TAO Dialogue 2 “เต้า” สนทนา จากประสบการณ์อ่านวรรณคดี บนฐานคิด ‘มานุษยวิทยาสัญนิยม’
TAO Dialogue 2
“เต้า” สนทนา จากประสบการณ์อ่านวรรณคดี
บนฐานคิด ‘มานุษยวิทยาสัญนิยม’
โดย ชลธิรา สัตยาวัฒนา Facebook Cholthira Satyawadhna
บนฐานคิดที่ว่า ‘ภาษา’ มีชีวพันธุกรรมต้นกำเนิด มีการแตกตัว เคลื่อนไหว เดินทาง กระจายตัว แม้ถูกกลืนกลาย ก็ยังสาวหารากร่วมได้ โดยการใช้ ‘กุญแจคำ’ ไขรหัสสิ่งที่เป็น ‘วัฒนธรรมร่วมเชื้อสาย’
ข้อสมมติฐานขั้นต้นของผู้เขียน คือ คำว่า ‘ เต้า’ เป็นรากคำไท|ไต|ลาว ที่ถูกเข้ารหัสไว้อย่างแน่นหนา ในบริบทสังคมไท|ไต|ลาว อยู่ในโครงสร้างความคิดความเชื่อของเรามาแต่โบราณสมัย
คำว่า ‘เต้า’ ที่ผู้เขียนใช้เป็น ‘กุญแจคำ’ (Keyword) ในที่นี้ เป็นได้ทั้ง คำกริยา และ คำนาม
ในวรรณคดีไทย(สยาม) มีคำว่า ‘เต้า’ ใช้เป็นศัพท์ทั่วไป แปลว่า ‘ไป’ ดังเช่นที่ปรากฏใน ลิลิตพระลอ วรรณคดีสมัยอยุธยาตอนต้น
<ตอนพระลอเตรียมเดินทาง>
(ร่าย) “แล้วตรัสสั่งขุนพล พวกพหลเหี้ยมหาญ
เร่งเตรียมการพยุหบาตร จตุรงคราชเรืองรบ
ครบทุกหมู่ทุกหมวด ตรวจให้สรรพโดยเขบ็จ
จัดให้เสร็จโดยขบวร กูจักยวรยาตรเต้า
ในวันรุ่งพรุ่งเช้า แต่งตั้งเตรียมพลันฯ”
<ตอนพระลอชมดง>
(ร่าย) “พระลอเสด็จลีลา ชมพฤกษาหลายหลาก
สองปลากข้างแถวทาง ยางจับยางชมฝูง
ยูงจับยูงยั่วเย้า เปล้าจับเปล้าแปลกหมู่
กระสาสู่กระสัง รังเรียงรังรังนาน
ไก่คราญไต่หงอนไก่ ไผ่จับไผ่คู่คลอ
ตอดตอจับไม้ตอด ตับคาลอดพงคา
คล้าคลาจงจับคล้า หว้าจับหว้าลอดแล
คับแคจับแคป่า ดอกบัวล่าชมบัว
กระเวนวังนัวกระเวนดง ช่างทองลงจับทองยั้ว
แขกเต้าตั้วเต้าแขก ไต่ไม้แมกไปมา
บ่รู้กี่คณาชมผู้ ชมพีหคเหิรรู้ เรียกร้องหากันฯ”
(ลิลิตพระลอ. ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ๒๔๕๘;
พิมพ์ครั้งที่ ๑๑, ๒๕๑๑. น.๖๒-๖๓.)
