกว่า ก่อนท้าวสิงโตดำจะสิ้นชีวิตไป ท่านทุกข์ทรมานจากบาปกรรมที่ทำไว้มาก ท่านจึงหาวิธีไถ่บาป โหรได้แนะนำให้สร้างพระพุทธรูปอีก ๑ องค์ ทำด้วยทองคำมีขนาดเท่าตัวของท่าน พระพุทธรูปนั้นเป็นปางไสยาสน์ หรือพระพุทธรูปนอน เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็สร้างโบสถ์ครอบไว้ ก่อนสิ้นไปท่านสาปไว้ด้วยว่า ไม่ให้ใครได้พบเห็นพระพุทธรูปนอนของท่าน จากคำสาปในตำนานนี้ ทำให้มีสถานที่ที่คิดว่าเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์อยู่จริง แต่ไม่มีใครสามารถหาพระพุทธรูปดังกล่าวพบได้

ตำนานเป็นเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมา แน่นอนว่าในตำนานแต่ละเรื่องมีเค้าความเป็นจริงอยู่ ขึ้นอยู่กับว่าเค้าความจริงนั้นใครจะมีวิธีร่อนหรือสังเคราะห์ออกมาอย่างไร

สำหรับพุทธลักษณะของพระพุทธมิ่งเมืองเป็นพระพุทธรูปยืนสมัยทวารวดี สร้างด้วยหินทราย พระพักตร์ออกไปทางพระพุทธรูปของลาว ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า คนในถิ่นอำเภอกันทรวิชัยเก่าก่อน นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และยาวนาน

วัดสุวรรณาวาส ในประวัติวัดระบุว่าตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๓ หรือว่า “ต้นกรุงรัตนโกสินทร์” พุทธศักราชนี้อยู่ในแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) แต่จากร่องรอยโบราณสถานโบราณวัตถุที่พบ บริเวณที่ก่อตั้งวัดคงเป็นพุทธสถานมาก่อนเป็นเวลานานแล้ว

ปัจจุบันพระพุทธมิ่งเมือง เป็นมิ่งขวัญของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ละวันมีคนเข้าไปกราบนมัสการอยู่เนือง ๆ สถานที่ประดิษฐานอยู่ในที่โล่งแจ้ง ผู้คนสามารถเข้าไปกราบนมัสการได้อย่างง่ายดาย แถมมีอาณาบริเวณกว้างขวางพอให้เดินเล่น ดื่มด่ำกับบรรยากาศได้เพลิน ๆ

อาณาบริเวณวัด นอกจากมีพระพุทธรูปดึงดูดใจแล้ว ยังมีสิมสวยงาม ฝีมือช่างญวน มุงด้วยกระเบื้องดินเผา ฐานอาคารเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ชั้นเดียวรองรับตัวสิม มุมของส่วนฐานเชิดขึ้นเล็กน้อย มีประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกด้านเดียว บานประตูเป็นไม้แกะสลักรูปทวารบาล ประกอบลายกนกสวยงาม รอบ ๆ สิมมีสถาปัตยกรรมควรชม และหาดูได้ยากนั้นคือ คันทวยที่อยู่ด้านข้างของตัวอาคาร มีลักษณะโค้งงอสวยงาม รายเรียงขนานไปกับตัวอาคารกลางแสงแดดสาดยามเช้า หากได้ถ่ายภาพขณะแสงสาดส่องจะปรากฏเงาคันทวยทอดไปกับพื้นเหมือนเงาไม้ในสายน้ำ

พระพุทธมิ่งเมือง พุทธศาสนิกชนที่มากราบนมัสการ มักขอพรในเรื่องความสำเร็จความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร และความสงบสุขในชีวิตและครอบครัว

สำหรับผู้ไปเยี่ยมเยือน ที่พอมีเวลาจะเข้าไปกราบนมัสการพระพุทธรูป หรือเข้าไปนั่งสมาธิเงียบ ๆ สักครู่ เพื่อสำรวจชีวิตก็เป็นเรื่องที่ดีงาม

****

คอลัมน์ อีศานโจ้โก้ นิตยสารทางอีศาน ปีที่ ๙ ฉบับที่ ๑๐๘ | เมษายน ๒๕๖๔

.
ราคาเล่มละ ๑๐๐ บาท
สมัครสมาชิก ครึ่งปี ๖๐๐ บาท
หนึ่งปี ๑,๑๐๐ บาท
ตลอดชีพ ๙,๕๐๐ บาท (ได้รับหนังสือย้อนหลัง)
.
สั่งซื้อ// ชำระเงิน // สอบถามเพิ่มเติม ได้ทาง
inbox หนังสืออีศาน m.me/166200246799901
line id : @chonniyom (มี@) คลิก https://lin.ee/amxqtvW
shopee : https://shp.ee/ji8x6b5
LnwShop : https://www.thaibookfair.com/seller/chonniyom-eshann
โทร. 086-378-2516
บริษัท ทางอีศาน จำกัด
244/539 รามอินทราซอย 5 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. 10220

Related Posts

ประวัติและที่มา ทำไมจึงได้ชื่อว่า มุกดาหาร (จ.มุกดาหาร)
เกร็ดในความกาก – (๑) กะหล่ำปลีสีทันดร
ปิดเล่ม
WP2Social Auto Publish Powered By : XYZScripts.com