คำ ‘เต้า’ ที่ปรากฏในบทประพันธ์ข้างต้น แสดงว่ามีการควงคำ ‘เต้า’ ซึ่งเป็นคำกริยา ให้เป็นคำขยาย แล้วสร้างเป็นคำใหม่ ให้เป็นคำนาม ใช้เรียกชื่อนกพันธ์ุหนึ่งซึ่งเดิมอาจไม่เคยมีมาก่อนในพื้นที่นั้น หากได้โผผินบินมาจากที่อื่น จึงได้ชื่อว่า ‘นกแขกเต้า’
คำ ‘เต้า’ ที่ใช้เป็นคำกริยานี้ น่าจะเป็น ‘คำมรดก’ และอาจเป็น ‘ศัพท์ร่วมเชื้อสาย’ ภาษาตระกูลไทดั้งเดิมกับภาษาตระกูลมอญ-เขมร พบว่ามีปรากฏในวรรณคดีโบราณของไทยสยาม คือ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ซึ่งวิเคราะห์กันหลายฝ่ายแล้วว่า เป็น “โองการแช่งน้ำ” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนหน้าพระเจ้าอู่ทองตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
ใน ‘บทแช่งน้ำ’ นี้ มีการใช้คำว่า ‘เต้า’ เป็นอากัปกิริยาของ ‘แร้งกา’ ที่ค่อนข้างน่าสยดสยอง…
<บทแช่งคนไม่ซื่อต่อแผ่นดิน>
“บ่ซื่อ…นํ้าตัดคอ ตัดคอ…เร็วให้ขาด
บ่ซื่อ…มล้างออ เอาใส่เล้า
บ่ซื่อ…นํ้าหยาด ท้องเป็นรุ้ง
บ่ซื่อ…แร้งกา เต้าแตกตา ฯ”
‘เต้า’ ในบริบทข้างต้น กำหนดให้อาการของนกแร้งกา ใน ‘บทแช่งน้ำ’ บินเข้าไปจิกนัยน์ตาของคน ‘บ่ซื่อ’ หมายถึง คนคด เป็นการลงโทษผู้ที่ไม่ซื่อต่อแผ่นดิน
คำกล่าวที่มีพลัง จะทำให้ได้รับในสิ่งที่ต้องการ!!
言霊. Kotodama (Koto=word ,dama =spirit)
ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่า ทุกๆคำพูดที่คนเราเปล่งเสียงออกมา
มีพลังและจิตวิญญาณแฝงอยู่ ทุกคำกล่าวจึงมีความศักดิ์สิทธิ์
เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
เพราะในทุกคำ ที่เปล่งเสียงออกมา มีพลังสั่นสะเทือน มีความถี่
กฎแห่งแรงดึงดูด แรงโน้มถ่วงของโลก จะตอบสนองกับพลังสั่นสะเทือนและคลื่นความถี่นั้นๆ ทั้งกระจายออกไป และกระแทกกลับคืนมา
หากคนเราใส่ความรู้สึกดีๆ พร้อมกับเปล่งเสียงคำพูดดีๆ ต่อกัน
เฉกเช่นการอำนวยพร การสวดมนต์
คำพูดที่มีความหมายที่ดี และศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น ..ก็จะตอบสนองกลับ
ด้วยกฎแห่งแรงดึงดูด ทำให้มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นกับตัวผู้กล่าวและผู้แวดล้อม
ดังนั้น ด้วยชุดความเชื่อเดียวกันนี้ “คำแช่งชักหักกระดูก” ก็มีพลังอำนาจในตัวของมันเอง ตามกฏแห่งจักรวาลเช่นกัน
ในบริบทของวรรณคดีไทยสยาม :
‘นกแขกเต้า’ ในลิลิตพระลอ รับบทบาทหน้าที่ กระจายพลังบวก
“แขกเต้าตั้วเต้าแขก ไต่ไม้แมกไปมา
บ่รู้กี่คณาชมผู้ ชมพีหคเหิรรู้ เรียกร้องหากันฯ”
‘นกแร้งกา’ ในลิลิตโองการแช่งน้ำ รับบทบาทหน้าที่ ‘เต้นแร้งเต้นกา’ ทำลายพลังชั่วร้าย คนคิดคด ทรยศต่อแผ่นดิน
“บ่ซื่อ…แร้งกา เต้าแตกตา ฯ”
=====
คำ ‘เต้า’ ใช้เป็นคำนามก็ได้ แทนสิ่งที่มีรูปทรงกลม อวบ ป่อง กางออก ป้อม เช่น เต้านม เต้าปูน ลูกน้ำเต้า พิณน้ำเต้า หมากเต้าปุง ฯลฯ;
และยังเป็นลักษณะนามได้ด้วย เช่น นมสองเต้า
ผู้เขียนเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ในบริบทความเชื่อของคนไท|ไต|ลาว ซึ่งมีร่วมกันนั้น คำว่า ‘น้ำเต้า’ กับ ‘สามเส้า’ เป็นรูปสัญญะที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญเชิงโครงสร้าง (Structural functionality) มาแต่โบราณสมัย ในห้วงเวลาทึ่น่าจะเก่าแก่เกินกว่าสมัยอยุธยาตอนต้น
ปมเงื่อนความสำคัญของรูปสัญญะเชิงโครงสร้างนี้ ใน
มหากาพย์ฯ บรรพสอง “เต้าตามไต เต้าทางไท”
บทที่ ๑๔ ‘ต้นส้านสามง่า น้ำม้าสามแถว หินสามเส้า น้ำเต้าสามแถว’
*โปรดติดตาม Dam|Tao Dialogue ตอนต่อไปนะคะ
กด Like และ Share ได้ ตามอัธยาศัย